อัฟกานิสถาน : การกลับมาของฏอลิบาน (20)/มุมมุสลิม จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

 

อัฟกานิสถาน

: การกลับมาของฏอลิบาน (20)

 

สถานการณ์ที่ตามมา

สองวันหลังจากฏอลิบานเข้าสู่อำนาจในกรุงคาบูล ซึ่งเป็นเมืองหลวงของอัฟกานิสถาน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมนั้น พบว่ามีการกบฏเกิดขึ้นในหุบเขาปัญชีร โดยฏอลิบานได้ส่งกำลังเข้าไปต่อสู้กับฝ่ายกบฏ

ด้วยการพิจารณาว่ากองกำลังฏอลิบานสามารถโอบล้อมฝ่ายกบฏได้ และฝ่ายกบฏก็ไม่อาจได้รับอาวุธและวัตถุดิบจากประเทศภายนอกใดๆ อีกต่อไป ฝ่ายกบฏจึงจำใจต้องยกเลิกการต่อสู้ไปในที่สุด

สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในอัฟกานิสถานกำลังย่ำแย่ลงและชุมชนระหว่างประเทศจะต้องให้การขานรับอย่างทันท่วงทีจึงจะหลีกเลี่ยงการสูญเสียชีวิตของพลเมืองอัฟกานิสถานลงไปได้

มีความเข้าใจผิดพลาดที่ขยายออกไปโดยสื่อและแหล่งข่าวทั้งหลายที่ว่าวิกฤตมนุษยธรรมได้เกิดขึ้นหลังจากฏอลิบานขึ้นสู่อำนาจ และเป็นเพราะฏอลิบานขึ้นมาสู่อำนาจจึงทำให้เกิดวิกฤตมนุษยธรรมขึ้นมา

ข้ออ้างดังกล่าวเป็นตัวอย่างที่มาจากความเข้าใจผิดและความไม่คุ้นเคยกับพื้นที่

ในวันที่ 13 กรกฎาคม คณะกรรมการเพื่อผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติได้เตือนว่า “วิกฤตมนุษยธรรมที่อัฟกานิสถานจะเกิดขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ถ้าไม่มีองค์การระหว่างประเทศหรือประเทศที่มีศักยภาพทางการเงินไม่เข้าไปช่วยเหลือ

วิกฤตได้ขยายตัวขึ้นเมื่อตะวันตกสนับสนุนหรือถึงกับตักเตือนให้ผู้มีการศึกษาสูงของอัฟกานิสถานหนีออกจากประเทศไป

ต่อมาเงินจำนวนสิบพันล้านเหรียญสหรัฐของอัฟกานิสถานที่อยู่กับสหรัฐและธนาคารอื่นๆ ได้ถูกอายัด ทั้งนี้ งบประมาณทั้งหมดของอัฟกานิสถานในเวลานี้คงมีอยู่เพียง 20 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น

ธนาคารกลางในอัฟกานิสถานก็ขาดเงินและระบบธนาคารก็ล่มลง โดยประชาชนต้องรออยู่เป็นเวลานานเพื่อจะถอนเงินจากตู้ ATM

ในขณะที่ฏอลิบานไม่มีข้อผิดพลาดใดๆ จากสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นประเทศตะวันตกต่างหากที่มีส่วนอย่างมากต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของอัฟกานิสถาน

 

การประชุมเพื่อแก้ไขวิกฤตมนุษยธรรมของสหประชาชาติในเวลาต่อมาถือเป็นความสำเร็จที่น่ายกย่อง ทั้งนี้ จะมีงบประมาณ 606 พันล้านเหรียญสหรัฐเข้ามาช่วยเหลืออัฟกานิสถานหลังจากที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ที่ 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ

สหประชาชาติยังไม่ได้ตีพิมพ์ถึงรายชื่อผู้มอบเงินให้ แต่เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปก็คือประเทศเยอรมนีได้มอบเงินให้อัฟกานิสถาน 590 ล้านเหรียญสหรัฐซึ่งมากที่สุดในบรรดากลุ่มประเทศที่ให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในอัฟกานิสถาน

เยอรมนีเป็นประเทศที่หวาดหวั่นกระแสการอพยพของผู้ลี้ภัยสู่ประเทศของตน และส่วนหนึ่งของเงินดังกล่าวที่มอบให้เป็นวิธีการหนึ่งที่จะป้องกันการไหลบ่าของผู้ลี้ภัยอัฟกานิสถานที่จะเข้ามายังประเทศเยอรมนีนั่นเอง

ในอดีตที่ผ่านมา การหลั่งไหลของผู้ลี้ภัยจากซีเรียและอื่นๆ อย่างตุรกีทำให้กลุ่มขวาจัดของเยอรมนีที่ต่อต้านผู้ลี้ภัยได้รับการเลือกตั้งอย่างสำคัญ ในขณะที่สหรัฐมอบเงินให้ 64 ล้านเหรียญสหรัฐ เดนมาร์ก 38 ล้านเหรียญสหรัฐ และนอร์เวย์ 11.5 ล้านเหรียญสหรัฐ

รัฐมนตรีต่างประเทศของอินเดีย ชัยชังกัร (S.Jaishankar) ได้พูดถึงความเป็นห่วงของอินเดียที่มีต่อชาวอัฟกานิสถานที่ประสบความยากลำบาก แต่ก็หลีกเลี่ยงที่จะประกาศถึงความช่วยเหลือของอินเดียที่มีต่อชาวอัฟกานิสถาน

 

หลังจากรองเลขาธิการสำหรับกิจการมนุษยธรรมและการประสานงานเพื่อบรรเทาทุกข์ฉุกเฉินของสหประชาชาติ “Martin Griffiths ได้ให้ความกระจ่างว่าสหประชาชาติมีความมั่นใจว่าผู้มีความต้องการในอัฟกานิสถานจะได้รับความช่วยเหลือ และตัวเขาเองก็ได้เดินทางไปกรุงคาบูลเพื่อพูดคุยกับฏอลิบานและหาทางแก้ไขวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่เกิดขึ้น

มีความหวังกันโดยทั่วไปว่าอินเดียควรจะเป็นประเทศที่เป็นเจ้าภาพการประชุมว่าด้วยสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถาน ทั้งนี้ ดูเหมือนว่าอินเดียเป็นประเทศที่รอดูท่าทีอยู่ในขณะที่ประเทศอื่นๆ อย่างเช่น จีน ปากีสถาน กาตาร์ ตุรกี และรัสเซีย ได้พยายามช่วยเหลืออัฟกานิสถานไปในระดับหนึ่งแล้ว

ท่าทีของอินเดียเตือนถึงนักปรัชญาเพลโตใหม่ (Neo-Platanist) ของศตวรรษที่ 3 อย่าง Plotinus ผู้ยืนยันว่าการใคร่ครวญนั้นเหนือกว่าการกระทำ (Contemplation was superior to action) อย่างแท้จริง

 

ปัจฉิมบทแห่งอัฟกานิสถาน

ประวัติศาสตร์บาดแผลจากอดีตถึงปัจจุบัน

การก่อวินาศกรรมตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์และตึกเพนตากอนของสหรัฐ เมื่อวันที่ 11 กันยายน เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้สหรัฐปักใจเชื่อว่าอุสามะฮ์ บิน ลาดิน ที่ประกาศเป็นศัตรูกับสหรัฐ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการก่อวินาศกรรมดังกล่าว แม้ว่าบิน ลาดิน จะปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่า

การที่บิน ลาดิน พำนักอาศัยอยู่ในอัฟกานิสถาน และการที่รัฐบาลอัฟกานิสถานปฏิเสธที่จะส่งตัวบิน ลาดิน ให้สหรัฐ ทำให้อัฟกานิสถานตกเป็นเป้าการโจมตีของสหรัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อัฟกานิสถานผ่านการปกครองมาแล้วเกือบทุกรูปแบบจากสถาบันกษัตริย์ สู่กองทัพ สู่นักการศาสนา หัวหน้าเผ่า ระบอบสาธารณรัฐ การเข้ามาของประเทศภายนอก ทั้งทุนนิยม คอมมิวนิสต์ การลุกฮือของนักต่อสุ้มุญาฮิดีนหลายกลุ่ม การปกครองของฏอลิบานและการล้มลงของฏอลิบานจากการเข้ามาของกองกำลังสหรัฐเพื่อหนุนช่วยรัฐบาลใหม่ในอัฟกานิสถาน การล่มลงของรัฐบาลที่สหรัฐมาร่วมรบและฏอลิบานเข้าสู่อำนาจได้อีกครั้ง

ในสมัยที่อัฟกานิสถานอยู่ได้ระบอบกษัตริย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังสงครามโลกครั้งที่สองนั้น แม้ว่ากษัติรย์จะมีส่วนพัฒนาประเทศ และได้รับการหนุนช่วยทั้งจากสหรัฐและโซเวียต ความขัดแย้งทางเผ่าพันธุ์เบาบางลง แต่ประชาชนกลับไม่มีเสรีภาพ สถาบันรัฐสภาไม่ได้รับการยอมรับ มีความขัดแย้งกับปากีสถานในเรื่องของเส้นทางการค้าที่ต้องผ่านพรมแดนของปากีสถาน

ก่อนหน้านี้อัฟกานิสถานเคยเป็นประเทศที่ได้รับการพัฒนาทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง รัฐธรรมนูญถูกประกาศใช้ในปี 1961 การเลือกตั้งทั่วไปมีขึ้นในปี 1965 แต่บาดแผลสำคัญทางการเมืองที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องก็คือ ความไร้เสถียรภาพของรัฐบาล

ภาวะแห้งแล้งและขาดแคลนอาหารในภาคเหนือและภาคกลางของประเทศทำให้คนหนุ่ม-สาวที่มีความรู้เรียกร้องที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการปกครอง

กระแสความไม่พอใจรัฐบาล นำไปสู่การปฏิวัติในปี 1973 ประเทศกลายเป็นสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุข ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ นำพาประเทศไปสู่การพึ่งพิงโซเวียต ทั้งทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเป็นเหตุให้โซเวียตเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในอัฟกานิสถานมากขึ้น

บรรดาผู้นำที่ได้รับการสนับสนุนจากโซเวียตแทนที่จะมีความกลมเกลียวกันภายใต้อุดมการณ์เดียวกัน พวกเขากลับมีแต่ความขัดแย้ง จึงเกิดการล้มล้างและการเปลี่ยนผู้ปกครองตามมา เมื่อผู้นำอย่างดาวุด ข่าน (Dawud Khan) พยายามจะลดอิทธิพลของโซเวียต โดยหันเข้าหาปากีสถาน ซาอุดีอาระเบียและอิหร่าน และขยายความสัมพันธ์หลายๆ ด้านกับประเทศเหล่านี้ เขาก็ถูกสังหารในที่สุด โซเวียตจึงถลำลึกเข้าสู่อัฟกานิสถานมากขึ้น ด้วยการสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลมาร์กซิสต์นิยมโซเวียตขึ้นมา ภายใต้การนำของนูร ดารากี

ในช่วงต่อมาก็ได้เกิดการต่อสู้ภายในอัฟกานิสถานที่ทวีความรุนแรงขึ้น โดยฝ่ายหนึ่งเป็นผู้นิยมอิสลามการเมืองในนามมุญาฮิดีนกับอีกฝ่ายที่นิยมรัฐบาลมาร์กซิสต์ ซึ่งมีอุดมการณ์ขัดแย้งกับอิสลามการเมือง

รัฐบาลปฏิวัติของตารากี เริ่มมีสภาพอ่อนแอเมื่อเกิดความแตกแยกภายใน

ในปี 1979 รัฐบาลมาร์กซิสต์ได้รับการต่อต้านอย่างหนักจากประชาชนที่ยึดถือหลักการอิสลามในนามมุญาฮิดีน ความระส่ำระสายกระจายออกไปถึง 28 จังหวัด

ที่ปรึกษาของโซเวียตที่ถูกส่งเข้ามาดูแลและแก้ไขเหตุการณ์ ถูกสังหารถึง 30 คน

จากนั้นโซเวียตก็ส่งทหารของตนเข้ามาและปราบปรามกลุ่มกบฏอัฟกานิสถานที่เรียกตัวเองว่ามุญาฮิดีน (MuJahidin) อย่างหนัก แต่ก็ประสบความล้มเหลวเช่นเคย