ธงทอง จันทรางศุ | เงินดิจิตอล

ธงทอง จันทรางศุ

ชีวิตของคนเรามีการเรียนรู้ไม่สิ้นสุดจริงๆ

ขนาดผมอายุปูนนี้แล้ว อย่าได้หลงนึกไปว่าตัวเองรู้ทุกสิ่งทุกอย่างในโลก

มีเรื่องที่เกิดขึ้นใหม่อีกมากมายที่ผมไม่รู้จักและต้องเรียนรู้ต่อไป

บางอย่างแต่แรกผมอาจทำเป็นทองไม่รู้ร้อน นึกว่าไกลตัว แต่แล้วมันก็ขยับเข้ามาใกล้ตัวเราเรื่อยๆ ลงท้ายก็หนีไม่รอดครับ ต้องทำความรู้จักกับสิ่งใหม่เหล่านั้นจนได้

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาผมไปกินข้าวกลางวันที่ร้านของน้องผู้คุ้นเคยกันคนหนึ่ง หัวข้อการสนทนาวันนั้นลดเลี้ยวอย่างไรก็จำไม่ได้เสียแล้ว

รู้แต่เพียงว่าอยู่ดีๆ หัวข้อสนทนาก็วกเข้าไปหาเรื่อง “Cryptocurrency” เสียอย่างนั้นแหละ

ด้วยสติปัญญาที่มืดทึบของผม ผมพอจับความได้ว่า เมื่อไม่นานปีมานี้ในโลกยุคใหม่ ได้มีคนหรือกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง คิดสร้างสกุลเงินทางดิจิตอลขึ้น มีระบบรองรับที่ทำงานแบบลึกลับซับซ้อนยังไม่มีใครสืบได้ว่าเป็นใครมาจากที่ไหน และไม่ติดยึดกับรัฐบาลหรือประเทศใด

โดยสกุลเงินที่ว่านั้นมีเงื่อนไขสำคัญสองสามข้อ

ข้อแรก คือมีจำนวนจำกัด มีการกำหนดจำนวนแน่นอนแต่แรกและเป็นที่รับรู้ทั่วไปว่าจะสร้างหรือก่อให้เกิดขึ้นจำนวนเท่านั้นเท่านี้ ไม่ปล่อยให้มีมากจนอยู่ในฐานะที่เรียกว่า “เฟ้อ” เป็นอันขาด

ข้อที่สอง ทุกอย่างที่เกี่ยวกับสกุลเงินแบบนี้เป็นดิจิตอลทั้งหมด ไม่มีกระดาษหรือโลหะมีค่าใดๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง

ข้อมูลทั้งหมดอยู่ในระบบดิจิตอลที่จะเข้าถึงได้ด้วยรหัสที่ผู้ซื้อหรือผู้ถือเงินสกุลต่างๆ เหล่านี้มีอยู่ และความสำคัญอย่างยิ่งยวดอยู่ตรงที่ว่า ระบบใหญ่ที่ควบคุมความเป็นไปของสกุลเงินเหล่านี้มีความมั่นคงสูงสุด ซับซ้อนยุ่งยากเกินกว่าที่ใครจะเจาะเข้าไปรบกวนหรือแผ้วพานได้

ข้อสาม เนื่องจากจำนวนที่มีอยู่จำกัดและไม่มีเพิ่มขึ้น มูลค่าหรือราคาแลกเปลี่ยนของเงินสกุลดิจิตอลเหล่านี้กับเงินสกุลต่างๆ ที่มีอยู่จริงของประเทศทั้งหลาย จึงอาจมีอัตราขึ้นลงได้ตามข้อเท็จจริงที่เป็นตัวแปรต่างๆ

แต่ตัวแปรที่สำคัญที่สุดคือ ความเชื่อถือที่คนทั้งหลายมีให้กับเงินสกุลดิจิตอลเหล่านี้

แรกทีเดียวก็ไม่มีใครนึกหรอกครับว่า “ความบ้า” เช่นนี้จะเป็นจริงขึ้นมาได้ แต่นับวันเงินสกุลดิจิตอลซึ่งมีหลายยี่ห้อหลายชื่อ แต่ละยี่ห้อแต่ละชื่อก็มีจำนวนหน่วยและมูลค่าต่างกัน ก่อกำเนิดเกิดขึ้นโดยคนหรือกลุ่มคนลึกลับที่ไม่มีใครรู้ต่างกัน ก็ได้กลายเป็นเงินหรือสื่อกลางในการซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนสินค้าของยุคปัจจุบันขึ้นมาได้อย่างน่ามหัศจรรย์เสียแล้ว

เงินสกุลดิจิตอลชื่อแรกที่มีคนคิดขึ้นและติดลมบนเป็นที่รู้จักกันทั่วไปแล้วคือเงินในระบบนี้ที่ชื่อว่า บิตคอยน์ (Bitcoin) ซึ่งเป็นสกุลเงินชนิดที่ว่ามานี้สกุลแรก และเวลานี้ก็ได้รับความนิยมนับถือใช้ค้าขาย ซื้อสินค้าแลกเปลี่ยนกันได้ทั่วไป

คนที่มากินข้าวในร้านอาหารของน้องของผมคนที่ว่า พอกินข้าวเสร็จลูกค้าก็หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาจ่ายเงินค่าอาหารเป็นสกุลเงินบิตคอยน์ที่ว่า เจ้าของร้านก็รับโอนเงินดังกล่าวทางโทรศัพท์มือถือ

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยไม่มีค่าธรรมเนียมใดๆ ทั้งสิ้น และเกิดขึ้นเพียงแค่ชั่วเสี้ยววินาทีเท่านั้น

คราวนี้เจ้าของร้านก็มีเงินบิตคอยน์กับเขาบ้างแล้ว จะเอาเงินบิตคอยน์ที่มีอยู่ในโทรศัพท์ของตัวเองไปใช้สอยอย่างไรก็ได้ หรือจะไปแลกเปลี่ยนที่คนกลางที่ประกอบอาชีพด้วยกันรับทำหน้าที่แลกเปลี่ยนเงินสกุลเหล่านี้มาเป็นเงินบาทของไทยเพื่อความคุ้นเคยแบบเดิมก็ไม่มีใครว่าอะไร

สำหรับเมืองไทยของเราคนกลางที่ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนและทำธุรกรรมบรรดาที่เกี่ยวข้องกับเงินสกุลดิจิตอลเหล่านี้ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ Bitkub ที่เพิ่งมีข่าวว่าธนาคารใหญ่แห่งหนึ่งของเมืองไทยกำลังเข้าไปซื้อกิจการหรือเข้าไปร่วมลงทุนนั่นแหละครับ

ทั้งหมดนี้คือที่ผมนั่งฟังเขามาประมาณครึ่งชั่วโมงแล้วสรุปความได้ประมาณนี้

ขาดตกบกพร่องประการใด ขออภัยด้วยนะครับ

พอได้ความรู้เช่นว่านี้มาแล้วก็มานั่งคิดเพ้อฝันของตัวเองต่อไปว่า เรื่องราวทั้งหมดเหล่านี้อยู่บนพื้นฐานสำคัญคือความเชื่อถือหรือความไว้วางใจเป็นข้อสำคัญ

นึกย้อนไปถึงสมัยโลกดึกดำบรรพ์เมื่อยังไม่มีเงินสกุลต่างๆ เกิดขึ้น คนเราก็ใช้วิธีแบบโบราณคือแลกเปลี่ยนสินค้ากัน อย่างที่สำนวนไทยบอกว่า หมูไปไก่มา คนที่อยากกินปลา เมื่อจับปลาไม่เป็นก็ต้องเอาอะไรสักอย่างที่คนจับปลาเก่งเขาอยากได้ไปแลกเปลี่ยน ทำแบบนี้ตรงไปตรงมาดีจริง แต่ยุ่งยากเอาการเลยทีเดียว เพราะต้องขนต้องแบกข้าวของไปวางกันต่อหน้าจึงเกิดความเชื่อใจกันได้

ต่อมามนุษย์เราก็พัฒนาขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง โดยหาสื่อกลางที่ใช้เทียบมูลค่าสำหรับเป็นเครื่องมือในการซื้อขาย ส่วนมากแล้วก็ต้องเป็นของหายาก มิฉะนั้นก็เฝือหรือเฟ้อ ไม่มีใครเขานับถือ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในครั้งบรรพบุรุษเก่าก่อนของเราก็เช่นเอาโลหะเงิน ซึ่งเป็นของหายากมิได้มีดาษดื่นทั่วไปมาขดเป็นก้อนกลมแล้วตีตราประทับเรียกว่าเงินพดด้วง

ส่วนเงินปลีกที่เรียกว่าเบี้ยนั้น ที่จริงก็คือหอยชนิดหนึ่ง แต่ต้องไม่ใช่หอยที่มีในประเทศไทยของเรานะครับ ต้องเป็นหอยที่นำเข้าจากต่างประเทศ ถ้าช่วงเวลาไหนมีหอยที่ว่านี้เข้ามาหมุนเวียนอยู่ในตลาดบ้านเรามาก ราคาของเบี้ยก็ตกลงไป ช่วงไหนหอยที่ว่ามีน้อย ราคาก็สูงขึ้น

ขืนใช้หอยในประเทศ เช่น หอยทับทิมเป็นเบี้ยซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนได้ คนหัวหินคนระยองก็รวยกันแย่สิครับ

ผ่านไปนานวันนานปีขึ้น “ธนบัตร” ก็เกิดขึ้น จะเห็นได้นะครับว่าธนบัตรนี้โดยเนื้อหนังมังสาของมันจริงๆ แล้วก็คือกระดาษหนึ่งแผ่นนี่เอง แรกเดียวตอนที่เกิดธนบัตรขึ้นในเมืองไทยก็ต้องใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะเกิดความเชื่อถือยอมรับว่าธนบัตรนี้ใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนได้

ข้อความที่เขียนในธนบัตรยุคแรกจึงมีเนื้อความประมาณว่าทางรัฐบาลจะจ่ายเงิน (แบบจารีต เช่น พดด้วง) ให้กับคนที่นำกระดาษแบบนี้มาขึ้นเงินที่กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ

แม้จนทุกวันนี้ในธนบัตรทุกใบยังต้องเขียนไว้เลยครับว่า “ธนบัตรเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย”

เห็นไหมครับว่าต้องใช้เวลานานพอสมควรกว่าเราจะเดินทางมาถึงจุดนี้ได้ กล่าวโดยรวมแล้วจึงเห็นได้ว่า สิ่งที่เราใช้ซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันอยู่ในเวลานี้ที่เราใช้คำกลางๆ ว่าเงินนั้น มีรากเหง้ามาจากการใช้โลหะเงินจริงๆ เป็นสื่อซื้อขายแลกเปลี่ยน โดยเริ่มจากเงินพดด้วง แล้วพัฒนามาเป็นเงินกระดาษ

และมาสู่ยุคเงินดิจิตอลอย่างที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้

เมื่อได้ตรึกตรองอย่างนี้แล้วคนแก่อย่างผมก็เข้าใจครับ

เข้าใจว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับความไว้วางใจ เชื่อใจ ถ้าไม่เชื่อใจกันก็เจ๊งกับเจ๊งครับ

วันนี้ผมอาจจะยังวางใจไม่สนิทที่จะใช้เงินดิจิตอล แต่ใครจะไปรู้ได้ว่าวันพรุ่งนี้มะรืนนี้ผมจะเกิดเชื่อถือเงินประเภทนี้ขึ้นมาเมื่อไหร่ รวมทั้งข้อเท็จจริงสำคัญที่ว่า แล้วคนอื่นเขาเชื่อกันมากน้อยแค่ไหน ถ้าเขาเชื่อกันจนหมดโลกแล้ว เหลือผมไม่เชื่ออยู่คนเดียว คนทั้งโลกก็ต้องเห็นว่าผมเป็นบ้าไปแล้ว แล้วผมจะทนไหวหรือ

ความเชื่อถือความไว้วางใจจากคนหมู่มากจึงเป็นของสำคัญยิ่ง สำคัญในทุกเรื่องทุกมิติ

ถ้าคนเราหมดความเชื่อถือหมดความไว้วางใจกันแล้ว ก็อยู่ด้วยกันยาก จริงไหมครับ

หลักนี้ใช้ได้สำหรับทุกเรื่องจริงๆ ลองใคร่ครวญดูเถิด