การปลดผู้จัดการทีม แก้ปัญหาทีมตกต่ำได้หรือ?/คลุกวงใน พิศณุ นิลกลัด

พิศณุ นิลกลัด

คลุกวงใน

พิศณุ นิลกลัด

Facebook : @Pitsanuofficial

 

การปลดผู้จัดการทีม

แก้ปัญหาทีมตกต่ำได้หรือ?

 

เมื่อปลายเดือนตุลาคม ผมเพิ่งเขียนเรื่องเดือนอันตรายของผู้จัดการทีมฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ว่าคือเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม ที่ตามสถิติมักจะโดนปลดออกกันเยอะในช่วง 2 เดือนนี้

เฉพาะเดือนพฤศจิกายน ผู้จัดการทีมพรีเมียร์ ลีก ก็ถูกไล่ออกไปถึง 4 คน

เริ่มจากนูโน่ เอสปิริโต้ ซานโต ถูกปลดจากทีมท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ตามมาด้วยแดเนียล ฟาร์เก้ จากทีมนอริช ซิตี้ ต่อด้วยดีน สมิธ จากทีมแอสตัน วิลล่า

ผู้จัดการคนสุดท้ายที่ถูกปลดในเดือนพฤศจิกายนคือ โอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ ถูกปลดจากการเป็นผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในวันที่ 22 พฤศจิกายน หลังจากวันที่ 21 พฤศจิกายน ทีมแมนฯ ยูแพ้ทีมวัตฟอร์ด ถึง 4-1

 

การที่ทีมฟุตบอลเล่นไม่ดี หลายทีมแก้ปัญหาด้วยการไล่ผู้จัดการทีมออก ทำให้มีคนสงสัยว่าการแก้ปัญหาด้วยการไล่ผู้จัดการทีมออก แล้วรับผู้จัดการทีมคนใหม่เข้ามาแทน เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุดหรือไม่

คำตอบจากผู้เชี่ยวชาญด้านสถิติการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ ลีก คือ ไม่ถูก

เดวิด แซลลี่ (David Sally) ผู้เชี่ยวชาญด้านสถิติการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ ลีก วิเคราะห์ว่า การที่ทีมฟุตบอลตกต่ำในช่วงเวลาสั้นๆ แล้วแก้ปัญหาด้วยการการไล่ผู้จัดการทีมออก ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง

เดวิด แซลลี่ เปรียบทีมฟุตบอลว่ามีโครงสร้างเหมือนธุรกิจและบริษัทต่างๆ อายุที่ยืนยาวองค์กรและโครงสร้างขององค์กร มีความสำคัญมากกว่าตัวผู้บริหาร

ถ้ามองในแง่การเงิน กำไรราว 15% ขององค์กรเท่านั้นอยู่ที่ความสามารถของผู้บริหาร อีก 85% ขึ้นอยู่กับปัจจัยอย่างอื่น

สำหรับทีมฟุตบอลก็เช่นกัน ที่ผู้จัดการทีมไม่ใช่หัวใจสำคัญที่สุดของความล้มเหลวหรือความสำเร็จของทีม

 

ดร.บาส เทอ วีล (Dr. Bas ter Weel) นักเศรษฐศาสตร์ชาวฮอลแลนด์ ก็เห็นเช่นเดียวกับเดวิด แซลลี่

ดร.บาสเห็นว่า การเปลี่ยนผู้จัดการทีมในช่วงวิกฤตของฤดูกาล จะช่วยให้ผลงานของทีมดีขึ้น แต่แค่ในระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น

ดร.บาสรวบรวมสถิติการแข่งฟุตบอลของลีกในฮอลแลนด์ จำนวน 18 ฤดูกาล ตั้งแต่ปี 1986-2004 เพื่อดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับทีมที่ไล่ผู้จัดการออกเมื่อทีมเผชิญวิกฤต และเปรียบเทียบกับทีมที่ให้ผู้จัดการยืนหยัดฝ่าฟันวิกฤต

พบว่าการมีผู้จัดการทีมใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทนผู้จัดการคนเก่าที่ทำผลงานไม่ดี ไม่ได้ช่วยให้ทีมทำผลงานแข่งขันดีขึ้นทันทีทันใด

แม้การค้นคว้าของ ดร.บาส เทอ วีล ศึกษาเฉพาะลีกฟุตบอลของฮอลแลนด์

แต่เขาเชื่อว่าผลการศึกษาที่เขาค้นพบ สามารถประยุกต์ใช้ได้กับลีกฟุตบอลในยุโรปอย่างพรีเมียร์ ลีก อังกฤษ, ลา ลีก้า สเปน, กัลโช่ เซเรียอา อิตาลี และบุนเดส ลีก้า เยอรมนี

ดร.บาสเห็นว่า ทีมที่ทำงานตกต่ำ จะกลับคืนสู่สภาวะปกติอย่างที่เคยเป็นอยู่ ไม่ว่าทีมจะเปลี่ยนผู้จัดการทีมใหม่หรือไม่

สรุปแล้วผู้จัดการทีมคือแพะรับบาป

 

หลายคนสงสัยว่า เวลาที่ผู้จัดการทีมถูกปลด พวกเขาจะทำอะไรต่อ

อลัน พาร์ดิว วัย 60 ปี อดีตผู้จัดการทีมนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด, คริสตัล พาเลซ, เวสต์แฮม ยูไนเต็ด, ชาร์ลตัน แอธเลติก, เวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน และเซาแธมป์ตัน บอกว่า 9 ใน 10 ครั้ง ที่ถูกปลดจากการเป็นผู้จัดการทีม สิ่งที่ทำคือ ขอพัก เพราะผู้จัดการทีมฟุตบอลเป็นอาชีพที่มีความกดดันสูงมาก ไม่มีเวลาพักผ่อน

พาร์ดิวบอกว่า เฟสแรก คือช่วง 5 สัปดาห์แรกหลังจากถูกปลดจากการเป็นผู้จัดการทีม เขาแทบจะไม่สนใจฟุตบอลเลย

หลังจากนั้น เฟส 2 ช่วงนี้จะเริ่มวิเคราะห์ตัวเองว่าทำอะไรผิด ทำอะไรถูก และประมวลเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น

เฟส 3 คือช่วง Rebuild หรือก่อร่างสร้างตัวใหม่ หาช่องทางว่าจะกลับไปเป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลได้อีกยังไง จะปรับปรุง เปลี่ยนแปลง พัฒนาตัวเองยังไง เวลาที่มีทีมฟุตบอลติดต่อมาจะได้แสดงความกระหายที่จะเป็นผู้จัดการทีมอีกครั้ง

 

ผู้จัดการทีมพรีเมียร์ ลีก เวลาโดนปลดมักจะไม่ได้รับผลกระทบด้านการเงิน

ตัวอย่างเช่น เมื่อปี 2018 ทีมเชลซีต้องจ่ายเงินค่าเลิกจ้างอันโตนิโอ คอนเต้ พร้อมทีมงานและค่าใช้จ่ายทางกฎหมาย เป็นจำนวนสูงถึง 26.6 ล้านปอนด์ หรือ 1,186 ล้านปอนด์

ถือเป็นตัวเลขสูงที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ฟุตบอลพรีเมียร์ ลีก

ผู้จัดการทีมชื่อดังบางคน อู้ฟู่มั่งคั่งเพราะได้เงินชดเชยจากการเลิกจ้างก่อนครบกำหนดสัญญา 4-5 สโมสรในรอบสิบปีที่ผ่านมา

ไม่เชื่อถามโชเซ่ มูรินโญ่ อดีตผู้จัดการทีมอินเตอร์ มิลาน, เรอัล มาดริด, เชลซี, สเปอร์ส และแมนฯ ยู ดูก็ได้!!!