เขย่าสนาม | กกท.กับไอเดีย ‘กีฬาสีขาว’ ถึงเวลาคลีนนิ่ง ‘ลดโลกร้อน’

เขย่าสนาม/เงาปีศาจ

กกท.กับไอเดีย ‘กีฬาสีขาว’

ถึงเวลาคลีนนิ่ง ‘ลดโลกร้อน’

เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาประเทศไทย ในฐานะเป็นหนึ่งในสมาชิกองค์การสหประชาติ และผู้เข้าร่วมข้อตกลงปารีสเมื่อปี 2015 และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เดินทางไปร่วมประชุมงาน “COP 26” ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์

“บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันไทยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน พร้อมร่วมมือทุกประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายสำคัญของโลกเพื่ออนาคตของลูก-หลานในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2065 นำเสนอเป้าหมายและการดำเนินงานที่แข็งขันต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำเสนอการจัดทำ “ยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย (LT-LEDS)”

ในส่วนของวงการกีฬา “บิ๊กก้อง” ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ออกมาขานรับนโยบายดังกล่าว

พร้อมกับเปิดใจว่า เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางกลับจากประชุมโลกกลับมาได้สั่งการนโยบายคือ ให้เน้นในเรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ

ในส่วนของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬานั้น เรื่องของการท่องเที่ยวได้เตรียมการปฏิบัติแล้ว

ขณะที่ในส่วนของกีฬาก็มีความพร้อมเช่นเดียวกัน

 

โดย การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เตรียมแผนงานครั้งใหญ่อันเป็นที่มาของโครงการ “การจัดกิจกรรมการแข่งขันกีฬา ภายใต้กรอบแนวคิดกีฬาสีขาว” ขึ้น มีรูปแบบจัดการกีฬาบนพื้นฐานสิ่งแวดล้อมศึกษาที่ตอบสนองต่อแนวคิด BCG Economy ในประเทศไทย

ผู้ว่าการก้องศักดเล่าว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬานำแนวคิด BCG Model มาเป็นแนวทางในการดำเนินโครงการ “การท่องเที่ยวและกีฬาสีขาว” เพื่อผลักดันให้มีผลต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและกีฬาไทย สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนด้วยเป้าหมาย สะดวก ปลอดภัย เป็นธรรม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นี่เป็นแนวทางของโลกยุคใหม่ที่เน้นตระหนักความสำคัญถึงการกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคตการคัดเลือกประเทศเจ้าภาพกีฬาระดับโลก เช่น โอลิมปิก จำเป็นต้องนำเสนอกรอบแนวคิดของการนำทรัพยากรกลับมาใช้อย่างคุ้มค่า เป็นมิตรต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน มากกว่าการลงทุนก่อสร้างอย่างสิ้นเปลือง และกลายเป็นภาระหนี้สินของประเทศเจ้าภาพ

การจัดกิจกรรมกีฬาต่างๆ ทำอย่างไรจะไม่ให้เกิดมลพิษต่อชุมชน รวมทั้งตัวนักกีฬาเอง หรือประชาชนคนทั่วไปออกกำลังกาย จะได้ไม่ต้องซึบซับอากาศเป็นพิษเหล่านั้นเข้าไป

นี่เป็นส่วนที่การกีฬาจะต้องหันมาให้ความสำคัญปฏิรูปวงการให้เป็นสีขาวเพื่อสังคม

 

ด*ร.ก้องศักด* อธิบายต่อไปว่า โมเดลนี้พัฒนาขึ้นภายใต้กรอบแนวคิดสำคัญ 3 ประการคือ

  1. การมีบทบาทอย่างเข้มแข็ง ตามแนวทางการท่องเที่ยวสีขาว เพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน
  2. การเป็นผู้นำ ส่งเสริมให้มีการลดของเสีย ในภาคการท่องเที่ยวด้วยโมเดล ศก. BCG

และ 3. สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญ

ยกตัวอย่างการจัดกิจกรรมกีฬา มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร เป็นที่ทราบกันดีว่า กิจกรรมกีฬาย่อมมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก ซึ่งในบ้านเรามีกีฬาระดับท้องถิ่นและนานาชาติต่อเนื่องมากมาย ซึ่งมักมีการทิ้งขยะ ขวดน้ำพลาสติก กล่องโฟมบรรจุอาหาร ฯลฯ เกิดปริมาณขยะ และน้ำเสียในการชำระล้าง หากถูกปล่อยทิ้งอย่างไม่ถูกต้องตามหลักการรักษาสภาพแวดล้อม

“เหตุนี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามีนโยบายหลักๆ อาทิ ดำเนินการจัดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทุกรายการ รณรงค์กำจัดวัสดุย่อยสลายยาก ฯลฯ ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า และเชื้อเพลิง และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมใช้พลังงานทดแทน หารือกับชุมชน ยื่นขอจัดที่ให้ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชนน้อยที่สุด”

ผู้ว่าการ กกท.กล่าว

 

ผู้ว่าการ กกท. บอกอีกว่า มาตรการเหล่านี้เป็นจุดมุ่งหมายเพื่อเน้นความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เป็นจุดเริ่มต้นสำหรับผู้จัดกิจกรรม เจ้าของสถานที่ ผู้เข้าร่วม ซึ่งจะเป็นกรอบเบื้องต้นในการพิจารณาจัดการแข่งขัน ซึ่งจะส่งผลตระหนักของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของผู้จัด ตลอดจนผู้เข้าชมให้มีสำนึกร่วมกันต่อสังคม ยกตัวอย่างเช่น การจัดกิจกรรมทางน้ำในทะเล ที่ต้องมีการติดตั้ง การรื้อถอนทุ่นต่างๆ จะต้องไม่ประทบต่อแนวปะการังหรือสัตว์น้ำประจำถิ่น

หรือเส้นทางผ่านการแข่งขัน ต้องไม่กระทบหรือทำลายต้นไม้ หรือพืชพันธุ์ต่างๆ ของพื้นที่นั้นๆ รวมถึงไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ หรือ เสียงที่อาจกระทบต่อสัตว์ป่าที่อาศัยในพื้นที่เหล่านั้น เป็นต้น

ปัญหาสภาวะโลกร้อน นับวันเป็นสิ่งที่มนุษย์ชาติต้องพึงตระหนักและให้ความสำคัญ

แนวคิดกีฬาสีขาว จึงเกิดขึ้นมาเพื่อช่วยกันคลีนนิ่ง ล้างโลกให้สะอาดไปพร้อมๆ กัน…