‘หูฟังมีสาย’ ความเรโทรที่กลับมาเท่/Cool Tech / จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech / จิตต์สุภา ฉิน

 

‘หูฟังมีสาย’

ความเรโทรที่กลับมาเท่

 

5 ปีที่แล้ว Apple เปิดตัวหูฟังไร้สายในชื่อ AirPods ที่ออกแบบมาราวกับนำหูฟังมีสาย EarPods ที่มีอยู่เดิมแล้วของแบรนด์มาตัดสายออกฉึบ และใส่มาในกล่องที่ทำหน้าที่เป็นที่ชาร์จไปด้วยในตัว

ฉันยังจำได้ว่าทันทีที่ AirPods เผยโฉม คนทั่วโลกก็โหมกระหน่ำกันล้อเลียนอย่างสนุกปากว่าช่างเป็นดีไซน์ที่ชวนขำสุดๆ ดูขาดๆ เกินๆ บอกไม่ถูก

ใครก็ตามที่สวมหูฟังนี้เดินไปเดินมาก็จะถูกมองราวกับเป็นตัวประหลาด

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ Apple ออก AirPods เวอร์ชั่นใหม่มาหลายรุ่น และมันก็ได้รับความนิยมมากเสียจนขึ้นแท่นกลายเป็นอุปกรณ์เสริมที่ขายดีที่สุดของ Apple ไปแล้ว

หากเราลองหันมองรอบๆ ก็จะพบว่า AirPods ได้สร้างปรากฏการณ์ว่าหูฟังที่เท่ก็คือหูฟังที่จะต้อง 1.มีสีขาว 2.ไม่มีสาย (และ 3.ที่ไม่มีใครพูดออกมาดังๆ ก็คือจะต้องเป็น AirPods ด้วย)

มีรายงานว่า Apple น่าจะขาย AirPods ไปมากกว่า 60 ล้านชิ้น ในปี 2019 ซึ่งคิดเป็นมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายหูฟังไวร์เลส หรือ TWS ทั่วโลก

นับเป็นตัวเลขที่น่าประทับใจไม่น้อยเลยทีเดียว

ฉันเองก็คิดมาตลอดว่าดูจากความนิยมของ AirPods แล้วก็ไม่น่าจะมีอะไรมาสั่นคลอนมันได้ง่ายๆ

จนกระทั่งช่วงหลังๆ มานี้ที่เริ่มเห็นว่ามีการพูดถึงว่า AirPods อาจจะกำลังเริ่มเอาต์

และสิ่งที่กำลังจะมาแทนที่ก็ไม่ใช่หูฟังหน้าใหม่ที่ไหน แต่ก็คือหูฟังมีสายที่เราทิ้งไว้ข้างหลังอย่างไม่ไยดีตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ครั้งแรกที่ฉันได้เห็นแนวคิดนี้มาจากบทความบนเว็บไซต์ The Wall Street Journal ที่ตั้งข้อสังเกตว่าดารา เซเล็บ นางแบบ อินฟลูเอนเซอร์รุ่นใหม่ไม่ว่าจะเป็น Bella Hadid, Lily-Rose Depp หรือ Zoe Kravitz ก็ล้วนถูกถ่ายภาพในขณะที่กำลังเดินเท่ๆ คูลๆ อยู่บนถนนในนครนิวยอร์กโดยมีสายหูฟังห้อยลงมาจากหูทั้งสองข้าง

ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นบ่อยจนมีคนตั้งแอคเคานต์ Instagram ที่มีชื่อว่า Wired It Girls ขึ้นมาเพื่อรวบรวมภาพของเซเล็บผู้หญิงที่ใช้หูฟังมีสาย

ฉันคลิกเข้าไปดูก็รู้สึกเหมือนตัวเองย้อนกลับไปสู่อดีตในยุคที่หูฟังไร้สายยังไม่เกิดอย่างไรอย่างนั้น

มีคนพยายามหาคำอธิบายว่าทำไมเด็กรุ่นใหม่ หรือเด็ก Gen Z ถึงได้หันกลับมาสนใจเทคโนโลยีที่เรโทรแบบหูฟังมีสาย

ซึ่งคำตอบที่ได้ก็มีหลากหลาย ที่ดูน่าจะสมเหตุสมผลที่สุดก็คือเรื่องของราคา

 

ถ้าหากเราอยากเป็นเจ้าของ AirPods 3 หูฟังไร้สายรุ่นล่าสุด เราจะต้องเตรียมเงินไว้ถึง 6,790 บาท

หรือถ้าเรายอมถอยหลังไปสักรุ่น ไปหารุ่น 2 ราคาของมันก็จะอยู่ที่ 4,990 บาท

เทียบกันไม่ได้เลยกับราคาของหูฟังมีสาย EarPods ของ Apple ที่วางขายอยู่ที่ราคา 690 บาทเท่านั้น

นี่เทียบเฉพาะกับแบรนด์ Apple เองยังไม่ได้รวมถึงตัวเลือกอื่นในท้องตลาดที่ราคาอาจจะเป็นมิตรยิ่งกว่านี้อีก

ราคาจึงเป็นเหตุผลแรกๆ ที่เด็กรุ่นใหม่อาจจะไม่เข้าใจว่าจะจ่ายเงินแพงกว่าเพื่อไปซื้อของที่ทดแทนกันได้สบายๆ ทั้งในแง่ของฟังก์ชั่นและดีไซน์ทำไม

เหตุผลอื่นๆ ก็อย่างเช่นในแง่ความสะดวกสบายในการใช้งาน หูฟังมีสายไม่ต้องการการชาร์จ จะหยิบขึ้นมาใช้งานเมื่อไหร่ก็พร้อมเสมอ (ถ้าไม่คิดถึงเวลาที่เสียไปกับการแกะสายที่พันกันอินุงตุงนังออกเสียก่อน) ไปจนถึงเรื่องคุณภาพของเสียงที่ได้

บางคนบอกว่าเด็กรุ่นใหม่ชอบหูฟังมีสายมากกว่าเพราะหูฟังไร้สายถูกทำให้มีภาพลักษณ์ของการเป็นพนักงานบริษัทเทคโนโลยีในซิลิคอน แวลลีย์ ที่ชีวิตแสนจะยุ่งวุ่นวาย ต้องรับสายคุยงานตลอดเวลา ให้ฟีลลิ่งเป็นคนหยิ่งๆ บ้างาน ตรงข้ามกับคำนิยามความเท่สำหรับเด็กรุ่นใหม่

ในขณะที่หูฟังมีสายที่ไม่ต้องการการชาร์จ ให้ลุคเป็นคนที่สบายๆ เท่แบบไม่ต้องพยายาม

 

แต่เหตุผลที่ฉันรู้สึกอินด้วยมากๆ ก็คือคนที่บอกว่าชอบหูฟังมีสายเพราะหูฟังมีสายเป็นสัญญาณที่ส่งออกไปบอกคนรอบข้างว่า “ฉันไม่อยากยุ่งกับใคร อย่ามายุ่งกับฉันได้ไหม”

ในยุคก่อนหูฟังไร้สายจะได้รับความนิยม หากเราเห็นใครสักคนสวมหูฟังในที่สาธารณะ เราจะรู้ได้ทันทีว่าคนคนนั้นต้องการความเป็นส่วนตัว ไม่อยากให้ใครมายุ่ง ถ้าเรานั่งข้างคนที่สวมหูฟังอยู่บนเครื่องบินก็ให้คิดไว้เลยว่าตลอดไฟลต์นั้นจะเป็นไฟลต์ที่เราจะไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนคนนั้นแน่ๆ

หลายคนใช้หูฟังเป็นตัวช่วยในการตัดบทสนทนา ถ้าหากคนขับแท็กซี่ชวนคุยเยอะเกินไปหรือลงลึกเรื่องส่วนตัวเกินไป แค่หยิบหูฟังขึ้นมาใส่ สายที่ห้อยต่องแต่งลงมาก็จะเป็นตัวบอกให้รู้ว่าฉันต้องการเวลาส่วนตัวแล้วนะ

ในยุคที่ใครๆ ก็ใช้หูฟังไร้สาย ฉันรู้สึกว่าการบอกใบ้เป็นนัยๆ แบบนั้นใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไปแล้ว หลายต่อหลายครั้งที่ฉันหันไปตอบคนข้างๆ เป็นเรื่องเป็นราวเพื่อที่จะอายม้วนต้วนกลับมาเพราะว่าเขาไม่ได้คุยกับฉันสักหน่อย เขาคุยกับอีกคนที่อยู่ปลายสายแต่ฉันก็เด๋อตอบไปเพราะไม่เห็นว่าเขาใส่หูฟังอยู่

หรือการที่ผู้หญิงผมยาวอย่างฉันเมื่อใส่หูฟังไร้สายแล้วผมจะปิดหูฟังจนมิดก็ทำให้ฉันหลบเลี่ยงการถูกชวนคุยด้วยการสวมหูฟังไม่ได้

เชื่อว่าเมื่อมีดาราออกมานำเทรนด์หูฟังมีสายอีกครั้งก็จะเปิดทางให้หลายคนสามารถปลดเปลื้องตัวเองออกจากกระแสของหูฟังไร้สายและหันไปหาเทคโนโลยีที่เด็กรุ่นใหม่มองว่าเป็นของเก่าได้อีกครั้ง

ในขณะที่ก็คงมีคนจำนวนไม่น้อยเหมือนกันที่ไม่เคยเปลี่ยนไปใช้หูฟังไร้สายเลย และยึดมั่นกับหูฟังมีสายมาตลอดโดยไม่เปลี่ยนแปลง

 

เทรนด์การกลับมาของหูฟังมีสายทำให้ฉันอดไม่ได้ที่จะนึกถึงโฆษณา iPod ในปี 2004 ซึ่งเป็นโฆษณาที่ได้รับความนิยมและติดตาตรึงใจผู้บริโภคมากๆ

โฆษณาที่พูดถึงนี้เป็นโฆษณาที่พื้นหลังเป็นสีสันสดใส และมีภาพคนแบบซิลลูเอ็ตถมดำกำลังเต้นยึกยือไปมาอย่างมีความสุข

สิ่งเดียวที่เราเห็นได้ชัดในโฆษณาชุดนี้ก็คือ iPod และหูฟังมีสายสีขาว นับเป็นโฆษณาที่เชื่อมโยงความสุขและประสบการณ์น่ารื่นรมย์ของการฟังเพลงเข้ากับสายหูฟังสีขาวได้อย่างแนบแน่น แนบแน่นเสียจนฉันยังจำได้แม่นมาถึงทุกวันนี้

เทียบกับโฆษณา AirPods ชิ้นแรกที่ Apple เลือกนำเสนอผ่านภาพวิดีโอขาวดำเป็นหลักก็ทำให้รู้สึกเหมือนเป็นสองผลิตภัณฑ์ที่แม้จะอยู่ในไลน์หูฟังเหมือนกันแต่ก็แตกต่างกันไปโดยสิ้นเชิง

ฉันเองก็ไม่แน่ใจสักเท่าไหร่หรอกว่าเทรนด์หูฟังมีสายนี้จะกลับมาได้รับความนิยมอย่างจริงจังเหมือนที่มีการตั้งข้อสังเกตไว้แค่ไหน แต่ก็เชื่อว่าคุณผู้อ่านหลายคนน่าจะรู้สึกเหมือนฉันคือเมื่อได้รู้แล้วก็อยากกลับไปคุ้ยหาหูฟังมีสายอันเก่ากลับมาใช้งานอีกครั้งและปลดปล่อยตัวเองออกจากพันธนาการของการต้องชาร์จหูฟังอยู่เรื่อยๆ

ถึงแม้สื่อบางสำนักจะบอกว่า Apple น่าจะต้องกังวลกับเทรนด์นี้แล้ว แต่ฉันคิดว่าเราไม่น่าจะต้องวอร์รี่แทน Apple กันสักเท่าไหร่

เพราะไม่ว่าจะมีสายหรือไร้สาย Apple ก็จะยังขายของได้อยู่ดี