คำพูดสุดท้ายของบุญช่วย สุมาลย์มาศ ทหารอาสาสมัคร : ผู้พลีชีพรักษาประชาธิปไตยครั้ง 2476/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

คำพูดสุดท้ายของบุญช่วย สุมาลย์มาศ ทหารอาสาสมัคร

: ผู้พลีชีพรักษาประชาธิปไตยครั้ง 2476

 

ประโยคสุดท้ายของอาสาสมัครบุญช่วย สุมาลย์มาศ ที่กล่าวก่อนไปปราบกบฏบวรเดชและเขาจากไปไม่มีวันกลับว่า “ประเดี๋ยวผมจะไปสมัครเปนทหารจริงๆ นา วิธีรบ ผมยังไม่ลืม หากผมลืม ผมตาย ผมก็เปนสุข ตายอย่างนี้หาที่ไหนพบ” (ป. ศรีสมวงศ์ 2476)

การศึกษาคนเล็กคนน้อยในประวัติศาสตร์ไทยเป็นสิ่งศึกษาได้ยาก มักถูกมองข้ามเพราะมีผู้จดบันทึกไว้น้อยด้วยหลายสาเหตุ

แต่สำหรับกรณีพลทหารบุญช่วย สุมาลย์มาศ (2453-2476) “บุตรนายปุ๊ก สุมาลย์มาศ” พลเมืองในระบอบประชาธิปไตยวัย 23 ปี ชายผู้จบชั้นประถมปีที่ 4 ที่มีความหวงแหนการปกครองที่หยิบยื่นสิทธิ เสรีภาพและความเท่าเทียมให้เขาและประชาชน แม้เขาจะปลดประจำการเป็นทหารกองหนุนไปแล้ว แต่เมื่อเกิดกบฏบวรเดชที่คุกคามการปกครองที่ให้ชีวิตใหม่แก่เขา เขาไม่ลังเลเข้ารายงานตัวเป็นอาสาสมัครพิทักษ์อนาคตของทุกคน

ในที่สุด เขาพลีชีพเป็น 1 ใน 17 คนของทหารตำรวจฝ่ายรัฐบาลที่พลีชีพในครั้งนั้น และเขาคือทหารอาสาสมัคร

พลันที่เกิดกบฏบวรเดช 2476 ในสายตาของทูตญี่ปุ่นบันทึกว่า “มีการเคลื่อนไหวของเจ้านายบางส่วน และพวกนักการเมืองปฏิกิริยาจนถึงเดือนตุลาคม 1933 ก็ได้เกิดการกบฏที่มีพระองค์เจ้าบวรเดชเป็นหัวหน้า เรื่องนี้เป็นการก่อการไม่สงบครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เริ่มการปฏิวัติเป็นต้นมา” (ยาตาเบ 2550)

สอดคล้องกับนายทหารของฝ่ายกบฏคนหนึ่งบันทึกว่า “ไม่มีการกบฏครั้งใดที่เกิดขึ้นใหญ่โตเท่ากองทหารแทบทุกแห่งเอาใจออกห่างจากรัฐบาล…” (ร.ท.จงกล ไกรกฤษ์ 2513)

อย่างไรก็ตาม การศึกษาเรื่องราวของสามัญชนในกบฏบวรเดช กรณีบุญช่วยนั้น โชคดีที่มีประสิทธิ์ ศรีสมวงศ์ (2551-2512) หรือ ป.ศรีสมวงศ์ ผู้เป็นน้องชายของนายเล้ง ศรีสมวงศ์-สมาชิกคณะราษฎร ประสิทธิ์บันทึกเรื่องราวและบทสนทนาไว้ เนื่องจากเขาทั้งสองเป็นเพื่อนกัน

บุญช่วย ทหารกองหนุน ผู้รายงานตัวขอไปแนวหน้าปราบกบฏและหนังสือเชิดชูเกียรติในครั้งนั้น

ประสิทธิ์เป็นนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ เคยทำงานกับสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ เขาเล่าว่า เขาเป็นเพื่อนกับบุญช่วย เขาบันทึกว่า วันหนึ่งในช่วงวิกฤตการเมืองในช่วงต้นกบฏบวรเดช บุญช่วยตะโกนเรียกประสิทธิ์ให้เดินเข้าไปหา บุญช่วยให้ความสนใจการเกิดกบฏนี้อย่างมากมายและอยากไปรายงานตัวอาสาสมัครเข้าประจำการไปแนวหน้าพิทักษ์รัฐธรรมนูญ

ประสิทธิ์บันทึกว่า “สหายของข้าพเจ้าคนนี้ เขาเปนทหารกองหนุน” ที่ปลดประจำการแล้ว ไม่ใช่หน้าหลักของบุญช่วยเลย

ทว่า บุญช่วยในสายตาของประสิทธิ์ เป็นคนธรรมดาคนหนึ่งมิได้มีฐานะร่ำรวยและต้องดิ้นรนทำงานหาเลี้ยงชีพด้วยการใช้แรงงาน แต่เขามองเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว

ประสิทธิ์บันทึกว่า “รูปร่างของเขาค่อนข้างผอม ผิวเกรียม เพราะกรำต่องาน” ด้วยความห่วงใยเพื่อน ประสิทธิ์ให้ความเห็นว่า “ทหารประจำการ คงช่ำชองกว่าคุณ ข้าพเจ้าว่า”

แต่คำพูดของประสิทธิ์ทำให้สีหน้าของบุญช่วยเปลี่ยนไป เขากล่าวตอบโต้ประสิทธิ์ว่า “บ๊ะ ดูถูกกันนี่ เห็นผมตัวเล็กๆ อย่างนี้เถอะ, ผมจะไม่ถอยจนก้าวเดียว ถ้าการโค่นรัฐธรรมนูญของเขาสำเร็จ คุณคิดหน่อยน่า พวกเราจะเอาความสุขมาแต่ไหน”

ประสิทธิ์ตอบเพื่อนว่า “ถูกแล้ว แต่ที่พูดนี้ไม่ใช่จะตัดกำลังน้ำใจ ผมเองก็ดูเลือดจะกรุ่นๆ อยู่ ว่าจากคุณแล้วก็จะย่องไปกรม กองพันที่ 8 ของผมจะเปนอย่างไรบ้าง? เขาหัวเราะ!”

บุญช่วย ทหารกองหนุนที่หวงแหนประชาธิปไตยกล่าวตอบว่า “ประเดี๋ยวผมจะไปสมัครเปนทหารจริงๆ นา วิธีรบ ผมยังไม่ลืม หากผมลืม ผมตาย ผมก็เปนสุข ตายอย่างนี้หาที่ไหนพบ” (ป. ศรีสมวงศ์ 2476)

หนังสือเสียงวิทยุ (2476) และประสิทธิ์ ศรีสมวงศ์ ที่บันทึกเรื่องราวของสามัญชนคนตัวเล็กๆ ไว้

สําหรับภาพแนวรบที่ทุ่งบางเขนนั้น ฝ่ายกบฏคาดว่า รัฐบาลคงยอมจำนน แต่การณ์มิได้เป็นเช่นนั้น แต่รัฐบาลสามารถตั้งรับได้ ต่อมาในคืนวันที่ 14 ตุลาคม ฝ่ายกบฏตัดสินใจแตกหักกับรัฐบาล ด้วยการใช้รถจักรฮาร์โนแมคเป็นตอร์ปิโดบกทะลวงที่ตั้งทัพของรัฐบาล และพลันที่รถจักรถูกเร่งความเร็ว หัวรถจักรที่ปราศจากพนักงานขับได้พุ่งตรงไปจนปะทะรถปืนใหญ่ของรัฐบาล

ขณะนั้น บุญช่วยและเพื่อนๆ ทำหน้าที่บนรถปืนใหญ่บนรางรถไฟ ดังมีการบันทึกว่า

“วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2476 พลทหารบุญช่วย สุมาลย์มาศ กับพวก ได้รับคำสั่งให้นำรถปืนใหญ่เคลื่อนขึ้นไปตามทางรถไฟสายเหนือเพื่อทำการยิงขับไล่กองทหารฝ่ายกบฏซึ่งทำการยึดอยู่ตามแนวหลัก 15 กิโลเมตรแห่งทางรถไฟสายเหนือ พลทหารบุญช่วยพร้อมกับพวกได้ปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัดองอาจกล้าหาญ เป็นที่น่าสรรเสริญอย่างยิ่ง คือได้พยายามยิงต่อสู้กับกองทหารฝ่ายกบฏและนำปืนใหญ่เคลื่อนที่ขับไล่ฝ่ายกบฏล่าถอยตามลำดับ จนเข้ายึดแนวหลัก 15 กิโลเมตรได้เมื่อเวลา 9 นาฬิกา 30 นาที”

“ครั้นถึงเวลา 11 นาฬิกา 55 นาที กองทหารฝ่ายกบฏได้ระดมยิงด้วยปืนเล็ก ปืนกลและปืนใหญ่มาอย่างรุนแรง และในขณะนี้พวกกบฏได้ปล่อยตัวรถจักรชนิดแฮนโนแม็กขนาดใหญ่วิ่งเข้าชนรถปืนใหญ่ พลทหารบุญช่วย สุมาลย์มาศ กับพวกก็ได้พยายามปฏิบัติหน้าที่อย่างทรหดอดทนกล้าหาญจนถึงวินาทีสุดท้ายที่รถจักรฝ่ายกบฏชนพินาศ ล้มคว่ำลงจากทางรถไฟ พลทหารบุญช่วย สุมาลย์มาศ ได้ถูกปืนใหญ่ทับถึงแก่กรรมในขณะนั้น” (เสียงวิทยุ 2476) ผลของการเข้าชนของตอร์ปิโดบกทำให้นายทหารและพลทหารซึ่งประจำที่ปืนต่อสู้อากาศยานหลายนายเสียชีวิต

ประสิทธิ์บันทึกถึงเพื่อนว่า “เขาตายในขณะกระทำงานเพื่อสงวนไว้ซึ่งความเปนไทยแห่งรัฐธรรมนูญ รถจักร์มหึมาของกบฏที่ปล่อยมาชนรถรบรัฐบาล มีนายทหารที่ได้เสียชีวิตเพราะเหตุนี้ เพื่อนข้าพเจ้าก็ตายเฉภาะความร้ายกาจอันนี้ด้วยเหมือนกัน เขาคือ บุญช่วย สุมาลย์มาศ”

ประสิทธิ์เขียนอาลัยต่อว่า “ขอท่านผู้อ่านได้กรุณาเปิดหมวก สงบดวงจิตต์ อุททิศให้แก่วิญญาณของสหายข้าพเจ้าคนนี้ เขาพูดจริงทำจริง ในที่สุด เขาก็ได้สละชีพเพื่อชาติ, เพื่อประเทศและเพื่อรัฐธรรมนูญ มิ่งขวัญอันสูงส่งของชาวเราไปในคราวปราบกบฏครั้งนี้แล้ว เขาเป็นทหารกองหนุนคนเดียวที่มีโชคดีกว่าข้าพเจ้า-กว่าทหารกองหนุนอีกหลายแสนหลายล้านคนที่ไม่ได้เข้าแนวรบ”

ด้วยบรรยากาศของการต่อสู้ในครั้งนั้นเป็นแรงบันดาลใจให้ “ศรีบูรพา” สร้างบทสนทนาระหว่างสมศักดิ์ ตัวละครเอกกับภริยาไว้ใน ลาก่อนรัฐธรรมนูญ (2476) ว่า

“เธออย่าตายนะคะ อย่าได้ตายเป็นอันขาดทีเดียว เธอเป็นห่วงเมียและลูกบ้างหรือเปล่าคะ?” น้ำตาคลอที่นัยน์ตาสมศักดิ์ “เป็นห่วงเหลือเกินยอดรัก” สมศักดิ์พูดเสียงละห้อย “เมื่อฉันไปรบ ฉันหลอกพวกทหารเขาว่า ฉันไม่มีห่วงอะไร ความองอาจกล้าหาญที่ฉันได้แสดงออกไปให้เขาเห็นประจักษ์แล้ว ทำให้เขาเชื่อสนิทว่า ฉันอยู่ตัวคนเดียว แต่ความจริง ฤดีย่อมทราบดีว่า ฉันรักเมียของฉันดังดวงใจ แต่ข้อนี้ไม่ได้ทำให้ยอดรักของเธอลืมหน้าที่ ซึ่งผูกพันอยู่กับประเทศชาติและรัฐธรรมนูญของเรา เมื่อวีรชนคณะหนึ่ง ได้ตั้งใจพลีชีวิตเพื่อนำรัฐธรรมนูญมามอบให้แก่ประเทศสยามแล้ว ก็ทำไมเล่า ผู้ชายอย่างผัวของฤดีจะไม่ตั้งใจพลีชีวิตเพื่อพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญให้อยู่เป็นมิ่งขวัญของประเทศสยามต่อไป”

สอดคล้องกับคำพูดสุดท้ายของอาสาสมัครบุญช่วย ผู้มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ว่า “ผมจะไม่ถอยจนก้าวเดียว ถ้าการโค่นรัฐธรรมนูญของเขาสำเร็จ คุณคิดหน่อยน่า พวกเราจะเอาความสุขมาแต่ไหน” (ป. ศรีสมวงศ์ 2476)

เมรุเผาศพวีรชนสามัญชนบนท้องสนามหลวง
บุญช่วยเป็นหนึ่งในทหารที่ได้รับเหรียญกล้าหาญครั้งนั้น