ยึก แถม วิทูวิทยา ผู้ปักหลักสถาบันเถรวาทวิทยา/อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

ยึก แถม

วิทูวิทยา

ผู้ปักหลักสถาบันเถรวาทวิทยา

 

หากจำได้ กรณีเกี่ยวกับสำนักพุทธศาสนบัณฑิตกัมพูชา ก่อตั้ง ค.ศ.1927-1974 อันราวกับมีที่มาประหนึ่งหอสมุดวชิรญาณแห่งสยาม

หากนับเนื่องเวลาที่ตกหล่นล่วงไประหว่างปีก่อตั้งและสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ให้นับว่า สำคัญมากนักต่อกัมพูชา (และลาว) ด้านการพัฒนาประเทศในนามแคว้นนิคมอินโดจีน

ในที่สุด เพื่อให้แน่ใจว่า ฉันจะไม่เผลอไผลไปเขียนบทความร้อยกรองอีกต่อไป โชคดีที่การย้ายอาศัยฐาน (ที่อยู่) จากชนบทเป็นเมืองหลวง ทำให้ “หัวกบาล” ที่คุกคามจากภาวะดังกล่าวได้หายไป-แม้จะชั่วคราว แต่เพราะชีวิตอันร่วงหล่นของนักอักษรศาสตร์เขมรคนหนึ่ง-ท่าน ยึก แถม (1903-1974)

พลัน อาการสมองถอยหลังเป็นคำกลอนก็หายไป

ใครจะรู้ มากกว่าหอสมุดวชิรญาณของไทยที่ไม่มีเกินกว่า ศ.ยอร์ช เซเดส์ บรรณารักษ์ที่กุมบังเหียนคลังความรู้ของไทยแต่ผู้เดียว

ทว่าที่เขมรนั้น เริ่มตั้งแต่ยึก แถม บวชเป็นเณรน้อยตอนอายุ 15 ปีเลยทีเดียว

มันคือปี 1918 หรือย้อนไปก่อนนั้น ตั้งแต่ยึก แถมอายุได้ 10 ขวบพ่อนำไปฝากเรียนกับพระครูซึ่งมีศักดิ์เป็นญาติที่วัดโพธิวัล อำเภอสังแก จังหวัดพระตะบอง

ก็แปลกดีที่จังหวัดนี้ เต็มไปด้วยกวีและนักปราชญ์ หลายท่านเกิดที่นี่-สะตึงสังแก

แม้ว่าจริงแล้ว ยึก แถมจะเกิดที่ สังกัดสวายเปา แต่ก็นับว่า พระตะบองยุคนิคมบารังและสังคมใหม่หลังเอกราช ช่างเต็มไปด้วยนักก่อการดีมากมายไปหมด

แต่หลวงตามามรณภาพเสียก่อน พ่อจึงเอาแถมไปฝากหลวงพ่ออิว ตวด บรรพชาเป็นสามเณร ร่ำเรียนบาลีกับ เจ้าอธิการสำ เมื่อนักปฏิรูปสังคมเขมรสมัยใหม่-เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสเริ่มเสาะหาช้างเผือกเถรวาทวัยละอ่อน สามเณรยึก แถมคงเป็นที่น่าประทับใจ

แต่ฉันให้ข้อสังเกตว่า อาจมาจากที่เขาเป็นชาวพระตะบองซึ่งเคยขึ้นกับสยาม ดังนี้คล้อยสงครามโลกครั้งที่ 2 มินาน (1918) และสามเณรแถมก็เพิ่งบรรพชาที่เขมรไม่นาน เขากลับถูกส่งไปศึกษาพระธรรมวินัยที่บางกอก (กรุงเทพฯ) กับพวกฌมวญ (คนรับจ้าง)

เป็นเณรหนุ่มเพิ่งแตกพานอายุ 16 ปีก็เดินทางเกวียนไกลบ้านไกลเมืองปานนั้น ใช้เวลาถึง 10 วัน จากพระตะบองกว่าจะถึงเมืองปราจีน (บุรี) จึงลงเรืออีกทอด แล้วต่อรถไฟที่เมืองแปดริ้วปลายทางบางกอก

สามเณรแถมคนนี้ คงไม่ต่างจากเส้นทางของ ซูซานน์ คาร์เปเลส จากป้องดูเชรีไปปารีสเพื่อร่ำเรียนเป็นนักเถรวาทศึกษา ก่อนจะเป็นหัวหน้างานโดยตรงของ (อดีต) พระยึก แถมในอนาคตที่พนมเปญ

เห็นภาพแล้วเหมือนจิ๊กซอว์

จึ่งอนุมานไปว่า สามเณรเขมรรูปนี้ น่าจะเจอกับ ศ.ยอร์ช เซเดส์ มิทางใดก็ทางหนึ่ง

วัดกัมพูชาใต้ ไม่ทราบปีถ่าย ซูซานน์ คาร์เปเลสกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น สันนิษฐานคือยึก แถม

เณรแถมจำวัดสระเกศ (ภูเขาทอง) อ้างอิง “วัดพระเกตุ” กับ พระมหายาว พระเขมรที่อาศัยในไทยมาเป็นเวลานาน จากนั้นจึงเริ่มเรียนภาษาไทยควบพระธรรมวินัยอย่างรุดหน้า

ในปี 1921/2464 เณรยึก แถมสอบผ่านนักธรรมตรี และนักธรรมโทในสองปีต่อมา ก่อนอุปสมบทที่วัดสระเกศ และในปี 1929 นั่นเอง พระยึก แถมก็สอบเปรียญ ๕ สำเร็จ เป็นพระมหาแถม

ทั้งการฝึกแต่งบาลีไวยากรณ์เป็นแม่ประโยคต่างๆ อาทิ บทธรรมบทนิเทศท์, เทวดาภาษิต, พุทธภาษิตและอรรถกถาอื่นๆ เป็นภาษาไทยตีพิมพ์บนศาสตราสลึก-ริด หรือใบลาน

กระทั่ง ซูซานน์ คาร์เปเลสก่อตั้งหอสมุดแห่งชาติกัมพูชาสำเร็จแล้วนั่นเอง ในปี ค.ศ.1930 ภิกษุยึก แถม จึงกลับเมืองเขมร แต่มิใช่พระตะบองบ้านเกิด หากเป็นกรุงพนมเปญที่ซึ่งเขารับหน้าที่ในองค์คณะ “ชุมนุมชำระพระไตรปิฎก”

ฉันก็ถึงบางอ้อว่า ซูซานน์ คาร์เปเลสมิได้ก่อตั้งโครงการเถรวาทมากมายขึ้นมาลอยๆ หากแต่มีฐานะรองรับมาก่อนหน้านั้นร่วมสิบปีแล้ว หาไม่คงไร้นักวิจัยเขมรทำหน้าที่สนับสนุน

แต่ทำงานให้สำนักพุทธฯ เพียง 5 ปี พระยึก แถมก็ลาสิกขาบท ถัดมาเพียงปีเดียวก็สมรสกับสาวเมืองอุดงที่จังหวัดกำปงสะปือ มีลูกดกหญิงชายถึง 11 คนเลยทีเดียว

ไม่นานเมื่อคาร์เปเลสออกนิตยสารรายเดือนชื่อ “กัมโพชสุริยา” ยึก แถมก็ได้การแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการที่ยาวนานต่อมา คือระหว่าง 1938-1974

เรียกว่า แม้แต่นายหญิงคาร์เปเลสจะจากกัมพูชาไปแล้ว ยึก แถมก็รับภาระงานนี้จวบวันที่ตนลาโลกและระบอบเขมรแดงยึดครองประเทศในไม่กี่เดือนถัดมา

รวมเวลาถึง 36 ปี แม้ว่าจะมีช่วงเวลาที่ “กัมโพชสุริยา” มีอันยุติตีพิมพ์เผยแพร่จากสงครามโลกครั้งที่ 2 และการถอนตัวของนิคมบารัง แต่การที่สำนักพุทธศาสนบัณฑิตสามารถประคองตัวมากับสังคมกัมพูชาในวาระสุดท้ายนั้น

นับว่าท่านยึก แถมได้ทำหน้าที่อย่างสุดกำลัง จนวาระสุดท้าย

โดยในปี 1942-1946 ผู้อำนวยการสำนักพุทธศาสนบัณฑิต นางสาวซูซานน์ คาร์เปเลส เห็นถึงความรอบรู้ด้านพุทธศาสตร์ของยึก แถมจากการเป็นตัวแทนโครงการของสถาบันฯ ทั้งในแคว้นลาวและกัมพูชาใต้-แคว้นโคชินจีน/เวียดนามตอนใต้

โดยในปี ค.ศ.1945 ใครจะนึกเลยว่า ยึก แถมซึ่งเคยมาศึกษาในประเทศไทยจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายล่ามแห่งสาธารณรัฐอินโดจีน-ฝรั่งเศสกรุงไซ่ง่อน ที่ซึ่งเขาทำหน้าที่ผู้ชำนาญภาษา “ไทย-ฝรั่งเศส-เขมร” เพื่อเรียกร้องพระตะบอง เสียมเรียบจากไทย ซึ่งออกอากาศทางวิทยุไซ่ง่อนนับเป็นเวลาร่วมปี

เมื่อกลับกรุงพนมเปญ นอกจากหน้าที่ในสำนักพุทธศาสนบัณฑิตแล้ว ยังได้รับการแต่งตั้งเป็นอาจารย์สอนในวิทยาลัยพระสีสุวัตถิ์อีกตำแหน่งหนึ่งด้วยจนปี 1957 ที่ยึกแถม เกษียณอายุ (55 ปี) นั้น ในที่สุดกระทรวงอบรม/ธรรมการ ก็ต่ออายุงานในตำแหน่งศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ (professeur honoraire) คณะอักษรศาสตร์และมนุษยศาสตร์วิทยาลัยคุรุกุศล

ในช่วงเวลาที่รับใช้บารังยุคเถรวาทวิทยานั้น ยึก แถมได้เหรียญตราเชิดชูเกียรติ อาทิ ชั้นมุนีสาราภรณ์ (1940) อิสริยาภรณ์กรุงลาว อิสริยาภรณ์กรุงอันนัม (1943) เหรียญเงินเชิดชูเกียรติกัมพูชา 1960 และ 1962 และเป็นสมาชิกประจำชุมนุมวัฒนธรรม ตั้งแต่ ค.ศ.1947

เห็นได้ชัดว่า ทั้งคาร์เปเลสและปิแอร์ ดูป็องต์ ซึ่งรับตำแหน่งต่อมา ต่างยกย่องเขาว่าเป็นบุคลากรที่ทรงคุณค่าของสถาบันแห่งนี้

ห้องสมุดเคลื่อนที่แคว้นลาว, ภาพจากสิกขาจักร

หมดยุคนายบารังไปแล้ว ในปี 1956 นั่นอง ยึก แถมจึงก่อตั้ง “สมาคมนักเขียนเขมร”

ทั้ง “ชุมนุมพระไตรปิฎกเขมร-บารัง” ที่ยังคาราคาซังนั้น ก็ได้ ยึก แถมนี่เองที่สานต่อ

รวมทั้งนิตยสารกัมโพชสุริยาที่เขาผลักดันและมีผลงานตีพิมพ์มากมาย

ยึก แถมยังแต่งนวนิยายประโลมโลกย์ 2 เรื่อง “ปีศาจเสน่หา” และ “กุหลาบไพลิน” (1942/1943)

เรื่องหลังนี้เป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง ทั้งยังดัดแปลงเป็นละครพูด ภาพยนตร์ แต่นิยายสั้น 35 หน้าอย่าง “ปีศาจเสน่หา” กลับไม่เป็นที่นิยม

นิยายรักสามเส้า โศกนาฏกรรมพี่น้องสองสาว : เนียง สารีและเนียง สารุน ที่มีต่อรัฐ-เจ้ากรมหนุ่ม จนเกิดเป็นแรงริษยา-อัตวินิบาตกรรม

เราคงนึกไม่ถึงว่า ชีวิตนักเขียนคนหนึ่ง ที่เริ่มต้นจากคฤหัสถ์นักบวชมาสู่ผู้ครองเรือนและนักวิชาการ

ใครเลยจะนึกว่า จากชีวิตเด็กบ้านนอกคนหนึ่ง ใครเลยจะนึกว่าเส้นทางสังคายนาเถรวาทในเขมรจะนำพาชีวิตชายคนหนึ่งไปสู่เส้นทางวิทูวิทยาที่มากด้วยองค์ความรู้และเป็นส่วนเดียวที่ดีงามของระบอบอาณานิคมบารังทิ้งไว้ให้

ในฐานะชาวท้องถิ่นที่ประสบความสำเร็จของเถรวาทวิทยาทางวัฒนธรรมในการพัฒนาทั้งระดับแคว้นเขมรและภูมิภาคอินโดจีน

แต่ก็แลกมาด้วยความโดดเดี่ยวยิ่งนัก

ตั้งแต่ครั้งขบวนการ “ปฏิวัติร่ม” (1942) ถูกกวาดล้าง ยึก แถมดูจะเรียนรู้ความเจ็บปวดที่กลายเป็นแผลลึกในหมู่คนหนุ่มเขมรบางฝ่ายที่พยายามปลดแอกประเทศ ตั้งแต่พระปลัดเหม เจียวถูกจับสึก ชาวคณะถูกกวาดล้าง ซูซานน์ คาร์เปเลสหัวหน้าถูกอัปเปหิออกจากกัมพูชา

บางคนบางรูปถูกตำรวจไล่ล่า บางคนถึงกับหนีไปกบดานเมืองพระตะบอง ในจำนวนนี้มียึก แถมด้วยหรือไม่?

แน่นอนในฐานะสมาชิกคณะชุมนุมชำระพระไตรปิฎกร่วมกับคนเหล่านั้นซึ่งต่างเป็นสหการีร่วมสถาบันฯ ความตาย การจากลาและแพ้พ่ายในหมู่คนร่วมสถาบันแห่งนี้ จึงฝังรอยไว้ในความเจ็บปวด

ที่ดูเหมือนว่า จะมีแต่ยึก แถมเท่านั้น ที่เพียงตัวตนเพียงลำพัง

กว่าที่เขาจะประคองและดำเนินการให้องค์กรแห่งนี้มีตัวตนอีกครั้ง

ใครเลยจะรู้ว่า จะมีใครอีกหรือ? ที่ชีวิตแบบยึก แถม

ชายผู้ถือกำเนิดขึ้นมา ก่อนที่สถาบันเถรวาทวิทยาแห่งนี้จะถือกำเนิด

และล้มครืนตามมา เมื่อเขาทิ้งสังขารไป