อาจินต์รำลึก : แปดปีที่แก่งเสี้ยน (3)/บทความพิเศษ แน่งน้อย ปัญจพรรค์

ภูเขาสี่ยอดนี้เป็นสิ่งเดียวที่เราเห็นเด่นชัดที่สุดจากระเบียงบ้าน ขณะที่เรานั่ง ‘จิบกาแฟ แกล้มภูเขา’ เล่าความหลัง กันทุกเช้า แต่ตอนหลังๆ เรามองแทบไม่เห็นแล้วโดยเฉพาะหน้าฝน ต้นไม้เราโตบังเกือบมิด ถ้าหน้าแล้งใบไม้ร่วงก็ยังพอเห็น

บทความพิเศษ

แน่งน้อย ปัญจพรรค์

 

อาจินต์รำลึก

: แปดปีที่แก่งเสี้ยน (3)

 

วิมานแก่งเสี้ยน

220 หมู่ 4

กลับเข้ากรุงเทพฯ หลังวันเกิดอาจินต์ไม่ทันไร พวกช่างยังไม่ทันเก็บงานใดๆ ได้สักเท่าไร ธรรมชาติคือน้ำท่วมกรุงเทพฯ ก็กำหนดให้เราต้องกลับมาอีกแล้ว คราวนี้จะเรียกว่าบังเอิญก็คงไม่ได้

“โห เย็นสบายดีจัง ชื่นใจจริงๆ ยังงี้อยู่นานๆ ก็ได้” อาจินต์ผู้ไม่เคยสนใจว่าฉันจะสร้างบ้านอย่างไร แบบไหน วุ่นวายอย่างไรมาตลอดเกือบปี ตอนนี้กลับอุทานยืดยาวเมื่อหัวค่ำคืนแรกที่เรามาถึง 25 ตุลาคม 2554 เพื่อหนีน้ำที่จะท่วมกรุงเทพฯ

สายลมเดือนตุลาคมคืนนั้นมันช่างฉ่ำชื่น เย็นระรื่นเกือบตลอดเวลา แสนสบายดีจริงๆ

“ถ้าน้ำท่วมที่นี่อีก พี่น้อยจะทำอย่างไร” ใครก็ไม่รู้แซะ

“เออ ที่นี่สูงกว่าระดับน้ำทะเลราว 120 เมตร ถ้าท่วมก็เล่นน้ำมันตรงนี้ซะ ไม่ต้องถอยร่นขึ้นไปบนยอดเขาหรอก จับอาจินต์ว่ายน้ำเลยนะ” ความจริงอาจินต์ว่ายน้ำเป็นแต่จะทำได้รึเปล่าไม่รู้ ฉันต่างหากไม่เคยว่ายเป็นเลย

มาคราวนี้ไม่มีกำหนด หลังจากจัดเก็บจัดการกับสิ่งที่จำเป็นกับการจะต้องใช้ชีวิตอยู่นานพอสมควรแล้วฉันก็มีเวลาจะทำสิ่งอื่นๆ ได้อีกมาก

ภูเขาสี่ยอดนี้เป็นสิ่งเดียวที่เราเห็นเด่นชัดที่สุดจากระเบียงบ้าน ขณะที่เรานั่ง ‘จิบกาแฟ แกล้มภูเขา’ เล่าความหลัง กันทุกเช้า แต่ตอนหลังๆ เรามองแทบไม่เห็นแล้วโดยเฉพาะหน้าฝน ต้นไม้เราโตบังเกือบมิด ถ้าหน้าแล้งใบไม้ร่วงก็ยังพอเห็น

เริ่มจากสภาพแวดล้อมรอบตัว ฉันต้องทำความรู้จักกับมันเสียก่อน ตัวบ้านตั้งอยู่บนไหล่เขาหันหลังชนภูเขาด้านตะวันออก ด้านหลังเป็นทิศตะวันตก เวิ้งว้างโล่งเตียนไปทุกทิศ มีต้นไม้ป่าต้นใหญ่อยู่ไม่กี่ต้น ทำไมมันเป็นแบบนี้ เชิงเขาและไหล่เขาที่ไม่มีบ้านคนเลยมันน่าจะเป็นป่าใหญ่ ตอนนี้ป่ามันอยู่บนเขาหลังบ้าน สูงขึ้นไปอีกพอสมควร

“อาจารย์รู้ไหม พื้นที่แถวนี้ชาวบ้านเขาทำอะไรกันมาก่อน” ฉลองถาม แล้วไม่รอคำตอบ

“เขาเผาถ่านขาย” ตอบแล้วก็หัวเราะกิ๊กกั๊ก

มิน่า ไม้แทบหมดป่า

แต่ในความโล่งเตียนในขณะนี้ก็มีไร่ผักชีกว้างไกลเต็มไปหมด มองเห็นไร่ผักชีกับคนทำผักชีแทบทุกทิศ ทำให้บรรยากาศยังเป็นธรรมชาติมองเห็นไกลไปสุดขอบฟ้า และเห็นพระอาทิตย์ตกดินหน้าบ้าน ทุกวัน ไม่เหมือนกันสักวัน สวยแทบทุกวัน

เจ้าของที่ดินส่วนมากเขาปล่อยที่ดินไว้เฉยๆ ของเราก็เหมือนกัน การทำผักชีใช้เวลาสั้นมาก สองสามเดือนก็จบ

แต่ภาพเหล่านี้มันทำให้ดูแล้วมีชีวิตชีวาไม่แห้งผากแม้จะโล่งเตียน ภาพคนทำงานในไร่ผักชี เสียงรถขึ้นลงขนผักชี ภาพท้องฟ้าสลับสีจัดจ้าก่อนตะวันตกดิน ต้นไม้ใหญ่บางต้น พระจันทร์ขึ้นหลังเขายามค่ำ และอื่นๆ อีกสารพัด

เหล่านี้มันทำให้ฉันต้องปลุกวิญญาณช่างภาพในอดีตให้คืนกลับมาอย่างมีชีวิตชีวาอีกครั้ง

เมื่อเป็นนักเรียนที่โรงเรียนสตรีวิทยา ตอนมัธยมปลายอาจารย์ใหญ่มีธุระหรืองานการอะไร ก็จะเรียกฉันไปเป็นช่างภาพ

ตอนนั้นฉันมีกล้องเยอรมันที่พี่ชายคนโตทิ้งไว้ให้เล่นอยู่ตัวหนึ่ง ถ้าจำไม่ผิด มันเป็นยี่ห้อ วอร์คเมนเดอร์ สะกดไม่ถูกแล้ว แต่มันคล้ายๆ กับทีวียี่ห้อหนึ่งคือ วอร์คเมนเด้ ของเยอรมันเช่นกัน สมัยนั้นมีแต่ฟิล์มขาวดำ

กล้องตัวนี้ต้องใช้ฟิล์มที่ใหญ่มาก ดูเหมือนจะเป็นฟิล์มขนาดรูป 3×4 หรือ 3×4.5 ม้วนหนึ่งถ่ายได้แค่ 8 รูป กล้องสมัยนั้นส่วนมากจะถ่ายได้ม้วนละ 12 รูปยังไม่มีฟิล์มสี แต่สมัยนี้ไม่ใช่แล้ว แม้แต่ฟิล์มรุ่นต่อมาที่ใช้ได้ม้วนละ 36 รูป ทั้งสีและขาวดำก็ไม่ใช้แล้ว ทีนี่ เวลานี้ ฉันต้องใช้ Digital แล้ว

นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่จะต้องเป็นไป ไม่เฉพาะกล้อง ช่างภาพก็เช่นกัน หลังจากจบมัธยมเข้าเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว ฉันก็ไม่ได้เล่นกล้องเท่าไรนัก แม้จะมีกล้องรุ่นใหม่ๆ ยี่ห้ออื่นๆ เล่นต่อมาแต่ก็ไม่ได้ใช้มากมาย

อยู่มหาวิทยาลัยมันมีเรื่องสนุกสนานมากมายให้เล่นให้ทำ เก็บกล้องไว้ก่อนก็ได้

ฉันตระเวนถ่ายรูปได้ทุกเวลา ท้องฟ้ายามเย็นสวยไม่ซ้ำกันเลย ตัวแมลงแปลกๆ มากมายแปลกจนน่าทึ่ง ส่วนมากเป็นแมลงกลางคืนที่จะมาแสดงนาฏกรรมบนข้างฝาที่ระเบียงหน้าบ้าน ถ่ายรูปแมลงสนุกสนานจนดึกดื่นแทบทุกคืน แมลงเหล่านี้ไม่รู้มาจากไหนแต่มาเล่นไฟทันทีที่เราเปิดไฟที่ระเบียง มันช่างสวย แปลก ประหลาดตาประหลาดใจจนนึกไม่ถึง

ในบรรดารูปภาพทั้งสามสี่หมื่นรูปที่ฉันทำไว้ที่นี่จนถึงขณะนี้ มันเป็นรูปแมลงกลางคืนเสียราว 20% เห็นจะได้

แรงงานพม่าทั้งเด็กผู็ใหญ่หญิงชายเข็นลองชั้นเขาทำ

แต่วันเวลาที่ผ่านเลยก็มักทำสิ่งต่างๆ ลับหายไปด้วย ฉันเล่นกับแมลงและสิ่งแวดล้อมที่นี่จนรู้สึกเป็นเพื่อนกันไปหมดแล้ว

วันหนึ่งบางสิ่งบางอย่างก็หายไป หลายปีหลังๆ นี้ไม่มีแมลงบินมาทักทายกันเลย ไม่รู้หายไปไหนหมด

ที่นี่มีคนมาปลูกบ้านมากขึ้น เผาหญ้า เผาป่ากันมากขึ้น มันอาจเป็นสิ่งนี้หรือเปล่าที่ทำให้ธรรมชาติบางอย่างหายไป

น่าเสียดายจนเกินกว่าจะพูดว่าเสียดายแค่นั้น

ตั๊กแตนตัวแรกบนนิ้วมือป๊อดที่ทำให้ฉันต้องคอยเฝ้าดู ‘นาฏกรรมบนฝาผนัง’ ที่ระเบียงทุกค่ำคืน บางคืนสนุกสนานกับการถ่ายรูปแมลงแปลกๆ สวยๆ เหลือเชื่อจนห้าหกทุ่มอยู่หลายปี ได้รูปแมลงไว้เป็นพันๆ รูป ก่อนที่จะหายไปเฉยๆ หลายปีต่อมา

ในขณะที่ฉันสนุกสนานกับท้องฟ้า พระจันทร์ขึ้น พระอาทิตย์ตก แมลง และอื่นๆ อีกสารพัด วันเวลาผ่านไปทีละวันๆ อย่างไม่รู้สึกตัว อาจินต์เพลิดเพลินอยู่กับหนังสือ วิทยุ ทีวีบ้าง แต่วิทยุนั้นไม่ใช่วิทยุดีๆ อยู่กับที่เหมือนที่กรุงเทพฯ แล้ว แต่เป็นวิทยุเคลื่อนที่ติดมือไปในทุกที่ไม่เคยเบื่อเลย ฟังตั้งแต่ตื่นจนหลับ หมุนฟังรายการโปรดของผู้จัดที่รู้จักคุ้นเคย ฟังวิทยุท้องถิ่นด้วย

เข้านอนแล้วบางคืนฉันต้องลุกหนีออกมานอนตั่งหน้าห้อง วิทยุอาจินต์เปลี่ยนคลื่นทีก็ครืดคราดครึกโครมจนฉันนอนไม่ได้ ก็เหมือนอยู่กรุงเทพฯ อาจินต์เป็นแบบนี้จนฉันให้เขานอนที่ห้องทำงานเลยในระยะหลัง

ดังนั้น ชีวิตอาจินต์ที่นี่ก็ไม่ได้แตกต่างอะไรไปจากที่อยู่กรุงเทพฯ เลย

แต่ไม่ว่าอย่างไร อาจินต์ก็ไม่เคยลืมการเขียนหนังสือ

“น้อย วันนี้ฉันต้องส่งต้นฉบับให้ใครบ้าง” อาจินต์ถามตอนเช้าวันหนึ่งหลังจากเสร็จอาหารเช้า

“อ้าว พี่ยังเขียนหนังสืออยู่หรือ”

“เขียนสิ ทำไมไม่เขียน” เรื่องอะไรๆ อาจินต์ลืมไปมากแล้ว แต่เรื่องนี้ไม่เคยลืม

“พี่เลิกเขียนหนังสือไปสองปีแล้ว จำได้ไหม”

ทำท่างงๆ

“พี่อยากเขียนใช่ไหม”

“ก็ฉันเป็นนักเขียน ไม่เขียนก็ตาย”

“ตกลงพี่เขียนนะ เขียนอะไรก็ได้เสร็จแล้วเอาให้ฉัน ฉันจะส่งให้เองนะ”

“เออ เอาให้เสถียรนะ” หมายถึงมติชน

“ได้”

แล้วก็จบแค่นั้น ไม่ได้เขียน ก็คงลืมไปแล้ว แต่เหตุการณ์ทำนองนี้ยังเกิดขึ้นภายหลังอีกหลายครั้ง

มีอยู่ครั้งหนึ่งบอกว่า

“ฉันจะออกหนังสือใหม่”

“หนังสือใหม่ เป็นพ็อกเก็ตบุ๊กหรือเป็นนิตยสาร”

“นิตยสาร รายสัปดาห์”

“ชื่ออะไรล่ะ”

“ฟ้าเมืองกาญจน์” ตอบไม่ต้องคิดเลย

“โอ้โฮ เอาเลย ทำแบบปก ทำอะไรมาเลย เขียนเลยนะ”

ยิ้มกริ่ม เต็มไปด้วยความมุ่งมั่น

อาจินต์เอ๋ย ฉันนึกถึงภาพตอนนี้ทีไรก็สงสารพี่จับใจทุกที

แน่งน้อยขึ้นไปสำรวจพื้นที่บนภูเขาเป็นครั้งแรก ย่ำผ่านไร่ผักชีที่ร้างแล้วอย่างกลัวๆ ว่าจะไปเหยียบของเขาเข้า แต่เจ้าของผักชีบอกไปเลยๆ เก็บแล้ว เหลือไม่พอคุ้มค่าเก็บ น้ำได้เลย

อาจินต์ตั้งหน้าตั้งตาทำฟ้าเมืองกาญจน์อย่างมีความสุข หยิบกระดาษมาวาดเส้นทำเป็นดัมมี่หน้าแรกของฟ้าเมืองกาญจน์ดูเหมือนปกหนังสือรายวัน แล้วก็เขียนเองไปตั้งแต่หน้าแรก

ลายมือที่เคยมีเอกลักษณ์สวยงามพอที่จะมีเพื่อนๆ จากสมาคมนักร้องขอให้เขียนตัวอักษรหวัดๆ สวยๆ เป็นชื่อคอนเสิร์ตที่เขาจัดกันนั้นบัดนี้ไม่ใช่แล้ว มันเต็มไปด้วยตัวอักษรที่อ่านยากหยุกหยิกโยงกันยืดยาว เป็นข้อความที่เคยเขียนเป็นประวัติส่วนตัวมาแล้วซ้ำๆ ซากๆ

…เห็นแล้วน้ำตาจะไหล

ตอนนั้นบ้านก็ยังมีแต่ตัวบ้าน บริเวณข้างบ้านด้านทิศใต้เป็นที่ของฉลอง ยังเป็นป่า ทิศตะวันออก-เป็นหลังบ้านอยู่ชิดภูเขา เลยขึ้นไปไม่มากเป็นป่าสูงขึ้นเรื่อยๆ หน้าบ้านเป็นทิศเหนือ ลงบันได 5 ขั้นไป ยังเป็นพูนดินที่ช่างเกลี่ยเอาไว้ให้เรียบ รอทำลานคนเดินและถนนขึ้นลงส่งอาจินต์ขึ้นบ้าน

ทิศตะวันตกเป็นทางขึ้นลงจากข้างล่างเป็นที่โล่งมองไกลได้สุดขอบฟ้า

จั่วบ้านวางแนวตะวันตก-ตะวันออก กลางคืน ทางทิศตะวันตกนี้จะเห็นแสงไฟระยิบระยับ ตลอดความกว้างของท้องฟ้าเท่าที่เห็นได้ มีทั้งไฟเป็นดวงๆ ของชาวบ้าน ทั้งไฟข้างถนนในค่ายทหารเป็นแถวถี่ยิบไกล และก็มีไฟข้างถนนหลวงที่ออกนอกเมืองเป็นแถวยาว

ออกมาอยู่ที่นี่ วันดีคืนดีก็มีคนมีน้ำใจตามออกมาเยี่ยมอยู่บ้าง

วันหนึ่งมีนักเขียนคนหนึ่งคือ วงเดือน ทองเจียว คนเขียนเรื่อง ลูกช่างแกะสลัก ลงฟ้าเมืองไทย ดั้นด้นมาหา เขามีอาชีพแกะสลักไม้ตามรอยพ่อของเขา

เขาถามว่าบ้านหลังนี้มีชื่อหรือยัง ตอบว่ายัง เขาบอกว่าได้ชื่อเมื่อไหร่ให้บอกเขา กลับไปนี่เขาจะหาไม้ดีๆ เตรียมไว้ จะทำป้ายชื่อบ้านให้สุดฝีมือ

บ้านนี้ไม่ได้คิดจะมีชื่อ แต่ที่ต้องมีแล้วยังไม่มีก็คือบ้านเลขที่

นายเบิร์ด เด็กวัยยี่สิบกว่าๆ ไม่ถึง 25 หลานชายฉลองผู้เรียนจบช่างยนตร์มาไม่นานนัก แต่มาคุมงานสร้างบ้านไม้ซึ่งสั่งคนงานที่แก่กว่าก็ไม่ค่อยได้ในเลยนั่งทำเอง ขยันมาก สู้งาน อะไรๆ ก็ต้องเบิร์ด ต้องขอบใจไว้ตรงนี้

วิธีที่จะได้บ้านเลขที่ก็แสนประหลาด ฉลองพาฉันไปพบผู้ใหญ่บ้าน เราไปพร้อมหลักฐานเอกสารของบ้าน ฉลองขับรถวนเวียนตามหาผู้ใหญ่บ้านอยู่พักใหญ่ เขากำลังไปรังวัดที่ดินให้ลูกบ้าน พอเจอแล้วเขาก็ส่งสมุดเล่มใหญ่ปกแข็งที่เตรียมมาให้เล่มหนึ่ง ในนั้นมีเลขที่บ้านเรียงลำดับยืดยาวไปไม่รู้เท่าไหร่ เลขที่ไหน มีชื่อคนอยู่แล้วก็แปลว่าเราใช้ไม่ได้ เลขที่ไหนว่างๆ เราก็เลือกเอาตามใจชอบ ใส่ชื่อเราลงไปตรงไหนเลขที่นั้นก็เป็นของเรา ฉันงงกับวิธีขอบ้านเลขที่แบบนี้มาก

เป็นอันว่า ใต้อักขระ “นะโม พุทธายะ” เหนือประตูบ้าน ที่พระเจิมให้เราวันทำบุญบ้านนั้น ก็มีเลข 220 ที่เราจิ้มเอาจากสมุดทะเบียนของผู้ใหญ่บ้านติดอยู่ตั้งแต่นั้นมา

เมื่อมีเลขที่แล้ว ก็นึกถึงชื่อบ้าน หลังจากคุยกับลูกช่างแกะสลักหลายวันก่อน ฉันก็ถามอาจินต์ว่าคิดชื่อบ้านหรือยัง

“วิมานแก่งเสี้ยน” อาจินต์ตอบไม่ต้องคิดอีก และเราก็รู้กันสองคน ไม่เคยบอกใคร รวมทั้งลูกช่างแกะสลัก

ใต้ภาพ

ตั๊กแตนตัวแรกบนนิ้วมือป๊อดที่ทำให้ฉันต้องคอยเฝ้าดู ‘นาฏกรรมบนฝาผนัง’ ที่ระเบียงทุกค่ำคืน บางคืนสนุกสนานกับการถ่ายรูปแมลงแปลกๆ สวยๆ เหลือเชื่อจนห้าหกทุ่มอยู่หลายปี ได้รูปแมลงไว้เป็นพันๆ รูป ก่อนที่จะหายไปเฉยๆ หลายปีต่อมา