เสี่ยงโรค-แก้หนี้/เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

เสี่ยงโรค-แก้หนี้

 

การกลายพันธุ์อีกครั้งของโควิด-19 ที่มาถึงพันธุ์ที่เรียกว่า “Omicron”จากแอฟริกา ทำให้เกิดความตื่นตัวในหลายประเทศที่ออกมากำหนดมาตรการรับมือแบบเข้มข้น อย่างญี่ปุ่นตั้งหลักด้วยการห้ามคนต่างชาติเข้าประเทศกันอีกรอบเลย

หันมาดูประเทศไทยเรา แม้ความหวาดวิตกจะสะท้อนผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ทำให้หุ้นราคาตกติดต่อกันหลายวัน แต่สำหรับภาครัฐที่ก่อนหน้านั้นมักตื่นตระหนกเรียกร้องให้ประชาชนเกิดความตื่นตัว มาคราวนี้กลับมีท่าทีที่สวนทางอย่างเห็นได้ชัด

ไม่เพียงไม่มีประกาศมาตรการในเชิงป้องกันเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่หลายพื้นที่ยังเดินหน้าผ่อนปรนการใช้ชีวิตของประชาชนมากขึ้น เช่น กทม.ประกาศให้ร้านอาหารขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ถึง 5 ทุ่ม ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมเป็นต้นไป

เช่นเดียวกับรัฐบาลที่ประกาศให้ปลดล็อกการใช้ชีวิตในพื้นที่ท่องเที่ยวมากขึ้น

ว่ากันว่าที่ต้องเลือกเสี่ยงเช่นนี้ แม้เหตุผลที่บอกกล่าวกันคือจำนวนผู้ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันอยู่ในระดับที่สร้างภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว ทำให้เบาใจมากขึ้นกับการผ่อนมาตรการ

แต่เหตุผลที่คนในภาครัฐไม่พูด ขณะที่ภาคเอกชนพูดกันมากคือ ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยอย่างหนักจนไม่สามารถทนกับมาตรการที่เข้มงวดต่อไปได้อีกแล้ว

ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร แต่ผลสำรวจล่าสุดของ “สวนดุสิตโพล” ได้สะท้อนความเป็นจริงให้ได้เห็น

 

“ภาวะหนี้สินของคนไทย” คือหัวข้อการสำรวจดังกล่าว

จากผลสำรวจพบว่าคนไทยมีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือน 1,248,847 บาท โดยร้อยละ 48.18 มีหนี้น้อยกว่า 500,00 บาท 1,000,000-2,999,999 บาท ร้อยละ 22.85, หนี้ 3,000,000 บาทขึ้นไป ร้อยละ 15.26 และ 500,000-999,999 บาท ร้อยละ 13.71

ร้อยละ 46.52 เป็นหนี้บัตตรเครดิต หรือสินเชื่อส่วนบุคคล, ร้อยละ 39.85 สินเชื่อที่อยู่อาศัย, ร้อยละ 35.49 ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน, ร้อยละ 30.79 รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์, ร้อยละ 15.73 การศึกษา ค่าเล่าเรียน กยศ.

ร้อยละ 71.11 คิดว่าน่าจะใช้หนี้ได้ทั้งหมด, ร้อยละ 15.20 ไม่แน่ใจ, ร้อยละ 13.69 ไม่น่าจะใช้หนี้ทั้งหมด

เมื่อถามว่าเครียดหรือวิตกกังวลเกี่ยวกับหนี้สินอยู่ในระดับใด ที่ตอบว่าปานกลาง มีร้อยละ 38.15, ร้อยละ 31.49 น้อย, ร้อยละ 22.7 มาก มีแค่ร้อยละ 7.62 เท่านั้นที่ไม่กังวล

นั่นเป็นหนี้ครัวเรือน

 

แต่หากมองในมุมของหนี้สินของประเทศ อันหมายถึงที่รัฐบาลกู้ยืมมา เพราะงบประมาณรายจ่ายเกินว่ารายรับที่จัดเก็บได้ ย่อมเป็นที่รู้ว่ามีปริมาณมหาศาลขึ้นเรื่อยๆ

ยิ่งซีเรียสกับการป้องกันการระบาดของโควิด โดยออกมาตรการจำกัดการใช้ชีวิตของผู้คนมากเท่าไร โอกาสที่จะต้องกู้มาเพื่อเยียวยาการทำมาหากินที่ไม่เป็นปกติยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น

ระหว่างต้องระมัดระวังการระบาด กับการยอมปล่อยให้ประชาขนทำมาหากินได้เป็นปกติ เพื่อลดภาระการหาเงินมาเยียวยา จึงเป็นทางเลือกที่ท้าทายอย่างยิ่ง

การแสดงท่าทีไม่ยี่หระต่อการกลายพันธุ์ที่องค์การอนามัยโลกเตือนให้รู้สึกถึงความกังวล

จึงเป็นท่าทีที่น่าสนใจยิ่ง ว่าที่สุดแล้ว อะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยเรา ในวันที่ประชาชนเหลือทนกับชีวิตที่ถูกจำกัดด้วยมาตรการเข้มงวดมายาวนาน

และรัฐบาลถึงขีดที่จะต้องยอมเสี่ยงเพื่อฟื้นฟูการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ