“ขอหวย-ขูดเลขเด็ด” วิถีสังคม “พุทธ-ผี” แบบไทยๆ และ “ความศักดิ์สิทธิ์” ที่เราข้ามไม่พ้น

ทุกวันนี้ เวลาอ่านข่าวจากโลกออนไลน์หรือหน้าหนังสือพิมพ์ เรามักเห็นข่าวผู้คนขอหวย ขอเลขเด็ดจากสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่ามี “ความศักดิ์สิทธิ์”

แนวความเชื่อแบบนี้ “งมงาย” หรือว่าเป็น “วิถีแบบไทยๆ”? และขัดแย้งกับการที่เมืองไทยเป็นเมืองพุทธหรือไม่?

ทีมงานรายการ “เป็นเรื่อง!” (ออกอากาศทุกวันพุธ เวลา 20.30 น. ทางเพจข่าวสดออนไลน์) จะพาไปสนทนากับ “คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง” อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ถึงประเด็นความขัดแย้ง ความผสมกลมกลืน ความเปลี่ยนแปลง และความแน่นิ่งของสังคมไทยกึ่งพุทธกึ่งผี

: “นับถือพุทธ” กับ “ไหว้ผี” ขัดแย้งกันไหม?

ผมคิดว่าจริงๆ แล้ว ถ้าเราดูตัวอย่างพุทธศาสนาในโลกอื่น ศาสนาผีมันเป็นศาสนาดั้งเดิมของทั่วโลก

พอพุทธศาสนาเข้าไป วิธีการของพุทธศาสนาก็คือ ไม่ได้ทำลายศาสนาหรือความเชื่อพื้นเมือง แต่ใช้วิธีเข้าไปผสมผสานหรือปรับ เพราะฉะนั้น ผีกับพุทธมันดำรงอยู่ด้วยกันตั้งนานแล้ว

เพียงแต่ว่ามันมีวิธีดำรงอยู่หลายแบบ เช่น ถ้าไปดูในทิเบต เขาแปรผีให้มาอยู่ในรูปของ “พระธรรมบาล” คือ เป็นผู้ดูแลพระพุทธศาสนา

ในขณะที่บ้านเรา อาจจะสัมพันธ์คนละแบบกัน ผีข่มพุทธบ้าง พุทธข่มผีบ้าง กลืนกันไปกลืนกันมาบ้าง เพราะจริงๆ แล้ว ถ้าเรามีท่าทีแบบพุทธ การมีผีไปด้วย มันก็ไม่ได้เสียหายอะไร

ผีในทัศนะของคนรุ่นใหม่คือผีปัจเจกบุคคลใช่ไหมครับ เช่น ผมตาย ผมก็เป็นผี อาจารย์คมกฤช แต่ผีในความหมายของผมหรือในความหมายของศาสนาผี มันคล้ายๆ เป็นความเชื่อเรื่อง “สิ่งเหนือธรรมชาติ” ประเภทหนึ่ง

สิ่งเหล่านี้มันไม่ได้พูดถึงวิญญาณของปัจเจกบุคคล แต่มันเป็น “บรรพบุรุษ” หรือ “โลกธรรมชาติ” ข้างนอก ตอบไม่ได้นะครับว่าผีอันนี้คือใคร อาจหมายถึงปู่ ย่า ตา ยาย ทั้งหมด หมายถึงบรรพชนที่เป็นทั้งของจริงและในตำนาน แล้วก็หมายถึงโลกธรรมชาติด้วย

แต่มันมี “ฟังก์ชั่น” คือมี “หน้าที่” ในการรักษาขนบหรือรักษากฎเกณฑ์บางอย่างของชุมชนไว้ อันนี้คือ “ผี” ในความหมายดั้งเดิม

: ในมุมมองของนักวิชาการด้านศาสนา มองปรากฏการณ์ที่คนไปขอหวยกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น “เจ้าแม่ตะเคียน” อย่างไร?

สมัยโบราณ เวลาเราบอกเรามี “ความต้องการ” คนที่มีความเชื่อทางศาสนาก็มี “ความต้องการ” อยู่สองด้าน

หนึ่ง “ความต้องการแบบธรรมะ” หรือเรื่องโลกุตระ บรรลุนิพพาน หรือได้รับบุญกุศล กับ “ความต้องการทางโลก” ผัวหายไป ให้ผัวกลับมา ไม่มีตังค์ก็ทำยังไงให้มีตังค์ ค้าขายดีหรือเปล่า เสน่ห์มีไหม

พุทธศาสนาก็มายึดเอาความต้องการทางโลกุตระไป ฉะนั้น เวลาคนมีความต้องการเชิงธรรมะหรือโลกุตระ ก็ไปพึ่งพุทธศาสนา แต่พุทธศาสนาไม่ได้มีฟังก์ชั่นทางโลกใช่มั้ยครับ เราก็เลยต้องพึ่งสิ่งอื่น เช่น “ผี” ซึ่งไม่ปฏิเสธฟังก์ชั่นทางโลก

เพราะฉะนั้น เวลาคนไปขอหวย ก็ไปขอกับ “ผี” แล้วก็เยอะขึ้นเรื่อยๆ เจ้าแม่ตะเคียน นาค หรือถ้าจะขอหวยกับพระพุทธรูป พระพุทธรูปก็ต้องถูกแปลงให้อยู่ในฟังก์ชั่นแบบ “ผี” หลวงพ่อองค์นี้เฮี้ยน หลวงพ่อองค์นี้ให้หวยแม่น

จริงๆ แล้ว มันคือการแบ่งหน้าที่กันในความเชื่อทางศาสนาแบบไทย มันจึงเป็นคำตอบว่าทำไมเวลาคนจะพึ่งอะไรที่เป็นเรื่องทางโลก เขาถึงไปพึ่ง “ผี”

: บางทีชนชั้นกลางเขาก็จะมองปรากฏการณ์ที่ชาวบ้านไปนั่งเอาแป้งโรยหรือนั่งขูดสิ่งของที่เขาเชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์ ว่างมงายหรือเปล่า?

อย่างที่บอกว่า “ผี” มันมาตอบสนองฟังก์ชั่นที่เป็นเรื่องทางโลกของชาวบ้านใช่ไหมครับ

“ความงมงาย” กับ “ศรัทธา” จึงแบ่งยากมาก เวลาเราแบ่งเรื่องนี้เราจะใช้สองเกณฑ์ง่ายๆ

คือ เกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ อะไรพิสูจน์ไม่ได้ทางวิทยาศาสตร์ เราก็จะบอกไปก่อนว่า “งมงาย”

กับอีกแบบ คือ เกณฑ์ทางพุทธศาสนา เช่น คุณไม่ได้ใช้ปัญญาหรือเปล่า อะไรประมาณนี้ เราจะได้ยินบ่อยๆ

แต่เอาเข้าจริงแล้ว ผมคิดว่าคำว่า “ศรัทธา” และ “งมงาย” มันเป็นคำที่มีปัญหาอยู่ในตัวมันเหมือนกัน เพราะเวลาเราตัดสินสิ่งที่เราเรียกว่า “งมงาย” ผมไม่แน่ใจว่าเกณฑ์สองอันที่เราบอกมันใช้ได้ นั้นใช้ได้จริงหรือเปล่า

เช่น เวลาเราบอกว่าวิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ ผมไม่แน่ใจว่าวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ที่เน้นผัสสะทั้งห้ามันจะพิสูจน์อะไรได้ทุกเรื่องหรือเปล่า ซึ่งผมคิดว่าในแง่หนึ่ง การตัดสินว่า “งมงาย” เลย มันไม่เปิดโอกาสให้ศึกษาวิเคราะห์

เพราะว่าสุดท้ายถ้าเราฟันธงไปก่อนว่า “งมงาย” เราก็จะไม่ศึกษาว่าสิ่งที่ชาวบ้านเชื่อ มันมีปัจจัยจากอะไร ทำไมมันถึงเป็นอย่างนั้น

: การที่ “วัด” ต้องยอมรับเอา “เจ้าแม่ตะเคียน” เข้ามา บางวัดมีการสร้างศาลเลย บางวัดต้องเอาต้นตะเคียนมาวาง เพราะชาวบ้านเขาบอกจะเอาไว้ที่นี่ พระท่านก็ต้องประนีประนอม อธิบายปรากฏการณ์นี้ว่าอย่างไร?

ถ้าพูดแบบโบราณ “ผี” เป็นความเชื่อพื้นฐานของเรา พอพุทธศาสนาเข้ามา “ผี” ก็ถูกเบียดขับออกไป จากเดิมที่เป็นศูนย์กลางชุมชนก็อาจถูกย้ายไปอยู่ไกลๆ หน่อย

อีกวิธีการหนึ่ง ซึ่ง “ผี” ทำมาแต่โบราณแล้ว คือ เขาเข้าไปแฝงในพุทธศาสนา เช่น คุณเปลี่ยนจากการเป็นผีใหญ่สุดในชุมชน คุณยอมลดตัวไปเป็นเสื้อวัด คือผีที่ดูแลวัด

จริงๆ “ผี” แอบอิงกับพุทธศาสนามาตลอด เพราะพื้นที่ของตัวเองหายไป ขณะเดียวกัน ถามว่าบางวัดชอบไหม ชอบ เพราะหนึ่ง มันคือการดึงคนเข้าวัด อย่างที่ผมบอกว่าเดี๋ยวนี้ฟังก์ชั่นของวัดมันไม่ชัดเจน ตกลงคุณจะโลกุตระไหม หรือคุณจะให้ฟังก์ชั่นทางโลกไหม ก็ไม่รู้ แต่แน่นอนว่าการที่มีผีอยู่ในวัด มันสามารถดึงคนเข้าไปในวัดได้

สอง ผมคิดว่าเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง “พระ” กับ “ชาวบ้าน” คือ บางครั้งสองฝ่ายต้องเกื้อกูลกัน อะไรที่พอจะยอมชาวบ้านได้ก็ยอม หรือชาวบ้านอาจจะเห็นว่าดีแล้วแหละ เป็นประโยชน์ต่อวัด ก็เอาไว้ที่วัด

มันเลยเกิดภาวะที่ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” หรือ “ผี” เหล่านี้ มาใช้พื้นที่วัด แล้วบางทีมันก็เป็นเรื่องของการเก็บโบราณวัตถุประจำชุมชน ซึ่งผมไม่รู้จะเอาไปไว้ตรงไหน เพราะชุมชนไม่ได้มีระบบการจัดเก็บ สมมุติไปขุดเจอเรือสมัยโบราณทำจากต้นตะเคียนใหญ่ คุณจะเก็บไว้ไหน ถ้าไม่มีพิพิธภัณฑ์ วัดก็ต้องทำหน้าที่นี้

แต่เก็บไว้เฉยๆ มันก็ไม่ใช่ เพราะชาวบ้านเชื่อว่ามันศักดิ์สิทธิ์ มันก็เลยกลายเป็นพื้นที่ที่มีของแบบนี้อยู่ในวัด

: ถ้าจะบอกว่าพระสงฆ์ศึกษามาอีกแบบ แต่ก็ต้องประนีประนอมกับความเป็นจริง?

ผมคิดว่าพระท่านมีสามประเภท หนึ่ง ก็คืออยากให้มีของพวกนี้ มันอาจเป็นสิ่งที่ช่วยดึงคนเข้าวัด ผมว่าแบบนี้มีเยอะ

พระแบบที่สอง ไม่ต่อต้านชาวบ้าน คือ โอเค ฉันอาจไม่ได้เชื่อแบบที่ชาวบ้านเชื่อ แต่มันไม่มีที่ (สำหรับ “ผี”) น่ะ ชาวบ้านก็ดูแลไปละกัน ให้พื้นที่วัดไป

แบบที่สาม คือ พระที่ท่านแอนตี้เลย เช่น ท่านต้องการสร้างพื้นที่ที่เป็นพุทธศาสนาจริงๆ ท่านก็อาจจะไม่เอาของพวกนี้ แต่ผมคิดว่าแบบหลังนี่มีน้อยสุด

เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่าพระท่านจำใจไหม หรือว่าท่านเห็นยังไง ก็คงต้องไปถามท่านเองว่าท่านเป็นแบบไหนในสามแบบนี้

: ถ้ามองมุมกลับว่าคนหรือระบบที่เรามี เช่น ระบบการเมืองหรืออะไรก็ตาม มันไม่ได้แก้ปัญหาให้เขา (ชาวบ้าน) “ผี” คือคำตอบในช่องว่างที่เว้นเอาไว้หรือเปล่า?

ปัญหาตอนนี้คือคนไม่มีทางเลือก หลายคนก็ไม่ไหวกับศาสนาหลักของตัวเอง เพราะรู้สึกว่าองค์กรทางศาสนาไม่เวิร์ก คนรู้สึกว่าศาสนาไม่เป็นที่พึ่ง

ความผันผวนทางการเมืองหรือเศรษฐกิจยิ่งผลักดันให้คนเหล่านี้แสวงหาความมั่นคงอะไรบางอย่าง ที่มันช่วยให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้

“ผี” เลยกลายเป็นคำตอบของเขา “ผี” และ “ความเชื่อ” จะบูมทุกครั้งที่การเมืองไม่นิ่ง สังเกตนะครับ ทุกประเทศเป็นหมด ทุกครั้งที่การเมืองมีปัญหา เศรษฐกิจมีปัญหา คนก็จะวกกลับมาที่ความเชื่อหรือศาสนา และยิ่งคำตอบของศาสนากระแสหลักมันไม่ตอบอีก คนก็ยิ่งมาหาสิ่งเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้

แต่ผมคิดว่ามันมีรากฐานที่ซับซ้อนกว่านั้น ก็คือ สังคมไทยไม่สามารถก้าวข้ามความศักดิ์สิทธิ์บางแบบได้ แล้วระบบการเมืองหรือสังคมไม่ได้พาเราไปสู่ความคิดแบบสมัยใหม่ กลับตอกย้ำกระแสของความศักดิ์สิทธิ์ หรืออำนาจอะไรบางอย่างในสังคมไทย ซึ่งเป็นอำนาจแบบเดียวกับ “ศาสนาผี” มันจึงทำให้ความคิดแบบ “ผี” ยังคงอยู่

เราไปสังเกต แม้กระทั่งระบบการศึกษา มันก็เต็มไปด้วยสิ่งที่เป็นอำนาจนิยมแบบเดียวกับ “ผี” คุณตั้งคำถามไม่ได้ เพราะมันให้คุณให้โทษได้

: การที่เราก้าวไม่ข้ามตรงนี้ มันเป็นความเดือดร้อนไหม? หรือว่าจริงๆ เราก็อยู่กันได้สุขสบายดี?

ถ้าเราจะก้าวไปสู่สังคมที่มีความเป็นธรรม สังคมที่ทุกคนได้รับประโยชน์ร่วมกัน สังคมที่ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ผมคิดว่าเราต้องก้าวข้ามเรื่องนี้

อย่างที่บอกว่าจริงๆ แล้ว การเมือง สังคม ศาสนา มันเชื่อมโยงกันหมด แล้วเราก็จะไม่สามารถหลุดออกจากกับดักนี้ได้ ถ้าเราไม่สามารถก้าวไปสู่สังคมแบบสมัยใหม่ ซึ่งนั่นเป็นคำตอบว่าทำไมเราต้องพาตัวเราข้ามไป

ไม่ได้แปลว่าเราต้องทำลาย “ผี” แต่เราต้องเข้าใจความหมายของมันใหม่ทั้งหมด แล้วจัดความสัมพันธ์ของมันใหม่ทั้งหมด