2565 สู้ทั้งในสภาและบนถนน เพราะผลพวงแห่งความคับแค้น (1)/หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

2565 สู้ทั้งในสภาและบนถนน

เพราะผลพวงแห่งความคับแค้น (1)

 

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่ารัฐธรรมนูญซึ่งควรจะเป็นกติการ่วมกันของคนในชาติที่ปกครองประเทศให้ประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างมีความยุติธรรม กลับเขียนให้เอื้อประโยชน์กับคนกลุ่มหนึ่งและใช้ลงโทษคนที่มีความเห็นต่าง

ล่าสุดรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนถูกคว่ำลงในสภา แบบท้าทายว่า เสียงประชาชนอย่ามาเทียบเสียงผู้มีอำนาจ

ดังนั้น การต่อสู้ทางการเมืองบนถนนยังคงมีต่อไป เป็นการต่อสู้ของผู้มีอำนาจปกครองกับประชาชน รัฐบาลและ ส.ว.กลายเป็นตัวแทนการต่อสู้ของกลุ่มคนที่ได้ฉกฉวยอำนาจและผลประโยชน์ไปโดยมิชอบ ต้องสู้กับคนส่วนใหญ่ที่สูญเสียสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์

ภาพที่ปรากฏให้เห็นต่อไป จึงเป็นภาพการประท้วงต่อเนื่องของกลุ่มเยาวชนคนหนุ่ม-สาวที่มีต่อรัฐบาลปัจจุบันซึ่งสืบทอดอำนาจต่อมาจากการรัฐประหาร

เพราะความอยุติธรรมเหล่านี้ได้เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานกว่า 15 ปี มันจึงกลายเป็นการสะสมความรับรู้ และกลายเป็นความคับแค้นจนกระทั่งมีคนจำนวนหนึ่งทนไม่ได้ คนประท้วงจะมากขึ้นเพราะเดือดร้อนมากขึ้น และรับรู้มากขึ้น

คนกลุ่มนี้ปัจจุบันมีอายุระหว่าง 15-49 ปี

อายุ 15-24 ปี มีอยู่ประมาณ 9 ล้านคน

อายุ 25-34 ปี มีอยู่ประมาณ 9.4 ล้านคน

อายุ 35-44 ปี มีอยู่ประมาณ 10.2 ล้านคน

อายุ 45-49 ปี มีประมาณ 5 ล้านคน

ถ้าย้อนกลับไป 15 ปีที่แล้วที่มีการรัฐประหารนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ปี 2549 บางคนเพิ่งจะเกิด แต่หลายคนเป็นหนุ่มแล้ว หลายคนทำงานแล้ว กลุ่มคนหนุ่ม-สาวที่รับรู้การเมืองตั้งแต่ยุคนั้น ได้เติบโตมาทั้งอายุและความคิด เป็นคนส่วนใหญ่ของคน 24 ล้านคน

พวกเขาเห็นอะไร? และรับรู้เรื่องใด?

 

1.ปี 2549 พวกเขารู้จักรัฐบาลนายกฯ ทักษิณและการรัฐประหาร

ก่อนหน้านั้นรู้จักและพอใจโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค รู้ว่าเศรษฐกิจช่วงนั้นกำลังเติบโตทำมาค้าขายคล่อง ชาวบ้านกำลังลืมตาอ้าปากได้ หลังจากต้องใช้หนี้ IMF อยู่หลายปี

แต่แล้วก็มีการต่อต้านรัฐบาลทักษิณ แม้นายกฯ ทักษิณประกาศยุบสภาแล้วกลุ่มอำนาจเก่าก็ไม่ยอมรับการเลือกตั้งใหม่เพราะพรรคไทยรักไทยชนะมากเกินไป

พรรคคู่แข่งประชาธิปัตย์จึงประกาศบอยคอตไม่ร่วมการเลือกตั้งเดือนเมษายน 2549 และศาลก็สั่งให้การเลือกตั้งนั้นเป็นโมฆะ แม้จะกำหนดการเลือกตั้งใหม่ 15 ตุลาคม 2549

แต่อีกฝ่ายก็รู้ว่าถ้ามีการเลือกตั้งยังไงก็แพ้ ที่ทำการรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 บางคนอาจจะจำได้เพียงแค่ว่าทักษิณถูกรัฐประหารปี 2549

ปี 2550 มีการใช้อำนาจเปลี่ยนแปลงการเมือง

30 พฤษภาคม ตุลาการรัฐธรรมนูญยุบพรรคไทยรักไทย และให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค มีกำหนด 5 ปี 111คน

24 สิงหาคม หลังจากฉีกรัฐธรรมนูย 2540 ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ที่คิดว่าได้เปรียบ

23 ธันวาคม มีการเลือกตั้งทั่วไป แต่พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้ง สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี มีคนบ่นว่าเสียของ

 

2.ปี 2551 คนทั้งโลกจึงได้เห็นการใช้ม็อบ องค์กรอิสระ และตุลาการภิวัฒน์ ยึดอำนาจ

พันธมิตรฯ เสื้อเหลือง ชุมนุมไล่รัฐบาล จากนั้น 26 สิงหาคม ยึดทำเนียบรัฐบาล

9 กันยายน ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ‘สมัคร’ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกรณีเป็นพิธีกรรายการทำอาหาร ‘ชิมไปบ่นไป’

17 กันยายน นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีแทนสมัคร สุนทรเวช

7 ตุลาคม พันธมิตรฯ เสื้อเหลืองปิดล้อมหน้ารัฐสภาเพื่อขัดขวางการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา

21 ตุลาคม ศาลฎีกาตัดสินจำคุกทักษิณ 2 ปี-คดีที่ดินรัชดาไม่รอลงอาญา ทำให้อดีตนายกฯ ไม่กล้ากลับเข้าประเทศไทย

24-25 พฤศจิกายน พันธมิตรฯ ยึดสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ

2 ธันวาคม ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน-มัชฌิมาธิปไตย-ชาติไทย

ตัดสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 5 ปี สมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

3 ธันวาคม พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยุติการชุมนุม

9 ธันวาคม ประชาธิปัตย์ (ปชป.) จัดตั้งรัฐบาลผสมชุดใหม่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี

กลุ่มอำนาจเก่าบอกว่า ยังได้ภาพดีกว่าการใช้กำลังทำรัฐประหารซ้ำ เพราะม็อบก็ทำจนถึงขนาดยึดสนามบินแล้ว ตุลาการภิวัฒน์ แบบสุกเอาเผากิน จึงถือเป็นทางออกที่ดีกว่า

ปี 2552 ได้รัฐบาลผสม 3 อำนาจ …จากตุลาการภิวัฒน์ รัฐประหาร และงูเห่า มีสภา มีผู้บริหาร ในที่สุดแผนบันไดสี่ขั้นก็สำเร็จ แม้แพ้เลือกตั้ง แต่ยังได้เป็นรัฐบาล โดยมีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลในค่ายทหาร ได้ฉายาว่า รัฐบาลเทพประทาน

คนส่วนใหญ่เงียบเฉย เหมือนยอมรับ

 

3.ปี 2553 ได้เห็นการสังหารหมู่ประชาชนกลางเมือง

กุมภาพันธ์ 2553 ยึดทรัพย์ทักษิณ 4.6 หมื่นล้าน คดีขายหุ้นชินคอร์ป ถือเป็นการตัดเสบียงและกำลังหนุนของพรรคทักษิณ

10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553 มีการชุมนุมเรียกร้องให้นายกฯ อภิสิทธิ์ยุบสภาโดยกลุ่ม นปช.เสื้อแดง แต่ทหารเข้าสลายการชุมนุมด้วยอาวุธสงคราม มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 คน บาดเจ็บหลายพัน

แผนยึดอำนาจที่เริ่มในปี 2551 ถือเป็นรอยร้าว และกลายเป็นแตกแยกเมื่อมีการสังหารหมู่กลางเมือง ทำให้รอยแตกขยายกว้างกว่าเดิม ไปในขอบเขตทั่วประเทศ ในปี 2553

แม้ครั้งนี้ไม่ใช้กำลังรัฐประหาร แต่กลับร้ายแรงยิ่งกว่า ความคับแค้นครั้งนี้เกิดกับคนทุกวัยโดยเฉพาะคนเสื้อแดงที่เป็นคนสูงอายุ แต่สำหรับคนหนุ่ม-สาวนี่เป็นการเรียนรู้การต่อสู้ครั้งแรก แล้วก็พบว่ามันโหดร้ายและรุนแรงกว่าที่พวกเขาคิดไว้ ตำนาน 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519 และพฤษภาทมิฬ 2535 ปรากฏขึ้นต่อหน้า กลายเป็นความแค้นที่ฝังเข้าลึกถึงกระดูก

ปี 2554 ความคับแค้นแปรเปลี่ยนเป็นคะแนนเลือกตั้ง

สุดท้ายรัฐบาลที่ประชาชนไม่ได้เลือกมาก็อยู่ลำบาก ก็ต้องมีการประกาศยุบสภาจัดการเลือกตั้งทั่วไป 10 พฤษภาคม 2554

3 กรกฎาคม ผลการเลือกตั้งใหม่ในปี 2554 ประชาชนชนก็ยังคงเลือกเหมือนเดิม แยกชัดเจนกว่าเดิม ใครเคยเลือกฝ่ายไหนก็เลือกฝ่ายนั้น รัฐธรรมนูญ 2550 และอำนาจรัฐ อำนาจนอกระบบ ไม่มีผล

เพื่อไทยชนะได้เสียงเกินครึ่ง 265 ส.ส. (15.74 ล้านเสียง) ปชป. 159 ส.ส. (11.43 ล้านเสียง)

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

 

4.ปี 2556-2557 ได้เห็นการยึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ต้องใช้ทั้งม็อบ ตุลาการภิวัฒน์ และรัฐประหาร

ได้รัฐบาลจากการเลือกตั้ง 2554 ซึ่งต้องบริหารและปกครองในแบบมีอำนาจครึ่งเดียว ซึ่งใครๆ ก็มองว่านายกฯ ยิ่งลักษณ์ไม่มีทางอยู่นานกว่านายกฯ สมัคร ถ้าอยู่ถึง 6 เดือนก็เก่งแล้ว

พรรคเพื่อไทยพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 แม้ทำผ่านกระบวนการทางรัฐสภาก็ยังถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง

28 ตุลาคม 2555 ม็อบแช่แข็งของเสธ.อ้าย จะแช่แข็งประเทศไทย 5 ปี แต่ทำไม่สำเร็จ

1 พฤศจิกายน 2556 สภาผู้แทนราษฎรลงมติผ่านวาระ 3 พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

พฤศจิกายน 2556 แกนนำ ปชป.ลาออก แปลงกายเป็น กปปส. ชุมนุมต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่สถานีรถไฟสามเสน แล้วกลุ่มอำนาจเก่าก็สั่งขยายตัว กลายเป็นไล่รัฐบาล

9 ธันวาคม นายกฯ ยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภา ท้าเลือกตั้งใหม่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แต่พรรคประชาธิปัตย์ประกาศบอยคอต ไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง เพราะกลัวจะแพ้อีก

การเลือกตั้งล่วงหน้าและเลือกตั้งทั่วไป ถูกผู้ชุมนุม กปปส.ขัดขวางไม่ให้จัดในหลายเขตเลือกตั้ง

21 มีนาคม ศาลรัฐธรรมนูญให้การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ โมฆะ เพราะไม่สามารถจัดได้ภายในวันเดียว เนื่องจากมีบางแห่งที่ถูกขัดขวาง

7 พฤษภาคม ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการของนายกฯ ยิ่งลักษณ์สิ้นสุดลง เพราะคดีย้ายเลขาธิการ สมช. ถวิล เปลี่ยนศรี

แต่รัฐบาลก็ยังอยู่ได้ ที่ประชุม ครม.นัดพิเศษ มีมติให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี

จะเห็นว่ากลไกในระบบประชาธิปไตยได้เตรียมแก้ปัญหาไว้ โดยมีรองนายกฯ หลายคน เช่น นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา เป็นรองนายกฯ ลำดับ 6 เมื่อใช้ทั้งม็อบปิดกรุงเทพฯ ตุลาการภิวัฒน์หลายครั้งก็ยังเปลี่ยนรัฐบาลไม่ได้

…สุดท้ายต้องรัฐประหาร พฤษภาคม 2557

 

สรุปรัฐประหาร 2549-รัฐประหาร 2557

ผ่านไป 8 ปี

คนหนุ่ม-สาวได้รู้-เห็นอะไร? สงสัยอะไร?

รู้ว่าจะใช้เสียงกี่สิบล้านมาเลือกตั้งก็ไม่มีประโยชน์ พวกเขาใช้คนไม่กี่คนก็ปลดได้ แม้จะเป็นแค่เรื่องทำกับข้าวโชว์ทางทีวี

20 พฤศจิกายน 2556 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว. ว่าเป็นการกระทําที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นการกระทําเพื่อให้ผู้ถูกร้องทั้งหมดได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550

ทำให้สงสัยว่า การแก้รัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ หรือฝ่ายตุลาการ

12 มีนาคม พ.ร.บ.โครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้าน รถไฟความเร็วสูงและโครงการน้ำ ที่เสนอโดยฝ่ายบริหาร ถูกคว่ำโดยศาลรัฐธรรมนูญ สงสัยว่า เรื่องนโยบายและการบริหาร ต้องถามสภาหรือถามศาลรัฐธรรมนูญ?

ภาคแรก ผ่านไป 8 ปี คนหนุ่ม-สาวก็ได้เห็นการรัฐประหาร แย่งอำนาจ 2 ครั้ง ใช้อำนาจกฎหมายเล่นงานฝ่ายตรงข้ามนับครั้งไม่ถ้วน คะแนนเสียงกี่ล้านก็ไม่มีความหมาย จะให้เขายินดีต้อนรับคณะรัฐประหารอย่างนั้นหรือ แต่นี่ยังไม่จบ พวกเขาจะได้พบและสัมผัสความอยุติธรรมที่มากกว่า ด้านกว่า…