2503 สงครามลับ สงครามลาว (57)/บทความพิเศษ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

2503 สงครามลับ

สงครามลาว (57)

 

ไม่มี “เดียนเบียนฟู” สำหรับทหารไทย

บันทึกหัวหน้าใจ

“ผมดูนาฬิกาจากพรายน้ำเรืองแสงอีกประมาณ 10 กว่านาทีก็จะ 2 ทุ่มตามเวลาที่กำหนดในการถอนตัว ก่อน 2 ทุ่มไม่กี่นาที เพื่อนผมไอ้เหมียวก็นำกำลังกองร้อยสุรินทร์มาสมทบกับกำลังของผม ผมได้ยินเสียงไอ้เหมียวพูดเบาๆ ในความมืดในกลุ่มทหารของมันและมีพวกเราคนหนึ่งถามสัญญาณผ่านว่า ‘โคราช’ ได้รับคำตอบว่า ‘สุรินทร์’ เพื่อนผมไอ้เหมียวพูดออกมาในกลุ่ม ‘เฮ้ย…ไอ้จักษ์ กูอยู่นี่แล้ว’…”

จากนั้นการถอนตัวภายใต้การกดดันของทหารเวียดนามเหนือก็เริ่มขึ้น ทุกอย่างเป็นไปตามแผนของนายทหารระดับผู้บังคับหมวด “หัวหน้าใจ” ทั้งแผนการรักษาความลับและการลวง กว่าที่ฝ่ายเวียดนามเหนือจะสามารถพิสูจน์ทราบความจริงได้ ทหารไทยกว่า 1,000 คนก็สามารถถอนตัวออกจากฐานบ้านนาจนหมดสิ้นแล้วจึงไม่สามารถดำเนินการใดๆ ที่จะสร้างความเสียหายให้กับทหารไทยหน่วยนี้ได้อีก

กองพันทหารราบ บีไอ-15 และ กองร้อยทหารปืนใหญ่ บีเอ-13 เดินทางถึงภูล่องมาดอันเป็นที่ตั้งของกองพันบีไอ-14 อย่างปลอดภัยในเช้าวันรุ่งขึ้นโดยปราศจากการขัดขวาง จากนั้นก็เดินทางต่อไปล่องแจ้งด้วยการเคลื่อนย้ายโดยเฮลิคอปเตอร์และเดินทางกลับประเทศไทยเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2514

กรม 165 เวียดนามเหนือของพันเอกเหงียน ชวง จึงไม่ประสบความสำเร็จเหมือนครั้งอดีตที่เคยจับทหารฝรั่งเศสเป็นเชลยได้เป็นจำนวนมากที่เดียนเบียนฟู

 

กรมผสมที่ 13 จบภารกิจ

ระหว่างที่การสู้รบในพื้นที่ทุ่งหินกำลังติดพันมาตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ.2514 และทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นตามลำดับนี้ มีความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของฝ่ายไทย

นั่นคือ กรมผสมที่ 13 พร้อมด้วยกองร้อยทหารปืนใหญ่ทั้งสองซึ่งเป็นกำลังหลักตามแผนป้องกันประเทศจะต้องจบภารกิจและถอนกำลังกลับประเทศทั้งหมดในกลางพฤษภาคม พ.ศ.2514

โดยกำลังอาสาสมัครทหารเสือพรานซึ่งประกอบด้วยทั้งกำลังทหารราบและทหารปืนใหญ่จะเดินทางจากประเทศไทยมารับช่วงภารกิจนี้ต่อไป โดยได้ทยอยเดินทางมาตั้งแต่กลางกุมภาพันธ์ พ.ศ.2514 ขณะที่กรมผสมที่ 13 กำลังถูกกดดันอย่างหนัก

การเพิ่มเติมกำลังทหารเสือพรานของฝ่ายไทยในกลางเดือนกุมภาพันธ์ครั้งนี้ทำให้สถานการณ์ในพื้นที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สามารถลดความเสียเปรียบจากกำลังรบที่น้อยกว่าลงได้

ที่บ้านนาแม้บีไอ-15 และบีเอ-13 จำเป็นต้องถอนตัวแต่ก็ไม่ประสบความเสียหายมากนัก ฝ่ายเวียดนามเหนือเข้ายึดได้เพียงฐานที่ว่างเปล่า

และที่สำคัญคือ ฝ่ายไทยยังคงสามารถรักษาศูนย์บัญชาการที่ล่องแจ้งอันเป็นที่หมายหลักของเวียดนามเหนือตาม CAMPAIGN 74B ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น

การรุกเข้าสู่ที่หมายล่องแจ้งโดยเฉพาะบนแนวสกายไลน์ของทหารเวียดนามเหนือเริ่มชะงักงันเนื่องจากการรุกโต้ตอบของทหารเสือพรานที่มาใหม่

อย่างไรก็ตาม การสู้รบในช่วงสับเปลี่ยนกำลังซึ่งอาจเกิดจุดอ่อนได้ตลอดเวลานี้นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง สถานการณ์จึงยังคงน่าเป็นห่วง

เป้าหมายสำคัญสูงสุดของการต่อสู้ระหว่างทหารเวียดนามเหนือกับทหารเสือพรานไทยผู้มาใหม่ยังคงอยู่ที่ล่องแจ้ง

 

กำเนิดทหารเสือพราน

กําลังลับของไทยที่เข้าไปปฏิบัติงานในราชอาณาจักรลาวเริ่มต้นจากตำรวจพลร่ม ค่ายนเรศวร “พารู” เมื่อ พ.ศ.2503 จากนั้นเมื่อสถานการณ์รุนแรงขึ้นก็ยกระดับเป็นหน่วยบินไฟร์ฟลายและกองร้อยทหารปืนใหญ่เมื่อ พ.ศ.2507 และยกระดับสูงสุดเมื่อ พ.ศ.2513 ด้วยการส่งกำลังประจำการจากกรมผสมที่ 13 เข้าปฏิบัติการในที่สุด

การส่งกำลังกรมผสมที่ 13 เข้าปฏิบัติการลับครั้งนี้ เหตุผลหลักเนื่องจากสถานการณ์ในลาวคับขันเป็นอย่างยิ่ง ฝ่ายเวียดนามเหนือสามารถยึดพื้นที่ทุ่งไหหินได้อย่างเบ็ดเสร็จและกำลังมุ่งเข้ายึดล่องแจ้ง

ดังนั้น โดยคำร้องขอจากรัฐบาลลาวและการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากสหรัฐ รัฐบาลไทยจึงตัดสินใจส่งกรมผลมที่ 13 เข้าไปแก้ไขสถานการณ์โดยด่วน

แต่เนื่องจากกรมผสมที่ 13 เป็นกำลังหลักตามแผนป้องกันประเทศโดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสานซึ่งล่อแหลมต่อการรุกรานจากนอกประเทศ รวมทั้งยังต้องจัดกำลังเข้าปราบปรามผู้ก่อการร้ายในพื้นที่อีกด้วย

ดังนั้น จึงกำหนดให้ปฏิบัติภารกิจเร่งด่วนนี้เพียง 1 ปีระหว่างกลางปี พ.ศ.2513 ถึงกลางปี พ.ศ.2514 เท่านั้นเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แล้วให้กลับมาทำหน้าหน้าที่ตามแผนการป้องกันประเทศและแผนการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ต่อไป

 

นิกสัน-เวียดนามใต้-ทหารเสือพราน

ก่อนหน้านี้เล็กน้อย เมื่อประธานาธิบดีนิกสันขึ้นดำรงตำแหน่งวาระแรกในเดือนมกราคม พ.ศ.2512 พร้อมปฏิบัติตามคำสัญญาที่ให้ไว้แก่ประชาชนชาวอเมริกันระหว่างการหาเสียงคือการถอนทหารอเมริกันกลับประเทศ

แต่ในทางปฏิบัติ ประธานาธิบดีนิกสันก็ยังไม่ละทิ้งพื้นที่การรบในเวียดนามอย่างทันทีทันใด โดยชดเชยการถอนกำลังด้วยการยกระดับการทิ้งระเบิดต่อเป้าหมายสำคัญในเวียดนามเหนือและในลาวคือเส้นทางโฮจิมินห์

พร้อมทั้งยกระดับปฏิบัติการกองกำลังลับไทยในลาวเพื่อสร้างแรงกดดันต่อการเจรจาหยุดยิงให้นำไปสู่ “การยุติสงครามอย่างมีเกียรติ” ตามความมุ่งหมายของประธานาธิบดีนิกสัน

ด้วยเหตุที่ลาวยังคงมีความสำคัญต่อนโยบายของสหรัฐแต่ไทยจำเป็นต้องถอนกำลังประจำการกรมผสมที่ 13 กลับ จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งหน่วยกำลังรบอาสาสมัครที่ไม่ใช่ทหารประจำการ

นั่นคือ “กองกำลังอาสาสมัครทหารเสือพราน-ทสพ.” ซึ่งสหรัฐจะให้การสนับสนุนทั้งงบประมาณและอาวุธยุทโธปกรณ์รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งสิ้น

แนวความคิดเบื้องต้นของกองกำลังที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่นี้มีความมุ่งหมายเฉพาะสำหรับการปฏิบัติการทางทหารที่มี “ลักษณะพิเศษ” ในสนามรบลาว

 

ทหารเสือพราน “นักรบนิรนาม”

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การที่ทางราชการไม่เปิดเผยปฏิบัติการลับของไทยในลาวแม้จนทุกวันนี้ที่เหตุการณ์ผ่านไปแล้วกว่าครึ่งศตวรรษ ได้ทำให้เกิดการคาดเดาและตีความไปต่างๆ นานาซึ่งส่วนใหญ่ไม่เป็นผลดีต่อเกียรติภูมิของชาติและเหล่านักรบอาสาสมัคร

แต่เนื่องจากมีบุคคลพลเรือนจำนวนมากอาสาสมัครเข้าเป็นทหารเสือพราน ทำให้ไม่สามารถปกปิดความลับได้อย่างสมบูรณ์เหมือนเมื่อครั้งมีเฉพาะทหารประจำการอีกต่อไป

อดีตนักรบนิรนามเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ หลายท่านก็นำประสบการณ์มาเล่าแบบปากต่อปาก และมีหลายท่านนำเสนอต่อสาธารณชนในรูป “นวนิยาย” ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างกว้างขวาง พร้อมกับคำวิพากษณ์วิจารณ์ที่ติดตามมา

เริ่มตั้งแต่ข้อกล่าวหาว่า รัฐบาลและกองทัพบกไทยทำตัวเป็น “ลูกสมุนอเมริกา” กำลังพลทุกระดับตั้งแต่ทหารประจำการจนถึงอาสาสมัครพลเรือนที่เสียสละอุทิศตัวเข้าปฏิบัติภารกิจเหล่านี้ก็ถูกเรียกว่า “ทหารรับจ้าง” ซึ่งแฝงนัยแห่งการดูหมิ่น เป็นต้น

เรื่องราวที่จะนำเสนอต่อไปนี้ บางส่วนที่สำคัญมาจาก “เอกสารที่ไม่สามารถเปิดเผยที่มา” ของทางราชการจะทำให้เห็นเจตนารมณ์ที่แท้จริงอันมีเหตุผลมาจากการเผชิญหน้าในยุคสงครามเย็นขณะนั้น

รวมทั้งการปฏิบัติงานแบบมืออาชีพตั้งแต่ขั้นการกำหนดแนวยุทธศาสตร์ในการดำเนินการโดยยึดถือผลประโยชน์และความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติเป็นหลัก

การออกแบบและกำหนดคุณลักษณะของ “กองกำลังพิเศษ” ที่จะใช้ในสภาพแวดล้อมอันมีลักษณะเฉพาะครั้งนี้ ตลอดจนแผนการจัดตั้งหน่วยและการฝึกอย่างเป็นขั้นเป็นตอน