สิ่งแวดล้อม : สัญญา ‘ประยุทธ์’ ลมๆ แล้งๆ / ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน / [email protected]

 

สัญญา ‘ประยุทธ์’ ลมๆ แล้งๆ

 

ต้องถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าเดินทางไปประชุมว่าด้วยการลดโลกร้อน COP 26 ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ทำไม ในเมื่อคำให้สัญญากับชาวโลกว่าไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศกลับเป็นเพียงคำพูดลมๆ แล้งๆ

“ไทยพร้อมร่วมมือกับทุกประเทศ และทุกภาคส่วนเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันในการแก้ปัญหาครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของโลก เพราะภารกิจนี้คือความเป็นความตายของโลกและอนาคตของลูกหลานของพวกเราทุกคน”

นี่เป็นประโยคแรกของ พล.อ.ประยุทธ์ซึ่งเป็นตัวแทนของประเทศไทยพูดบนเวที COP 26 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน

 

ให้หลังเพียงวันเดียว คือวันที่ 2 พฤศจิกายน ผู้นำทั่วโลก 133 ประเทศร่วมลงนามในคำประกาศให้คำมั่นว่าจะยุติการตัดไม้ทำลายป่าและฟื้นฟูป่าไม้ภายใน 9 ปีข้างหน้า หรือปี 2573 แต่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ร่วมลงนามด้วย ทั้งๆ ที่เป็นข้อตกลงใหญ่ข้อแรกของการประชุม COP 26

มีผู้นำบางประเทศไม่ได้ลงนามในวันนั้น กลับไปคิดใหม่แล้วแจ้งขอร่วมให้คำมั่นสัญญาในภายหลัง อย่างเช่น บังกลาเทศ

ส่วนชื่อประเทศไทย ผมเข้าไปตรวจสอบในเว็บไซต์ของ COP 26 ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ยังไม่มีชื่อปรากฏ

ประเทศบราซิลซึ่งมีผืนป่าใหญ่ “แอมะซอน” เป็นปอดของโลกร่วมเซ็นข้อตกลงวันแรก เช่นเดียวกับรัสเซียที่มีผืนป่าธรรมชาติขนาดใหญ่ มีต้นไม้กว่า 1 ใน 5 ของต้นไม้ทั้งหมดที่มีบนโลก

ป่ารัสเซียช่วยดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงปีละกว่า 1,500 ล้านตัน แม้นายวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียไม่ได้เข้าร่วมประชุมแต่กล่าวผ่านวิดีโอบรอดแคสต์จากกรุงมอสโกยืนยันว่า การดูแลรักษาป่าไม้จะช่วยลดภาวะโลกร้อนและรัสเซียพร้อมสนับสนุนข้อตกลงหยุดโค่นทำลายป่า

 

ข้อตกลงหยุดทำลายป่าไม้ มีความสำคัญมาก ถือเป็นอาวุธหลักในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน

เพราะป่าเป็นแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขนาดใหญ่และช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศโลกได้ราวๆ 1 ใน 3 ของปริมาณที่ประเทศต่างๆ ในโลกปล่อยออกมาในแต่ละปี

ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ป่าไม้ทั่วโลกถูกโค่นทำลายลงมากถึง 2,600 ล้านไร่ หรือราวๆ 10 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ป่าทั้งโลก

เฉพาะปีที่แล้วโลกสูญเสียป่าไม้ 170 ล้านไร่ เทียบกับปี 2544 ป่าถูกทำลายเกือบ 2 เท่า

สาเหตุหลักๆ ของการทำลายป่ามาจากการเติบโตในอุตสาหกรรมป่าไม้ การเผาบุกรุกผืนป่าเอาที่ดินมาเพาะปลูกทำไร่ เลี้ยงสัตว์ สร้างถนนขยายเมืองรองรับจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ต้องการที่อยู่อาศัยมากขึ้น รวมถึงเหตุไฟป่า

ประเมินกันว่าอุตสาหกรรมป่าไม้ การปลูกพืชไร่และการขยายตัวของเมือง ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศโลกซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ราว 23 เปอร์เซ็นต์

นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าถ้าปล่อยให้ผู้คนตัดไม้โค่นป่าอย่างไม่บันยะบันยังเช่นนี้จะเกิดวิกฤตโลกร้อนอย่างฉับพลัน

ในทางตรงกันข้ามการฟื้นฟูดูแลสภาพป่ากลับสู่ความสมบูรณ์ จะช่วยทำให้ลดอุณหภูมิบนผิวโลกลง ช่วยปรับสภาวะภูมิอากาศโลกให้เกิดความสมดุลมากขึ้น เป็น 1 ในเป้าหมายที่ให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกควบคุมการปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศ เพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกพุ่งไปทะลุ 2 องศาเซลเซียส เทียบกับอุณหภูมิช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อ 200 ปีที่แล้ว

 

สํานักข่าวบีบีซีของอังกฤษบอกว่า ผู้นำทั่วโลกร่วมเซ็นข้อตกลงหยุดการตัดไม้ทำลายป่าและฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมนั้นจะเป็นคำมั่นสัญญาทางเศรษฐกิจและการเมืองครั้งสำคัญ

ประเทศที่ร่วมลงนามในข้อตกลงที่เมืองกลาสโกว์รวมแล้ว 133 ประเทศ ซึ่งเป็นเจ้าของผืนป่าที่ครอบคลุมเนื้อที่ราว 90% ของป่าไม้ทั่วโลก

ตามข้อตกลงนี้ประเทศที่ร่วมลงนามจะสมทบเงินทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชนเกือบ 14,000 ล้านปอนด์ หรือราว 644,000 ล้านบาท นำไปแก้ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า

เงินส่วนหนึ่งจะมอบให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อฟื้นฟูผืนป่าที่ถูกทำลาย แก้ปัญหาไฟป่า และสนับสนุนชุมชนพื้นเมืองที่พึ่งพาป่าฝนในการทำมาหาเลี้ยงชีพในจำนวนนี้ราว 1,100 ล้านปอนด์ เพื่อปกป้องป่าฝนเขตร้อนขนาดใหญ่อันดับสองของโลกบริเวณลุ่มน้ำคองโก ในแถบแอฟริกากลาง

นอกจากนี้ รัฐบาล 28 ประเทศยังให้คำมั่นจะขจัดการตัดไม้ทำลายป่าออกจากการค้าอาหารโลก และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่นๆ เช่น น้ำมันปาล์ม ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง และโกโก้ เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล่านี้ เป็นสาเหตุสำคัญในการทำลายป่า

บริษัทการเงินรายใหญ่ของโลก เช่น เอวีว่า (Aviva) ชโรเดอร์ส (Schroders) และแอ็กซ่า (Axa) ให้คำมั่นจะไม่ร่วมลงทุนในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า

 

สําหรับประเทศไทยการไม่เซ็นสัญญาในข้อตกลงหยุดโค่นป่าครั้งนี้ ทำให้ภาพลักษณ์ของไทยในสายตาชาวโลกต่ำต้อยลงไปอีก ถูกมองเป็นประเทศล้าหลังไม่ต่างกับลาว เมียนมา และกัมพูชา ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศในอาเซียนที่ไม่ได้ร่วมลงนามด้วย

ขณะที่อินโดนีเซียเพื่อนบ้านในอาเซียนกลับมีภาพลักษณ์ดีขึ้นมาทันทีที่เข้าร่วมเซ็นสัญญา ทั้งๆ ที่ก่อนนี้อินโดนีเซียเจอนานาประเทศรุมประณามว่าปล่อยให้บริษัทผลิตปาล์มทำลายสภาพป่าอันอุดมสมบูรณ์ สร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศน์อย่างมโหฬาร ไม่เพียงผืนป่าสูญเสียไปเท่านั้น หากยังทำลายวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มชนพื้นเมืองและการจุดไฟเผาป่า ปล่อยควันพิษสร้างความปั่นป่วนให้กับประเทศเพื่อนบ้าน กระทบถึงภาคใต้ของไทยด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ไปประชุมกับนานาชาติแล้วไม่ยอมร่วมลงนามหยุดการโค่นทำลายป่า แต่ไปให้คำสัญญาลมๆ แล้งๆ ต่อหน้าผู้นำโลกนับว่าเป็นเรื่องน่าอับอายอย่างยิ่ง

ไม่เพียงเท่านั้น พล.อ.ประยุทธ์ยังปล่อยประโยคที่ว่า “เราทุกคนไม่มีแผนสองในการรักษาเยียวยาสภาพภูมิอากาศ เพราะเราจะไม่มี ‘โลกที่สอง’ ซึ่งเป็นบ้านของพวกเราเหมือนโลกนี้อีกแล้ว”

สร้างประเด็นดราม่าให้ผู้คนตั้งคำถามขึ้นมาว่า พล.อ.ประยุทธ์ไปลอกคำพูดของนายบันคีมูน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติมาหรือเปล่า?

 

เมื่อเดือนกันยายน 2557 นายบันคีมูน อยู่ระหว่างดำรงตำแหน่งเลขาฯ ยูเอ็น กล่าวคำปราศรัยเรียกร้องให้ชาวโลกช่วยกันลดโลกร้อนเพราะไม่มีแผนสอง หรือ Plan B ให้ทำอีกเนื่องจากโลกใบนี้มีเพียงโลกเดียว ไม่มีโลกที่สอง

คำปราศรัยของนายบันคีมูนละม้ายคล้ายคลึงกับคำปราศรัยของ พล.อ.ประยุทธ์บนเวที COP 26

ในฐานะที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้นำประเทศไทย ควรกลั่นกรองการกล่าวคำปราศรัยอย่างรอบคอบ ต้องมองไปข้างหน้าและคิดอย่างสร้างสรรค์ทำได้จริงเพื่อสร้างภาพลักษณ์โดดเด่นและเป็นที่ประทับใจของผู้คน มิใช่ไปก๊อบปี้ไอเดียคนอื่น

ดราม่าคำปราศรัยของ พล.อ.ประยุทธ์จึงเป็นอีกเรื่องที่น่าอับอาย แต่ก็ยังอายน้อยกว่าคำมั่นสัญญาหลังทำรัฐประหารที่ขอเวลาอีกไม่นานคืนความสุขให้คนไทย เพราะผ่านมากว่า 7 ปีคนไทยค่อนประเทศยังเป็นทุกข์ เจ็บ จน