2503 สงครามลับ สงครามลาว (60)/บทความพิเศษ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

2503 สงครามลับ

สงครามลาว (60)

 

“สงครามลาว ยุทธภูมิล่องแจ้ง” ของ “ชาลี คเชนทร์” หรือนามจริง เฉลิมชัย ธรรมเวทิน อดีตผู้นำอากาศยานหน้า ได้บันทึกเหตุการณ์อันเป็นประสบการณ์การรบครั้งแรกของทหารเสือพรานไทย

ซึ่งได้สร้างผลงานดีเด่นประเดิมศึกสงครามลับในลาวไว้ดังนี้

 

การสู้รบครั้งสำคัญที่ทำให้ทหารเวียดกงและทหารขบวนการประเทศลาวล้มตายเป็นจำนวนมากได้เกิดขึ้นที่เมืองห้วยทรายในภาคใต้ เมื่อต้นเดือนมกราคม 2514 ซึ่งกองพันบีซี 601 โดยการนำของ “คำคม” และกองพันบีซี 602 ซึ่งมี “ทองอินทร์” เป็น ผบ.พัน ประกอบด้วย “อภิชาต” และ “ปัจจา” ทำหน้าที่เป็น “เสนาธิการประจำกองพัน” (Case Officer) รวมทั้งแฟ็ก (FAG : Forward Air Guide) อีก 2 คนผู้ทำหน้าที่เป็นผู้นำการโจมตีทางอากาศประจำกองพันคือ “ฮิลล์ท็อป (อนันต์)” และ “ริงเกอร์ (เทิดศักดิ์)”

ทั้ง 2 กองพันได้รับคำสั่งให้ส่งกำลังเข้ากวาดล้างข้าศึกในบริเวณหมู่บ้านใกล้สนามบินห้วยทรายรวมถึงภารกิจในการสร้างมวลชนสัมพันธ์และแยกประชาชนให้เคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่สู้รบ เนื่องจากทั้ง 2 กองพันเป็นกองพันแรกที่ถูกส่งไปช่วยรบในลาว

กำลังพลที่มาจากทหารประจำการและทุกคนต่างได้รับการบรรจุไว้อย่างเหมาะสม อีกทั้งผู้บังคับบัญชาทุกระดับของทั้ง 2 กองพันต่างมีบุคลิกเด่นน่าเกรงขาม โดยเคยนำหน่วยเข้าสู้รบกับข้าศึกด้วยความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญในพื้นที่ทางตอนใต้มาแล้วหลายครั้ง จนฝ่ายข้าศึกต้องสูญเสียและล้มตายเป็นจำนวนมาก

ดังนั้น ขวัญกำลังใจของทหารทั้ง 2 กองพันนี้จึงอยู่ในขั้นดีเยี่ยม พร้อมสู้พร้อมรบด้วยจิตใจฮึกเหิมห้าวหาญ

 

แม้ข้าศึกฝ่ายเวียดกงได้รับการสูญเสียในเบื้องต้นเป็นอันมากจากการรบก่อนหน้านี้แต่ก็ไม่ได้ท้อถอยลดความพยายามแต่อย่างใดกลับตั้งหลักรวมกำลังหวังโจมตียึดพื้นที่คืนให้ได้ โดยปรับเปลี่ยนวิธีใช้กำลังส่วนน้อยเข้าก่อกวนในยามดึกสงัด หรือใช้อาวุธหนักจรวดวิถีตรงยิงมาจากระยะไกลตลอดทั้งวัน

ในการยับยั้งการยิงอาวุธหนักของข้าศึกให้ลดน้อยลงไปได้นั้นฝ่ายเราต้องขอกำลังทางอากาศทิ้งระเบิดสกัดกั้นไว้ทุกระยะ

เป็นที่ยกย่องกล่าวขานกันว่าแฟ็ก “ฮิลล์ท็อป” ผู้นำอากาศยานหน้า ได้ประสานการทำงานกับเครื่องบินด้วยความอดทนทั้งวันและคืนจนข้าศึกไม่มีโอกาสเข้าโจมตีทำลายฝ่ายเราได้เลย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผบ.พัน “คำคม”ได้สั่งการให้ทหารทุกคนสร้างบังเกอร์และดัดแปลงปราการแนวรบให้มั่นคงอยู่เสมอพร้อมได้ย้ำเตือนกำลังพลไม่ให้ตกอยู่ในความประมาทโดยต้องพร้อมป้องกันตอบโต้ข้าศึกอย่างไม่พรั่นทุกเมื่อ

แหล่งข่าวแจ้งว่าฝ่ายเวียดกงได้ยกกำลังจำนวน 1 กองพลหวังจู่โจมเผด็จศึกทหารเสือพรานทั้ง 2 กองพันให้แหลกลาญ

ข่าวเรื่องนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้บังคับบัญชาประจำหน่วย ทุกคนจึงได้ร่วมคิดวางแผนในการป้องกันสู้รบให้เกิดผลดีที่สุด

“อภิชาติ” และ “ปัจจา” ในฐานะ เสธ.ฝ่ายยุทธการ ให้ข้อเสนอแนะต่อ ผบ.พัน ทั้ง 2 กองพันหลายประการโดยคาดว่าข้าศึกคงไม่กล้าใช้กำลังจำนวนมากเข้าโจมตีในเวลาฉับพลัน เพราะแต่ละกองพันต่างมีอาวุธหนักไว้ยิงป้องกันฐานที่มั่นอย่างเต็มที่

อีกทั้งกำลังทางอากาศก็พร้อมให้การสนับสนุนตลอดเวลา หากข้าศึกใช้วิธีการเช่นนั้นการสู้รบต้องถึงขั้นประจัญบานอันจะทำให้กำลังพลทั้งสองฝ่ายสูญเสียอย่างหนัก

ผู้บังคับบัญชาในหน่วยทุกคนต่างลงความเห็นตรงกันว่าฝ่ายข้าศึกคงดำเนินกลยุทธ์แบบเดิมด้วยการส่งกำลังเข้าทำลายที่ตั้งฝ่ายเรา คาดการณ์ว่าน่าจะเป็นกลางคืนมากกว่ากลางวัน

เครื่องบิน C-47 ได้นำยุทธปัจจัยมาทิ้งให้ทั้ง 2 กองพันเต็มอัตราศึก ส่วนใหญ่เป็นขดลวดหนามจำนวนมาก ผู้บังคับหน่วยทั้งหมดได้สั่งให้ทหารระดมกำลังวางลวดหนามรายรอบกองพันถึง 3 ชั้น

แล้วตั้งฐานยิงปืนครกและอาวุธหนักให้ครบทุกหมวดรอบฐานที่ตั้ง

ทุกหน่วยถูกกำชับให้รักษาวินัยการรบแบบตั้งรับอย่างเคร่งครัด ห้ามส่งเสียงดังและใช้แสงไฟในเวลาค่ำคืน

เมื่อใดที่สังเกตเห็นข้าศึกเข้าโจมตีต้องปล่อยให้ข้าศึกตายใจจนกว่าจะเข้ามาถึงรั้วลวดหนามชั้นในอันเป็นระยะยิงหวังผล

ปืนทุกกระบอกต้องพร้อมยิงเมื่อเห็นตัวข้าศึกเท่านั้น

 

ในยามดึกสงัดของวันที่ 8 มกราคม 2514 ฝ่ายข้าศึกได้คืบคลานตัดรั้วลวดหนามเข้ามาทีละขั้นๆ อย่างเงียบเชียบโดยหวังเข้าจู่โจมในระยะกระชั้นชิดเพื่อล้อมกรอบและจับฝ่ายเราเป็นเชลยตามข่าวกรองที่ได้รับ

ทหารเสือพรานทุกหน่วยได้เฝ้าระวังความเคลื่อนไหวอย่างเงียบกริบ ปืนทุกกระบอกจ้องสู่เป้าหมายเบื้องหน้าในทุกมุมทิศ พลันที่ฝ่ายข้าศึกได้ตัดลวดหนามขั้นสุดท้ายสำเร็จต่างตะเบ็งเสียงร้องยี้ๆๆ เย้วๆๆ เป็นสัญญาณเข้าประจัญบาน ขณะเดียวกันเสียงแผดกล้องของปืนทุกกระบอกจากฝ่ายเราได้ยิงอย่างไม่ยั้งมือพร้อมๆ กัน

พวกมันจู่โจมเข้ามาเท่าใดร่างก็ถูกระเบิด กระสุนปืนล้มดับดิ้นทับถมมากเพียงนั้น

ตลอดคืนนั้นทหารเสือพรานได้จัดเวรยามเฝ้าซากศพท่ามกลางกลิ่นคาวเลือดคละคลุ้ง

ครั้นรุ่งเช้า ฝ่ายเราได้ออกไปเคลียร์พื้นที่ ภาพที่ปรากฏคือทหารเวียดนามตายเกลื่อนเต็มบริเวณ ร่างอันไร้วิญญาณของทหารหลายนายเกาะติดพาดรั้วลวดหนามเป็นที่สมเพชน่าอนาถ

นับยอดผู้สังเวยชีวิตได้ถึง 131 ศพ ส่วนทหารฝ่ายเราเสียชีวิตเพียง 2 นายเท่านั้น

“ผบ.คำคม” และ “ผบ. ทองอินทร์” ได้สั่งให้นำร่างผู้เสียชีวิตทั้งหมดนำมากองรวมกันไว้หลายจุดภายนอกฐานที่ตั้งแห่งหนึ่งพร้อมทำพิธีฌาปนกิจศพให้เป็นเกียรติแก่ทหารกล้านักรบเวียดนามในคราวเดียวกัน

นับว่าเป็นการเผาศพครั้งยิ่งใหญ่ที่ไม่เคยปรากฏในสนามรบแห่งใดมาก่อน ท่ามกลางความเศร้าสลดของนักรบคู่สงคราม

 

การรบครั้งนั้นถือว่าเป็นวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของทหารเสือพรานทั้ง 2 กองพัน

ข่าวดังกล่าวได้แพร่กระจายไปสู่กองพันทหารเสือพรานในทุกพื้นที่การรบในลาวและเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาของทหารแห่งชาติลาว สร้างความเกรงขามต่อทหารขบวนการประเทศลาวและหน่วยทหารเวียดกงเป็นอย่างยิ่ง

ต่อมา ทั้ง 2 กองพันได้รับหนังสือชมเชยจากจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอีกด้วย

อนึ่ง เอกสารที่ไม่สามารถเปิดเผยที่มานอกจากจะบันทึกผลการสู้รบที่สอดคล้องตรงกันกับบันทึกของ “ชาลี คเชนทร์” ดังกล่าวแล้ว ยังได้บันทึกผลจากการตรวจภูมิประเทศหลังฝ่ายข้าศึกถอนตัวแล้ว

มีข้อน่าสนใจดังต่อไปนี้

 

1)การเข้าตีของเวียดนามเหนือเป็นการเข้าตีอย่างประณีต มีการจำลองโต๊ะทรายก่อนการเข้าตี

2) มีการยิงทดสอบที่ตั้งอาวุธหนักของฝ่ายเรา

3) มีการส่งทหารลาวแดงมาหาข่าว แต่ถูกฝ่ายเราจะเป็นเชลยศึกได้ 1 คน

4) หน่วย Sapper เป็นหน่วยนำในการเข้าตี จะใช้กาบหยวกกล้วยที่มีลักษณะนูนโค้งและมีนวลสีขาวสามารถสะท้อนแสงจันทร์พอนำทางเข้ามาได้

5) การลำเลียงกระสุนปืน ค.ใช้ไม้ไผ่ผ่าง่ามทั้ง 2 ข้าง แล้วสอดหางระเบิด ค.เข้าไปใช้ตอกมัดตรงปลายแบกหามเข้ามาคนละ 4-6 ลูก

และ 6) หน่วย Sapper จะนุ่งกางเกงผ้าเตี่ยว ไม่ใส่รองเท้า ถ้าอากาศหนาวจะสวมเสื้อ ถ้าไม่หนาวจะถอดเสื้อเพื่อให้มีการสัมผัสที่ดีเวลาคืบคลานเข้ามาในเวลากลางคืน

ความสำเร็จและประสิทธิภาพในการรบของทหารเสือพรานทั้งสองกองพันนี้ ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับทหารเสือพรานรุ่นต่อๆ มาที่จะทยอยกันเข้าสู่สมรภูมิลับในลาว

หมายเหตุ

“คำคม” ผู้บังคับกองพันทหารเสือพรานที่ 41 นามจริงคือ พ.ต.จรวย นิ่มดิษฐ์ ต่อมารับราชการในพื้นที่กองทัพภาคที่ 2 จนถึงยศพันเอก ตำแหน่งรองเสนาธิการกองทัพภาคที่ 2 ประสบอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ เมื่อ 8 มิถุนายน พ.ศ.2526

“ทองอินทร์” ผู้บังคับกองพันทหารเสือพรานที่ 42 นามจริงคือ พ.ต.ประกาย คารวะ ไม่ทราบประวัติรับราชการ