140 ปีชาตกาลครูบาเจ้าศรีวิชัย ปีนี้หรือปีหน้า ในเมื่อ 2421 คือปีขาล แต่ทำไมใบลานเขียน 2420?

เพ็ญสุภา สุขคตะ

มีผู้ไถ่ถามดิฉันกันมากว่า ตกลงแล้วปีนี้หรือปีหน้า ที่เป็นวาระครบรอบ 140 ปีชาตกาลของครูบาเจ้าศรีวิชัย

หรือพูดง่ายๆ อีกคำถามหนึ่งก็คือ ครูบาเจ้าศรีวิชัยเกิดปีไหนกันแน่ระหว่าง พ.ศ.2420 กับ 2421

ที่ต้องตั้งคำถามนี้ เนื่องจากมีบางวัดได้จัดพิมพ์หนังสือประวัติครูบาเจ้าศรีวิชัยเผยแพร่ในปีนี้ แล้วโปรยหัวจั่วที่หน้าปกว่า เนื่องในวาระครบรอบ 140 ปีชาตกาลครูบาเจ้าศรีวิชัย

ทำให้วัดอื่นๆ และคนทั่วไปที่เข้าใจว่า อ้าว! ไม่ใช่ปีหน้าดอกรึ พากันงงเป็นไก่ตาแตก

ในฐานะที่ดิฉันเคยมึนตึ้บกับประเด็นนี้มาก่อนแล้วมิรู้กี่ตลบ จนวันนี้ได้คำตอบชี้ชัด จึงขออาสามาอธิบายที่มาที่ไป ว่ามีเงื่อนงำอะไรซ่อนอยู่เบื้องหลังความย้อนแย้งนั้น

 

พุทธศักราช 2420 ไม่ตรงกับจุลศักราช 1240

ปีเกิดครูบาเจ้าศรีวิชัยนั้น ตามที่เรารับทราบกันดีก็คือ ตรงกับวันอังคารที่ 11 ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 9 เหนือ (เดือน 7 ใต้) คือเดือนมิถุนายน ปีขาล

ที่กล่าวมาทั้งหมด ได้รับความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ นั่นยังไม่ใช่ประเด็นปัญหา แต่ครั้นมีการระบุศักราชสองระบบขึ้นมาในเอกสารชิ้นเดียวกัน ว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยเกิดใน จ.ศ.1240 หรือตรงกับ พ.ศ.2420 นี่แหละคือสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาทันที

เหตุที่ จ.ศ.1240 เมื่อแปลงเป็น พ.ศ. ต้องเอาเลข 1181 ไปบวก ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ พ.ศ.2421 ซึ่งทั้ง จ.ศ.1240 และ พ.ศ.2421 ก็ตรงกับนักษัตรปีขาลเหมือนกัน อันเป็นปีเกิดของครูบาเจ้าศรีวิชัย

ถ้าเช่นนั้น ตัวเลข พ.ศ2420 นั้นมาจากไหน มาได้อย่างไร ใครเขียน เขียนผิดหรือเปล่า ระหว่างเลข ๐ กับเลข ๑ บางทีอาจเป็นปัญหาทางเทคนิค?

ขออธิบายว่า พ.ศ.2420 นั้นปรากฏอยู่จริงในเอกสารต้นฉบับ จารด้วยลายมือเขียนของครูบาเจ้าศรีวิชัยเอง ทุกครั้ง อาทิ เอกสารเรื่อง “อุสสาบารส” ที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยจารด้วยตัวท่านเอง เมื่อปี พ.ศ.2469 ขณะจำพรรษา ณ วัดพระสิงห์ ปรากฏข้อความตอนท้ายคัมภีร์ใบลานว่า

“ตนข้าพระสรีวิไชย ภิกขุ เกิดมาปีเบิกยี (หมายถึงปีเสือ) จุลสักราช 1240 ตัว พุทธศักราช 2420”

สอดคล้องกับหนังสือ “ซอคร่าวเชียงแสน เป็นตำนานเรื่องพระศรีวิไชยวัดบ้านพาง” รจนาโดยพระสุนทรพจนกิจ แต่งเมื่อ พ.ศ.2466 พรรณนาว่า

“…เมื่อวันเกิดเจ้า เชฏฐมาสา คือว่าเดือนเก้า สิบสองค่ำแรมทัดนั้น อังคารํ แม่นหมั้นชี้ชั้น จับถูกอั้นวันดี ได้ฤกษ์ฟ้า สง่าราสี เป็นปีเปิ้กยี รังสีบ่เส้า เมื่อพุทธศก ฉนำขวบเข้า สองพันมีสี่ร้อยซาวปีเต็ม บ่หยุดหย่อนคล้อย…”

คร่าวซอของพระสุนทรพจนกิจ ไม่เพียงแต่ระบุว่าปี พ.ศ.2420 เท่านั้น หากยังบอกว่าครูบาเจ้าศรีวิชัย เกิดวันแรม 12 ค่ำ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ขัดแย้งกับเอกสารอื่น ล้วนระบุว่า ขึ้น 11 ค่ำ

กรณีของความแตกต่างระหว่าง แรม 12 ค่ำ กับ ขึ้น 11 ค่ำนั้น ดิฉันยังไม่ได้ทำการวิเคราะห์ว่าเกิดอะไรขึ้นกับพระกวีรูปนั้น แค่เอามาเผยแพร่จุดประกายเป็นอีกหนึ่งปริศนาไว้ก่อน ให้ผู้อ่านได้รู้ว่า

การชำระสิริชีวประวัติครูบาเจ้าศรีวิชัยนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ดูเผินๆ แล้วเหมือนว่ามีคนเรียบเรียงเรื่องราวของท่านกันตั้งมากตั้งมายก่ายกอง น่าจะง่ายต่อการศึกษาต่อยอดมิใช่หรือ แต่เอาเข้าจริงแล้ว เมื่อตรวจสอบข้อมูลจากเอกสารชั้นต้นหลายฉบับ พบว่าล้วนแล้วแต่มีความขัดแย้งกันแทบทุกจุด

หันมาย้อนมองว่า จ.ศ.1240 จะไปตรงกับ พ.ศ.2420 ได้อย่างไร

 

อรรถาธิบายเงื่อนงำของการระบุพุทธศักราช 2420

ชัยวุฒิ ไชยชนะ นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ สำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านการอ่านคัมภีร์ใบลานล้านนา คือนักวิชาการหนึ่งเดียว ผู้สามารถช่วยดิฉันไขปริศนาดังกล่าว จนทะลุปรุโปร่ง

โดยเขาตั้งข้อสังเกตว่า เหตุไรใบลานทุกผูกที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยเขียนขึ้นถวายวัดพระสิงห์ก็ดี วัดบ้านปางก็ดี ท่านมักระบุชัดว่าเกิด “ปีเปิกยี (ปีขาล) จ.ศ.1240 ซึ่งตรงกับ พ.ศ.2420” ทุกครั้ง

ทั้งๆ ที่เมื่อเทียบกับความรู้ชุดปัจจุบันแล้ว การแปลงจุลศักราชเป็นพุทธศักราชต้องนำเอาเลข 1181 ไปบวก ดังนั้น ผลที่ได้ควรต้องเป็นปี พ.ศ.2421

อย่างไรก็ดี ชัยวุฒิ เห็นว่า คนรุ่นหลังไม่ควรนำชุดวาทกรรมความรู้เรื่องการนับวันเดือนปีแบบมาตรฐานปัจจุบัน ไปเปลี่ยนแปลงปีศักราชชาตกาลของครูบาเจ้าศรีวิชัยให้เป็นปี พ.ศ.2421 ด้วยการลงความเห็นว่า ผู้จารใบลานคงคำนวณศักราชผิด หรือเกิดความสับสนระหว่างเลข 1 กับเลข 0 ขณะจาร

แต่ควรเข้าใจว่า การนับวันเดือนปีแบบล้านนาโบราณนั้นมีหลายสูตร หรือหลายทฤษฎี เนื่องจากคนในอดีตศิษย์ต่างบ้านอาจารย์ต่างวัด ในแผ่นดินล้านนามีโหราจารย์ปะปนกันจากหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งชาวไทโยน ไทลื้อ ไทขึน ลัวะ มอญ พม่า กะเหรี่ยง เป็นต้น ต่างมีวิธีคำนวณปฏิทินเป็นของตัวเอง จะชี้ว่าใครผิดใครถูกไม่ได้

ทั้งนี้ ในท้ายใบลานหรือธัมม์พระเจ้ามักกล่าวสอนเสมอว่า “ใครแปลงคำไม่มีให้มี ตายไปจะเป็นเปรต” ถ้อยคำดังกล่าว เป็นข้อเตือนใจไม่ให้เกิดการต่อเติมเสริมแต่งข้อความใหม่โดยคนรุ่นหลัง

ผู้สนใจเรื่องความแตกต่างระหว่างการคำนวณปฏิทินของแต่ละสูตร สามารถศึกษารายละเอียดวิธีคำนวณเพิ่มเติมได้ในใบลานที่มีการบันทึกช่วงที่เชียงใหม่เสียเมืองเมื่อปี พ.ศ.2101 ให้กับพระเจ้าบุเรงนอง

ฉบับที่จารในสมัยพม่าปกครองระบุว่าเป็น เดือน 8 แต่ฉบับของตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กลับระบุว่าเป็นเดือน 7 ทั้งนี้ เพราะเป็นช่วงเปลี่ยนจุลศักราช

จากการศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียด ชัยวุฒิ ไชยชนะ อธิบายว่าการนับวันเดือนปีของล้านนา หากนับแบบทฤษฎีของทางเชียงแสนแล้ว เดือน 9 ปถมะ (เดือนเกิดของครูบาเจ้าศรีวิชัย) จะตรงกับเดือน 8 ของเชียงใหม่ ซึ่งหากปีถัดไปนั้นคือ พ.ศ.2421 เป็นปีอธิกมาส ดังที่เรียกกันว่า “เดือน 10 มี 2 หน” แล้วไซร้

เดือน 7 ของปี พ.ศ.2420 จะมาเร็วขึ้นกว่าปกติ เพราะเป็นการทดวันในช่วง 3 ปีก่อนที่เคยมีอธิกมาสรอบหนึ่งมาแล้ว ทำให้เดือน 7 ยังไม่อยู่ในช่วงเปลี่ยนจุลศักราช แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนตัวเปิ้งหรือนักษัตรจากฉลูมาเป็นขาลแล้วก็ตาม ปีใหม่จึงอยู่ในช่วงเดือน 8 ของการนับแบบเชียงใหม่ หรือเดือน 9 ปถมะแบบเชียงแสน

ชัยวุฒิ ไชยชนะ เห็นว่าการที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยระบุว่าท่านเกิดปี พ.ศ.2420 นั้นถูกต้องแล้ว เพราะปีนั้นเป็นปีพิเศษ สำหรับเดือนมิถุนายนยังถือว่าไม่ได้เริ่มปี พ.ศ.2421 (ตามสูตรโหราเชียงแสน)

ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของพระสุนทรพจนกิจ ฉะนั้น หากยึดตามที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยจารใบลานทุกผูกด้วยตัวท่านเองแล้ว จึงย่อมเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยเกิดในปีเบิกยีหรือปีขาล พุทธศักราช 2420

 

ทำไมต้องยึดตามโหราศาสตร์เชียงแสน

ข้อควรสังเกตในที่นี้คือ การที่ครูบาเจ้าศรีวิชัย ระบุในคัมภีร์ใบลานทุกผูกว่า ท่านเกิดเดือน 9 จ.ศ.1240 (แต่) ตรงกับ พ.ศ.2420 นั้น ควรตั้งคำถามเป็นอย่างยิ่งว่า

ด้วยเหตุผลใด ที่ทำให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงยึดถือฤกษ์กำเนิดตามสูตรโหราศาสตร์เชียงแสน (ไม่ถือตามโหราศาสตร์เชียงใหม่-ลำพูน)

เรื่องนี้ ดิฉันตั้งข้อสันนิษฐานเอง ว่าน่าจะสามารถอธิบายโดยเชื่อมโยงไปถึงปราชญ์ใหญ่คนสำคัญท่านหนึ่งที่คอยติดสอยห้อยตามครูบาเจ้าศรีวิชัยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2465

นั่นคือ “พระสุนทรพจนกิจ” ผู้มีชาติกำเนิดเป็นชาวเชียงแสน และน่าจะเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการคำนวณฤกษ์ยามการเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ ให้แก่ครูบาเจ้าศรีวิชัยด้วยในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

เนื่องจากเราไม่เคยพบหลักฐานการจารคัมภีร์ใบลานของครูบาเจ้าศรีวิชัยที่ระบุปีเกิด พ.ศ.2420 ในฉบับที่เก่าไปกว่าปี พ.ศ.2469 หรือช่วงเวลาก่อนที่จะได้รู้จักกับพระสุนทรพจนกิจแต่อย่างใดเลย

หวังว่า ผู้อ่านคงได้คำตอบแล้วนะคะ ว่าทำไมครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงเขียนว่าท่านเกิด พ.ศ.2420

กล่าวโดยสรุปได้ว่า เราไม่ต้องไปคัดค้านเรื่องการระบุพุทธศักราช 2420 ของครูบาเจ้าศรีวิชัยว่าเป็นการเขียนที่ผิด เพราะไม่ตรงกับปีขาล หรือไม่ตรงกับจุลศักราช 1240 ปล่อยหลักฐานต้นฉบับให้เป็นไปเช่นนั้น เพราะมันเป็นการคำนวณตามสูตรโหราเชียงแสน

เพียงแต่ขอให้เรารู้ทันว่าเมื่อกล่าวถึง “เดือนมิถุนายน พ.ศ.2420 ซึ่งระบุในเอกสารของครูบาเจ้าศรีวิชัย” นั้น ย่อมหมายถึงว่า เป็นการนับต่อเนื่องจากเดือนเมษายน ท้ายปี พ.ศ.2420 (หรืออันที่จริงคือเข้าสู่ต้นปี 2421) แล้วพ่วงเอาเดือนพฤษภาคม และมิถุนายนของปี 2421 ตามไปด้วย (ซึ่งหากนับแบบปีปกติย่อมเป็นเดือนมิถุนายนปี 2421 นั่นเอง)

หาใช่เป็นการนับเอาเดือนมิถุนายนจริงๆ ของปี พ.ศ.2420 ไม่ (ซึ่งอยู่ในช่วงต้น-กลางปี) มิเช่นนั้นแล้ว หากไปยึดเอาเดือนมิถุนายน (จริงๆ) ของปี 2420 มานับย่อมตรงกับปีฉลู

ฉะนี้แล้ว ปี พ.ศ.2460 จึงยังไม่ใช่ปีที่ครบรอบ 140 ปีชาตกาลของครูบาเจ้าศรีวิชัยแต่อย่างใด ต้องรอปีหน้า พ.ศ.2461

เพราะต้องเข้าใจว่า มิถุนายน พ.ศ.2420 ช่วงที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยถือกำเนิดเมื่อ 140 ปีก่อนนั้น จะต้องรอให้พ้นหรือหมดปี 2420 หลังเมษายนปีถัดไปก่อน (ปี 2421)

แท้ที่จริงก็คือท่านเกิดปี 2421 แล้วนั่นเอง เพียงแต่หลักโหราเชียงแสนยังต้องการให้เขียนเป็น 2420 เท่านั้น

อย่างงนะคะ สัปดาห์หน้าจะชวนวิเคราะห์เรื่องที่เราเคยงงหนักกว่านี้อีก นั่นคือวันมรณภาพของท่าน ว่าตกลงแล้ววันไหนกันแน่ ระหว่าง 20-21 กุมภาพันธ์ กับ 22 มีนาคม 2481 (2482)?