‘สภาพัฒน์’ ห่วงเศรษฐกิจฟื้นช้า หนี้ครัวเรือนพุ่ง ฉุดประเทศติดหล่ม/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

‘สภาพัฒน์’ ห่วงเศรษฐกิจฟื้นช้า

หนี้ครัวเรือนพุ่ง

ฉุดประเทศติดหล่ม

 

เศรษฐกิจไทยกำลังทยอยฟื้นตัว หลังรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ เดินหน้าเปิดเมือง เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ลดลงต่อเนื่อง ตามรายงานของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (ศบค.)

เริ่มมองเห็นสัญญาณด้านบวกที่ชัดเจนขึ้น น่าจะเป็นไปตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุก่อนหน้านี้ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 พ้นจุดต่ำสุดแล้ว ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา

ล่าสุด สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ประกาศตัวเลขอัตราขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในไตรมาส 3 ของปี 2564 ปรากฏว่าจีดีพีหดตัวที่ -0.3% ต่อปี

ดีกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันไว้ว่าจะติดลบมากกว่านี้ เพราะไตรมาส 3 เป็นช่วงที่มีการล็อกดาวน์เข้มข้น เนื่องจากโควิดระบาดอย่างรุนแรง

 

“ดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า สภาพัฒน์ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวที่ 1.2% ต่อปี โดยแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 จะค่อยๆ ฟื้นตัว หลังจากไตรมาส 3 จะเป็นจุดที่ค่อนข้างมีปัญหามากที่สุด

หากสถานการณ์โควิดดีขึ้นเรื่อยๆ เศรษฐกิจไตรมาส 4 จะดีขึ้นกว่าไตรมาส 3 แน่นอน อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามสถานการณ์โควิด ในบางจังหวัดทางภาคใต้ กับการแพร่ระบาดในบางพื้นที่อย่างจังหวัดเชียงใหม่ ยังน่ากังวล

ส่วนแนวโน้มปี 2565 สภาพัฒน์คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.5-4.5% ต่อปี (ค่ากลางอยู่ที่ 4%) มาจากการบริโภคที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 4.3% การลงทุนเอกชนขยายตัว 4.2% การลงทุนภาครัฐขยายตัว 4.6% และการส่งออกคาดว่าจะขยายตัว 4.9%

โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเปิดประเทศ ซึ่งคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย 5 ล้านคน มีรายรับจากการท่องเที่ยวกว่า 4.4 แสนล้านบาท

 

เลขาธิการสภาพัฒน์กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการบริหารประเทศในปี 2565 ต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้ โดยเฉพาะหนี้ภาคครัวเรือน ต้องเร่งแก้ปัญหาด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือน หนี้บุคคล และหนี้ธุรกิจ

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือสภาพคล่องแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เพื่อรักษาระดับจ้างงาน โดยให้เงินช่วยเหลือเอสเอ็มอี 3,000 บาทต่อลูกจ้าง 1 คน แต่จำกัดจำนวนลูกจ้างไม่เกิน 200 คน ซึ่งคาดว่าเม็ดเงินจะออกช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ บนเงื่อนไขต้องรักษาระดับการจ้างงานไม่ให้ต่ำกว่า 95% ดังนั้น มาตรการส่วนนี้จะช่วยดูแลปัญหาได้ทางหนึ่ง

“สำหรับมาตรการรวมหนี้ ที่แบงก์ชาติออกมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 ในส่วนหนี้ที่มีเจ้าหนี้เป็นสถาบันการเงินเดียวกันสามารถรวมหนี้ได้ แต่ต่างสถาบันการเงินยังทำไม่ได้ ซึ่ง ธปท.ต้องเร่งเข้าไปปรับ นอกจากนี้ ธปท.จะต้องประชาสัมพันธ์มาตรการดังกล่าวเพิ่มขึ้นด้วย เพราะก่อนหน้านี้ได้หารือร่วมกับสหภาพแรงงานที่มีปัญหาในแง่ของหนี้บุคคล หนี้สถาบันการเงิน และหนี้สหกรณ์ พบว่าส่วนใหญ่ยังมีคนไม่รู้ว่ามีมาตรการนี้”

จึงได้ขอให้ผู้แทน ธปท. เร่งประชาสัมพันธ์ออกไป เพราะการรวมหนี้เหล่านี้ประชาชนต้องเร่งดำเนินการ ไม่เช่นนั้นจะทำให้กำลังการใช้จ่ายลดลงเรื่อยๆ หากไม่ปรับใหม่ จะแย่กันหมด

นายดนุชากล่าวว่า สภาพัฒน์จะรายงานอัพเดตภาวะหนี้สินครัวเรือนอีกครั้งเร็วๆ นี้ ซึ่งครั้งล่าสุด ได้รายงานว่า ในไตรมาสแรกปี 2564 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่ารวม 14.13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.6% จาก 4.1% ในไตรมาส 4 ปี 2563 และคิดเป็นสัดส่วน 90.5% ต่อจีดีพี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการเลื่อนและพักชำระหนี้ ทำให้ยอดหนี้คงค้างไม่ลดลง รวมทั้งครัวเรือนที่ไม่ได้รับผลกระทบมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น

คุณภาพสินเชื่อจึงยังเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง ทั้งนี้ สัดส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ของสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคต่อสินเชื่อรวมขณะนี้อยู่ที่ 2.92% เพิ่มขึ้นจาก 2.84% ในไตรมาสก่อน และพบว่าคุณภาพสินเชื่อด้อยลงเกือบทุกประเภทสินเชื่อ ยกเว้นสินเชื่อที่อยู่อาศัย

สะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนเริ่มมีปัญหาในการหารายได้หรือสถานะทางการเงินเปราะบางมากขึ้น

 

นอกจากนี้ ในการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 ที่ประชุมได้ให้น้ำหนักกับการดูแลความเสี่ยงปัญหาหนี้ครัวเรือน เนื่องจากเห็นว่าวิกฤตโควิด-19 ทำให้ครัวเรือนจำนวนมากมีปัญหาในการชำระหนี้ ซึ่งจะเป็นปัญหามากยิ่งขึ้น ในช่วงวัฏจักรขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ย หรือเศรษฐกิจเผชิญความผันผวนสูง

มาตรการเร่งด่วน คือ การเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้รายย่อยที่มีภาระหนี้สูง ส่วนแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนในระยะยาว ต้องมีการเตรียมการในเรื่อง

(1) โครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลเครดิตที่ครอบคลุมภาระหนี้ทั้งหมดของครัวเรือน

(2) การผลักดันให้เจ้าหนี้ให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (responsible lending)

(3) การส่งเสริมให้ลูกหนี้มีความเข้าใจและมีวินัยทางการเงิน

และ (4) การส่งเสริมให้มีผู้ให้บริการทางการเงินทางเลือกเพื่อช่วยลดหนี้นอกระบบ

“ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) มองในทำนองเดียวกันว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยตอนนี้ ไม่ได้อยู่ในวิกฤตแล้ว แต่ยังมีคนส่วนใหญ่ที่กำลังอยู่ในภาวะวิกฤต

เนื่องจากรายได้ได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิด และรายได้ยังไม่ฟื้นกลับมาจากปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่อยู่ระดับสูง

ก่อนฟันธงชัดเจนว่า ถึงเวลาที่ต้องการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็น “ปัญหาเรื้อรัง” ฉุดรั้งเศรษฐกิจทั้งระบบ