2 กม.ลูก ‘รธน.’ 2 บัตรเลือกตั้ง 2 ทางเลือก ‘ตู่’/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

2 กม.ลูก ‘รธน.’

2 บัตรเลือกตั้ง

2 ทางเลือก ‘ตู่’

 

หลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 พ.ศ.2564 เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน

นำไปสู่ตัวเลขทางการเมือง “2-2-2” ที่น่าสนใจ

“2 แรก” คือ การต้องแก้ไข 2 กฎหมายลูกของรัฐธรรมนูญ หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ปี 2560 เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข คือ

1) พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561

2) พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2560

ซึ่งต้องจับตาคือ รัฐบาล พรรคร่วม และพรรคฝ่ายค้าน จะแก้อย่างไร

ในส่วนรัฐบาล ฝ่ายสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดย พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา ที่กำลังจะกลายเป็นอดีตเลขาธิการ กกต. ได้ให้ฝ่ายกฎหมาย กกต. ยกร่างแก้ไข พ.ร.ป.ทั้งสองเพื่อนำเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณาอนุมัติ ก่อนเสนอร่างดังกล่าวไปยังรัฐสภา

ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะสี่พรรคสำคัญ คือ พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา เห็นตรงกันว่า จะเสนอร่างในนามพรรคร่วมรัฐบาล ประกบเข้าไปด้วย

ส่วนพรรคร่วมฝ่ายค้าน ก็มีการยกร่างเตรียมเสนอประกบร่างของ กกต.และพรรคร่วมรัฐบาลเช่นกัน

เท่ากับว่า จะมีการเสนอร่างแก้ไข พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.พรรคการเมือง สามทางคือ

1. ร่างของคณะรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของ กกต.

2. ร่างของพรรคร่วมรัฐบาล

3. ร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้าน

แน่นอนว่าแต่ละฝ่ายคงต้องออกแบบเพื่อเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายตนมากที่สุด

 

สําหรับกระบวนการแก้ไข 2 พ.ร.ป.นั้น

จะต้องเสนอต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา คือ ส.ส.และ ส.ว. เพราะเป็นกฎหมายพิเศษที่เหนือกว่ากฎหมายทั่วไป

ทั้งนี้ ตามขั้นตอน หลังที่มีเสนอร่างแล้ว รัฐสภาจะมีเวลาในการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 180 วัน หรือ 6 เดือน

เมื่อผ่านและรวมขั้นตอนการส่งไปยังศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความเห็น

โดยหากไม่มีข้อทักท้วงภายในสิบวัน ก็นำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป

คาดว่าการแก้ไข พ.ร.ป.ทั้งสองฉบับน่าจะเสร็จสิ้นในช่วงกลางปี 2565

ถึงตอนนั้น คาดหมายว่าจะมีกระแสเรียกร้องกดดันไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ให้ “ยุบสภา” อย่างหนัก

และคงทำให้อุณหภูมิร้อนฉ่า

ร้อนฉ่าทั้ง “ไทม์ไลน์การเมือง”

และร้อนฉ่าในวิธีการที่จะนำมาใช้ในการเลือกตั้ง

 

เป็นการเลือกตั้งภายใต้ “2 ที่สอง”

นั่นคือ 2 บัตรเลือกตั้ง หรือเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ เลือก ส.ส.เขต ใบหนึ่ง เลือก ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ใบหนึ่ง

ซึ่งจะชี้โฉมหน้ารัฐบาลใหม่อย่างมีนัยยะสำคัญ

โดยผู้ที่เริ่มเปิดประเด็นไว้น่าสนใจคือ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ที่ระบุว่า เคยคำนวณการเปลี่ยนแปลงจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคจะได้ภายใต้กติกาใหม่ โดยใช้ฐานคะแนนการเลือกตั้งปี 2562 เป็นข้อมูล

ปรากฏว่า เพื่อไทยได้เพิ่มจาก 0 เป็น 22

พลังประชารัฐ เพิ่มจาก 19 เป็น 24

อนาคตใหม่ (ก้าวไกล) ลดจาก 50 เหลือ 18

พรรคกลาง พรรคเล็ก ลดลงทุกพรรค (ยกเว้นประชาชาติ)

พรรคจิ๋ว 1 เสียง 12 พรรค สูญพันธุ์หมด

นายสมชัยบอกอีกว่า ทั้งนี้ พลังประชารัฐอย่าเพิ่งดีใจ เพราะคราวที่แล้วเพื่อไทยส่งผู้สมัครเขตเพียงแค่ 238 เขตจาก 350 เขต หรือคิดเป็นร้อยละ 68 และด้วยระบบบัตรใบเดียว เขตใดไม่ส่งเขตนั้นไม่มีคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่คราวนี้เป็นระบบบัตรสองใบ แม้ส่งไม่ครบก็จะได้คะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อจากบัตรใบที่สอง

ดังนั้น หากคิดบัญญัติไตรยางศ์อย่างง่ายๆ จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อเพื่อไทยในการเลือกตั้งคราวใหม่ที่จะเกิดขึ้นคือ 32 คน รวมเขตที่เคยได้เดิมอีก 136 เขต กลายเป็นจำนวน ส.ส. 168 คน

ทิ้งห่างพลังประชารัฐที่ได้เขตรวมบัญชีรายชื่อใหม่ แค่ 121 คน และคงหาข้ออ้างในการจัดตั้งรัฐบาลก่อนได้ยาก ยกเว้นจะไม่มีมารยาททางการเมือง

“งานนี้โทษใครไม่ได้ เพราะ พปชร.เป็นตัวตั้งตัวตีแก้รัฐธรรมนูญเป็นบัตร 2 ใบ พรรคเพื่อไทยต้องบอกว่าขอบคุณมาก” นายสมชัยระบุ

 

สอดคล้องกับนายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า การเลือกตั้งระบบ 2 ใบ เอื้อประโยชน์ให้พรรคเพื่อไทยจะทำให้มี ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อไม่น้อยกว่า 30 คน

“เราหนีระบอบทักษิณกลับมาเจอกับระบอบประยุทธ์ มาแก้ไขรัฐธรรมนูญเปิดทางให้ระบอบทักษิณกลับคืนมาอีก จะโทษใครไม่ได้เลยนอกจากพรรคร่วมรัฐบาลยื่นดาบให้ศัตรู” นายเทพไทระบุ

อย่างไรก็ตาม นายวิเชียร ชวลิต จากพรรคพลังประชารัฐ โต้ว่าไม่จริง อยู่ที่ยุทธศาสตร์การแข่งขันจะใช้อะไรหาเสียง แต่ไม่อยากพูด เวลานี้ภาคอีสานหลายคนคิดว่าเป็นของพรรคเพื่อไทย ความคิดของประชาชนสมัยใหม่อาจเปลี่ยนไปแล้ว

เช่นเดียวกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ บอกว่า สองใบก็ต้องสองใบ ก็เลือกกันไป ก็แล้วแต่ประชาชน ต้องไปถามประชาชนว่าใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบ

ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ยืนยันว่า พรรค พปชร.พร้อมเลือกตั้งแบบใหม่

โดยจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้ง 400 เขตทั่วประเทศ มั่นใจมีชัยชนะแน่นอน

ซึ่งดูจะเป็นความมั่นใจของคนในพรรคพลังประชารัฐ ว่าจะเลือกตั้งระบบไหน พรรคก็มีสิทธิคว้าชัย

 

แต่ทั้งนี้ คงต้องจับตา “2” ตัวที่สาม

นั่นคือ 2 ทางเลือกของ พล.อ.ประยุทธ์ที่จะขับเคลื่อนการเมืองของตัวเอง

1) จะเลือกยืนหยัดอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ หรือตัดสินใจไปตั้งพรรคใหม่

2) จะตัดสินใจยุบสภาเมื่อใด เพื่อเป็นประโยชน์ต่อตนเองและพวกมากที่สุด

ทั้งนี้ ในประเด็นแรก หากเลือกที่จะยืนหยัดกับพลังประชารัฐต่อไป พล.อ.ประยุทธ์ย่อมต้องการที่จะคุมพรรคแบบเบ็ดเสร็จ

คงไม่อาจปล่อยให้ฝ่ายของ ร.อ.ธรรมนัสคุมพรรคได้เหมือนขณะนี้

เพราะ ร.อ.ธรรมนัสและคู่หูอย่างนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค ดูจะไม่พยายามให้ราคากับ พล.อ.ประยุทธ์เท่าใดนัก ยังคงให้น้ำหนักไปที่ พล.อ.ประวิตรเป็นหลัก

และพยายามชี้นำและจัดการองคาพยพพรรคไปในทิศทางที่ ร.อ.ธรรมนัสต้องการมากกว่า

โดยไม่พูดถึง พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะนายกฯ อย่างน่าสังเกต

ซึ่งนั่นย่อมทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ อันรวมถึง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ไม่พึงใจเท่าใดนัก

 

นี่เองทำให้มีกระแสข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์จับมือกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ผนึกกำลังกับ “6 รัฐมนตรี” เตรียมตั้งพรรคใหม่

มีการกล่าวถึง “พรรคไทยสร้างสรรค์” ที่เพิ่งจดทะเบียนตั้งพรรคไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

เมื่อมีการนำเรื่องนี้ไปถาม พล.อ.ประยุทธ์ ปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม เดินฮัมเพลงไทยเดิมเลี่ยงขึ้นรถอย่างอารมณ์ดี พร้อมกล่าวว่า “ถามเก่งจริงนะ”

เช่นเดียวกับ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า สื่อรู้จักทุกพรรค แต่ตนเองไม่รู้จักสักพรรค

คนที่เป็นผู้มีอารมณ์หงุดหงิด กลับกลายเป็น พล.อ.ประวิตรแทน โดยยืนยันว่าไม่มีพรรคใหม่ พล.อ.ประยุทธ์ยังเป็นคนที่พรรคสนับสนุน

ในฝั่งฟาก พล.อ.ประยุทธ์ มีเพียงนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาตอบคำถามแทน พล.อ.ประยุทธ์ กรณีพรรคไทยสร้างสรรค์ที่ตั้งขึ้นมาใหม่ว่า นายกฯ ไม่มีความคิดในเรื่องนี้ เป็นเพียงกระแสข่าวในโซเชียลมีเดีย นายกฯ ยังคงอยู่กับพรรคพลังประชารัฐในฐานะผู้ที่พรรคเสนอชื่อเป็นนายกฯ

แต่กระนั้น ดูเหมือนกระแสการเตรียมการพรรคใหม่ก็ยังถูกพูดถึงอย่างไม่สร่างซา ในฐานะทางเลือกที่ พล.อ.ประยุทธ์อาจจะเลือกในอนาคตอันใกล้นี้ หากในพรรคพลังประชารัฐยังไม่อาจเคลียร์ความขัดแย้งลงได้

 

ไม่สร้างซาเช่นเดียวกับคำถามว่า เมื่อใด พล.อ.ประยุทธ์จะยุบสภา เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง

โดยเมื่อมีการถามนายธนกร ที่อ้างเป็นตัวแทนของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าการ “ยุบสภา” เลือกตั้งใหม่ เป็นไปได้หรือไม่ว่าหลังจบกฎหมายลูก 2 ฉบับ จะมีการประกาศยุบสภา

ซึ่งนายธนกรกล่าวว่า “นายกฯ ชี้แจงว่ายังไม่มีแนวคิดในเรื่องนี้”

แต่ในคำยืนยันว่า ยังไม่มีแนวคิดนั้น

ดูเหมือนว่าหลังจากการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมนับแต่วันที่ 21 พฤศจิกายนเป็นต้นมา

กระแสข่าวลือยุบสภาก็กระหึ่ม

กระหึ่มด้วยสภาวะที่ยังขาดความนิ่งอย่างเพียงพอภายในพรรคพลังประชารัฐอย่างที่กล่าวในข้างต้น

จึงเป็นความอึมครึม ว่าความขัดแย้งที่ดำรงอยู่จะนำไปสู่ “อุบัติเหตุ” ทางการเมืองหรือไม่

นอกจากนี้ ที่คุกรุ่นอยู่ขณะนี้ คือเสียงวิพากษ์ว่าการเดินเข้าไปสู่ระบบเลือกตั้งใหม่บัตร 2 ใบของรัฐบาลและพลังประชารัฐ เป็นการหลงเข้าไปใน ‘กลยุทธ์’ ทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยหรือเปล่า

อันอาจนำระบอบ “ทักษิณ” กลับมา

ซึ่งนั่นอาจทำให้ฐานเสียงที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์มาโดยตลอดทั้งฝ่ายเสื้อเหลือง ฝ่าย กปปส. ฝ่ายอนุรักษนิยม อาจจะกดดันไม่ให้หลงเกมอันน่าวิตกนั้น

การบีบชิงยุบสภาเพื่อสกัด พ.ร.ป.เลือกตั้ง โดยเฉพาะการเลือกแบบบัตร 2 ใบ อาจเป็นข้อเสนอที่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องคิด

แม้ว่านายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย จะเตือนว่าถ้าเดินไปในแนวนั้น “ยุ่งแน่…ได้แต่ภาวนาขออย่าให้มันเกิด” ก็ตาม

แต่เอาเข้าจริง ถ้าหากฝ่ายตรงข้ามอย่างเพื่อไทยจะแลนด์สไลด์ได้จริงๆ อะไรก็เกิดขึ้นได้

 

เกิดขึ้นได้แม้ว่าในช่วงเวลา “6 เดือน” ข้างหน้า ว่ากันว่าจะเป็นช่วงเวลาที่ดีของ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทยที่ลุ้นให้ร่างแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับผ่านสภา น่าจะเว้นการบดขยี้รัฐบาลเพื่อให้ทุกกระแสนำไปสู่การออก พ.ร.ป.ให้ได้ก่อน

เพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อ “อุบัติเหตุ” ทางการเมืองเสียก่อน

หลังจากนั้นในช่วงห้วงครึ่งหลังของปี 2565 ค่อยไปเร่งเครื่องถล่มรัฐบาลเพื่อปูทางสู่การเลือกตั้งที่น่าจะมีขึ้นปลายปี 2565 หรือต้นปี 2566

ซึ่งอาจจะช้าไปเพราะ 6 เดือนที่ปลอดจากการการกดดันทางการเมืองต่อจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ก็อาจฉวยจังหวะสามารถจะเร่งผลงานได้เต็มที่ พลิกฟื้นเศรษฐกิจในช่วงเปิดประเทศ ให้ดีขึ้นอย่างชัดเจน

นั่นย่อมจะสร้างคะแนนนิยมและสร้างความเชื่อมั่นก่อนที่จะเข้าสู่โหมดยุบสภาหลังจากนั้น ซึ่งถึงตอนนั้นทุกอย่างก็พร้อมสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์แล้ว

ซึ่งก็คงต้องขึ้นอยู่กับบิ๊กตู่ว่าจะเลือกและตัดสินใจอย่างไร ภายใต้ฉากทัศน์ 2-2-2 หลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้