ปริศนาโบราณคดี/’วัดอุโมงค์’ (สวนพุทธธรรม) ศิลปกรรมที่เต็มไปด้วยปัญหา ด้านการกำหนดอายุ (จบ)

ปริศนาโบราณคดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

‘วัดอุโมงค์’ (สวนพุทธธรรม)

ศิลปกรรมที่เต็มไปด้วยปัญหา

ด้านการกำหนดอายุ (จบ)

 

สามตอนที่ผ่านมาได้วิเคราะห์เจาะลึกถึงประเด็นปัญหาเรื่องตัวมหาสถูปของวัดอุโมงค์ ซึ่งมีรูปแบบที่พิเศษ แปลกแตกต่างจากเจดีย์ทรงระฆังแบบลังกาทั่วไป เนื่องจากลักษณะทางศิลปกรรมค่อนไปทางอิทธิพลของศิลปะพุกามอย่างมาก

จนทำให้เกิดคำถามตามมามากมายว่า ทั้ง “พระมหากัสสปะ” พระภิกษุชาวลังกา สมัยพระญามังรายก็ดี หรือ “พระเถรจันท์” ภิกษุชาวล้านนา (บ้านเดิมอยู่แถวแม่เหียะ) สมัยพระญากือนาก็ดี ไฉนรูปใดรูปหนึ่งที่ตำนานระบุว่าเคยจำพรรษาที่วัดนี้มาก่อน จึงไปมีสัมพันธ์อันดีกับทางพุกาม จนกระทั่งถึงขั้นรับเอาอิทธิพลด้านรูปแบบศิลปะของพุกามมาสร้างที่เจดีย์วัดอุโมงค์นี้อย่างเต็มที่

และใช่เพียงแต่องค์พระเจดีย์เท่านั้นที่มีความสัมพันธ์กับทางศิลปะพุกามอย่างแนบแน่น

ทว่า ในส่วนของจิตรกรรมฝาผนังในช่องอุโมงค์ ก็พบว่าเป็นศิลปกรรมที่สะท้อนถึงร่องรอยของศิลปะพุกามอย่างเด่นชัดด้วยเช่นกัน

ใครเป็นคนเปิดพรมแดนในการรับเอารูปแบบศิลปกรรมพุกามมาสถาปนาในล้านนา

การเจาะช่องอุโมงค์หลังคาโค้งเกือกม้า เป็นทางเดินสู่ห้องต่างๆ
การเจาะช่องอุโมงค์หลังคาโค้งเกือกม้า เป็นทางเดินสู่ห้องต่างๆ

หลายท่านอาจถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ อาณาจักรพุกามมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับดินแดนแถวนี้มานานแล้วตั้งแต่สมัยอาณาจักรหริภุญไชยเรืองอำนาจ

เห็นได้จากรูปแบบการสร้างเจดีย์ประธานที่เวียงกาะกลาง รวมถึงมณฑปกลางน้ำ ที่อำเภอป่าซาง ลำพูน สมัยหริภุญไชยตอนปลาย ก็มีส่วนละม้ายคล้ายคลึงกับสถาปัตยกรรมแบบพุกาม

ดังนั้น อิทธิพลของศิลปะพุกามในแผ่นดินลุ่มน้ำแม่ปิงที่ต่อมาผลัดมือมาสู่อาณาจักรล้านนา อาจตกค้างมาตั้งแต่สมัยหริภุญไชยตอนปลายๆ แล้วก็เป็นได้

อีกประการหนึ่ง ประวัติของพระญามังรายช่วงกำลังเตรียมสร้างเมืองเชียงใหม่ มีการกล่าวว่าพระองค์ได้ยกทัพไปยังเมืองพุกาม หงสาวดี มีชัยชนะต่อรัฐจารีตทั้งสองเมืองนี้ ถึงขั้นสามารถกวาดต้อนนายช่างศิลปกรรมมาได้จำนวนมาก เพื่อให้ช่างฝีมือเหล่านี้มาเป็นมันสมองออกแบบ ช่วยวางรากฐานสร้างวัดวาอารามในเมืองเชียงใหม่

สองประเด็นที่กล่าวมา ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดไม่น้อย อาจใช้เป็นกุญแจไขปริศนาว่าทำไมจึงมีศิลปกรรมแบบพุกามเกิดขึ้นแล้วในสมัยล้านนาตอนต้น อย่างน้อยสองแห่ง

มีข้อน่าสังเกตว่า มีวัดสองแห่งตั้งอยู่ในเขตคูเมืองเชียงใหม่ที่มีการเจาะช่องอุโมงค์ที่ฐานเจดีย์ตอนล่าง อันเป็นรูปแบบศิลปกรรมที่นิยมมากในกรุงพุกาม นั่นคือ วัดอุโมงค์เถรจันทร์ และวัดล่ามช้าง

ซึ่งนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะหลายท่านลงความเห็นว่า เจดีย์ที่เจาะอุโมงค์ที่ฐานของสองวัดนี้มีความเป็นไปได้ที่มีอายุเก่าแก่ถึงสมัยพระญามังราย

ช่องทางเข้าห้องอุโมงค์ มีประตูออกสามช่อง

ในส่วนของภาพจิตรกรรมวัดอุโมงค์นั้นเล่า อาจกล่าวได้ว่า จิตรกรรมฝาผนังวัดอุโมงค์คือภาพเขียนสีที่เก่าที่สุดที่พบในสมัยล้านนา (ไม่นับภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์อายุ 3,000 ปี เช่นที่ประตูผา ลำปาง) เนื่องจากจิตรกรรมฝาผนังอื่นๆ ที่พบในรูปแบบ “ลายคำน้ำแต้ม” (พื้นที่แดงชาดแล้วปิดทองคำเปลวสีทอง) เช่น ในสกุลช่างลำปาง ตามวิหารวัดปงยางคก วัดไหล่หิน ล้วนมีอายุในช่วงที่ล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นพม่า ราว 300 กว่าปีมาแล้วทั้งสิ้นเท่านั้น

ในขณะที่จิตรกรรมฝาผนังในช่องอุโมงค์ทั้งหมด 6 ช่องที่วัดอุโมงค์นั้น มีความเก่าแก่กว่าภาพเขียนสีกลุ่มลายคำน้ำแต้มอยู่มาก กล่าวคือ วาดขึ้นในสมัยยุคทองของอาณาจักรล้านนา ราว 500-600 ปีมาแล้วอย่างแน่นอน

ปัญหาคือ จิตรกรรมวาดขึ้นพร้อมกับการเจาะช่องอุโมงค์หรือไม่ ใครเป็นคนเจาะช่องอุโมงค์ ใครเป็นคนวาดภาพจิตรกรรม ทำไมรูปแบบภาพจิตรกรรมจึงไปคล้ายคลึงกับศิลปกรรมสกุลช่างพุกาม (เข้าอีกจนได้?)

ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในถ้ำอุโมงค์เหล่านี้ พบว่าเขียนเป็น “ลวดลายประดับ” ล้วนๆ ประกอบด้วย ลายนกยูง นกกระเรียน นกกระสา นกแก้ว ลายดอกบัว ดอกโบตั๋น ลายไข่มุกไฟ ลายก้อนเมฆ ลายเพชรพลอย

ในส่วนของลวดลายนั้นเมื่อแยกออกมาชิ้นเดี่ยวๆ พบว่าเป็นลวดลายแบบจีน ที่ใช้เขียนบนภาชนะเครื่องถ้วยสมัยราชวงศ์หยวนตอนปลายและราชวงศ์หมิง สีที่ใช้คือสีเขียว สีดำ สีน้ำตาล วาดบนพื้นสีแดงชาด

ไม่มีการพบภาพที่แสดงเรื่องราว เช่น อดีตพุทธ พุทธประวัติ ชาดกใดๆ เลยบนผนังทั้ง 6 ห้อง มีแต่รูปลวดลายประดับล้วนๆ คล้ายลายพิมพ์ผ้าซ้ำไปซ้ำมา จัดวางเป็นจังหวะเต็มผนังโค้ง

ซึ่งลักษณะการวางจังหวะลวดลายเช่นนี้ คล้ายกับองค์ประกอบของลวดลายในภาพจิตรกรรมฝาผนังที่พุกาม

จิตรกรรมฝาผนังในห้องมืด พบร่องรอยการเขียนภาพนก ดอกโบตั๋น ไข่มุกไฟ ฯลฯ ลวดลายมงคลของจีน แต่จัดวางจังหวะแบบภาพจิตรกรรมพุกาม
จิตรกรรมฝาผนังในห้องมืด พบร่องรอยการเขียนภาพนก ดอกโบตั๋น ไข่มุกไฟ ฯลฯ ลวดลายมงคลของจีน แต่จัดวางจังหวะแบบภาพจิตรกรรมพุกาม

ตอนท้ายของบทความฉบับก่อน ดิฉันได้ทิ้งประเด็นเรื่อง มุมมองของคนล้านนาในยุคที่ถูกพม่ากวาดต้อนไปหงสาวดี มีความเชื่อว่า การเจาะช่องอุโมงค์ของวัดแห่งนี้ ทำโดยกษัตริย์พระองค์หนึ่ง (ไม่ระบุว่าองค์ใด) ที่ตั้งใจขุดช่องอุโมงค์เพื่อเลียนแบบ “ท้าวมโหสถ” ผู้เลิศด้วยสติปัญญาหาใครเทียบได้

ท้าวมโหสถเจาะอุโมงค์เพื่อใช้เป็นทางหนีทีไล่ หรือเป็นทางลัด กำบังการกระทำลักลอบส่งตัวธิดากษัตริย์ไปสู่อีกเมืองหนึ่ง มิให้ใครเห็น

ไฉนเลย กวีผู้รจนาโคลงมังทรารบเชียงใหม่ จึงเทียบว่ากษัตริย์ผู้สร้างวัดอุโมงค์ ได้เจาะช่องอุโมงค์ลับเป็นการเลียนแบบ “ปัญญา” ของท้าวมโหสถ

ใครคือกษัตริย์ผู้ปราดเปรื่องพระองค์นั้น และช่องอุโมงค์ที่เจาะนั้น เป็นชั้นความลับด้วยหรือไม่ สามารรถมุดรูไปโผล่ที่ใดบ้าง

ในการรับรู้ของกวีนั้น กษัตริย์ผู้เทียบได้กับท้าวมโหสถ จักหมายถึงพระญากือนา หรือว่าพระเจ้าติโลกราช หรือองค์อื่นๆ?

จากเอกสารคัมภีร์ใบลานที่ดิฉันนำเสนอเมื่อตอนที่แล้ว ระบุว่าพระญากือนาโปรดให้พระเถรจันท์ขุดช่องอุโมงค์อยู่แทนกุฏิ? เพราะมีจิตวิปริต สติวิปลาสเกินกว่าจักสามารถอาศัยอยู่ในอาคารกุฏิทั่วไปอย่างกลมกลืนกับพระภิกษุอื่นๆ ให้แยกออกมาอยู่แบบปัจเจก

ถ้าเช่นนั้น จุดเริ่มต้นของการเจาะช่องอุโมงค์ตามที่คัมภีร์ระบุ ย่อมเกิดจากความจงใจสร้าง “อาคารเฉพาะกิจ” สำหรับพระภิกษุที่มีอาการแปลกๆ ไม่อยู่กับร่องกับรอยผิดจากคนทั่วไปกระนั้นหรือ?

จิตรกรรมฝาผนังในห้องมืด พบร่องรอยการเขียนภาพนก ดอกโบตั๋น ไข่มุกไฟ ฯลฯ ลวดลายมงคลของจีน แต่จัดวางจังหวะแบบภาพจิตรกรรมพุกาม

ช่องอุโมงค์เหล่านี้ จงใจสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็น “กุฏิ” หรือ “วิหาร” กันแน่? (เพราะปัจจุบันเป็นวิหาร)

ในเมื่อวิหารในอินเดียตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ก่อนที่จะพัฒนามาสร้างเป็นห้องหับผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก็เคยใช้วิธีเจาะช่องอุโมงค์ให้เป็นถ้ำตามภูเขามาก่อนแล้วเช่นกัน

เป็นไปได้หรือไม่ ว่าจุดเริ่มต้นของการเจาะอุโมงค์ของพระเถรจันท์ ในสมัยพระญากือนาราวช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 (พ.ศ.1920 กว่าๆ) อาจทำเป็นอุโมงค์ขนาดเขื่องแค่ช่องเดียว เพื่อใช้เป็นกุฏิอาศัย

ทว่า เมื่อกาลเวลาผ่านไปอีกสักระยะ ช่วงกลางหรือปลายพุทธศตวรรษที่ 20 กษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง (คนส่วนใหญ่มักให้เครดิตกับพระเจ้าติโลกราช เพราะรัชสมัยของพระองค์มีสิ่งก่อสร้างที่เจาะช่องอุโมงค์หลายแห่ง) โปรดให้ขยายช่องอุโมงค์ให้กว้างขึ้น สร้างเพิ่มจาก 1 ห้อง รวมเป็น 6 ห้อง

จากคัมภีร์ใบลานที่อ้างถึงประวัติพระเถรจันท์ ยังพบว่าท่านมีอายุยืนยาวมาก อยู่มาถึง 4 รัชกาล จากสมัยพระญากือนา พระญาแสนเมืองมา พระญาสามฝั่งแกน จนทันถึงสมัยพระเจ้าติโลกราชครองราชย์ช่วงต้นๆ อีกด้วย

จิตรกรรมฝาผนังในห้องมืด พบร่องรอยการเขียนภาพนก ดอกโบตั๋น ไข่มุกไฟ ฯลฯ ลวดลายมงคลของจีน แต่จัดวางจังหวะแบบภาพจิตรกรรมพุกาม

ดิฉันกำลังสนใจเหตุการณ์ในรัชสมัยของพระญาสามฝั่งแกน (พ.ศ.1945-1984 พระราชบิดาของพระเจ้าติโลกราช) พระองค์อุปถัมภ์นิกายสวนดอก นับแต่ภายหลังการมรณภาพของพระมหาสุมนสุวรรณรัตนสามี (พระมหาสุมนเถระชาวสุโขทัย) ผู้สถาปนานิกายสวนดอกแล้ว

ตำนานวัดสวนดอกระบุว่า ได้มีพระมหาเถระชาวล้านนาอีกหลายรูปเดินทางไปศึกษาพระศาสนาสายรามัญวงศ์ในเมืองพุกามและอังวะอยู่อย่างไม่ขาดสาย ครั้นเมื่อกลับมาได้ทำการอุปสมบทกุลบุตรในสายรามัญนิกายย่อยของสวนดอก เรียกว่า “หน” หมายถึงทิศ ทาง หรือฝ่าย คือ “หนพุกาม” อีกด้วย

โดยส่วนพระองค์แล้วพระญาสามฝั่งแกนมีพระราชศรัทธาเลื่อมใสพระมหาเถระในนิกายพุกามอย่างมาก ทรงแต่งตั้ง “พระญาณรังษี” ซึ่งไปบวชเรียนมาจากพุกามเป็นเจ้าอาวาสวัดสวนดอก ทำให้กุลบุตรชาวเชียงใหม่เกิดความนิยมในคติหนพุกามตามไปด้วย

ดิฉันตั้งข้อสันนิษฐานว่า พื้นที่แถววัดอุโมงค์นี้นั่นเอง น่าจะเป็นเขตอารามต่อเนื่องของนิกายสวนดอกลงมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ โดยพระญาสามฝั่งแกนคงให้พระหนพุกามที่เข้ามาจำพรรษาในเชียงใหม่ อยู่ปะปนกับพระเถรจันท์ ในวัยชราภาพมากแล้ว (สภาพ “ผีบ้า” คงน่าจะทุเลาลงบ้างแล้ว)

ภายหลังจากที่พระเถรจันท์มรณภาพ วัดอุโมงค์น่าจะได้กลายเป็นนิวาสถานหลักของพระภิกษุสายพุกามโดยปริยาย ทำให้รูปแบบศิลปกรรมพุกามจึงปรากฏอย่างเข้มข้นโดดเด่นทั้งในองค์เจดีย์ และในส่วนของภาพจิตรกรรมฝาผนัง

การเจาะช่องอุโมงค์ขนาดเล็ก ณ วัดอุโมงค์เถรจันทร์ สมัยพระญามังราย

เมื่อถึงสมัยพระเจ้าติโลกราช ทรงโปรดปรานนิกายป่าแดง วัดอุโมงค์จะถูกละทิ้งหรือไม่ และสถานะของนิกายสวนดอกหนพุกามจะเป็นเช่นไร ดีไม่ดี พระองค์อาจเปลี่ยนนิกายของวัดนี้จากสวนดอกให้กลายเป็นนิกายป่าแดงที่ทรงอุปถัมภ์อีกด้วย เหตุที่วัดอุโมงค์ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับวัดป่าแดง

หากสมมุติว่า การเจาะช่องอุโมงค์และภาพเขียนฝาผนังเป็นผลงานของพระภิกษุชาวพุกาม ตั้งแต่สมัยพระญาสามฝั่งแกนจริง บางทีสิ่งนี้อาจเป็นแรงบันดาลใจให้แก่พระเจ้าติโลกราช ส่งหมื่นด้ามพร้าคต นายช่างเอกไปศึกษาเรียนรู้นวัตกรรมการเจาะช่องอุโมงค์จากพุกาม เมื่อกลับมาจึงนำมาใช้ที่ฐานล่างวัดเจดีย์หลวง และผนังวิหารวัดเจ็ดยอด ก็เป็นได้

น่าคิดไม่น้อยว่า เอะอะไรเมื่อเห็นของดีของเด่นในล้านนา เรามักโฟกัสไปที่กษัตริย์สองพระองค์นี้อยู่เสมอ ไม่พระญากือนาก็พระเจ้าติโลกราช โดยมักจะมองข้ามชีวิตและผลงานของกษัตริย์ที่อยู่หว่างกลางสองพระองค์คือ พระญาแสนเมืองมากับพระญาสามฝั่งแกน ไปอย่างไม่ค่อยเป็นธรรมนัก

การเจาะช่องอุโมงค์ที่ฐานเจดีย์วัดล่ามช้าง วัดนี้สร้างสมัยพระญามังราย