ล้านนาคำเมือง ชมรมฮักตั๋วเมือง : “กะต๊ำป๋าค่ำตุ๊”

ล้านนาคำเมือง ชมรมฮักตั๋วเมือง

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

อ่านว่า “กะต๊ำป๋าค่ำตุ๊”

กะท้ำปลา หมายถึง เครื่องดักปลา พรานปลา

ฅ่ำ คือ กลั่นแกล้ง และ

ทุ หมายถึง พระภิกษุ แปลโดยรวมว่า พรานปลากลั่นแกล้งพระ

แต่ในที่นี้กะท้ำปลาเป็นชื่อตัวละคร จึงแปลว่านายกะท้ำปลากลั่นแกล้งพระ

 

กะท้ำปลาค่ำทุเป็นนิทานพื้นบ้านล้านนา เล่าขานสืบทอดกันมายาวนานเป็นเรื่องราวของศิษย์วัดชื่อนายกะท้ำปลาที่กลั่นแกล้งพระด้วยวิธีการสารพัด ดังเช่นตัวอย่าง

ครั้งหนึ่งพระกับนายกะท้ำปลาไปซื้อเกลือ เมื่อได้เกลือแล้วก็ให้กะท้ำปลาเป็นคนหาบเกลือกลับวัด ส่วนพระขึ้นขี่ม้านำหน้า

ระหว่างทางกะท้ำปลารู้สึกหนักและอยากจะแกล้งพระ จึงหาโอกาสช่วงพักกลางทางแอบกลับด้านอานม้าและทำให้อานม้าหลุดจากหลังม้าโดยง่าย

เมื่อเดินทางต่อพระก็หลุดตกจากหลังม้าบ่อยๆ ส่วนกะท้ำปลาก็ทำทีเป็นเดินหาบไปพร้อมกับซบหลับกับไม้คานหาบไปด้วยเสมือนหาบอย่างมีความสุข

พระเห็นดังนั้นก็คิดว่าหาบเกลือสบายกว่า จึงลงจากหลังม้ามาขอแลกโดยขอหาบเกลือแทน กะท้ำปลาก็ยินยอม แลกแล้วเขาก็จัดอานม้าให้กระชับดังเดิม จากนั้นก็ขึ้นขี่ม้าห้อตะบึงกลับวัดโดยพลัน

ส่วนพระหาบเกลือมาได้ระยะหนึ่งก็ได้รับทุกขเวทนาเพราะหนักและเหนื่อยจนทนไม่ไหว ครั้นจะทิ้งเกลือไว้ก็เสียดาย จึงนำเกลือไปซ่อนในที่ที่คิดว่าปลอดภัยที่สุดคือหนองน้ำริมทาง จากนั้นจึงเดินกลับวัด

เมื่อถึงวัดได้พักผ่อนแล้ว จึงชวนกะท้ำปลากลับไปดูเกลือที่ซ่อนไว้ พอยกกระบุงเกลือขึ้นจากน้ำปรากฏว่าไม่เหลือแม้แต่น้อยเพราะเกลือละลายหมด กะท้ำปลาจึงบอกพระว่าปลากินเกลือไปหมดแล้ว

พระได้ยินดังนั้นก็โกรธจัด จึงสั่งให้กะท้ำปลาช่วยตนวิดน้ำเพื่อจับปลา เมื่อน้ำแห้งเขาก็บอกพระว่าถ้าจับได้ปลาช่อนให้ยื่นมา เขาจะขอตบให้ตาย

เมื่อพระได้ปลาช่อนก็ยื่นให้ เขาก็ใช้มือทั้งสองตบเข้าหากันที่หัวปลาช่อนแล้วโยนขึ้นบก

พอกะท้ำปลาได้ปลาดุกก็ยื่นให้พระ พระก็ทำอย่างที่เขาทำคือเอามือทั้งสองตบเข้าหากันที่หัวปลาดุก เงี่ยงปลาดุกจึงปักเสียบคามือพระอยู่อย่างนั้น

พิษของเงี่ยงปลาดุกทำให้พระเจ็บปวดไม่สามารถดึงมือออกได้ จึงขอให้กะท้ำปลาช่วย เขาจึงวิ่งขึ้นไปเนินเขาสูงใกล้บริเวณนั้นและกลิ้งหินก้อนโตลงมาอย่างรวดเร็วพร้อมตะโกนว่า

“บ่เสือก็หมี บ่หนีก็ตาย…เน้อววว”

พระเห็นดังนั้นก็ตกใจดึงมือออกจากปลาพร้อมกระโดดหลบก้อนหินไปอย่างหวุดหวิด

 

ตะวันรอน พระกับศิษย์ก็นำปลาที่ได้ใส่กระบุงกลับวัด เมื่อถึงวัด กะท้ำปลาก็จัดการปิ้งปลา ปลาสุกแล้วเขาก็ชวนพระกิน พระบอกว่ายังไม่หิว ให้กินไปก่อน แต่อย่าลืมแบ่งเก็บไว้ให้ด้วย เขาบอกพระว่าเดี๋ยวจะเก็บไว้ให้ในกระติบข้าว เขาจัดการกินเนื้อปลาที่ได้มาทั้งหมดจนเหลือแต่ก้างปลา จากนั้นเอาก้างปลาใส่กระติบข้าวพร้อมจับแมลงวันใส่หลายตัวแล้วปิดฝาไว้ เมื่อถึงเวลาพระจะฉันก็เปิดกระติบข้าว แมลงวันก็บินว่อนออกมา ส่วนปลาก็มีแต่ก้าง กะท้ำปลาจึงบอกพระว่า

“ตุ๊ แมลงวันมันกิ๋นป๋าตุ๊หมด เหลือก้าก้าง”

พระยินคำศิษย์ โทสจริตก็บังเกิดเป็นคำรบสอง จึงสั่งให้กะท้ำปลาถือท่อนไม้ไว้ในมือให้มั่น เห็นแมลงวันเกาะตรงไหนให้ทุบให้ตาย กะท้ำปลาก็ไล่ทุบตามสั่ง

กระทั่งมีแมลงวันอยู่ตัวหนึ่งบินมาเกาะที่จมูกพระ กะท้ำปลาก็ฟาดท่อนไม้ไปยังที่หมายอย่างเต็มแรงเกิด

พระจะเจ็บหนักหรือตาย ผู้เล่าก็นำไปขยายกันไปต่างๆ นานา

 

ละอ่อนมักฟังเจี้ยม่วนๆ

แปลว่า เด็กชอบฟังนิทานสนุกๆ