เกษียร เตชะพีระ : จาก The Impossible Trinity แห่งวิกฤตต้มยำกุ้ง

เกษียร เตชะพีระ

ย้อนอ่าน โลกแปรสัณฐาน (1) (2)

บททดลองเสนอของ แดนี รอดริก ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เรื่อง “หนทางการเมืองสามแพร่งของเศรษฐกิจโลก” ซึ่งระบุว่าประเทศต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจโลกไม่สามารถมีไฮเปอร์โลกาภิวัตน์, อธิปไตยแห่งชาติ และประชาธิปไตยเต็มใบได้ทั้งสามอย่างในเวลาเดียวกัน หากต้องเลือกเอาเพียงสองอย่างเท่านั้น (http://www.bbc.co.uk/programmes/p04vhftr)

คาดว่าน่าจะได้แรงบันดาลใจมาจากทฤษฎีที่มีรูปแบบคล้ายกันซึ่งรู้จักกันทั่วไปในวงการเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศภายใต้ชื่อทฤษฎี The Impossible Trinity หรือ “แก้วสามดวงที่เป็นไปไม่ได้” ซึ่งเสนอโดยสรุปว่า :-

ประเทศหนึ่งๆ ไม่สามารถที่จะมีปัจจัยที่เป็นคุณทางเศรษฐกิจทั้งสามประการ หรือ “แก้วสามดวง” อันได้แก่ 1) กระแสเงินทุนไหลเข้าออกอย่างเสรี 2) นโยบายการเงินที่อิสระ และ 3) อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราคงที่ พร้อมกันได้ในเวลาเดียวกัน

หากแต่ต้องเลือกเอาด้านใดด้านหนึ่งด้านเดียวของภาพสามเหลี่ยมข้างต้นและได้แก้วไปเพียงสองดวง แล้วยอมสละเสียซึ่งมุมที่อยู่ตรงข้ามกันหรือแก้วดวงที่สามไปเสีย

สำหรับคุณค่าที่พึงประสงค์ประดุจ “แก้ว” ของปัจจัยเศรษฐกิจทั้งสามนั้นอยู่ตรงที่ :-

1. อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราคงที่ (fixed exchange rate) เป็นเงื่อนไขให้นักลงทุนต่างชาติมั่นใจที่จะนำเอาเงินตราต่างประเทศเข้ามาแลกเป็นเงินตราสกุลท้องถิ่นแล้วลงทุนในประเทศ เพราะค่าเงินสกุลท้องถิ่นคงที่ตายตัว ไม่ผันผวนขึ้นลง วางใจได้ว่าจะสามารถเอารายได้และกำไรในรูปเงินสกุลท้องถิ่นแลกกลับเป็นเงินตราต่างประเทศแล้วนำออกไปได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ปลอดความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน

2. กระแสเงินทุนไหลเข้าออกอย่างเสรี (free capital flows) เป็นเงื่อนไขช่วยให้เกิดสภาพคล่องหมุนเวียนสะพัดระหว่างนอกประเทศกับในประเทศ ไม่ติดขัดขาดแคลนสภาพคล่อง

3. นโยบายการเงินที่อิสระ (independent monetary policy) เป็นเงื่อนไขให้สามารถปรับแต่งนโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นหรือชะลอเศรษฐกิจได้ตามความเหมาะสมของสภาพการณ์

การที่แก้วสามดวงนี้ไม่อาจมีได้พร้อมกันในประเทศหนึ่งๆ ก็เพราะ ถ้าหากประเทศเปิดให้เงินทุนไหลเข้าออกเสรี และกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราคงที่แล้ว ดันหันไปใช้นโยบายการเงินแทรกแซงตลาดด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นหรือขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อชะลอเศรษฐกิจ ก็จะไม่บรรลุผลดังหมาย กลับจะส่งผลเสียหายต่างจากเป้าประสงค์ เช่น

พอลดอัตราดอกเบี้ยลง แทนที่มันจะส่งผลกระตุ้นให้คนกู้ยืมเงินดอกเบี้ยต่ำไปลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจให้เฟื่องฟูขึ้น มันจะกลับผลักไสเงินทุนให้ไหลออกไปแสวงหารายได้จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าในประเทศอื่นแทน ทำให้เศรษฐกิจกลับฝืดเคืองเงินทุนลง

ในทางกลับกัน พอปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น แทนที่มันจะส่งผลชะลอเศรษฐกิจให้ร้อนแรงน้อยลงเพราะคนไม่กล้ากู้เงินดอกเบี้ยสูงไปลงทุนเกรงจะไม่คุ้ม-มิสู้ฝากเงินไว้เฉยๆ ในธนาคารกินดอกเบี้ยที่สูงขึ้นดีกว่า มันจะกลับดึงดูดเงินทุนจากนอกประเทศให้ไหลเข้ามาแสวงหารายได้จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าในประเทศแทน ทำให้เศรษฐกิจยิ่งท่วมท้นด้วยเงินร้อนที่ไหลเข้ามา

(ภาพจาก https://theokonomos.wordpress.com/2016/10/27/am-i-a-possible-trinity-the-impossible-trinity/)

แก้วสามดวงจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีพร้อมกันด้วยประการฉะนี้

ภายใต้ทฤษฎีดังกล่าว ทางเลือกเชิงนโยบายของประเทศต่างๆ มีได้ 3 ทางด้วยกัน กล่าวคือ :-

ทางเลือกที่หนึ่ง ตัวอย่างได้แก่ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเลือกแก้วสองดวง ได้แก่ [ปล่อยเงินทุนไหลเข้าออกอย่างเสรี+ดำเนินนโยบายการเงินอย่างอิสระ] ดังนั้น จึงต้องปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐลอยตัวขึ้นลง-ไม่คงที่

ทางเลือกที่สอง ตัวอย่างได้แก่ ฮ่องกง ซึ่งเลือกแก้วสองดวง ได้แก่ [กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราคงที่+ปล่อยเงินทุนไหลเข้าออกอย่างเสรี] ดังนั้น จึงไม่มีอิสระที่จะใช้นโยบายการเงินเป็นเครื่องมือแทรกแซงตลาดเพื่อกระตุ้นหรือชะลอเศรษฐกิจ

ส่วนทางเลือกที่สาม ตัวอย่างได้แก่ จีน ซึ่งเลือกแก้วสองดวง ได้แก่ [กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราคงที่+ดำเนินนโยบายการเงินอย่างอิสระ] ดังนั้น จึงไม่สามารถเปิดให้เงินทุนไหลเข้าออกประเทศอย่างเสรีได้

หากต้องกำกับควบคุมการไหลเข้าออกของเงินทุน (capital controls) ด้วยมาตรการต่างๆ แทน

สําหรับกรณีไทยนั้น อาจพูดได้คร่าวๆ ว่าก่อนเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2540 ในฐานะประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดในโลกตอนนั้น (เฉลี่ย 9.1% ต่อปีระหว่าง ค.ศ.1986-1996) เนื่องจากการส่งออกบูม รัฐบาลและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องได้พากันดำเนินนโยบายเศรษฐกิจด้านต่างๆ เพื่อเกื้อกูลอุดหนุนการนั้น กล่าวคือ :-

– ดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราแบบค่อนข้างคงที่ โดยผูกค่าเงินบาทเข้ากับตะกร้าเงินตราต่างประเทศสกุลหลักต่างๆ จำนวนหนึ่ง ปล่อยให้ค่าเงินบาทผันแปรได้บ้างแต่ในแถบแคบๆ เพื่อไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเกินไปจนกระทบสมรรถภาพในการแข่งขันของสินค้าส่งออกไทย

– ดำเนินนโยบายการคลังแบบอนุรักษนิยม ให้งบประมาณสมดุลหรือขาดดุลแต่น้อย เพื่อเป้าหมายรักษาเสถียรภาพของระดับราคา ให้อัตราเงินเฟ้อสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวขึ้นลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ค่าเงินบาทที่แท้จริงแข็งขึ้น

– ดำเนินนโยบายการเงินแทรกแซงตลาดเพื่อสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจระยะสั้นเป็นหลัก กล่าวคือ เดินนโยบายเงินตึง-ขึ้นอัตราดอกเบี้ยหากอุปสงค์มากเกินไปในระบบเศรษฐกิจ และเดินนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน-ลดอัตราดอกเบี้ยเมื่ออุปสงค์ชะลอตัวลงในระบบเศรษฐกิจ

– ดำเนินนโยบายเปิดเสรีบัญชีทุน ให้เงินทุนไหลเข้าออกอย่างเสรี โดยกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยออกกฎระเบียบเรื่องนี้มาในเดือนกันยายนปี พ.ศ.2535 และเริ่มต้นดำเนินการในปี พ.ศ.2536 สมัยรัฐบาลนายกฯ ชวน หลีกภัย ที่เรียกกันว่าวิเทศธนกิจ BIBF (Bangkok International Banking Facilities)

(Iyanatul Islam and Anis Chowdhury, The Political Economy of East Asia : Post-Crisis Debates, pp. 96-97)

ผลลัพธ์โดยรวมของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจข้างต้นเหล่านี้ทำให้ประเทศไทยตกปล่องเข้าข่ายล่วงละเมิดหลัก “แก้วสามดวงที่เป็นไปไม่ได้” ในทางเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศข้างต้น จึงเกิดเป็นจุดอ่อนให้กลุ่มทุนเก็งกำไรข้ามชาติเข้าถล่มโจมตีค่าเงินบาทเมื่อการส่งออกของเราเริ่มชะลอตัวและเกิดภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ในประเทศ

ปรากฏว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้ทุ่มทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศของชาติไปต่อสู้ในสงครามอัตราแลกเปลี่ยนกับกลุ่มทุนเก็งกำไรข้ามชาติอย่างสุดตัวหัวชนฝา จนฝ่ายไทยเพลี่ยงพล้ำและทุนสำรองฯ แทบเกลี้ยงคลัง

พอหมดทางจนตรอกเข้า เราจึงต้องหันไปเดินทางเลือกที่หนึ่งแบบอเมริกา คือเลิกตรึงค่าเงินบาทแบบค่อนข้างคงที่ แล้วใช้นโยบายปล่อยค่าเงินบาทลอยตัวหรือลดค่าเงินบาทในทางปฏิบัติแทน โดยที่ยัง [ปล่อยเงินทุนไหลเข้าออกอย่างเสรี+ดำเนินนโยบายการเงินอย่างอิสระ]

อันเป็นจุดปะทุของวิกฤตต้มยำกุ้ง-ค่าเงินบาทดิ่งเหวตกลงไปกว่า 50-60% ตามมา

สรุปรวมความก็คือ เมื่อกล่าวในทางเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ประเทศต่างๆ เลือกเอาได้แค่แก้ว 2 ใน 3 ดวงตามทฤษฎี “แก้วสามดวงที่เป็นไปไม่ได้” หรือ impossible trinity ฉันใด,

ในทางเศรษฐศาสตร์การเมือง แดนี รอดริก ก็เสนอว่าประเทศต่างๆ ภายใต้ระบบเศรษฐกิจโลกเสรียุคโลกาภิวัตน์เลือกเอาได้แค่ 2 ใน 3 สิ่งตามทฤษฎี “หนทางการเมืองสามแพร่ง” หรือ The political trilemma ฉันนั้น โดยตัวเลือกทั้งสาม ได้แก่ :-

1. ไฮเปอร์โลกาภิวัตน์ (hyperglobalization)

2. อธิปไตยแห่งชาติ (national sovereignty)

3. ประชาธิปไตยเต็มใบ (full-blown democracy)

(“หนทางการเมืองสามแพร่งของเศรษฐกิจโลก” อ้างจาก Dani Rodrik, The Globalization Paradox, Chapter 9)

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)