2565 สู้ทั้งในสภาและบนถนน เพราะผลพวงแห่งความคับแค้น (จบ)/หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

2565 สู้ทั้งในสภาและบนถนน

เพราะผลพวงแห่งความคับแค้น (จบ)

 

ภาค 2 หลังรัฐประหาร 2557

ปี2564… ครบรอบ 30 ปีของการรัฐประหารโดยคณะ รสช. เดือนกุมภาพันธ์ 2534 ซึ่งมี พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ และ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นแกนนำ

ครบรอบ 15 ปีของการรัฐประหารรัฐบาลนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร โดย คมช. ปี 2549

ครบรอบ 7 ปีของการรัฐประหารโดยคณะ คสช. ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปี 2557

ปี 2557 ไทยมีประชากรประมาณ 62.8 ล้านคน เป็นเด็กที่เกิดใหม่ในปี 2550-2557 (หลังรัฐประหาร 2549) ประมาณ 6.2 ล้านคน และมีเด็กเกิดใหม่ภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ (ปี 2558-2563) มีประมาณ 3.9 ล้าน ตามสถิติประชากร

ปัจจุบันประเทศเรามีประชากร 66.2 ล้านคน 30 ปีนับจาก 2535 ตามสถิติประชากรแจ้งว่ามีเด็กเกิดใหม่รวมแล้วไม่น้อยกว่า 23 ล้านคน

ในสิบปีหลังนี้เทคโนโลยีสื่อสารและการรับรู้ข้อมูลพัฒนาจนปิดกั้นไม่ได้แล้ว จะเอาอะไรไปปิดกั้นความจริงและความต้องการการเปลี่ยนแปลงให้มีชีวิตที่ดีขึ้น ความต้องการสิทธิเสรีภาพที่มากขึ้นของคนรุ่นใหม่ๆ

วันนี้คนวัยหนุ่ม-สาวที่อยู่ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 ที่อายุระหว่าง 15-25 ปีนี้ก็จะมีอายุ 45 ถึง 55 ปี แต่คนหนุ่ม-สาวที่อยู่ในช่วงการรัฐประหาร 2549 ก็จะมีอายุอยู่ในช่วง 30-40 ปี คนสองกลุ่มนี้อยู่ในช่วงวัยทำงานและต้องดิ้นรนเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวและให้มีชีวิตรอด

กลุ่มสุดท้ายเมื่อก่อนเป็นเด็กๆ พอมาถึงปี 2557 ก็เป็นหนุ่มอายุ 15-20 ปี จึงได้รับรู้ประวัติศาสตร์การเมืองในอดีตมาบ้างพอสมควร และก็ได้มาเห็นของจริงหลังการรัฐประหาร 2557

คนทั้ง 3 กลุ่มนี้จะเป็นผู้แบกรับปัญหาที่เกิดจากความผิดพลาดทางการเมือง และหนี้สิน

พวกเขาเห็นอะไรบ้าง หลัง 2557

 

1.เห็นการใช้อำนาจเผด็จการ… ใครต่อต้านการรัฐประหาร ถูกจับ

ลักษณะเผด็จการของคณะ คสช. คล้ายกับยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มีการจับกุมคุมขังผู้แสดงความเห็นหรือต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ เริ่มจากการที่จับกุมนักการเมือง และบุคคลต่างๆ ไปคุมขังปรับทัศนคติ…

ข้อมูลจาก iLaw คือ

คสช.ใช้ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ซึ่งประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ให้ทหารมีอำนาจจับกุมบุคคลโดยไม่ต้องมีหมายศาล สามารถเข้าจับกุมได้แม้ในที่รโหฐาน ในเวลาใดก็ได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น สามารถควบคุมตัวบุคคลได้ 7 วันโดยไม่ต้องมีเหตุผล ไม่ต้องเปิดเผยสถานที่ควบคุมตัว ไม่มีสิทธิติดต่อญาติ ไม่มีสิทธิพบทนายความ

ใช้คำสั่งของ คสช.เรียกให้บุคคลมารายงานตัว โดยมีทั้งการประกาศทางโทรทัศน์ การโทรศัพท์เรียก การส่งจดหมายเชิญ หรือการไปตามหาตัวที่บ้านพัก ใครถูกสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวจะถูกเรียกไปพูดคุยเพื่อปรับทัศนคติ ให้ยุติความเคลื่อนไหว บางคนถูกกักตัวตามกฎอัยการศึก

มีผู้ถูกเรียกไปรายงานตัวอย่างน้อย 666 คน มีผู้ที่ถูกจับกุมอย่างน้อย 362 คน จำนวนผู้ที่ถูกเรียกและถูกจับรวมกันอย่างน้อย 976 คน มีผู้ถูกจับกุมจากการออกมาชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธอย่างน้อย 134 คน มีรายงานการซ้อมทรมานระหว่างที่อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่อย่างน้อย 28 กรณี

ชูสามนิ้ว กินแซนด์วิช ก็ผิดกฎหมาย

ต่อต้านโกง “นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง” ถูกจับจำนวน 6 คน รวมทั้งนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว”

สุดท้ายศาลยกฟ้อง

 

2.การทำลายคู่แข่งทางการเมือง ปกป้องพวกเดียวกัน

อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แม้หลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ความที่เป็นบุคคลที่มีประชาชนชื่นชมมีคะแนนเสียงดีมากถ้าหากทิ้งเอาไว้ก็จะกลายเป็นคู่แข่งที่สำคัญ ขืนปล่อยให้ลงเลือกตั้งใหม่ไม่ได้จึงมีเป้าหมายการกำจัดนายกฯ ยิ่งลักษณ์ให้ออกจากวงการเมืองจึงจะต้องถูกทำให้สำเร็จก่อนมีการเลือกตั้ง

23 มกราคม 2558 ที่ประชุม สนช.ซึ่ง คสช.แต่งตั้ง ลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายโครงการจำนำข้าว ส่งผลให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี

29 ธันวาคม 2558 ป.ป.ช.มีมติให้ข้อกล่าวหาต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ. กับพวกสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ตกไป ส่วนกรณีเจ้าหน้าที่ที่กระทำเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีจำเป็น จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ถือเป็นความรับผิดเฉพาะตัว

27 กันยายน 2560 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว มีคำพิพากษาจำคุก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นเวลา 5 ปี

รณรงค์ “โหวตโน” ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ 2560 ถูกจับ เช่น ตระกูลบูรณุปกรณ์ ตระกูลนักการเมืองใหญ่ของ จ.เชียงใหม่ นำโดยนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ อดีตนายก อบจ.เชียงใหม่ และ น.ส.ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย และหลานสาว กับพวกรวม 10

และที่ขอนแก่น นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ไผ่ ดาวดิน) นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนายวศิน พรหมณี

อยากเลือกตั้ง ก็ถูกจับ การชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเมื่อวันที่ 21-22 พฤษภาคม 2561 ที่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และหน้าองค์การสหประชาชาติ (UN) เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้ง มีการจับกุมแกนนำและผู้ชุมนุม 15 ราย

ตำรวจยังออกหมายเรียกผู้ชุมนุมอีก 47 ราย

 

ประชาชนรู้ว่าทำไม คสช.ต้องสืบทอดอำนาจ

ถ้าปล่อยให้คนอื่นมาเป็นรัฐบาลชุดใหม่ ผู้มีอำนาจเดิมอาจจะถูกเล่นงานในเรื่องต่างๆ ย้อนหลัง เช่น รถไฟ เรือเหาะ รถเกราะเครื่องบิน เรือดำน้ำ ก็จะมีคนมาขอตรวจสอบ และเรื่องเก่าแบบการใช้กำลังอาวุธปราบผู้ชุมนุมจนเสียชีวิตจำนวนมากก็ยังไม่จบ แค่กลบเอาไว้หรือเรื่องการนำข้าวสารในโกดังราคาสูงไปขายในราคาอาหารสัตว์ เงินหล่นหายไปกลางทางเป็นหมื่นล้านยังไงก็ถูกขุดแน่ ทุกอย่างอาจถูกรื้อฟื้นย้อนกลับมาดำเนินคดีได้ทั้งสิ้น

นอกจากนี้ ประชาชนรู้ว่ามีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับขี้โกง เพื่อปูทางสืบทอดอำนาจ โดยวิธีการเลือกตั้งก็ถูกเปลี่ยนให้เป็นแบบ จัดสรรปันส่วนผสม เพื่อลดจำนวน ส.ส.ของเพื่อไทย

ที่สำคัญบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ปูทางให้การเลือกนายกฯ สามารถนำ…กองหนุน ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน…มาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีในรัฐสภาด้วย

อำนาจตุลาการภิวัฒน์ทำให้คนอื่นมาบริหารปกครองได้ยาก เพราะจะต้องผ่านด่าน กกต. ป.ป.ช. ศาลรัฐธรรมนูญ มาตรวจสอบ ควบคุมตั้งแต่เข้าสภา จนถึงขณะบริหาร ถ้าเกิดข้อผิดพลาดนายกฯ และรัฐบาลอาจถูกล้มและยุบพรรคได้ ยกเว้นเป็นพวกเดียวกัน

รู้ว่าตั้งพรรคใหม่โดยการหาซื้อ ส.ส. หรือดูด ส.ส.เก่าจำนวนมากโดยการสนับสนุนของผู้มีอำนาจหรือผู้มีเงิน ให้ได้ ส.ส.จำนวนหนึ่งเพื่อไปรวมเสียงกับ ส.ว. แล้วเลือกนายกฯ ได้

เรื่องนี้จึงมีการวางแผนลงรายละเอียดตั้งแต่ ตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญ จนถึงกฎหมายลูก ที่เขียนไว้ในบทเฉพาะกาล เพื่อชิงความได้เปรียบทุกองค์กร ทุกจังหวะก้าวการเมือง

(มาวันนี้อยากสกัดพรรคก้าวไกลก็เปลี่ยนวิธีเลือกตั้งกลับไปใช้บัตร 2 ใบ)

รัฐธรรมนูญ 2560 เขาดีไซน์ไว้ไม่ให้แก้ การแก้ในสภาจึงทำไม่ได้

นักศึกษา นักเรียน ประชาน ที่ออกมาเคลื่อนไหว เสนอข้อเรียกร้องได้ถูกต้อง ถือว่ายิงตรงเป้า แต่ไม่มีใครยอมทำ…เพราะนายกฯ ส.ว. และรัฐธรรมนูญ 2560 คือสามเหลี่ยมพีระมิดของโครงสร้างอำนาจจริง ถ้าขาดอันใดอันหนึ่ง อำมาตยาธิปไตยที่ซ่อนอยู่หลังการเลือกตั้งจะล้มทันที ดังนั้น การขอแก้ไขรัฐธรรมนูญตามปกติจึงเป็นไปไม่ได้ การปะทะนอกสภาจึงต้องเกิดขึ้น

 

ฟางเส้นสุดท้าย คือการยุบพรรคอนาคตใหม่

เลือกตั้ง 2562 พรรคนี้ได้ ส.ส.เยอะเกินคาด หาเรื่องยุบซะเลย ตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการพรรค 10 ปีด้วย

การพังทลายทางเศรษฐกิจ ทำให้คนหนุ่ม-สาวอยากได้ผู้บริหารใหม่ที่ฉลาด คะแนนเสียงหลายล้านถูกทำลายทิ้ง

คราวนี้จึงได้เห็นแนวการต่อสู้ที่ขยายไปยังคนหนุ่มคนสาว

แน่นอนว่าในยุคนี้ไม่เหมือนยุคก่อนที่มีการใช้อาวุธกันฆ่ากัน และต้องหนีเข้าป่า จับปืนมาต่อสู้

แต่ยุคนี้อาวุธใหม่คือการสื่อสารที่รวดเร็วรูปแบบต่างๆ สามารถส่งข่าวถึงกันเป็นล้านคนภายในนาทีเดียว

และเด็กหนุ่ม-สาวรุ่นใหม่ก็ถนัดที่จะใช้อาวุธชนิดนี้

การเปิดโปงการแฉเรื่องต่างๆ ที่ไม่ดีไม่งามจะต้องโผล่มาอีกมากมาย

 

ความคับแค้นในท่ามกลางการต่อสู้

ประชาชนถูกบังคับให้เคารพรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ ที่พวกเผด็จการร่างขึ้นมา แต่ผู้มีอำนาจให้ความเคารพเรื่องนี้น้อยอย่างยิ่ง เริ่มจากการบิดเบือนกฎหมาย ตีความตามที่ตัวเองต้องการ โดยมีนักกฎหมายขายวิญญาณมีการพิจารณาที่ไม่เป็นมาตรฐานโดยคนในกระบวนยุติธรรมบางส่วนเรื่องฝืนกฎหมาย ประชาชนธรรมดาทำไม่ได้ ถูกจับทันที อยุติธรรมจึงครองเมือง

เมื่อเยาวชนคนหนุ่ม-สาวลุกขึ้นสู้ด้วยการประท้วงในรูปแบบต่างๆ ก็ถูกจับกุมคุมขังดำเนินคดี ตั้งแต่ข้อหาเล็กน้อยไปถึงก็หาใหญ่แบบมาตรา 112 และมาตรา 116

คณะทนายความสิทธิมนุษยชน แจ้งว่าปัจจุบันพวกเขามีงานเยอะมาก ต้องเข้าไปช่วยว่าความในคดีการเมืองต่างๆ ถึง 800 คดี จึงต้องการความช่วยเหลือทั้งคนและเงิน

ปี 2565 สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองจะตึงเครียดมากยิ่งขึ้น ในเมื่อเห็นชัดแล้วว่าสภาไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ เป็นแค่เวทีสำหรับประจานความชั่วร้าย การต่อสู้บนท้องถนนจึงกลายเป็นอีกเวทีหนึ่ง ที่จะใช้เรียกร้องความถูกต้องเป็นธรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะแรงกว่าปี 2564 แน่นอน