ตุลารำลึก (จบ) สงครามจบ-ประวัติศาสตร์จบ!/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

ตุลารำลึก (จบ)

สงครามจบ-ประวัติศาสตร์จบ!

 

“เป้าหมายหลักของรัฐบาลไทยก็คือ จะต้องเอาชนะทางการเมืองให้ได้… โดยขั้นตอนแรกเน้นในด้านการสร้างพื้นฐานทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย”

พล.อ.สายหยุด เกิดผล และ ดร.สมชัย รักวิจิตร (2519)

 

สถานการณ์สงครามในชนบทไทยยกระดับมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหลังจากการล้อมปราบใหญ่ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แม้จะเดินตามหลังชัยชนะของสงครามปฏิวัติในเวียดนาม กัมพูชา และลาวในปี 2518 ก็ตาม แต่ไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในภูมิภาค เพราะหากไทยกลายเป็น “โดมิโนตัวที่ 4” จริงๆ แล้ว การเมืองและความมั่นคงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และจะส่งผลโดยตรงกับยุทธศาสตร์ของโลกตะวันตกในยุคหลังสงครามเวียดนาม

ดังนั้น การดำเนินการของรัฐบาลอำนาจนิยมไทยจึงเป็นสิ่งที่ถูกจับตามองอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายแบบขวาจัดในการต่อสู้กับปัญหาการก่อความไม่สงบของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ขยายตัวอย่างชัดเจนหลังการปราบปรามในปี 2519 ขณะเดียวกันก็เริ่มมีคำถามมากขึ้นว่า นโยบายขวาจัดจะเป็นปัจจัยที่นำไปสู่ชัยชนะในสงครามคอมมิวนิสต์ได้จริงเพียงใด

คำถามเช่นนี้ ส่วนหนึ่งจบลงด้วยการตัดสินใจทำรัฐประหาร 2520 ของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ด้วยการสนับสนุนของกลุ่มยังเติร์กที่เป็นนายทหารระดับกลางที่คุมกำลัง เพราะการจะเปลี่ยนทิศทางยุทธศาสตร์ของรัฐบาลให้ได้นั้น จะต้องเปลี่ยนรัฐบาลให้ได้ก่อน แต่เนื่องจากรัฐบาลของนายกฯ ธานินทร์ กรัยวิเชียร มีความมั่นใจมากที่จะอยู่ในอำนาจอย่างยาวนาน ถึงกับมีการกำหนดแผนทางการเมืองไว้ 12 ปี และเชื่อว่าการต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างสุดขั้ว เป็นจุดขายสำคัญของรัฐบาลนี้ อันจะทำให้รัฐบาลอยู่ได้นาน

แต่ความหวังเช่นนั้นก็อยู่ได้ในระยะเวลาสั้นๆ… จากรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 มาเกิดรัฐประหารซ้ำอีกครั้งในวันที่ 20 ตุลาคม 2520

 

ปรับยุทธศาสตร์

หากมองย้อนกลับไปมองจุดผลิกผันจากรัฐประหาร 2520 แล้ว จะเห็นได้ว่ารัฐบาลทหารของ พล.อ.เกรียงศักดิ์พยายามที่จะจัดการกับปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างผู้นำทหารกับผู้นำรัฐบาล ด้านหนึ่ง พล.อ.เกรียงศักดิ์จึงต้องร่วมมือกับผู้นำทหารระดับกลาง (กลุ่มยังเติร์ก) ที่เป็นผู้ควบคุมกำลังหลักของกองทัพบก ซึ่งไม่เพียงจะต้องลดบทบาทของกลุ่มทหารเดิมอย่างสายของ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ตลอดรวมทั้งเครือข่ายเดิมในกองทัพ หากยังต้องแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเดิมกับกลุ่มของ พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ ที่ส่วนหนึ่งมีจุดเชื่อมต่อกับผู้นำยังเติร์ก

การแก้ไขปัญหาดังกล่าวนำไปสู่การนิรโทษกรรมในตอนปลายปี 2520 ให้แก่สายของ พล.อ.ฉลาดที่ถูกจองจำอยู่ในบางขวาง แม้การประนีประนอมของผู้นำทหาร อาจจะไม่สามารถฟื้นชีวิตของ พล.อ.ฉลาดได้ แต่ก็ทำให้ผู้ร่วมก่อการได้รับอิสรภาพ และกลับเข้ารับราชการอีกครั้ง การนิรโทษกรรมจึงเป็นการแก้ปัญหาภายใน

และการกระทำเช่นนี้ในอีกด้าน ส่งผลให้บทบาทของกลุ่มยังเตริ์กเพิ่มมากขึ้นในทางการเมือง

แม้รัฐบาลเกรียงศักดิ์จะแก้ปัญหาเสถียรภาพกับฝ่ายทหารได้ แต่โจทย์สำคัญที่รอการแก้ไขอีกส่วนเป็นปัญหาสงครามในชนบทที่ขยายตัวมากขึ้นในปี 2520 จนดูเหมือนนโยบายขวาจัดทำหน้าที่เป็น “แนวร่วมมุมกลับ” อย่างดีให้กับพรรคคอมมิวนิสต์ไทย และยิ่งรัฐบาลดำเนินนโยบายขวาจัดมากเท่าใด ฝ่ายคอมมิวนิสต์ก็ยิ่งได้ประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น เพราะนโยบายเช่นนั้นช่วยในการผลักดันให้คนหันออกไปจากรัฐบาล และส่งผลให้ประชาชนอีกส่วนกลายเป็น “ผู้ที่เห็นอกเห็นใจ” ต่อฝ่ายคอมมิวนิสต์

หากย้อนกลับไปในช่วงระยะเวลาจากปี 2520-2521 แล้ว ผู้นำทหารที่ไม่ตอบรับกับนโยบายขวาจัดเริ่มคิดมากขึ้นกับการแก้ไขปัญหาสงครามคอมมิวนิสต์ เพราะหากรัฐดำเนินนโยบายผิดพลาดแล้ว คำตอบสุดท้ายมีเพียงประการเดียวคือ “แพ้สงคราม” เช่นที่เกิดขึ้นมาแล้วในอินโดจีนในปี 2518 ซึ่ง พล.อ.สายหยุด และ ดร.สมชัย สรุปไว้อย่างน่าสนใจว่า

“รัฐบาลที่แล้วๆ มายังไม่เข้าใจปัญหาคอมมิวนิสต์โดยแท้จริง ยังไม่เห็นความสำคัญในการแก้ปัญหานี้เท่าที่ควร และไม่มีนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติที่แน่นอน… [ดังนั้น] ถ้าฝ่ายบ้านเมืองสามารถขยายฐานทางการเมืองที่สนับสนุนรัฐบาลและระบอบประชาธิปไตยในแนวทางที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อย่างกว้างขวางและเข้มแข็ง และสามารถช่วงชิงเป็นฝ่ายกระทำ… ก็เป็นที่เชื่อมั่นได้ว่า ประเทศไทยจะอยู่รอดปลอดภัย” ซึ่งจะเห็นได้ว่าประชาธิปไตยเป็น “key word” ของความคิดชุดใหม่

มุมมองของฝ่ายความมั่นคงเช่นนี้น่าสนใจ เพราะเป็นสัญญาณถึงความต้องการที่จะปรับยุทธศาสตร์ของฝ่ายรัฐ ในขณะเดียวกันความเห็นเช่นนี้เริ่มมีมากขึ้นในฝ่ายทหารที่เริ่มตระหนักว่า ทิศทางการต่อสู้เดิมอาจจะนำไปสู่ความพ่ายแพ้ได้ แม้ก่อนหน้านี้เคยมีความพยายามในการปรับยุทธศาสตร์มาแล้วในปี 2512 ที่ต้องการเน้นถึง “มาตรการทางการเมือง” ในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ แต่การผลักดันเช่นนั้นไม่ประสบความสำเร็จ

ดังนั้น ความพยายามในการปรับตัวอีกครั้งหลังรัฐประหาร 2520 จึงมีความหมายอย่างยิ่ง

 

ยุทธศาสตร์ใหม่

ผู้นำทหารที่ไม่ใช่สายขวาจัด มีความเห็นไปในทำนองเดียวกันที่จะต้อง “ถอดชนวนสงคราม” พวกเขายอมรับว่ามาตรการปราบปรามแบบ “สายเหยี่ยว” ที่ดำเนินมาตลอดช่วงสงครามไม่น่าจะเอาชนะคอมมิวนิสต์ได้ และยอมรับในอีกด้านว่า สาเหตุที่คนไทยเป็นคอมมิวนิสต์นั้น “ส่วนใหญ่แล้วมาจากความล้มเหลวของรัฐบาล…” อันเป็นทัศนะที่เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมาก

นอกจากนี้ ยังยอมรับอีกว่า “การเน้นวิธีปราบปรามอย่างรุนแรงเป็นหลักทั้งในเวียดนามและในประเทศไทย ได้ประสบความล้มเหลว สหรัฐอเมริกาได้ทบทวนเพื่อเปลี่ยนแนวทางยุทธศาสตร์ใหม่ในเวียดนามในปี 2512 แต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมืออย่างจริงจังจากรัฐบาลเวียดนามใต้ จนเวียดนามต้องพ่ายแพ้คอมมิวนิสต์ในที่สุด…”

ดังนั้น “การใช้มาตรการปราบปรามเป็นหลัก จึงเป็นการมองปัญหาที่ปลายเหตุ” และยอมรับอย่างตรงไปตรงมาอีกว่า “การปราบปรามอย่างกว้างขวางและรุนแรงนั้น มีแนวโน้มที่จะสร้างความเดือดร้อนกับราษฎร์ผู้บริสุทธิ์มากกว่า…” (พล.อ.สายหยุดและสมชัย, 2519)

ความท้าทายอีกส่วนจึงได้แก่ รัฐไทยจะส่งสัญญาณอะไรถึงการปรับตัวทางยุทธศาสตร์ เพราะด้านหนึ่ง สังคมโลกเองก็กังวลกับสถานการณ์สงครามในไทย เพราะถ้าโดมิโนล้มที่กรุงเทพฯ จะส่งผลอย่างมากกับการวางยุทธศาสตร์ของฝ่ายตะวันตกในเอเชีย และภายในบ้าน

สังคมไทยเองกังวลว่า รัฐบาลและกองทัพไทยจะแบกรับสงครามคอมมิวนิสต์ไปได้อีกนานเพียงใด ก่อนที่สงครามจะยกระดับขึ้นสู่ “ขั้นรุก” อีกทั้งสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่าง “พรรคพี่น้อง” ในอินโดจีนระหว่างเวียดนามและกัมพูชาในช่วงปี 2521 อาจขยายตัวเป็นปัญหาใหญ่ที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงไทยได้อีกด้วย

โจทย์สามส่วนเช่นนี้ทำให้ในที่สุดแล้ว รัฐบาลเกรียงศักดิ์ตัดสินใจเรื่องใหญ่ที่สุดอีกครั้งคือ การประกาศนิรโทษกรรม “คดี 6 ตุลาฯ” ทั้งหมด เพื่อเป็นสัญญาณของการประนีประนอมกับปัญหาความขัดแย้งภายใน และการนิรโทษกรรมถูกมองจากผู้นำทหาร “สายพิราบ” ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการยุติความขัดแย้งทางการเมือง

แม้จะมีเสียงคัดค้านอย่างมากจากฝ่ายขวาจัด แต่รัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มยังเติร์กก็ตัดสินใจผลักดัน (ไม่ต่างจากเมื่อต้องเผชิญกับฝ่ายอนุรักษนิยมจากการรัฐประหาร 2520 ที่ทำให้รัฐบาลขวาจัดต้องสิ้นสุดลง)

ในขณะกลุ่มผู้ก่อการในสายของ พล.อ.ฉลาดได้รับนิรโทษกรรมในเดือนธันวาคม 2520 นั้น พวกเราเริ่มไปศาลทหาร การขึ้นศาลแต่ละครั้งเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของรัฐไทยอย่างมาก เพราะทุกครั้งที่พวกเราชาว 6 ตุลาฯ ไปศาล ได้กลายเป็นข่าวใหญ่ทั้งภายในและภายนอก

อีกทั้งการซักคดีในศาลดูจะยิ่งเป็นการ “เปิดโปง” เหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาฯ มากขึ้น และข้อมูลเหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่ “ทิ่มแทง” ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการก่อเหตุ “ขวาทมิฬ” อย่างชัดเจน…

ยิ่งซักในศาลมากเท่าใด ก็ยิ่งเปิดโปงมากเท่านั้น จนเริ่มมีเสียงแว่วมาว่า รัฐบาลทำท่าจะไม่อยากให้คดีนี้เดินต่อไป เพราะจะยิ่งทำให้ฝ่ายรัฐ “เสียการเมือง”

ผมมีโอกาสรับทราบในภายหลังว่า ผู้นำทหารสายพิราบเริ่มมองว่าการคุมขังคดี 6 ตุลาฯ และปล่อยให้คดีเดินไปในศาลอย่างไม่มีจุดจบ ย่อมไม่ใช่สิ่งที่จะเป็นประโยชน์ทางการเมือง ทั้งคดีนี้ยังเป็นเสมือน “ไฟสุมขอน” ในสังคมไทย และเป็นเงื่อนไขสำคัญของความขัดแย้งระหว่างรัฐกับคนรุ่นใหม่ และมีสงครามในชนบทเป็นเงื่อนไขสำคัญอีกส่วน

ฉะนั้น ถ้าจะต้องดับไฟชุดนี้ จะต้องเริ่มด้วยการยุติคดีเป็นเบื้องต้น กล่าวคือ ถ้าการนิรโทษกรรมคดี 26 มีนาฯ เป็นสัญญาณของการยุติความขัดแย้งกับฝ่ายทหาร การนิรโทษกรรมคดี 6 ตุลาฯ ก็จะเป็นสัญญาณที่ต้องการยุติความขัดแย้งกับนิสิต-นักศึกษา

 

อิสรภาพ

แม้จะมีเสียงแว่วว่ารัฐบาลอาจจะยุติคดี 6 ตุลาฯ แต่ก็ไม่มีความชัดเจน เพราะเราไม่อาจคาดถึงอิทธิพลของปีกขวาจัด หรือบรรดาสายอนุรักษนิยมสุดขั้วทั้งหลายที่ยังต้องการมีนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างสุดโต่ง แต่ทหารสายพิราบต้องการยุติสงครามจริงๆ จึงส่งผลให้การต่อสู้ทางความคิดระหว่างสองฝ่ายในหมู่ผู้นำทหารและการเมือง สิ้นสุดลงด้วยการออกนิรโทษกรรมคดีนี้ และส่งผลให้พวกเราทั้งหมดได้รับการปล่อยตัว

ในวันปล่อยตัวที่บางขวาง อาจารย์พิชัย วาศนาส่ง ซึ่งมีสถานะเป็นเหมือนผู้แทนรัฐบาล ได้เข้ามาเยี่ยมพวกเรา และบอกชัดเจนว่า “รัฐบาลต้องการยุติสงครามกับนักศึกษา”… ผมจำวลีนี้ได้ขึ้นใจ และคิดว่าเป็นทิศทางใหม่ที่เน้นถึงการเอาชนะทางการเมืองอย่างชัดเจน ซึ่งหากย้อนกลับไปสู่กลางปี 2521 แล้ว คงต้องยอมรับว่าวลีนี้เป็นคำตอบของ “ยุทธศาสตร์ใหม่” ที่ชัดเจน และยังเป็นจุดเริ่มต้นของการยุติสงครามด้วยยุทธศาสตร์การเมือง คือคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี 66/2523 และ 65/2525 อันเป็นพื้นฐานของแนวคิด “การเมืองนำการทหาร” และลดทอนอิทธิพลของสายเหยี่ยวและปีกขวาลง

หลังพวกเราได้รับนิรโทษกรรมแล้ว เพื่อนพ้องน้องพี่เริ่มทยอยออกจากป่า สงครามในชนบทไทยเริ่มลดระดับลง และในเดือนตุลาคม 2526 รัฐบาลก็ประกาศชัยชนะ… สงครามปฏิวัติจบลงแล้ว ชีวิตทางการเมืองของ “สหายเดือนตุลาฯ” จบลงด้วย พร้อมกับการสิ้นสุดของประวัติศาสตร์สังคมไทยชุดหนึ่ง

เราทราบดีว่า “สงครามการเมือง” ไม่เคยจบ แม้ในปัจจุบัน สหายเก่าเหล่านี้ยังคงมีบทบาทแตกต่างกันไป แต่ก็เป็นไปตาม “จริตและความคิด” ของแต่ละบุคคล ไม่ใช่บทบาทในฐานะสหายเดือนตุลาฯ แต่อย่างใด!