พระราชอำนาจในการยุบสภาตามประเพณีการปกครองของสหราชอาณาจักร (6) : พระมหากษัตริย์ปฏิเสธการยุบสภาได้หรือไม่?

จากกรณีข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นในการยุบสภา ค.ศ.1969 ที่มีข้อเสนอให้กลับไปใช้ประเพณีการยุบสภาตามแบบแผนปฏิบัติในศตวรรษที่สิบเก้า

นั่นคือ ให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ถวายคำแนะนำ

Markesinis (เซอร์เบซิล มาร์กซินนิส ผู้ศึกษาประเด็นการยุบสภาของอังกฤษ) ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมต้องหันกลับไปหาแบบแผนการยุบสภาโดยอิงกับคณะรัฐมนตรีในศตวรรษที่สิบเก้า โดยไม่อิงกับนายกรัฐมนตรี? ทั้งๆ ที่มันเป็นที่ยอมรับตกลงรับรู้กันดีแล้วว่า

ในความเป็นจริง นายกรัฐมนตรีอาจจะหารือกับเพื่อนร่วมงานอาวุโสถึงความเป็นไปได้ของการยุบสภา

แต่สุดท้ายแล้ว สิทธิ์อยู่ที่ตัวนายกรัฐมนตรี และดังที่ Markesinis ได้ชี้ให้เห็นก่อนหน้านี้ (ดังที่ผู้เขียนได้นำเสนอไปในตอนก่อนๆ แล้ว) ว่า นายกรัฐมนตรีที่มีวิสัยทัศน์เพียงพอก็ย่อมจะไม่ถวายคำแนะนำให้มีการยุบสภาโดยไม่ปรึกษาหารือหรือได้รับความเห็นชอบจากบรรดารัฐมนตรีร่วมคณะส่วนใหญ่

และ Markesinis ยังได้กล่าวเสริมอีกว่า จากเท่าที่ตัวอย่างเหตุการณ์ต่างๆ ที่เขาศึกษามา ยังไม่มีอะไรบ่งชี้ให้เห็นถึงเหตุผลอันสมควรที่จะเปลี่ยนแปลงแบบแผนประเพณีการยุบสภาที่ให้สิทธิ์แต่เฉพาะตัวนายกรัฐมนตรี และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแบบแผนได้

ยกเว้นเสียแต่ว่าจะมีการทบทวนทั้งระบบ

 

ซึ่งต่อมาในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด ในปี ค.ศ.2011 อังกฤษได้มีการออกพระราชบัญญัติที่เรียกว่า the Fixed Term Parliament ที่กำหนดให้การยุบสภาก่อนครบวาระจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับเสียงเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรเป็นจำนวนถึงสองในสาม

ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบแผนประเพณีในการยุบสภาครั้งใหญ่ของอังกฤษ และเข้าข่ายเป็นการทบทวนทั้งระบบอย่างที่ Markesinis ได้กล่าวไว้ แต่ผู้ถวายคำแนะนำในการยุบสภาก็ยังอยู่ที่ตัวนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ใช่การตัดสินใจเฉพาะของตัวนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป และผู้เขียนจะได้กล่าวถึงประเด็นนี้ในภายหลัง

ประเด็นต่อมาเกี่ยวกับการยุบสภาของอังกฤษคือ

ตกลงแล้ว องค์พระมหากษัตริย์จำเป็นที่จะต้องกระทำตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีในการยุบสภาหรือไม่?

 

Markesinis เห็นว่าประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าผู้ที่ถวายคำแนะนำเป็นผู้นำรัฐบาลที่แพ้การออกเสียงในนโยบายหนึ่งๆ ในรัฐสภาหรือไม่ หากแต่อยู่ที่ว่านายกรัฐมนตรีที่ถวายคำแนะนำนั้นเป็นผู้ที่คุมเสียงข้างมากหรือเสียงข้างน้อยในรัฐสภามากกว่า

ซึ่งนักวิชาการต่างก็พากันให้เหตุผลสนับสนุนที่แตกต่างกันออกไปในสองทางคือ

(1) ฝ่ายที่เห็นว่าพระมหากษัตริย์ไม่เคยปฏิเสธคำแนะนำในการยุบสภามาแล้วหลายร้อยปี ดังนั้น ไม่ว่านายกรัฐมนตรีจะมาจากพรรคที่ได้รับเสียงข้างมากหรือข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร คำแนะนำของเขาก็ไม่ควรถูกปฏิเสธจากพระมหากษัตริย์อังกฤษ เพราะอย่างน้อยที่สุดนายกรัฐมนตรีที่มีที่มาจากรัฐสภาและมาจากการเลือกตั้งของประชาชนย่อมต้องมีความรับผิดชอบโดยตรงกับประชาชนมากกว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ กับ

(2) ฝ่ายที่เห็นว่าพระมหากษัตริย์สามารถปฏิเสธคำแนะนำดังกล่าวได้ภายใต้เงื่อนไขบางอย่าง

ซึ่งการปฏิเสธที่ว่านี้จะช่วยทำให้อำนาจทางการเมืองไม่ไปกระจุกตัวอยู่ที่นายกรัฐมนตรีแทนที่องค์พระมหากษัตริย์เสียทั้งหมด

ซึ่งเหตุผลที่ใช้สนับสนุนวิธีคิดของฝ่ายนี้โดยส่วนใหญ่แล้วก็มักจะอิงอยู่บนเรื่องการยุบสภาที่มีสาเหตุมาจากสาเหตุทางการเมือง เช่น การยุบสภาเพื่อเพิ่มคะแนนเสียงให้กับตนเองหลังจากที่สมาชิกรัฐสภาเพิ่งเริ่มเข้ามาดำรงตำแหน่ง

หรือการยุบสภาของรัฐบาลที่เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาโดยที่รัฐสภายังสามารถทำงานต่อไปได้หรือโดยที่ยังสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่เข้ามาแทนรัฐบาลเดิมได้อยู่

หรือในกรณีของ เซอร์อลัน ลาสเซลเลส (Sir Alan Lascelles) ซึ่งได้ตีพิมพ์เหตุผลที่พระมหากษัตริย์สามารถปฏิเสธคำแนะนำในการยุบสภาได้ลงในหนังสือพิมพ์ The Times อันประกอบไปด้วย

(1) หากรัฐสภาที่มีอยู่ยังมีความสำคัญ และสามารถดำเนินงานต่อไปได้

(2) หากการเลือกตั้งทั่วไปจะเป็นการทำลายซึ่งเศรษฐกิจของประเทศชาติ

และ (3) พระมหากษัตริย์ทรงเชื่อมั่นว่าจะสามารถหานายกรัฐมนตรีใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนจากเสียงข้างมากมาบริหารประเทศต่อไปได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง

ซึ่ง เซอร์อลัน ลาสเซลเลส เห็นว่ากรณีเช่นว่านี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในกรณีของประเทศที่อยู่ในเครือจักรภพ เช่น การปฏิเสธคำแนะนำในการยุบสภาของรัฐบาลของแอฟริกาใต้ในปี ค.ศ.1939 และสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้โดยไม่ต้องมีการยุบสภา

 

Vernon Bogdanor (เวอร์นอน บอกดาร์โน) หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญชั้นหน้าด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญได้อธิบายสรุปถึงพระราชอำนาจในการยุบสภาของสถาบันพระมหากษัตริย์อังกฤษในปัจจุบันเอาไว้ว่า ในสถานการณ์ปรกติที่รัฐบาลมาจากเสียงข้างมากของรัฐสภาพระมหากษัตริย์ทรงมีทางเลือกน้อย คือจำเป็นต้องมีพระบรมราชโองการยุบสภาไปตามคำแนะนำที่นายกรัฐมนตรีถวายมา

เพราะหากไม่ทรงทำเช่นนั้น นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลอาจลาออก และทำให้พระองค์ประสบกับปัญหาของการที่ไม่สามารถหาตัวแทนจากฝ่ายที่ได้รับเสียงข้างมากในรัฐสภาให้มาจัดตั้งรัฐบาลได้

ดังนั้น การปฏิเสธคำแนะนำจะเป็นทางเลือกให้แก่พระมหากษัตริย์ได้ก็ต่อเมื่อนายกรัฐมนตรีที่ถวายคำแนะนำนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากเสียงข้างน้อยในรัฐสภา

หรือในกรณีของนายกรัฐมนตรีที่สูญเสียการสนับสนุนจากรัฐบาลและพรรคการเมืองของตนนั้นพยายามป้องกันไม่ให้ตนเองถูกโค่นอำนาจด้วยการยุบสภาแทน

โดย Bogdanor เห็นว่าการที่พระมหากษัตริย์อังกฤษไม่ได้ทรงใช้พระราชอำนาจในการปฏิเสธคำแนะนำในการยุบสภามาเป็นระยะเวลานาน ก็มิได้หมายความว่าพระมหากษัตริย์จะไม่ได้มีอำนาจในการปฏิเสธดังกล่าวอีกต่อไปแล้ว

เพียงแต่ที่ผ่านมาคำแนะนำในการยุบสภาที่นายกรัฐมนตรีของอังกฤษถวายขึ้นมานั้นเป็นคำแนะนำที่ถูกต้องจึงไม่ได้เปิดช่องให้พระมหากษัตริย์ใช้พระราชอำนาจดังกล่าว ซึ่งช่องทางที่จะเปิดโอกาสให้พระมหากษัตริย์ใช้พระราชอำนาจในการปฏิเสธที่จะยุบสภานั้นมีอยู่ 2 ประการ

นั่นคือ

(1) เมื่อการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ยังเป็นไปได้

และ (2) เมื่อนายกรัฐมนตรีสูญเสียการสนับสนุนจากรัฐบาลและพรรคการเมืองของตนเอง

แต่ถึงอย่างนั้นก็ตามการจะปฏิเสธคำแนะนำในการยุบสภาของพระมหากษัตริย์เองก็จะต้องคำนึงถึงปัจจัยประการอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะปัจจัยเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่

ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงเช่นเดียวกับการที่การปฏิเสธของพระมหากษัตริย์จะนำไปสู่การเกิดสภาวะชะงักงันทางการเมือง หากไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้

หรืออาจกลายเป็นการเข้าข้างนายกรัฐมนตรี หากเสียงส่วนใหญ่ของคณะรัฐมนตรี หรือเสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกรัฐสภาไม่ได้เห็นด้วยกับการยุบสภาครั้งนั้น

การใช้พระราชอำนาจในส่วนนี้จึงเป็นสิ่งที่วางอยู่บนเดิมพันบางอย่างที่อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพและตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์อังกฤษในระยะยาวได้อีกเช่นกัน