เดือดยิ่งกว่า ‘โลกร้อน’ เมื่อ BRI ของ ‘จีน’ เจอ B3W ของ ‘มะกัน’/บทความพิเศษ จักรกฤษณ์ สิริริน

บทความพิเศษ

จักรกฤษณ์ สิริริน

 

เดือดยิ่งกว่า ‘โลกร้อน’

เมื่อ BRI ของ ‘จีน’

เจอ B3W ของ ‘มะกัน’

 

นโยบาย The Belt and Road Initiative (BRI) หรือ The Silk Road Economic Belt and The 21st Century Maritime Silk Road เส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21 อันลือลั่นของ “จีน” ในนาม One Belt One Road

One Belt One Road หรือ BRI เกิดขึ้นในปี ค.ศ.2013 โดยประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” ผู้นำสูงสุดแห่ง “สาธารณรัฐประชาชนจีน” เป็นผู้เสนอโครงการดังกล่าวผ่าน 3 แผนงาน คือ

1. แผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงระหว่างประเทศ การจัดสรรแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดตั้ง “ธนาคารเพื่อการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย” และ “กองทุนเส้นทางสายไหม”

2. แผนการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

3. แผนการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

The State Council, The People’s Republic Of China หรือ “สภาแห่งรัฐของจีน” ได้กล่าวถึง The Silk Road Economic Belt หรือ “เส้นทางบนบก” ว่าเป็น “ความร่วมมือในการสร้างวิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจระหว่างชาติต่างๆ” ตามแนว “ถนน” และ “ทางรถไฟ”

เป็นการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาค และสร้างเครือข่ายทางบก เพื่อยกระดับการเชื่อมต่อไปสู่ขีดขั้นที่สูงขึ้นด้วยการส่งเสริมทางการค้า และการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน โดยการสร้างเครือข่ายครอบคลุมทุกพื้นที่

ส่วน “เส้นทางเดินเรือ” หรือ Maritime Silk Road นั้น มีชื่อเรียกการรุกคืบทางทะเลของจีนในครั้งนี้ว่า “ยุทธศาสตร์สร้อยไข่มุก”

“ยุทธศาสตร์สร้อยไข่มุก” หรือ String of Pearls เผยแพร่ครั้งแรกโดย “นาวาอากาศโท Christopher J. Pehrson” แห่งกองทัพอากาศสหรัฐ ในบทความ String of Pearls : Meeting the Challenge of China’s Rising Power across the Asian littoral เมื่อปี ค.ศ.2006

เปรียบเทียบกับการที่ “จีน” ออกไปขอเช่า หรือสร้างท่าเรือ และฐานทัพทางทะเล/ฐานทัพอากาศ ในหลายประเทศ ว่าเปรียบเสมือนเป็น “ไข่มุก” แต่ละเม็ด ที่ “จีน” ค่อยๆ เรียงร้อยเอาไว้ จนกลายเป็น “สายสร้อยไข่มุก” ยาวเรียงรายมายัง “แผ่นดินจีน”

ครอบคลุมเส้นทางทะเลจากภูมิภาคตะวันออกกลาง ทะเลอาหรับ อันดามัน มาจนถึงทะเลจีนใต้ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเส้นทางหลักในการลำเลียงวัตถุดิบ และพลังงานเพื่อมาป้อน “เศรษฐกิจจีน” ที่กำลังโตวันโตคืน

 

ล่าสุด สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ภูมิรัฐศาสตร์โลกใหม่” ทวีความดุเดือดยิ่งกว่าวิกฤต “โลกร้อน” เมื่อ BRI ของ “จีน” ต้องเจอ B3W ของ “มะกัน”

เมื่อประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา “โจ ไบเดน” ได้แสดงวิสัยทัศน์ “การพัฒนาโลกสีเขียว” ด้วยการผลักดันการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านโครงการ Build Back Better World หรือ B3W

“โจ ไบเดน” กล่าวถึง B3W ว่าคือความร่วมมือของนานาชาติ ที่จะร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็น “ศูนย์” ภายในปี ค.ศ.2050

ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาล้วนต้องการระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพสูง มีความยั่งยืน และสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งจะต้องช่วยกระตุ้นการขับเคลื่อน “เศรษฐกิจสีเขียว”

วัตถุประสงค์หลักของ B3W คือการลงทุนแบบโปร่งใส เพื่อที่เข้าไปช่วยพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในประเทศกำลังพัฒนา

 

นี่คือการเปิดศึกแข่งขันกันระหว่าง B3W กับ BRI ของ “จีน” อย่างปฏิเสธไม่ได้ครับ

แม้ว่าก่อนหน้านี้ จะมีความพยายามผลักดันยุทธศาสตร์ Indo-Pacific ผ่าน “ญี่ปุ่น” เพื่อสกัดและคานอำนาจ “จีน”

Indo-Pacific คือการต่อยอดสุนทรพจน์ Confluence of the Two Seas เมื่อปี ค.ศ.2007 ของ “ชินโสะ อาเบะ” นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่พัฒนามาสู่นโยบาย The Arc of Freedom and Prosperity และยุทธศาสตร์ Diamond Strategy เมื่อปี ค.ศ.2012

จนกลายมาเป็น Free and Open Indo-Pacific Strategy และได้ประกาศอย่างเป็นทางการในที่ประชุม Tokyo International Conference on Africa Development (TICAD) เมื่อปี ค.ศ.2016

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยุทธศาสตร์ Asia-Pacific ของสหรัฐอเมริกา อันประกอบด้วย

1. ตั้งอยู่บนพื้นฐานภูมิภาคนิยม (Regionalism)

2. ยึดหลักนิติธรรม และการเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ

3. มุ่งเพิ่มบทบาททางการทหาร

ยุทธศาสตร์ Indo-Pacific เป็นการผนวกพื้นที่ทางรัฐศาสตร์ของมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิกเข้าด้วยกัน โดยมีนัยสำคัญคือการส่งเสริมบทบาท “อินเดีย” มหามิตรของ “อเมริกา” ในการสร้างดุลยภาพเพื่อคานอิทธิพลทางฝั่งตะวันตกของ “จีน”

ขณะที่ยุทธศาสตร์ทางการทหารตอนใต้ได้นำ “ออสเตรเลีย” เข้ามามีส่วนร่วม เนื่องจากมีกองทัพเรือที่มีแสนยานุภาพพอที่จะถ่วงดุลกับ “จีน” ได้

 

นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์ Indo-Pacific ยังมุ่งความสนใจไปที่ “อินเดีย” และ “แอฟริกา” โดยมีการยกระดับความสัมพันธ์กับ “อินเดีย” ภายใต้ชื่อ Special Strategic and Global Partnership ในการผลักดัน “เขตพัฒนาพิเศษ” หรือ “ระเบียงเศรษฐกิจ” AAGC (Asia-Africa Growth Corridor) เพื่อมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมาตรฐานสูงให้กับ “อินเดีย” และประเทศพันธมิตรในแนวมหาสมุทรอินเดีย

ในด้านหนึ่ง แน่นอนว่า Indo-Pacific คือการยับยั้ง BRI ผ่านการสะท้อนท่าทีหลายมิติ ทั้งทางเศรษฐศาสตร์ ที่ต้องการเชื่อมโยงภูมิภาค “เอเชียตะวันออก” เข้ากับ “อินเดีย” และ “แอฟริกา” มากขึ้น ส่วนในทางการเมือง ก็เน้นไปที่การส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงกับ “ยุโรป”

โดยเมื่อปี ค.ศ.2018 อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ “ไมก์ เพนซ์” เคยวิจารณ์โครงการ BRI ของ “จีน” ว่าเป็นโครงการที่จะสร้างหนี้ให้กับรัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนามากมาย

พร้อมยังชี้ถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ปัญหาที่จะเกิดต่อสังคม และการทุจริตภายใต้โครงการริเริ่ม BRI นี้ด้วย

ขณะนี้ เจ้าหน้าที่ของสหรัฐได้ออกเดินทางเยือนประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก เพื่อรับฟังความคิดเห็น ความต้องการ และชักชวนให้ชาติเหล่านั้นเข้าร่วมโครงการ B3W

โดยรองที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ “ดาลีฟ ซิง” ได้เป็นผู้นำคณะเดินทางไปยังประเทศแถบลาตินอเมริกา ได้แก่ โคลัมเบีย เอกวาดอร์ และปานามา ในเดือนกันยายน และเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาก็เพิ่งเดินทางไปยังทวีปแอฟริกา เพื่อพบกับผู้นำกานา และเซเนกัล

การเดินสายดังกล่าว เป็นการแสดงให้ชาติกำลังพัฒนาได้มองเห็น ว่ามี “ทางเลือกอื่น” นอกเหนือไปจาก BRI ของ “จีน”

 

อย่างไรก็ดี “ลูคัส ไมเยอร์” ในฐานะผู้ประสานงานโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของวอชิงตัน ได้กล่าวว่า ปัจจุบันโครงการ BRI ของ “จีน” ยังคงได้รับความสนใจจากหลายชาติอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และมีการทุจริตสูง

สำทับด้วย “แซ็ก คูเปอร์” นักวิเคราะห์อาวุโสจาก American Enterprise Institute ที่ชี้ว่า B3W อาจจะไม่สามารถแข่งกัน BRI ได้ เพราะสหรัฐไม่ทราบว่าประเทศใดจะเข้าร่วมบ้าง และเข้าร่วมในระดับใด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อเมริกายังไม่สามารถคำนวณเม็ดเงินลงทุนได้ภาพรวมได้ หนำซ้ำ ยังไม่มีการแถลงระยะเวลาของโครงการที่ชัดเจนอีกด้วย แม้ว่าจะมีการประกาศ Timeline ล่วงหน้า ว่า B3W จะเริ่มโครงการได้ในช่วงต้นปี ค.ศ.2022 ภายใต้เม็ดเงินลงทุน 40 ล้านล้านดอลลาร์ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม “โจนาธาน ฮิลล์แมน” นักวิเคราะห์แห่ง Center for International & Strategic Studies หรือ CSIS บอกว่า B3W อาจสู้กับ BRI ได้ หากว่ามุ่งเน้นให้ความสนใจกับ “เรื่องสำคัญ 4 อย่าง” ที่ “จีนยังคงทำได้ไม่ดีพอ” ซึ่งประกอบด้วย

1. สภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อม

2. สุขภาพ

3. เสรีภาพทาง Digital

4. ความทัดเทียมทางเพศ

นอกจากนี้ บรรดานักวิชาการด้านภูมิรัฐศาสตร์ ได้พากันออกมาชี้ว่า อเมริกามีโอกาสประสบความสำเร็จกับ B3W ได้ หากสหรัฐพึ่งพาเม็ดเงินลงทุนจากภาคเอกชนในประเทศ และอาศัยความร่วมมือจากชาติพันธมิตรอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ญี่ปุ่น” ซึ่งมีประสบการณ์ ความชำนาญ และเครือข่ายที่อย่างกว้างขวางในฐานะประเทศผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดของ ASEAN

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ญี่ปุ่น” คือผู้นำในยุทธศาสตร์ Indo-Pacific ที่ได้กล่าวถึงในตอนต้นนั่นเองครับ