คุยกับทูต กลิน เดวีส์ เฉลิมฉลองสองร้อยปีสัมพันธไมตรีไทย-สหรัฐ (2)

ย้อนอ่าน คุยกับทูต กลิน เดวีส์ เฉลิมฉลองสองร้อยปีสัมพันธไมตรีไทย-สหรัฐ (1)

“ผมเกิดที่คาบูล (Kabul) ซึ่งเป็นเมืองหลวงและเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศอัฟกานิสถาน เดือนเมษายน ค.ศ.1957 เพราะคุณพ่อเป็นนักการทูตได้รับมอบหมายให้ไปประจำที่นั่น คาบูลจึงเป็นสถานที่พิเศษในใจของผมเสมอ”

เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย นายกลิน ทาวน์เซนด์ เดวีส์ (Glyn Townsend Davies) เล่าถึงเหตุการณ์ในอดีต

“เราจากคาบูลมาตั้งแต่ผมยังเล็กมากอายุราวสองขวบ เพราะคุณพ่อได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกงสุลใหญ่ในเมืองกัลกัตตา (Kolkata หรือ Calcutta ในอดีต) ประเทศอินเดีย และเมื่อ ค.ศ.1969 คุณพ่อพาครอบครัวกลับไปเยี่ยมคาบูล ตอนนั้น ผมมีอายุ 13 ปี”

“เราอยู่ในอัฟกานิสถานเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ที่นั่นสวยงามและผู้คนมีอัธยาศัยดี ผมเกิดความรู้สึกประทับใจเมื่อได้ไปเยี่ยมชมหุบเขาบามิยัน (Bamiyan Valley) ซึ่งมีพระพุทธรูปยืนแกะสลักฝาผนังที่สูงที่สุดและใหญ่ที่สุดในโลก สมัยนั้นผมยังเด็กจึงมีกำลังวังชา ปีนป่ายหน้าผาได้อย่างรวดเร็วเหมือนลิงตัวน้อย”

“ผมมองลงไปที่หุบเขาซึ่งมีถ้ำสวยงามหลายแห่ง แต่น่าเศร้าที่ภายหลังกลุ่มทาลิบัน (Taliban) ได้ทำลายงานศิลปะทางศาสนา และวัฒนธรรมเหล่านี้ ด้วยปืนใหญ่และระเบิดเมื่อปี ค.ศ.2001”

พระพุทธรูปแห่งบามียัน เป็นพระพุทธรูปยืนจำนวนสององค์ที่สลักอยู่บนหน้าผาสูงสองพันห้าร้อยเมตรในหุบผาบามียัน และทั้งโลกต้องตกตะลึง เมื่อกลุ่มทาลิบันทำลายหมู่พระพุทธรูปนี้ด้วยระเบิดไดนาไมต์ในเดือนมีนาคม ค.ศ.2001 ตามคำสั่งของ นายมุลลอฮ์ มุฮัมมัด อุมัร มุญาฮิด (Mullah Mohammed Omar Mujahid) ประมุขของรัฐบาลทาลิบัน ซึ่งให้เหตุผลว่ากฎหมายอิสลามไม่อนุญาตให้บูชารูปเคารพ

ในขณะที่นานาประเทศต่างประณามการกระทำของรัฐบาลทาลิบันอย่างรุนแรง เพราะหมู่พระพุทธรูปนี้มิใช่สมบัติของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่เป็น “มรดกโลก” อันเป็นสาธารณสมบัติและความภาคภูมิใจของคนทั้งโลก

“เราได้แวะเที่ยวเมืองไทยระหว่างที่เดินทางออกจากอินเดียเพื่อกลับสหรัฐในปี ค.ศ.1970 และยังได้กลับมาเยือนเมืองไทยอีกเป็นครั้งที่สอง ค.ศ.1989”

“เพราะผมเคยอยู่ในอินเดียซึ่งนับถือศาสนาฮินดู และเคยอยู่ในอัฟกานิสถานซึ่งมีพระพุทธ รูปที่สูงที่สุดและใหญ่ที่สุดในโลกดังกล่าวมาแล้ว ทำให้ผมได้เริ่มมีความคิดเกี่ยวกับพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก ในแง่ของพุทธศาสนาที่มีความสำคัญอันส่งผลต่อประชาชนและประวัติศาสตร์”

ท่านทูตเดวีส์ชอบใช้ชีวิตแบบนักการทูตเช่นเดียวกับบิดา คือได้รับใช้ประเทศชาติ ได้ไปเห็นโลก ได้รู้จักทำความเข้าใจผู้คน ส่วนใหญ่ท่านทูตเติบโตในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งนอกเหนือจากอัฟกานิสถานและอินเดียแล้ว ท่านทูตและครอบครัวยังเคยอยู่ในกรุงมอสโกและวอร์ซอ และเมื่อเข้าทำงานในฝ่ายต่างประเทศ ท่านทูตจึงถูกส่งไปประจำที่ออสเตรเลีย แอฟริกากลาง ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร ตามลำดับ

“เราพูดภาษาฝรั่งเศสในแอฟริกากลาง ดังนั้น จึงเป็นการเริ่มต้นที่ผมได้ไปประจำฝรั่งเศสเป็นอันดับต่อไป และฝรั่งเศสเป็นภาษาเดียวที่ผมพูดได้ดีนอกเหนือจากภาษาอังกฤษ”

หน้าที่การงานที่ชื่นชอบเป็นพิเศษ

“ทุกขั้นตอนในชีวิตมีตำแหน่งงานที่แตกต่างกัน สำหรับผมชอบการปฏิบัติงานครั้งอยู่ที่กรุงปารีสซึ่งเป็นเมืองที่สวยงามช่วงปี ค.ศ.1989-1992 โดยมีตำแหน่งเป็นรองที่ปรึกษาฝ่ายการเมือง สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศฝรั่งเศส ตอนนั้นผมและภริยายังอยู่ในวัย 30 ต้นๆ และลูกยังเล็กมาก”

“ระหว่างปี ค.ศ.1999-2003 ผมเป็นอัครราชทูตที่ปรึกษาของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ซึ่งเรารักที่นี่เพราะเปรียบเสมือนประเทศแม่ของเรา”

“หลังเหตุการณ์ 9/11 ประเทศสหรัฐเข้าสู่ความขัดแย้งกับอิรัก ขณะนั้นผมประจำที่กรุงปารีสเมื่อเกิดสงครามอ่าว (Gulf War) ครั้งแรก ค.ศ.1990 -1991 และประจำที่กรุงลอนดอนเกิดสงครามอ่าวครั้งที่สอง ปี ค.ศ.2003”

“ปารีส เป็นนครแห่งศิลปะ ความงาม และความโรแมนติก เราอยู่ที่ปารีสนานถึง 3 ปี ครั้นถึงเวลาที่ต้องอำลาจาก จึงเป็นเรื่องที่ยากมาก ค่อนข้างเศร้าโดยเฉพาะภริยาของผม เพราะเรารักและมีเพื่อนมากมายที่ฝรั่งเศส”

“เมื่อมาประจำประเทศไทย จึงเป็นโอกาสให้ผมได้นำประสบการณ์ทั้งหมดที่เก็บเกี่ยวจากการทำงานในออสเตรเลีย แอฟริกา ยุโรป และอเมริกา ซึ่งมีความแตกต่างกันมาด้วย และประเทศไทย เป็นการเดินทางมาถึงจุดสุดท้ายในอาชีพนักการทูตของผมในระยะเวลา 37 ปี ซึ่งในระบบของเราถือว่าเป็นการได้รับรางวัลที่สูงมาก เพราะมีหลายคนอยากมาทำหน้าที่เป็นทูตประจำประเทศไทยซึ่งมีความน่าสนใจและสำคัญมาก”

“ด้วยเหตุนี้ผมจึงนำความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ทั้งหมดที่ผมมีอยู่ มาให้ที่นี่ พร้อมกับการเรียนรู้และทำความรู้จักกับบุคคลต่างๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ โดยพยายามทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ลึกซึ้ง เพื่อชี้แจงให้วอชิงตันทราบ พร้อมกับหาหนทางในการเสริมสร้างมิตรภาพที่มีมาช้านานระหว่างประชาชนชาวอเมริกันกับประชาชนชาวไทย และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น”

“นี่เป็นสิ่งที่ผมได้พยายามปฏิบัติมาโดยตลอด”

ความรู้สึกเมื่อได้รับการติดต่อให้มาทำหน้าที่เป็นทูตประจำประเทศไทย

“ตอนนั้นผมอยู่ในกรุงวอชิงตัน รู้สึกตกใจเล็กน้อย เพราะไม่เคยมีความคิด และไม่เคยคาดหวังมาก่อน รู้แต่เพียงว่า ใกล้จะถึงเวลาสิ้นสุดแห่งอาชีพนักการทูตแล้ว แต่เมื่อได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์ถามว่า ยินดีที่จะไปเป็นทูตประจำประเทศไทยไหม ผมตอบตกลงว่า แน่นอนที่สุด ผมยินดีมากที่จะได้ไปประเทศไทย”

“ตั้งแต่นั้น ผมเริ่มเตรียมตัวด้วยการอ่านหนังสือเกี่ยวกับประเทศไทยอย่างหนัก ออกไปพบปะพูดคุยกับบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เริ่มเรียนภาษาไทย และเข้ารับการอบรมทางการทูตหลายเดือนในกรุงวอชิงตัน ซึ่งในความเป็นจริงตอนนั้นผมมีงานประจำที่ต้องทำสองหน้าที่ และในขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมตัวหลายอย่างเพื่อจะมารับตำแหน่งที่เมืองไทย”

“อย่างไรก็ตาม ไม่มีการเตรียมตัวใดที่สามารถทำได้อย่างสมบูรณ์ เพื่อจะมาปฏิบัติหน้าที่ในประเทศใหญ่และมีความสำคัญกับสหรัฐอย่างประเทศไทย ผมจึงได้แต่ศึกษาหาความรู้จากหนังสือมากพอๆ กับชมภาพยนตร์ ไปพูดคุยหาความรู้กับบุคคลต่างๆ ในสหรัฐ และในที่สุดผมก็ได้มาเรียนรู้อย่างแท้จริงในประเทศไทย”

“ผมและภริยาได้พบกับ นายพิศาล มาณวพัฒน์ เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐและภริยาหลายต่อหลายครั้ง ท่านทูตพิศาลให้การต้อนรับเราดีมาก พร้อมทั้งการเลี้ยงอาหารค่ำ ท่านทูตได้ชี้แจงเรื่องราวความเป็นไปในประเทศไทยอย่างละเอียด ผมต้องขอขอบคุณท่านทูตพิศาลเป็นอย่างมากที่ให้ความช่วยเหลือครั้งนั้น”

“แน่นอนที่สุด ผมทราบมาก่อนว่า เกิดวิกฤตการณ์การเมืองในไทย ปี ค.ศ.2013 และต้นปี ค.ศ.2014 ซึ่งเวลานั้นผมยังอยู่ในสหรัฐ แต่สองปีที่มาอยู่ในประเทศไทย ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่ผมพยายามทำความเข้าใจและศึกษาถึงความเป็นมาและสาเหตุต่อไป”

“เมื่อครั้งที่ผมเข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดือนตุลาคม ปี ค.ศ.2015 ในโอกาสที่เข้ามารับตำแหน่ง ท่านนายกฯ ได้อธิบายให้ฟังถึงสาเหตุที่เกิดขึ้นในประเทศไทยว่ามาจากอะไร มีความแตกแยกในสังคมอย่างไร”

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จับมือกับ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯนายกลิน เดวี

แต่สิ่งสำคัญที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เน้นย้ำกับทูตสหรัฐคือ ไม่จำเป็นต้องเชื่อ แต่ขอให้ฟังและนำข้อมูลเหล่านี้ไปศึกษา ไปสอบถามจากหลายๆ กลุ่ม เพื่อที่จะมายืนยันข้อมูลว่า สิ่งที่พูดนั้นเป็นความเท็จหรือความจริง และเมื่อถึงขั้นตอนนั้น จะเป็นประเด็นที่สหรัฐมีความเข้าใจในสิ่งที่เกิดในปัจจุบันของไทยมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม เอกอัครราชทูตสหรัฐสรุปว่า

“ความสัมพันธ์ในช่วงแรกๆ นั้น มีความตึงเครียดเล็กน้อย นั่นเป็นเรื่องจริง แต่เป็นความท้าทายสำหรับผมที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์กับไทยให้เกิดความไว้วางใจต่อกัน ในฐานะที่เราเป็นเพื่อนและมีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้นมานานกว่า 2 ศตวรรษ เราจะร่วมมือกันในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การทหาร การศึกษา เรียกได้ว่าทุกด้านที่เคยมีมา ซึ่งผมคิดว่า ปัจจุบันความสัมพันธ์ของเราก้าวหน้าไปด้วยดี”