ออง ซาน ซูจี กับประชาธิปไตยที่ถูกกักขังอีกครั้ง/บทความต่างประเทศ

บทความต่างประเทศ

 

ออง ซาน ซูจี

กับประชาธิปไตยที่ถูกกักขังอีกครั้ง

 

ออง ซาน ซูจี ผู้นำเรียกร้องประชาธิปไตยที่ปัจจุบันอยู่ในวัย 76 ปี เคยถูกกองทัพเมียนมากักขังอยู่ในบ้านยาวนานถึง 15 ปี จนกระทั่งได้รับอิสรภาพในปี 2010

ซูจีมีโอกาสได้ลงสนามการเมืองอีกครั้งและนำพรรคสันนิบาติชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งในปี 2015 อย่างถล่มทลาย ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐ บริหารประเทศเป็นเวลานาน 5 ปี

ซูจีถึงขั้นเป็นตัวแทนรัฐบาลเมียนมา ขึ้นชี้แจงปกป้อง “กองทัพเมียนมา” ต่อข้อกล่าวหา “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญา ในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของประเทศ ที่ศาลอาญาระหว่างประเทศในปี 2019 จนถูกวิพากษ์วิจารณ์จากทั่วโลกว่าไม่สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน ทำให้ชื่อเสียงของเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพต้องแปดเปื้อนลง

แต่นั่นก็ไม่ทำให้ออง ซาน ซูจี รอดพ้นจากการสูญสิ้นอิสรภาพอีกครั้ง

เมื่อกองทัพเมียนมาก่อ “รัฐประหาร” โค่นล้มรัฐบาลเมียนมาที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้นำการรัฐประหารอ้างว่าการทำรัฐประหารเป็นสิ่งที่ “หลีกเลี่ยงไม่ได้” เพราะเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2020 ที่พรรคเอ็นแอลดีชนะถล่มทลายอีกครั้ง เป็นไปอย่างไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม

ออง ซาน ซูจี รวมถึงประธานาธิบดีวิน มินต์ พันธมิตรทางการเมืองจากพรรคเอ็นแอลดี ถูกจับกุมตั้งแต่นั้น และยังถูกยัดข้อหาจำนวนมากถึง 11 ข้อหา

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา ศาลทหารเมียนมาที่มีการพิจารณาคดีแบบปิดได้ตัดสินโทษนางออง ซาน ซูจี และวิน มินต์ ในคดี “ยุยงปลุกปั่น” และ “ละเมิดมาตรการควบคุมโรคโควิด-19” หนึ่งในหลายๆ ข้อหาที่ได้รับ ให้ต้องรับโทษจำคุก 4 ปี ก่อนที่ผู้นำรัฐบาลทหาร พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย จะประกาศลดโทษให้เหลือ 2 ปีในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา

นับตั้งแต่รัฐบาลทหารเมียนมาทำรัฐประหาร เมียนมายังไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เองก็ยังไม่ประกาศยอมรับตัวแทนจากรัฐบาลทหารเมียนมาในยูเอ็น เช่นเดียวกันกับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน หรือ “อาเซียนซัมมิต” ที่เพิ่งจัดไปเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ที่ชาติสมาชิกประกาศไม่เชิญผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาเข้าร่วมประชุม

นับเป็นการแสดงออกทางการเมืองที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยครั้งนักในเวทีอาเซียน ที่ผู้นำหลายๆ ชาติมักประกาศจุดยืนไม่แทรกแซงกิจการภายในของชาติสมาชิก

เช่นเดียวกันกับคำตัดสินโทษจำคุกนางซูจีในครั้งนี้ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติอย่างรุนแรงไม่ว่าจะเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชน, กลุ่มชาติตะวันตก หรือแม้แต่ “จีน” เองก็ตาม

มิเชล บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ออกมาวิจารณ์การตัดสินคดีดังกล่าวอย่างรุนแรง โดยระบุว่า เป็นคดีที่มีแรงจูงใจทางการเมือง และเป็นการไต่สวนคดีที่มีขั้นตอนอันน่าอัปยศ

“การตัดสินลงโทษออง ซาน ซูจี เพียงแต่จะทำให้แรงต่อต้านการรัฐประหารหยั่งรากลึกยิ่งขึ้น มันจะทำให้สถานะต่างๆ ยากเย็นมากขึ้น ในเวลาที่การเจรจา และการแก้ปัญหาในทางการเมืองและสันติภาพเป็นที่ต้องการมากที่สุด” บาเชเลต์ระบุ

 

ด้านแอนโทนี บลินเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ออกมาโจมตีการตัดสินคดีนางซูจีด้วยเช่นกัน โดยระบุว่า เป็นการ “ดูหมิ่นประชาธิปไตยและความยุติธรรม”

“เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี และทุกคนที่ถูกจับกุมอย่างไม่ยุติธรรม รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ตามระบอบประชาธิปไตยคนอื่นๆ”

“รัฐบาลเบอร์มายังคงไม่เคารพหลักนิติธรรมอย่างต่อเนื่อง และการใช้กำลังกับชาวเบอร์มาที่เกิดขึ้นในทุกพื้นที่เน้นย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการฟื้นคืนเส้นทางสู่ประชาธิปไตยของเบอร์มา” บลินเคนระบุโดยใช้ชื่อเรียกชื่อเดิมของเมียนมา และยังเรียกร้องให้รัฐบาลทหารเมียนมา “ยุติการใช้ความรุนแรง เคารพเจตจำนงของประชาชน และฟื้นคืนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของเบอร์มาอีกครั้ง”

ลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ระบุว่าการตัดสินคดีดังกล่าวเป็นความพยายามอันน่าตกใจของรัฐบาลทหารเมียนมาที่ถูกนำมาใช้ในการกดทัพเสรีภาพและประชาธิปไตย

“อังกฤษขอเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวนักโทษการเมือง นั่งโต๊ะเจรจาและเปิดทางให้ฟื้นคืนประชาธิปไตย การจับกุมคุมขังนักการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งมีแต่จะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดความรุนแรงขึ้น” ทรัสส์ระบุ

 

ด้านจ้าว ลี่เจียง โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน เองก็ออกมาแสดงความกังวลกับประเทศเพื่อนบ้านด้วยเช่นกัน

“ในฐานะเพื่อนบ้านที่เป็นมิตร เราหวังอย่างจริงใจว่าทุกฝ่ายในเมียนมา จะดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ของประเทศในระยะยาว ประสานความแตกต่างภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยอันยากลำบากให้ก้าวหน้า และเหมาะสมกับสภาวะของประเทศเมียนมา” จ้าวระบุ

ด้านด๊อกเตอร์ซาร่า โฆษกรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่า เอ็นยูจี รัฐบาลพลเรือนพลัดถิ่น ซึ่งประกาศตัวเป็นรัฐบาลเงาเมียนมา แถลงโจมตีรัฐบาลทหารเมียนมาเช่นกัน

“วันนี้เป็นวันอันน่าอัปยศสำหรับหลักนิติธรรม ความยุติธรรมและการนำตัวคนผิดมาลงโทษในเมียนมา รัฐบาลทหารเมียนมาที่โหดเหี้ยม วันนี้ได้ยืนยันแล้วว่าพวกเขามองตัวเองอยู่เหนือกฎหมาย” ซาร่าระบุ

และเรียกร้องให้ประชาคมโลกต้องออกมาตรการคว่ำบาตรต่อกองทัพ นายทหารและธุรกิจต่างๆ ที่นายทหารเหล่านี้เป็นเจ้าของ รวมถึงบริษัทในเครือด้วย

 

ปัจจุบันยังคงไม่ชัดเจนว่านางซูจีถูกคุมขังในเรือนจำหรือไม่ เนื่องจากยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลการควบคุมตัว เช่นเดียวกับอีกกว่า 10,600 คนที่ถูกจับกุมนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และนั่นยังไม่นับชาวเมียนมาอีก 1,303 คนที่ต้องเสียชีวิตระหว่างการชุมนุมประท้วง

ชะตากรรมของนางซูจีที่จะต้องเผชิญกับการตัดสินคดีอีกหลายคดี แต่ละคดีอาจต้องโทษจำคุกสูงสุดถึง 5 ปี แม้ในเวลานี้อยู่ในมือของกองทัพเมียนมา อย่างไรก็ตาม แรงต่อต้านรัฐบาลทหารจะยังคงอยู่โดยเฉพาะจากภาคประชาชน รวมไปถึงกลุ่มกองกำลังติดอาวุธต่อต้านกองทัพเมียนมา

ที่พร้อมต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยกลับคืนมา