‘ทางหลวงแผ่นดิน’ เส้นทางเแห่งการปฏิวัติ ‘โลกใบใหม่’ ของนักเรียน ต.มธก./My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

‘ทางหลวงแผ่นดิน’ เส้นทางเแห่งการปฏิวัติ

‘โลกใบใหม่’ ของนักเรียน ต.มธก.

 

“การปกครองระบอบรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นหลักปกครองประเทศนี้ มีความหมายเป็น 2 นัย คือ นัยหนึ่งหมายความว่า อำนาจสูงสุดในประเทศนั้นมาจากราษฎร อีกนัยหนึ่งหมายความว่า ราษฎรทุกคนหรือเป็นจำนวนมากที่สุดที่จะมากได้เป็นผู้ใช้อำนาจนี้ อำนาจสูงสุดที่กล่าวนี้คือ อำนาจอธิปไตย”

(วิชิต หอมโกศล, 2482)

ข้อความข้างต้น คือข้อความหน้าแรกในความเรียงของนายวิชิต หอมโกศล นักเรียนเตรียม มธก. ชั้นปีที่ 2 ผู้เป็นนักเรียนและมีสำนึกทางการเมืองแบบใหม่ในระบอบประชาธิปไตย

“คนหนุ่มสาวสมัยปฏิวัติ 2475 มีความใฝ่ฝันถึงอะไรไหม?”

อาจคือคำถามใหญ่ในปัจจุบันภายหลังที่พวกเราเห็นและยินความฝันของคนรุ่นใหม่ส่งเสียงดังขึ้น แต่ถูกปราบปรามจากอำนาจรัฐอนุรักษนิยมปรัตยุบัน

และมีประวัติศาสตร์สมัยใหม่มียุคใดไหมที่รัฐบาลเปิดให้พื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงความใฝ่ฝันออกมาอย่างเสรีโดยรัฐรับรองยกย่องไหม

นักเรียน ต.มธก. เมื่อ 2481 กับหนังสือเรียงความงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2482

“อำนาจสูงสุดในประเทศนั้นมาจากราษฎร”

เบื้องแรกของความเจริญ

สํานักงานโฆษณาจัดประกวดเรียงความฉลองรัฐธรรมนูญเพื่อสำรวจความก้าวหน้าของระบอบประชาธิปไตยในสายตาของพลเมืองและส่งเสริมการปกครองให้แพร่หลาย ในระดับมัธยมและอุดมศึกษา หัวข้อประกวดเรียงความในปี 2482 ในระดับมัธยม คือ การปกครองระบอบรัฐธรรมนูญอำนวยผลแก่ประเทศไทยอย่างไร” มีผู้ส่งจำนวน 528 ราย

ผลการพิจารณา ให้นายวิชิต หอมโกศล อายุ 19 ปี นักเรียนเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ปีที่ 2 เป็นบทความที่ดีที่สุด

วิชิต นักเรียนเตรียม มธก.กล่าวถึงการปฏิวัติครั้งนั้นว่า

“ประเทศไทยได้เปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบรัฐธรรมนูญตามแนวประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 โดยการร่วมมือของคณะราษฎร…”

เขาเห็นว่า เหตุที่ไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นเหตุให้เอกราชที่ไม่สมบูรณ์ ไทยเสียเปรียบทางการทหาร การเมือง และเศรษฐกิจ ที่สืบเนื่องมาจากการปกครองในระบอบเดิมสิ้นสุดลง

สำนึกใหม่ของเยาวรุ่นหนุ่มสาวในปรัตยุบัน

“ทางหลวง” แห่งความเจริญสมัยปฏิวัติ

ภายหลังการปฏิวัติ 2475 รัฐบาลสมัยปฏิวัติกำลังเปลี่ยนโฉมการเดินทางอย่างใหม่ด้วยการสร้างโครงข่ายระบบทางหลวงขึ้น แต่เดิมที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ใช้รางรถไฟเป็นหนทางในการรวมศูนย์อำนาจให้กับรัฐ เส้นทางรถไฟจึงเป็นเสมือนประตูแห่งอำนาจในการควบคุมดินแดนต่างๆ สมัยราชาธิปไตยให้มีเอกภาพ (วิภัส เลิศรัตนรังษี, 2558)

ภายหลังการปฏิวัติ 2475 คณะราษฎรต้องเผชิญหน้ากับการต่อต้านจากกลุ่มอำนาจเก่าอย่างรุนแรงหลายวิธีการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก่อกบฏบวรเดชที่ฝ่ายกบฏยึดกุมระบบการควบคุมรางรถไฟอย่างกว้างขวางด้วยมีข้าราชการในกรมรถไฟที่ภักดีกับระบอบเดิม ทำให้รัฐบาลขนส่งกำลังพลปราบปรามฝ่ายกบฏด้วยความยากลำบาก

เมื่อการปราบกบฏจบสิ้นลงทำให้รัฐบาลคณะราษฎรตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวผนวกกับการบริหารตามหลัก 6 ประการในการสร้างความสุขสมบูรณ์และการอำนวยการคมนาคมให้กับเทศบาลที่ถูกจัดตั้งขึ้นใหม่ (2476) อันกระจายตัวทั่วประเทศที่อยู่ห่างไกลเส้นทางรถไฟ

ดังนั้น รัฐบาลพระยาพหลฯ จึงอนุมัติแผนการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินทั่วประเทศ (2479) เพื่อเชื่อมโยงท้องถิ่นต่างๆ เข้าหากันขึ้นและอำนวยประโยชน์สุขในการคมนาคมค้าขาย แผนสร้างทางหลวงแผ่นดินเป็นการปฏิวัติระบบคมนาคมโดยถนนแทนรถไฟหรือทางน้ำ (อัมพิกา สวัสดิ์วงศ์, 2558)

ดังนั้น เจตจำนงของรัฐบาลคณะราษฎรที่สร้างระบบทางหลวงสมัยประชาธิปไตย หมายถึง โครงข่ายการคมนาคมที่สร้างความเจริญและเชื่อมโยงการค้าขายให้กับประชาชาติ หรือกล่าวอีกอย่างคือ “ถนนแห่งความเจริญ”

วิชิตให้ความสำคัญกับการสร้างสยามใหม่ผ่านการสร้างทางหลวงในความเรียงอย่างมาก เขาเห็นว่า ด้วยเวลาเพียง 4 ปี เขาได้กล่าวถึงการสร้างทางของรัฐบาลตามโครงการ 18 ปี เมื่อปี 2479 มีทางหลวงที่สร้างเสร็จแล้ว เช่น ถนนสายกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ สายฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-สัตหีบ สายนครปฐม-กาญจนบุรี สายตะพานหิน-เพชรบูรณ์ สายชนบท-มหาสารคาม สายขอนแก่น-อุดรธานี-หนองคาย สายเด่นชัย-แพร่ สายลำปาง-เชียงราย-เชียงแสน สายบ้านชะอำ-หัวหิน สายกระบุรี-ชุมพร สายตะกั่วป่า-ท่านุ่น-พังงา สายนครศรีธรรมราช-ปากพนัง สายหาดใหญ่-สตูล สายสงขลา-สะเดา และสายโคกโพธิ์-ปัตตานี-นราธิวาส

ส่วนทางหลวงที่กำลังก่อสร้าง เช่น สายกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา สายกรุงเทพฯ-ขาณุฯ ผ่านจังหวัดอยุธยา สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท นครสวรรค์ สายบ้านภาชี-อรัญประเทศผ่านจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สายเพชรบูรณ์-หล่มเก่า สายพิษณุโลก-สุโขทัย สายขอนแก่น-เชียงคาน สายเลย-นครพนมผ่านอุดรธานีและสกลนคร สายอุบลฯ-นครพนม สายอุบลฯ-มหาสารคาม สายพังงา-กระบี่ และสายตันหยงมัส-เบตง เป็นต้น รวมทั้งรัฐบาลได้ขยายและปรับปรุงถนนบางสายในกรุงเทพฯ ให้กว้างขึ้น มีการจัดระเบียบจราจรและตั้งตำรวจจราจรขึ้นเพื่อรักษาความปลอดภัยบนท้องถนน

ต่อมารัฐบาลสร้างป้ายกิโลเมตรที่ 0 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอันเป็นจุดเชื่อมโยงทางหลวงแผ่นดินสายประธานสายต่างๆ อันหมายความว่า ระบอบประชาธิปไตยเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความเจริญที่แผ่กระจายไปทั่วประชาชาติ

ด้านเศรษฐกิจนั้น วิชิตเห็นว่า “ในสมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เศรษฐกิจของประเทศมีแต่ทรงกับทรุด ฉะนั้น จึงเป็นการเสี่ยงอันตรายอย่างใหญ่หลวงในการที่คณะราษฎรได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังทรุดโทรม แต่รัฐบาลก็ได้พยายามปรับปรุงเศรษฐกิจของชาติให้ดีขึ้นเสมอมา ในปัจจุบันนี้ เศรษฐกิจของชาติได้อยู่ในฐานะอันมั่นคงแล้ว”

อีกทั้งรัฐบาลลดภาษีช่วยเหลือเกษตรกร ตั้งกรมพาณิชย์ส่งเสริมให้คนไทยประกอบการค้า มีปรับปรุงเส้นทางคมนาคมเพื่อการเดินทางและค้าขายเพื่อสร้างความมั่นคงในเศรษฐกิจของชาติ

เขาเห็นว่า “การปกครองระบอบรัฐธรรมนูญได้อำนวยให้ประชาชนมีความเสมอภาพและเสรีภาพเท่ากัน ไม่เหลื่อมล้ำ เปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นและใช้สิทธิของตนได้อย่างเต็มที่ ดังนี้จึงเป็นเหตุให้ประเทศไทยได้ก้าวหน้ามาโดยรวดเร็ว”

ประกาศนียบัตรนักเรียน ต.มธก. และแผนที่โครงข่ายทางหลวงที่สร้างขึ้นสมัยคณะราษฎร

สังคมใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม

วิชิตเห็นว่า รัฐบาลมุ่งมั่นส่งเสริมการศึกษาสายสามัญและวิชาชีพ ด้วยการขยายการศึกษาสายสามัญออกไปยังจังหวัดต่างๆ ถึง 63 จังหวัด มีการส่งเสริมอาชีวศึกษาอย่างกว้างขวาง มุ่งเสริมสร้างพลานามัยให้พลเมืองด้วยการสร้างกรีฑาสถานแห่งชาติ สนามเด็กเล่นที่สวนลุมพิธีและเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฯ

ส่วนด้านสิทธิเสรีภาพเปรียบเทียบสองระบอบนั้น วิชิตเห็นว่า “สิทธิเสมอภาคและเสรีภาพในสมัยการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ฐานะของพลเมืองแตกต่างกับฐานะพลเมืองในสมัยการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญมาก กล่าวคือ ในสมัยก่อน พลเมืองไม่รู้ว่าตนมีสิทธิอย่างไร พลเมืองมีแต่หน้าที่แทบทั้งนั้น ไม่มีเสียงทางการเมือง ไม่มีโอกาสได้รู้เห็นในการปกครองประเทศ ในระหว่างพลเมืองด้วยกันก็ยังมีการแบ่งชั้นวรรณะ ขาดความเสมอภาค เกี่ยวกับเสรีภาพแล้วแทบไม่มีเลย แต่เมื่อประเทศไทยได้มีการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นหลักปกครองประเทศ รัฐธรรมนูญได้แสดงรับรู้สิทธิและหน้าที่ของปวงชนชาวไทยไว้ชัดแจ้ง ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณในระหว่างพลเมืองด้วยกัน รัฐธรรมนูญให้สิทธิแก่ประชาชนมีความเสมอภาคและเสรีภาพเท่ากัน” (วิชิต หอมโกศล, 2482)

จากข้อความของวิชิตข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า เยาวชนคนหนุ่มสาวสมัยนั้นไม่อาลัยในระบอบเก่าเลย ทั้งๆ ที่พวกเขาเพิ่งผ่านพ้นมันไปเพียงชั่วลัดนิ้วมือ

อันสะท้อนให้เห็นว่า ความจริงแห่งระบอบเก่าที่เพิ่งผ่านไปนั้นไม่น่าพิสมัยอันใด

แตกต่างไปจาก “ความจริง” ของระบอบเก่าที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ให้มีอิทธิพลเหนือประชาชนในปรัตยุบัน

กล่าวโดยสรุป สังคมใหม่ของเยาวรุ่นครั้งปฏิวัติ 2475 คือ ความอารยะในทางการเมือง ความก้าวหน้าในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สร้างความเจริญ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเปิดให้ประชาชนเลื่อนชั้นทางสังคมได้ โดยเขาหาได้อาวรณ์ใดๆ กับระบอบเก่าที่ผ่านพ้นไป

ป้ายทางหลวงแผ่นดิน หลักกิโลเมตรที่ 0 มีจุดเริ่มต้นที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย