จัตวา กลิ่นสุนทร : “ศิลปินแห่งชาติ” สัญจร จังหวัดเพชรบูรณ์ “เพาะเมล็ดพันธุ์ ต้นกล้าศิลป์”

กลุ่มศิลปินแห่งชาติจำนวนมากเกือบครบทุกสาขา เรียกว่าท่านที่ยังคงเคลื่อนไหวร่างกายได้ ก็พกพาหัวใจอันเปี่ยมล้นไปด้วย “พลังของศิลปะ” ร่วมกันสัญจรเพื่อเผยแพร่ถ่ายทอดความรู้สู่เยาวชน นักศึกษา ประชาชนของชาติ

โครงการนี้กระทรวงวัฒนธรรมสนับสนุนงบประมาณมาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 เพราะเป็นต้นสังกัดของ “ศิลปินแห่งชาติ”

และผู้ริเริ่มโครงการนี้คือ กมล ทัศนาญชลี “ศิลปินแห่งชาติ” (พ.ศ.2540) (ท่านพี่) ถวัลย์ ดัชนี “ศิลปินแห่งชาติ” (พ.ศ.2544) ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ประหยัด พงษ์ดำ “ศิลปินแห่งชาติ” (พ.ศ.2541)

วงการศิลปะของชาติแต่เก่าก่อนนั้นไม่ค่อยจะสนใจ “ศิลปะร่วมสมัย” สักเท่าไร คิดกันแต่เพียงว่าศิลปะแนวทางดังกล่าว หรือศิลปะสมัยใหม่ของศิลปินทางด้านจิตรกรรมมักจะก้าวหน้าไกลกระทั่งผลงานเป็นนามธรรม (Abstract) ประชาชนทั่วไปคิดว่าเกินกำลังสติปัญญาตามไม่ทัน ไม่มีความรู้สึกสามารถเสพได้อย่างมีรสชาติ ดูไม่รู้เรื่อง

การไหลบ่าของความเปลี่ยนแปลงจากซีกโลกอื่นโดยเฉพาะตะวันตกจนเกิดความร่วมสมัยกันทั่วโลกเกิดขึ้นหลายทศวรรษทีเดียว ซึ่งกลายเป็นเหมือนการทดลอง

กระทั่งสุดท้ายได้ไต่ไปจนถึงจุดสูงสุดคือทำลายรูปแบบต่างๆ จนหมดสิ้น เหลือเพียงอารมณ์ความรู้สึกในการแสดงออก

 

แต่งานที่เรียกว่า “ศิลปะร่วมสมัย” กลับไม่จีรัง ไหลบ่ามาเร็ว ก็เหือดหายไปเร็วไวเช่นกัน ไม่ยืนยงคลาสสิค (Classic) เหมือนกับงานเหมือนจริง (Realistic) โดยเฉพาะงานเหมือนจริงที่เปลี่ยนรูปแบบสีสันได้กลมกลืนหรือเข้ากันกับวัสดุ เทคนิค (Technic) สมัยใหม่ร่วมสมัย ซึ่งก็พัฒนาอย่างรวดเร็ว

งานศิลปะแบบ “นามธรรม” มาได้เพียงชั่วครู่ชั่วยามแล้วก็แปรเปลี่ยนไป ศิลปินร่วมสมัยทุกชาติพันธุ์ล้วนต่างยึดเหนี่ยวรากเหง้าความเป็นชาติในชีวิตประจำวันของเขา เช่น วัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา ความเชื่อ และประวัติศาสตร์ ฯลฯ มาสร้างสรรค์ศิลปะ เรียกว่าหยิบสิ่งใกล้ตัวจนกระทั่งผู้เสพสัมผัสได้ด้วยความรู้สึกอันเป็นต้นทุนของคนที่รักสวยรักงาม และรักศิลปวัฒนธรรม

ศิลปินไทยร่วมสมัยจำนวนไม่น้อยนำเอารากเหง้าของความเป็นไทย ศิลปะไทย ลายไทย ลายกนก ฯลฯ และพุทธศาสนามาเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์ศิลปะจนเกิดงาน “พุทธศิลป์” อันงดงามลึกซึ้ง และสัมผัสได้

งานศิลปะแนวทางนี้จึงเป็นที่นิยมในการสะสม และนำไปประดับอาคารบ้านเรือน หรือแม้เก็บเอาไว้เป็นสมบัติทางปัญญา และมีราคาทางธุรกิจ

 

ศิลปินไทยแนวพุทธศิลป์เดินตามกันออกมาไม่น้อยจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ หลังจากได้ก่อตั้ง “คณะศิลปกรรมไทย” ในมหาวิทยาลัยศิลปากร ศิลปินแนวทางนี้นอกจากจะเชี่ยวชาญทางด้านงานศิลปะแล้ว หลายๆ ท่านได้สนใจศึกษาศาสนาพุทธ พุทธปรัชญา กระทั่งรู้จักรู้จริงและเข้าถึง เพื่อนำเอาแก่นแท้ วิญญาณแห่งความศรัทธามาสอดแทรกในผลงาน

ว่ากันว่า “(ท่านพี่) ถวัลย์ ดัชนี” ปราชญ์วาดรูป นอกจากจะศึกษาจนลึกซึ้งชาญฉลาดในแนวทางปรัชญาแล้ว ยังเข้าถึงแก่นแท้ของพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น งานของท่านไม่ว่าจะออกมาในรูปของสัตว์อะไร ก็มีความเป็นพุทธปรัชญาซ่อนเร้นฝังอยู่ให้ได้ขบคิดค้นหา

การฝึกฝนเพื่อลอกเลียนเส้นสายดรอว์อิ้ง (Drawing) ไม่น่าจะเกินความพยายามของผู้ที่ตั้งใจ แต่การสอดใส่วิญญาณรวมทั้งพุทธปรัชญาเข้าไปด้วยนั้นคงยากที่จะทำได้อย่าง (ท่านพี่) ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินใหญ่ผู้ล่วงลับ

เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ “ศิลปินแห่งชาติ” (สาขาทัศนศิลป์) ก็มีแนวทางของตนเอง แม้ลายกนกซึ่งบรรจงสะบัดปลายดินสอพู่กันจะพลิ้วไหวมากมายจนแลดูดัดจริตสะดิ้งสะดุ้ง แต่ก็เป็นตัวของตัวเอง รวมทั้งมีอะไรๆ สอดแทรกเข้าไปจนเกิดความนิ่งสงบลึกซึ้งถึงศรัทธา ผสมผสานกับลีลาจิตวิญญาณที่หนักแน่นมุ่งมั่น ผลงานของเขาจึงประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการสะสมในราคาที่สูงเป็นพิเศษ

ผลงานของท่านพี่ถวัลย์ ดัชนี ปราชญ์วาดรูประยะหลังๆ ก่อนเสียชีวิต ว่ากันว่ามีราคาถึงชิ้นละ 1-3 ล้านบาท ทั้งที่ท่านพี่ใช้เวลาลากสะบัดฝีแปรงในเวลาจำนวนเพียงไม่นานนาที ซึ่งยังจำได้ว่าท่านมักพูดเล่นๆ ว่า “เพียงวินาที ไม่ใช่นาที”?

เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ผลงานของเขาไม่ว่าจะเป็นงานจิตรกรรม หรืองานปั้น-ประติมากรรม งานอะไรๆ ที่ออกมาจะมีราคาสูงไล่หลังของท่านพี่ถวัลย์มาแบบหายใจรดต้นคอเสมอๆ

 

ปัญญา วิจินธนสาร อดีตคณบดีคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ รุ่นน้องเฉลิมชัยเพียงปีเดียว เป็น “ศิลปินอาจารย์” ละแวกหน้าพระลานอีกคนหนึ่งที่ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น “ศิลปินแห่งชาติ” (สาขาทัศนศิลป์) ก็มีผลงานแนวทางพุทธศิลป์เช่นเดียวกัน

ซึ่งผลงานแนวทางดังกล่าวเป็นที่นิยมและยอมรับของนักสะสมศิลปะ ผู้เสพรสชาติศิลปะในบ้านเรา รวมทั้งเป็นที่ชื่นชมชื่นชอบของชาวต่างชาติ เรียกกันว่า “ศิลปะไทยร่วมสมัย”

ความจริงความตั้งใจเดิมอยากจะเขียนเรื่องการขยายตัวของการเรียนการสอน ความนิยมงานศิลปะร่วมสมัย สถานที่แสดงงาน (Gallery) ในบ้านเราที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเพียงไม่กี่ทศวรรษ จากสถานแสดงภาพเล็กๆ ของเอกชนไม่กี่แห่ง ต่อมาก็เป็นของสถาบันการเงินเอกชน บริษัทใหญ่ๆ หลักๆ ที่มุ่งหวังจะเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เครือข่ายธุรกิจของเขาด้วยการหันมาสนับสนุนงานศิลปะ รวมทั้งการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐ

การเรียนการสอนศิลปะจากส่วนกลางขยายสู่มหาวิทยาลัยในหัวเมืองใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏแทบทุกภาคเปิดคณะศิลปกรรม จิตรกรรม หรือคณะวิจิตรศิลป์ และบางมหาวิทยาลัยอย่างมหาวิทยาลัยบูรพามีการสอนถึงขั้นปริญญาโท

กมล ทัศนาญชลี “ศิลปินแห่งชาติ” (สาขาทัศนศิลป์) ซึ่งอุทิศชีวิต จิตวิญญาณเพื่อวงการศิลปะร่วมสมัยของประเทศไทย และเป็นศิลปินไทยที่ไปศึกษา ทำงานอยู่ในสหรัฐเป็นเวลานานจนประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก แต่ก็ไม่เคยลืมวงการศิลปะของประเทศไทย เป็นศิลปินอีกคนหนึ่งที่ทำงานแนวทางร่วมสมัย นามธรรม แต่ไม่เคยลืมรากเหง้าความเป็นไทย

จึงเกิดเรื่องราวของ “หนังใหญ่” และจิตวิญญาณไทยอื่นๆ ในผลงานของเขาตามรูปแบบการนำเสนอซึ่งเป็นสไตล์ส่วนตัว

 

เมื่อได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ.2540 กมลทำงานอย่างหนักให้กับกระทรวงวัฒนธรรม เขาเดินทางไปกลับระหว่างประเทศไทย สหรัฐ ปีละหลายๆ ครั้งติดต่อกันมาทุกๆ ปี เพื่อดำเนินการจัดงาน “ศิลปินแห่งชาติสัญจร” เผยแพร่แนะนำแนวทางการศึกษาเล่าเรียนศิลปะ เป็น “การเพาะเมล็ดพันธุ์ ต้นกล้าศิลป์”

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 เป็นต้นมา กมลซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรม และ (ท่านพี่) ถวัลย์ ดัชนี ท่านอาจารย์ประหยัด พงษ์ดำ สองศิลปินแห่งชาติที่เรียกได้เต็มปากว่าเป็นคู่หูกัน และเป็นเจ้าของผลงานซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของนักสะสมศิลปะ ท่านจะให้การสนับสนุนทางด้านการเงิน พร้อม “สัญจร” ไปตามจังหวัดต่างๆ ปีละ 4 ครั้ง 4 ภาคเป็นเวลารวมทั้งหมด 16 ปี จนครบทุกภาคของประเทศ

(ท่านพี่) ถวัลย์ ดัชนี และศาสตราจารย์เกียรติคุณ ประหยัด พงษ์ดำ ให้การสนับสนุนโครงการ “ศิลปินแห่งชาติสัญจร” อย่างเต็มกำลังความสามารถ รวมทั้งร่วมสัญจรไปด้วยเกือบทุกครั้งทั้งๆ ที่อยู่ในวัยสูงอายุ ทำให้โครงการนี้ซึ่งเริ่มต้นจากสาขาทัศนศิลป์ ขยายวงกว้างไปยังศิลปินแห่งชาติสาขาต่างๆ และได้ร่วมเดินทางไปทำกิจกรรมกระทั่งเป็นโครงการใหญ่

เมื่อ (ท่านพี่) ถวัลย์กับอาจารย์ประหยัดเสียชีวิตในเดือนกันยายน ปี พ.ศ 2557 ระยะเวลาใกล้เคียงกัน กมล ทัศนาญชลี ก็ยังเป็นหัวเรือใหญ่ไม่เปลี่ยนแปลง ถึงจะต้องเดินทางมาจากสหรัฐทุกๆ ปี

 

ระหว่างวันที่ 2-3 สิงหาคม 2560 “ศิลปินแห่งชาติสัญจร” ไปทำกิจกรรม ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ ทำกิจกรรมศิลปวัฒนธรรม ฐานเทคนิคจิตรกรรม ศิลปะเทคนิคสร้างสรรค์สื่อผสม ภาพพิมพ์ ประติมากรรม เทคนิคศิลปะผ่านเลนส์ การสร้างงานวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) เรื่องสั้น นวนิยาย การร้องเพลง (ลูกทุ่ง) การแต่งเพลง นาฏศิลป์ การแสดงพื้นบ้าน (หมอลำ) และ ฯลฯ

ศิลปินแห่งชาติที่ร่วมสัญจรครั้งนี้มี กมล ทัศนาญชลี, นางสาววนิดา พึ่งสุนทร, ศาสตราจารย์ปรีชา เถาทอง, ศาสตราจารย์วิโชค มุกดามณี, ศาสตราจารย์ปัญญา วิจินธนสาร, เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, สถาพร ศรีสัจจัง ฯลฯ เอาเป็นว่า “ศิลปินแห่งชาติ” เกือบครบทุกสาขา จำนวนกว่า 20 ชีวิต ร่วมสัญจรสู่จังหวัดเพชรบูรณ์

เป็นกิจกรรมเพื่อการศึกษาเรียนรู้ “ศิลปวัฒนธรรม” ของชาติอย่างแท้จริง