‘ความหวัง’ ที่ถูกบงการ/เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

‘ความหวัง’ ที่ถูกบงการ

 

เชื่อว่าถึงวันนี้ คนส่วนใหญ่หวังเห็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

หลายปีที่ผ่านมาคงเหลือไม่กี่คนที่ยังเชื่อว่าอภิสิทธิ์ในอำนาจด้วยการดีไซน์ระบบที่สร้างความได้เปรียบให้กลุ่มตัวเองของผู้มีอำนาจคือระบบการปกครองที่นำมาใช้แล้วทำให้ประเทศชาติพัฒนาได้ดีที่สุด

ในทางตรงกันข้าม สภาพที่ปรากฏให้เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันคือ ความเสื่อมลง ทรามไปของทุกสิ่งอย่างภายใต้ระบบแบบนี้ หากลองถามว่ามีอะไรดีขึ้นบ้าง แล้วมองหาคำตอบในทุกอย่างที่เกิดขึ้น จะมีสักกี่คนที่มองไม่เห็นว่าทุกสิ่งอย่างล้วนตกอยู่ในสภาวะเลวร้าย

ในความหวัง และความต้องการเปลี่ยนแปลง คนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่งแสดงตัวเผชิญหน้าอย่างแข็งกร้าว ด้วยจิตใจที่ไม่ยอมจำนน

และมีผู้คนอีกมากมายแม้จะเห็นในทางเดียวกัน และปรารถนาให้ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น แต่ไม่พร้อมจะนำชะตากรรมของตัวเองไปเสี่ยงกับการถูกใช้อำนาจเข้าจัดการให้ชีวิตต้องเดือดร้อนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ผู้คนเหล่านี้ได้แต่หวังว่า “การเลือกตั้งครั้งหน้า” จะเป็นโอกาสที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

ทั้งที่รู้ว่านั่นเป็นเพียงความหวังอันเลือนรางยิ่ง ด้วยไม่เพียงการเลือกตั้งยังเป็นไปตามกติกาเดิมที่ “ดีไซน์เพื่อพวกนั้น” และที่หนักหนาสาหัสกว่าคือ “องค์กรที่สร้างไว้เป็นเครื่องมือจัดการอุปสรรคขัดขวางไม่ให้คนพวกนั้นเข้ายึดครองอำนาจได้สำเร็จ”

จัดการให้ผลการเลือกตั้งที่ประชาชนเลือก เบี่ยงเบนไปเป็นอย่างอื่น

อย่างไรก็ตาม แสงแห่งความหวังเรืองประกายออกมาให้เห็นบ้าง เมื่อมีการเสนอแก้รัฐธรรมนูญเปลี่ยนวิธีเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียวเลือกทั้งคนทั้งพรรค มาเป็นบัตรสองใบ แยกระหว่างเลือกคนกับเลือกพรรค

 

ด้วยความเชื่อว่า “ส.ส.ปาตี้ลิสต์” จะไม่ถูกลิดรอนด้วยกลไกเพื่อลดบทบาทของพรรคการเมือง ด้วยการไม่ให้พรรคใดมีเสียงข้างมากเหมือนที่ผ่านมา

นี่เป็นโอกาสเดียวที่อำนาจประชาชนจะกระเตื้องขึ้นมาบ้าง แม้จะน้อยนิดก็ตาม

 

“นิด้าโพล” สำรวจล่าสุด เรื่อง “บัตรเลือกตั้ง สองใบใครได้เปรียบ”

ในคำถามที่ว่า “บัตร 2 ใบจะทำให้พรรคที่จะชนะการเลือกตั้งได้เสียงเกินครึ่ง (มากกว่า 250 คน) หรือไม่” ความเชื่อมั่นมีสูงยิ่ง ร้อยละ 45.67 ตอบว่าค่อนข้างเป็นไปได้, ร้อยละ 26.71 บอกเป็นไปได้มาก ที่ตอบว่าเป็นไปได้เลย มีแค่ร้อยละ 8.50 และไม่ค่อยเป็นไปได้ร้อยละ 8.04 เท่านั้น

นั่นเป็นคำตอบที่น่าจะมาจากความหวังที่ตั้งไว้

เมื่อถามว่า จะตัดสินใจลงคะแนนด้วยบัตร 2 ใบอย่างไร ร้อยละ 46.59 ตอบว่าบัตร 2 ใบเลือกพรรคเดียวกัน, ร้อยละ 27.87 เลือกพรรค, ร้อยละ 17.83 ไม่แน่ใจ

นั่นเป็นความตั้งใจ

 

ในโครงสร้างที่ให้บทบาทวุฒิสภาที่แต่งตั้งโดยผู้มีอำนาจไว้มหาศาล ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดได้ด้วยกรณีเดียวคือ “ผลการเลือกตั้งที่ออกมาแบบพรรคใดพรรคหนึ่งที่ให้คุณค่ากับอำนาจประชาชน ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ต้องได้รับการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น อย่างน้อยเกินกว่าครึ่งสภาผู้แทนราษฎร”

ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นความตั้งใจเช่นนั้นของประชาชนส่วนใหญ่

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงน่าท้าทายอย่างยิ่งว่า “เลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ” จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่

หรือในที่สุดแล้วจะเกิดความหวาดระแวง และหาทางขัดขวางที่จะไม่ให้เลือกตั้งแบบที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการ