เทศมองไทย : ไทย-อาเซียน-สหรัฐ กับ “เกาหลีเหนือ”

เกาหลีเหนือ กลายเป็น “เรื่องร้อน” ขึ้นมาอย่างน่าสนใจในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่มประเทศประชาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และประเทศคู่เจรจาชนิดที่ทำให้ความสนใจซึ่งแต่เดิมเน้นซ้ำซากอยู่ที่ประเด็นความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ กลายเป็นเรื่องรองไปในทันที

เพราะเกาหลีเหนือของ คิม จอง อึน เล่นทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป หรือ ไอซีบีเอ็ม ถึง 2 ครั้งซ้อนในช่วงระยะเวลาเพียงไม่ถึงเดือนที่ผ่านมา

พร้อมกับอวดอ้างขีดความสามารถทางนิวเคลียร์ของตัวเองด้วยว่า สามารถพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ให้เล็กลงจนสามารถบรรจุไว้ในส่วนบรรจุ “หัวรบ” ของจรวดข้ามทวีปที่ว่านั้นได้

ไม่ว่าใครก็ตามล้วนมองพัฒนาการดังกล่าวนี้ว่า ไม่ใช่เป็นพัฒนาการในเชิงสร้างสรรค์

หนำซ้ำยังกลายเป็นเครื่องคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงได้

การที่ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนออกแถลงการณ์เรื่องเกาหลีเหนือเป็นการจำเพาะเจาะจงออกมาในยามนี้ จึงไม่ถือเป็นเรื่องน่าแปลกใจมากมายนัก

เว้นเสียแต่ว่า จะมีการตั้งข้อสังเกตกันไว้ก่อนหน้าการประชุมหนนี้ว่า รูปแบบและระยะใกล้-ไกลของความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่อย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ที่หลายคนยอมรับว่า “จับทิศทาง” ได้ยากเอามากๆ กับกลุ่มประเทศอาเซียน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับไทยและมาเลเซีย นั้น ขึ้นอยู่กับว่า อาเซียน ไทยและมาเลเซีย จะแสดงออกอย่างไรต่อเกาหลีเหนือ

 

ราล์ฟ เจนนิงส์ แห่ง “ฟอร์บส์ นาว” บล็อกของฟอร์บส์ ตั้งข้อสังเกตไว้ทำนองนั้นในข้อเขียนของตนเองก่อนหน้าการประชุมครั้งนี้ ที่เป็นการประชุม 3 กรอบหลักๆ ด้วยกัน คือ กรอบการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน, กรอบการประชุมเอเชียตะวันออก (อีเอเอส) และสุดท้ายคือกรอบการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง หรือที่นิยมเรียกกันว่า เออาร์เอฟ

ตัวแทนของสหรัฐอเมริกาที่เดินทางเข้ามาร่วมการประชุมหนนี้หนีไม่พ้น เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน มหาเศรษฐีน้ำมันที่ผันตัวมาทำหน้าที่รัฐมนตรีต่างประเทศให้กับทรัมป์

เสร็จการประชุมที่มะนิลาแล้ว ทิลเลอร์สันเดินทางต่อมาเยือนอีก 2 ประเทศเป็นกรณีพิเศษ โดยแวะเยือนปุตราจายา ในกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ก่อนที่จะเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ตึกไทยคู่ฟ้า เป็นลำดับถัดมา

กำหนดการเดินทางดังกล่าว กลายเป็นเครื่องหมายคำถามของผู้สื่อข่าวที่ติดตามท่านรัฐมนตรีตั้งแต่ก่อนออกเดินทางจากวอชิงตันในระหว่างการแถลงข่าวแบบ “เทเลคอนเฟอเรนซ์” ถึงการเดินทางทริปนี้ โดยมี ซูซาน ธอร์นตัน รักษาการผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศ ทำหน้าที่เป็นผู้แถลง

ไม่รู้ว่าธอร์นตันแถลงว่าอย่างไร แต่เจนนิงส์สรุปความเอาไว้ว่า ทั้งไทยและมาเลเซีย สามารถ “คาดหวังได้ว่าความสัมพันธ์ของตน (กับสหรัฐอเมริกา) จะพุ่งสูงเป็นติดจรวด หากให้การสนับสนุนวาระสำคัญของทรัมป์ในภูมิภาคเอเชีย นั่นคือการจำกัดพัฒนาการของอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธข้ามทวีปของเกาหลีเหนือ”

คำถามคือ สหรัฐอเมริกาสามารถครอบงำการประชุมอาเซียนให้ออกแถลงการณ์เรื่องเกาหลีเหนือ ซึ่งไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ “อาเซียน” เลยเชียวหรือ?

 

ข้อเท็จจริงที่ปรากฏก็คือ ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เหตุผลสำคัญที่แถลงการณ์ร่วมอาเซียนออกมาในทำนองนั้นก็เพราะว่า พฤติกรรมของเกาหลีเหนือส่อเค้าจะเป็น “ภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคง ทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลก” จริงๆ

เหตุผลหนึ่งก็คือ ในบรรดาประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ไม่ได้มีแต่เฉพาะสหรัฐอเมริกา หากแต่ยังมีประเทศอย่างจีน และรัสเซีย รวมอยู่ด้วย นอกจากนั้น อาเซียนยังเชิญเกาหลีเหนือเข้าร่วมอยู่ในกรอบการประชุมเออาร์เอฟด้วยอีกต่างหาก

ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ ไทยก็ดี มาเลเซียก็ดี รวมทั้งอาเซียน ทั้งหมด ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะยกระดับ “เกาหลีเหนือ” ขึ้นมาเป็น “ศัตรูโดยตรง” ของภูมิภาคเลยแม้แต่น้อยนิด

รายงานของรอยเตอร์และเอพีที่บ่งบอกถึงบรรยากาศในการประชุม ยังแสดงให้เห็นว่า สหรัฐอเมริกาล้มเหลวในการผลักดันหลายๆ อย่างในระหว่างการประชุม

ที่ชัดเจนก็คือ ความพยายามผลักดันให้ลงโทษเกาหลีเหนือด้วยการเขี่ยออกจากเวทีเออาร์เอฟ เพราะในการประชุมเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม รี ยอง โฮ รัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีเหนือที่ทิลเลอร์สันหลีกลี้หนีหน้าตลอดเวลา ก็ยังเข้าร่วมประชุม

ทัศนะที่ว่า “เราจะได้ยิน (ความเห็น) พวกเขาอย่างไร ถ้าพวกเขาไม่อยู่ในที่นี้” จึงยังมีเหตุมีผลเหนือกว่าการยื่นคำขาดหรือการลงโทษ

 

ราล์ฟ เจนนิงส์ ยังอ้างถึงความเห็นของ “ผู้เชี่ยวชาญ” การต่างประเทศของทรัมป์คาดหวังว่า หลายชาติอาเซียน รวมทั้งไทยและมาเลเซีย อาจยอมตามอเมริกันด้วยการ “ลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูต” กับเกาหลีเหนือลง

บางคนอย่างเช่น “ฌอว์น คิง” รองประธานอาวุโสของ ปาร์ก สตรัตเทจีส์ บริษัทที่ปรึกษาทางการเมืองในนิวยอร์ก ถึงกับเชื่อว่า ทิลเลอร์สันคงพยายามให้ไทยและมาเลเซียรวมถึงฟิลิปปินส์ “ตัดสัมพันธ์ทางการทูต” กับเกาหลีเหนือลงด้วยซ้ำไป

ซึ่งไม่เกิดขึ้นจริง จนถึงเวลานี้

อาเซียน รวมทั้งไทยและมาเลเซีย ยังคงยึดหลักเรียกร้องเกาหลีเหนือ และพร้อมดำเนินการ “ตามที่จำเป็น”

ในฐานะเป็นชาติสมาชิกที่มีพันธะผูกพันต้องดำเนินการตาม “มติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ” เท่านั้นเอง