คำ ผกา : มันไม่ปกติ ยังไม่รู้อีก

คำ ผกา

เป็นที่พูดถึงกันอย่างอื้ออึงกับภาพการปฏิรูปรถเมล์ด้วยการทาสีเหลืองทับไปบนรถเมล์สีแดง เปลี่ยนชื่อสายด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษกับระบบตัวเลขแบบใหม่

เอาละ สมมุติว่า ฉันเชื่อเรื่องการจัดระบบตัวอักษรโรมันพร้อมตัวเลขแบบใหม่ว่า มันอาจจะดีกว่าแบบเดิม แต่คำถามที่ไม่มีใครตอบได้คือ ทำไมรถเมล์ในกรุงเทพฯ จึงสับปะรังเคเช่นนี้

เมื่อสักปี 1997 กระมัง (ถ้าไม่ใช่ก็คงใกล้เคียง) ที่เรามีรถเมล์ติดแอร์ ราคาแพงกว่ารถเมล์กระป๋องกระแป๋ง แต่นั่งสบาย แอร์เย็นฉ่ำ ดูดี ดูเป็นประเทศโลกที่หนึ่ง และเราก็มีความหวังว่า ต่อแต่นี้เป็นต้นไป รถเมล์เราคงดีขึ้นเรื่อยๆ

แต่เปล่าเลย นับตั้งแต่ปี 1997 (หรือใกล้เคียง) ฉันก็ไม่เคยได้ยินว่า เรามีความเปลี่ยนแปลงอย่างน่าจดจำอะไรอีกกับรถเมล์กรุงเทพฯ

(ในที่นี้จะขอนุญาตไม่พูดถึงต่างจังหวัด ทุกจังหวัดในประเทศไทยที่ไม่ปรากฏว่าจะมีแผนการพัฒนาขนส่งมวลชนใดๆ เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ยกเว้น ขอนแก่น อุดรฯ โคราช – ซึ่งทำได้เมื่อไหร่ คงเป็นแรงบันดาลใจให้หัวเมืองอื่นๆ ลุกขึ้นมาทำบ้าง และช่วยตบหน้าเมืองกรุงสักหน่อยเถิด)

ก่อนจะพูดถึงกรุงเทพฯ ขอพูดถึงรถเมล์ในเมืองที่ฉันคุ้นเคยอย่างเกียวโต

ถามว่าคุณภาพรถเมล์เกียวโตดีไหม คำตอบคือดีมาก สะอาด ปลอดภัย ตรงต่อเวลา ป้ายรถเมล์ ตารางรถเมล์ แผนที่การเดินทางของรถเมล์สายต่างๆ เนี้ยบ กริ๊บ เป๊ะเว่อร์ เรียกได้ว่าไร้ที่ติ

แต่ถามว่า ถูกและสะดวกไหม คำตอบคือ สะดวกในระดับหนึ่ง จะคาดหวังว่าจะเดินทางไปไหนต่อไหนในเมืองด้วยรถเมล์ครบถ้วนทุกจุด รวดเร็วทันใจ ยิ่งเป็นไปไม่ได้ เทียบระหว่างการนั่งรถเมล์กับการปั่นจักรยาน ก็ต้องบอกว่า จักรยานเร็วกว่า เพราะไม่ต้องรอเวลา สามารถลัดเลาะตรอก ซอกซอย ทางลัด ทางเล็ก ได้หมด

ในขณะที่รถเมล์นั้นวิ่งค่อนข้างช้าเนิบนาบ ดูเป็นขนส่งสาธารณะสโลว์ไลฟ์ หรือเป็นขนส่งของคนแก่

ถามว่า ราคาถูกเป็นการเดินทางของคนจนไหม อันนี้ยิ่งตอบได้ง่ายมากว่า ราคาไม่ถูกเลย เที่ยวละ 220 เยน ไม่เรียกว่าถูก (บุหรี่ซองละ 220-280 เยน, สตาร์บัคส์แก้วละ 400 เยน, ราเมนชามละ 550 เยน เป็นต้น)

แถมมาคำนวณกับการที่อาจจะไม่ได้ส่งเราถึงจุดหมายปลายทางตรงเป๊ะ จอดทุกป้าย วิ่งช้าๆ – ดังนั้น รถเมล์คุณภาพดีมาก แต่มันไม่ได้เท่ากับคำว่า สะดวก ดังนั้น การเดินทางที่ถูกและดีที่สุดคือ ปั่นจักรยาน เพราะไม่ต้องเสียตังค์สักเยนเดียว แถมยังเร็วกว่าอีกด้วย

กลับมาที่รถเมล์เมืองไทย

ถามว่า ด้วยคุณภาพรถเมล์ที่ห่วยขนาดนี้ ทำไมเรายังต้องพึ่งรถ

เราอาจตอบได้ทันทีว่า “เพราะกูจนไง กูหายจนเมื่อไหร่ กูก็ซื้อรถขับ ซื้อมอ”ไซค์ขี่” – นั่นแปลว่า คนจำนวนมาก จำต้องโดยสารรถเมล์เพราะไม่มีทางเลือก

ลองคิดต่อไปอีกหน่อยว่า คนที่ไม่มี “ทางเลือก” ขนาดนั้น ใน “การเมือง” แบบ “ไทยๆ” พวกเขาจะสามารถเป็นพลังต่อรองที่จะไปกดดันให้ “หน่วยงานที่รับผิดชอบ” (แปลว่าใช้ภาษีประชาชน) ลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับคุณภาพรถเมล์หรือไม่?

ต่อคำถามนี้ เด็กอนุบาลก็ตอบได้ว่า “ไม่”

รถเมล์ในกรุงเทพฯ จึงบริหารจัดการกันมาด้วยคอนเซ็ปต์ของการเป็นการสงเคราะห์ให้คนจน

ยิ่งมีเรื่องการช่วยคนจน แสดงบัตรคนจน ด้วยการนั่งรถเมล์ฟรี ยิ่งตอกย้ำการเป็น “สังคมสงเคราะห์”

รัฐอุตส่าห์เจียดงบประมาณมาทำรถเมล์ให้คนจนนั่ง แถมคนจนมากๆ ยังขึ้นฟรี แล้วยังมาเรียกร้องเอาอะไรกันนักกันหนา มีให้ขึ้นให้ขี่ ให้ได้ออกจากบ้านไปทำงาน พาลูกไปเที่ยวสวนสัตว์ กลับบ้าน แค่นี้ก็บุญโขแล้ว

แล้วหากจะมีการซื้อรถใหม่อะไรมาให้ประชาชนใช้ก็ให้จำใส่หัวไว้ดีๆ ว่า – เห็นไหมล่ะ รัฐบาล “อุตส่าห์” ทำอะไรให้ ใจดีม้ากมาก

ขอบคุณสิ จะรออะไร สรรเสริญสิจะรออะไร

เกิดเป็นคนจนประเทศนี้ต้องคอยรู้บุญรู้คุณ รู้จักขอบคุณว่า โหยยยย เขาอยู่อุตส่าห์ทำให้เรา อุตส่าห์ช่วยเหลือเรา ไม่ให้เราต้องลำบาก

แล้วขนมก็พอผสมน้ำยา

คนไทยนอกจากมีความอดทนเป็นเลิศแล้ว ยังทะลึ่งเชื่อว่า – เออ เขาทำมาให้แค่นี้ก็ดีถมเถ เราจึงสามารถมีชีวิตอยู่กับคุณภาพรถเมล์แบบนี้

คุณภาพการขับแบบนี้ คุณภาพการจอดกลางถนนให้คนวิ่งขึ้นแบบนี้ ด้วยความปลอดภัยเท่านี้ ด้วยความร้อน ความเหม็นเท่านี้ จะกี่สิบปี คนไทยก็ยอมรับสภาพนี้ไปโดยปริยาย

เมื่อเราเห็นรถเมล์ของประเทศอื่นคุณภาพดี เราก็แค่บอกว่า – อิจฉารถเมล์เมืองนอกจัง สะอ๊าด สะอาด ตรงเวลาด้วย

แต่เราไม่เคยถามต่อว่า เออ แล้วบ้านกูล่ะ?

หากเราจะยอมรับว่า ก็ค่าตั๋วรถเมล์ถูกขนาดนี้ มันก็ต้องได้คุณภาพเท่านี้แหละ

คำถามต่อไปคือ โอเค้ – จะขึ้นค่ารถเมล์ให้แพงขึ้นก็ด้ายยยย เที่ยวละสามสิบไปเลย ขออย่างเดียว สามสิบบาท สี่สิบบาท คุณภาพมันต้องได้เท่าๆ ญี่ปุ่น เกาหลีนะ

ทีนี้คำถามต่อมาคือ ถ้ารถเมล์เริ่มดี และแพงขึ้น คุณมีทางเลือกการเดินทางอะไรอย่างอื่นให้คนที่ไม่อยากจ่ายเงินค่ารถเมล์บ้าง ซึ่งอาจมีทั้งคนจนและไม่จน โดยไม่ต้องทำรถเมล์ หรือรถไฟฟรี (แต่ถ้าแน่จริง สำหรับคนจน จะให้รถเมล์ฟรีก็ได้ แต่คุณภาพรถเมล์ต้องดีเทียบเท่ารถเมล์จ่ายสตังค์ค่าตั๋วแพงๆ ไม่ใช่เอารถสับปะรังเคมาทำรถเมล์ฟรี เป็นการตอกย้ำว่า – มึงจน มึงเลยมีความเป็นคน มีคุณภาพชีวิตต่ำกว่าคนอื่น)

กลับมาที่จุดเดิม ที่ฉันพูดเรื่อง “จักรยาน” และ “การเดินด้วยเท้า”

เราควรหยุดเถียงกันได้แล้วว่า เมืองไทยร้อน เมืองไทยฝนตกหนัก เมืองไทยไม่ปลอดภัยสำหรับทางจักรยาน

ในโลกที่มีรถยนต์ไร้คนขับ มีหุ่นยนต์ทำงานแทนมนุษย์ไปครึ่งหนึ่งทุกอาชีพที่มีอยู่บนโลกใบนี้ และเราเดินทางไปดวงจันทร์ได้ตั้งเกือบห้าสิบปีมาแล้ว ทำไมเราจะออกแบบทางเดินและทางจักรยานให้เมืองที่เล็กกระจิริดอย่างกรุงเทพฯ ให้ไม่ร้อน ไม่เปียก ได้เล่า????

ไปถามสถาปนิกเก่งๆ และนักออกแบบเมืองแนวหน้าสักร้อยคนในเมืองไทย – ฉันก็เชื่อว่า เขาจะหัวเราะแล้วบอกว่า “มันยากตรงไหนกะอีกแค่ออกแบบเมืองให้เดินและปั่นจักรยานได้อย่างรื่นรมย์”

คิดต่อไปอีกว่า พลเมืองกรุงเทพฯ ต้องกดดันให้กรุงเทพฯ ลงเงินลงทุนไปกับโครงสร้างพื้นฐานแบบนี้ ใช้เงินมากเท่าไหร่ก็ต้องใช้ (ภาษีเรา – ใช้สิ – ใช้ เพื่อให้เจ้าของภาษีมีคุณภาพชีวิตที่ดี) เราต้องเรียกร้องให้รัฐลงทุน และเพื่อหลังจากนั้นการเดินทางของเราจะ “ฟรี”

ลองจินตนาการว่า ถ้าการเดินทางครึ่งหนึ่งในชีวิตของเรา สามารถทำได้ด้วยการเดิน และปั่นจักรยานที่เราไม่ต้องเสียเงินแม้แต่บาทเดียว – ตัวเราจะประหยัดเงินได้เดือนละเท่าไหร่ – มีเงินเดือนหมื่นห้าอยู่ดี จากที่เคยเสียค่ารถค่าเดินทางเดือนละสามพัน กลายเป็นหนึ่งพันบาท เท่ากับคุณมีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นเดือนละสองพันบาท

พูดอีกแบบหนึ่งได้ว่า จากเงินเดือนหมื่นห้า ก็เหมือนมีเงินเดือนหมื่นเจ็ด แถมยังสุขภาพดีขึ้นจากการได้ใช้พลังงานผ่านการเดิน ผ่านการปั่นจักรยาน

เงินที่งอกขึ้นมาสองพันอาจจะเอาไปดูหนัง ซื้อหนังสือ ซื้อไวน์ ซื้อเบียร์ดีๆ ดื่ม หรือเอาไปเรียนอะไรเพิ่มเติมได้อีก

และการเดินทางไปเรียนอะไรเพิ่มเติมก็ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางงอกขึ้นมา เพราะเราสามารถปั่นจักรยานหรือเดินไปได้

และนั่นแปลว่าด้วยการลงทุนของรัฐ ที่ทำให้ประชากรในเมืองสามารถเดินทางไปยังที่ต่างๆ ในเมือง “ฟรี” (โดยไม่ต้องมาสังคมสงเคาระห์เรา) มันเท่ากับการทำให้ประชากรในเมืองร่ำรวยขึ้น สามารถใช้เงินและเวลาที่เหลือไปเพิ่มต้นทุนให้กับชีวิตได้ หรือขี้เกียจมากๆ ไม่ทำอะไรทั้งวันอย่างน้อยก็ทำให้สุขภาพดีขึ้น

มันจะดีสักแค่ไหน หากเราสามารถปรับผังเมืองของกรุงเทพฯ ให้เราใช้ชีวิตได้แบบนี้คือ

การไปเรียนหรือไปทำงาน อาทิตย์ละห้าหรือหกวัน เราสามารถปั่นจักรยานหรือเดิน หรือสามารถเดิน ปั่นจักรยานเพื่อไปเชื่อมต่อกับขนส่งสาธารณะอื่นๆ

การไปเที่ยวนอกเมือง เราอาจเลือกนั่งรถเมล์ ขับรถ หรือนั่งแท็กซี่

การจ่ายตลาดสามารถทำได้ด้วยการปั่นจักรยาน

การไปกิน ดื่มกลางคืน นั่งแท็กซี่หรือรถเมล์

ถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้น ปริมาณรถบนถนนจะน้อยลง จนเหลือแต่รถขนของ ขนสินค้า รถเมล์ รถแท็กซี่ มีรถส่วนบุคคลเพียงส่วนน้อย มลพิษลดลง อากาศเย็นลง สามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวกับทางเดิน ทางจักรยาน ก็ยิ่งทำให้การเดิน และการปั่นจักรยานของประชากรในเมือง “สบาย” ขึ้น

ทั้งนี้ทั้งนั้น เรายังไม่พูดว่า หากกรุงเทพฯ รื้อฟื้น ปัดฝุ่น คลองทุกสายในกรุงเทพฯ ให้เป็นทางสัญจร น้ำใส ไหลเย็น มีเรือคุณภาพดี โดยสารทะลุจากคลองถึงคลอง

ปริมาณผู้โดยสารแท็กซี่ที่ไปแออัดกันบนถนนก็ยิ่งเบาบางลงอีก และการโดยสารทางเรือก็ไม่จำเป็นต้องราคาถูก เพราะคนอาจจะยินดีจ่ายในราคาเดียวกับแท็กซี่ แลกกับความสะดวก รวดเร็ว ความเพลิดเพลิน ที่จะได้รับ

ทั้งหมดนี้นำมาสู่จุดที่ฉันจะบอกว่า “ขนส่งมวลชน” ไม่จำเป็นต้องราคาถูก ไม่จำเป็นต้องฟรี

แต่คุณภาพที่สมราคาต่างหากคือหัวใจของมัน ในเงื่อนไขว่า ประชากรในเมืองต้องสามารถเดินทางไปไหนต่อไหนในราคา 0 บาท ด้วยแรงขา แรงเท้าของพวกเขาเอง บนการลงทุนแบบไม่ต้องเสียดายงบประมาณของภาครัฐ (ทำเพื่อประชาชน อย่าเสียดาย ควรเสียดายหากเกิดการคอร์รัปชั่น หรือเอาเงินไปอีลุ่ยฉุยแฉกกับเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ต่อประชาชน)

คนไทยและคนกรุงเทพฯ ต้องนั่งคิดเรื่องนี้อย่างจริงจังว่า ด้วยระบบจราจร การออกแบบเมือง และการออกแบบระบบการเดินทางและโลจิสติกส์ที่ห่วยแตกอย่างที่เป็นอยู่ มันทำให้คนไทยจนลงวันละกี่บาท เดือนละกี่บาท ปีละกี่บาท

เราเสียเวลาบนท้องถนนอย่างเปล่าดายวันละกี่ชั่วโมง ปีละกี่ชั่วโมง ชั่วชีวิตของเรา เราหายใจทิ้งบนถนนยามรถติดไปทั้งหมดกี่ปี!!!

เงินที่เราทำหายไปกับความห่วยแตกของผังเมืองและความล้มเหลวในการจัดการระบบขนส่งมวลชนในเวลายี่สิบปี อาจเป็นจำนวนเงินที่สามารถเป็นเงินใช้ชีวิตหลังเกษียณของเราได้ไปจนวันตายก็ได้ ใครจะรู้

นักเรียนคนหนึ่งกับเงินที่เสียกับค่าเดินทาง ค่าแท็กซี่ ค่าบีทีเอส อย่างไม่จำเป็น รวมไปในเวลาสิบสองปี อาจจะสามารถเป็นทุนการศึกษาสำหรับการเรียนปริญญาโทต่างประเทศเลยก็ได้ ใครจะรู้

ดังนั้น เลิกเถอะ คนที่มานั่งคำนวณว่าถ้าไม่กินกาแฟแก้วละร้อย จะประหยัดเงินได้เดือนละกี่บาท ปีละกี่บาท

มานั่งคำนวณดีกว่า ถ้าไม่ต้องเสียเงิน เสียเวลาไปกับค่ารถเมล์ ค่าแท็กซี่ ค่าบีทีเอส เอ็มอาร์ที มากขนาดนี้ (เมื่อเราสามารถชดเชยด้วยการเดินหรือปั่นจักรยานสักร้อยละสามสิบของการเดินทางทั้งหมด) เราจะประหยัดเงินได้เดือนละเท่าไหร่ ปีละเท่าไหร่ สิบปีบวกอัตราเงินเฟ้อ เป็นเงินเท่าไหร่

เวลาที่เราติดแหง็กบนถนน เราสามารถเอาไปอ่านหนังสือ ดูหนัง อ่านวรรณกรรม เล่นบอร์ดเกม ทำสวนครัว เล่นกับลูก มีเซ็กซ์กับแฟน ฝึกโยคะ ออกกำลังหาย ทำอาหาร นอน ฯลฯ ที่ช่วยให้เราฉลาดขึ้น มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตดีขึ้น

แต่สิ่งนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราเลิก “ชินชา” และคิดว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเราทุกวันนี้เป็นเรื่อง “ปกติ”

เขย่าหัวตัวเองให้ตื่น เบิกตากว้างๆ หันไปมองบ้านอื่นเมืองอื่น แล้วเตือนตัวเองเสมอว่า – เฮ้ยยยยยย ไอ้ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ มันโคตรจะไม่ปกติ