5 ตัวอย่าง AI ใช้จริงทำอะไรได้/Cool Tech จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech

จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

5 ตัวอย่าง AI ใช้จริงทำอะไรได้

 

มาจนถึงตอนนี้คงไม่มีใครที่ยังไม่เคยได้ยินคำว่าปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่ถูกยกให้เป็นเทคโนโลยีที่มีความสำคัญและเข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตของมนุษย์เราอย่างยิ่งใหญ่

แต่ก็เชื่อว่ายังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ค่อยแน่ใจว่าเมื่อเอามาใช้จริงแล้ว AI มันทำประโยชน์อะไรที่จับต้องได้ให้เราเห็นบ้าง

ในงาน Web Summit ประจำปี 2021 ที่เพิ่งจะจัดขึ้นในลิสบอน ประเทศโปรตุเกส จึงมีการจัดแสดงหรือโชว์เคสตัวอย่างการใช้งาน AI ในแวดวงต่างๆ

ซึ่งคิดว่ามันช่วยให้เราเห็นภาพได้ชัดยิ่งขึ้นว่าตอนนี้ AI อยู่ตรงไหนบ้างในชีวิตประจำวันของเรา

 

เริ่มต้นที่แวดวงสาธารณสุขที่มียูสเคสการใช้ AI หลากหลายรูปแบบ

อย่างเช่นกรณีของ Iker Casillas นักฟุตบอลชาวสเปนที่ต้องออกจากวงการกีฬากะทันหันด้วยอาการหัวใจวายโดยที่ในตอนนั้นอาชีพนักฟุตบอลของเขาก็ถือว่าอยู่ในช่วงที่กำลังรุ่งโรจน์เลยทีเดียว

หลังจากนั้นเขาก็เห็นถึงความสำคัญของการต้องหมั่นตรวจสุขภาพร่างกายและหัวใจอยู่เสมอ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือในแต่ละปีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกจะต้องวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าหัวใจของผู้ป่วยมากถึง 300 ล้านครั้ง ซึ่งกระบวนการนี้ค่อนข้างกินเวลาและใช้ต้นทุนเยอะ

เขาจึงตัดสินใจลงทุนกับบริษัทสตาร์ทอัพชื่อ Idoven ที่พัฒนาเทคโนโลยี AI ให้สามารถตรวจจับการเต้นของหัวใจผู้ใช้งานโดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่คลินิกหรือโรงพยาบาลเลยและหากมีความผิดปกติเกิดขึ้นก็จะรีบแจ้งเตือน

วิธีนี้ก็จะทำให้ผู้ใช้งานมีโอกาสได้รู้ตัวเร็วขึ้นและป้องกันได้ทันท่วงที

นอกจากเรื่องหัวใจแล้ว AI ก็ยังช่วยดูแลสุขภาพด้านอื่นๆ ได้ อย่างเช่น Woebot แชตบ็อตที่ผู้ใช้งานใช้เพื่อระบายความอัดอั้นตันใจ แชตบ็อตจะปรับการตอบสนองของตัวเองไปเรื่อยๆ โดยมีพื้นฐานมาจาก AI ที่จะคอยอ่านสถานะทางอารมณ์ของผู้ใช้งานคนนั้นๆ

และหากเห็นหนทางที่จะสามารถแก้ปัญหาได้ Woebot ก็จะเชิญชวนให้ลองพยายามแก้ไขดู หรือมิเช่นนั้นอย่างน้อยๆ ก็จะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ได้ปลดปล่อยเหมือนยกภูเขาออกจากอกซึ่งเพียงแค่นี้ก็ทำให้รู้สึกดีขึ้นได้แล้ว

แม้ว่าหลายๆ คนอาจกังขาว่าการคุยกับเทคโนโลยีอย่างแชตบ็อตจะช่วยอะไรได้แต่ผลการศึกษาก็ระบุว่าคนจำนวนมากชอบเปิดอกคุยกับหุ่นยนต์มากกว่าเพราะมันไม่มีอคติหรือมาตัดสินอะไรเราได้

เรื่องการตัดลดขยะของเสียก็เป็นอีกหนึ่งอย่างที่ AI สามารถช่วยได้

แต่อย่างแรกที่เราต้องย้ำกันอีกรอบก็คือตัวเทคโนโลยี AI เอง ไม่ได้เป็นเทคโนโลยีที่ประหยัดพลังงานเลย ตรงกันข้าม มันใช้พลังงานเยอะมากด้วยซ้ำ เนื่องจากการจะเทรนอัลกอริธึ่มสักระบบให้เก่งกาจอาจจะต้องมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนอยู่ที่ราวๆ ห้าเท่าของคาร์บอนที่รถยนต์คันหนึ่งจะปล่อยออกมาตลอดอายุการใช้งานเลยทีเดียว

หากแต่ว่าเมื่อเทรนให้มันทำงานได้แล้ว AI นี่แหละที่จะช่วยคำนวณกระบวนการอุตสาหกรรมต่างๆ ให้สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น

ตั้งแต่การผลิตปูนซีเมนต์ไปจนถึงการลดความร้อนของดาต้าเซ็นเตอร์ และใช้คำนวณเพื่อลดปริมาณขยะที่เราส่งไปที่ลานกลบฝังขยะได้ด้วย

ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ AI ของ Greyparrot บริษัทในอังกฤษที่สามารถแยกของเสียประเภทต่างๆ ที่กำลังเคลื่อนไปตามสายพานโดยจะเลือกขยะอย่างพลาสติกหรือแก้วที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ออกมา และมันยังสามารถทำงานได้ดีกว่าเครื่องจักรที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ด้วย

AI ยังมีศักยภาพในการช่วยทำให้ท้องถนนมีความปลอดภัยมากขึ้น

บริษัท Provizio จากไอร์แลนด์ลองตั้งโจทย์ว่า AI จะสามารถช่วยหยุดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้หรือไม่ ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้แมชชีนเลิร์นนิ่งมาวิเคราะห์ข้อมูลจากเซ็นเซอร์ต่างๆ ที่ติดตั้งไว้ที่รถยนต์ โดยคาดหวังว่าในอนาคตอันใกล้ AI จะช่วยให้ระบบเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติของรถยนต์ทำงานได้เร็วขึ้นกว่าเดิม 10 เท่าเมื่อเทียบกับที่ผ่านมาในอดีตเพื่อช่วยป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นได้

การเขียนโค้ดคอมพิวเตอร์เคยเป็นเรื่องของมนุษย์ เพราะมีแต่มนุษย์เท่านั้นที่จะสามารถเขียนโค้ดเพื่อสั่งการคอมพิวเตอร์ได้

แต่ยุคที่ AI จะเมินความช่วยเหลือจากมนุษย์และเขียนโค้ดใช้กันเองก็อาจจะมาถึงเร็วกว่าที่เราคิดกันก็ได้

 

หนึ่งในสิ่งที่เรียกเสียงฮือฮาได้จากงานในลิสบอนครั้งนี้ก็คือโปรเจ็กต์ Copilot ที่เป็นความร่วมมือระหว่างแพลตฟอร์มพัฒนาซอฟต์แวร์อย่าง GitHub และแล็บทดลอง OpenAI ซึ่งถือเป็นสององค์กรที่มีชื่อเสียงมากในโลกเทคโนโลยี

โปรเจ็กต์นี้เป็นการพัฒนาเครื่องมือที่สามารถเข้าใจเจตนารมย์ของนักพัฒนาซอฟต์แวร์และเขียนโค้ดแทนให้โดยที่มนุษย์ไม่ต้องเขียนด้วยตัวเอง คล้ายๆ กับการที่นักพัฒนาจะมีลูกมือสักคนคอยอยู่เคียงข้างและเขียนโค้ดแทนให้โดยที่ตัวเองก็เหนื่อยน้อยลงเพราะ AI จะคอยช่วยเสนอแนะให้ตลอดทางหรือบางครั้งก็อาจจะเขียนโค้ดทั้งแถวแทนให้หมดเลยก็ได้

แต่ก่อนที่จะรีบด่วนสรุปว่าคอมพิวเตอร์สามารถเขียนโค้ดเพื่อตัวมันเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพามนุษย์ นักวิจัยจาก New York University เขาบอกว่าอย่างน้อยๆ ในตอนนี้มันก็ยังไม่สามารถฉายเดี่ยวได้เสียทีเดียว

เพราะว่าราวๆ 40 เปอร์เซ็นต์ของโค้ดที่ AI เขียนยังคงมีบั๊กหรือความผิดปกติแฝงอยู่ด้วย

 

มาที่ยูสเคสสุดท้ายที่จัดแสดงในงาน ก็คือการใช้ AI เพื่อทำ Deepfake ค่ะ

Deepfake เป็นเทคโนโลยีที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

คนที่สังเกตเห็นการพัฒนาของมันมาตลอดก็จะเห็นว่าฝีมือการตัดต่อปลอมแปลงวิดีโอของมันยังไม่ค่อยจะเข้าขั้นสักเท่าไหร่ในช่วงแรก แต่ผ่านไปแค่แป๊บเดียว ผลงานที่ได้กลับสมจริงสมจังมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะจับมนุษย์คนไหนก็ได้ใส่เข้ามารับบทตัวแสดงในวิดีโอโดยที่เจ้าตัวอาจไม่รู้เห็นเป็นใจใดๆ ด้วยเลย

อย่างคลิป Deepfake ของ Tom Cruise ที่กลายเป็นไวรอลในปีนี้ก็สมจริงเสียจนก่อให้เกิดความหวาดกลัวและการตั้งคำถามว่าเทคโนโลยีนี้จะถูกนำมาใช้ในทางที่อันตรายมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยหรือเปล่า

หากไม่พูดถึงการใช้ Deepfake เพื่อวัตถุประสงค์ดำมืดอย่างการปลอมแปลง ใส่ความ หรือใส่ร้ายป้ายสีทางการเมืองแล้ว คนทั่วไปก็อาจจะได้ใช้ประโยชน์จากมันอยู่บ้าง

อย่างน้อยๆ ก็เพื่อความเพลิดเพลิน อย่างการสลับสับเปลี่ยนหน้าของเราไปใส่เข้ากับหุ่นสวยๆ ของดาราอย่างแนบเนียน หรือการใช้ในการช่วยถ่ายทำบางส่วนของภาพยนตร์ให้สมจริงขึ้น

แม้ว่า Deepfake จะให้ความรู้สึกว่าเป็นเทคโนโลยีที่ดูพร้อมให้หยิบไปใช้ในทางที่ไม่ดีมากกว่าทางที่ดี แต่มันก็เป็นตัวอย่างที่ทำให้เราได้เห็นชัดๆ ว่าศักยภาพของ AI นั้นสามารถสร้างให้เกิดภาพลวงตาที่สมจริงสมจังได้แค่ไหน

 

หากจะพูดให้เข้าใจง่ายว่า AI มีไว้ทำอะไร ก็คงพอสรุปได้ว่าเอามาใช้ช่วยงานที่มนุษย์ไม่อยากทำด้วยตัวเอง หรือทำด้วยตัวเองได้ไม่ดีพอ ซึ่งนอกจากมันจะช่วยทำให้มนุษย์อย่างเรามีเวลามากขึ้นแล้วก็ยังยกระดับศักยภาพและขยายขอบเขตจำกัดของสิ่งที่เราสามารถทำได้ให้กว้างออกไปอีก

ทั้ง 5 อย่างนี้ถือเป็นแค่ตัวอย่างส่วนหนึ่งที่ทำให้เราได้เห็นถึงประโยชน์ของ AI และเห็นว่ามันแฝงตัวอยู่ตรงไหนบ้าง แต่ก็ไม่แน่ว่าต่อไปอีกไม่นานก็อาจจะไม่มีประโยชน์ที่เราจะมานั่งยกถึงยูสเคสแบบนี้กันอีกแล้ว

เพราะมันก็จะแนบเนียนเข้ากับทุกอย่างในชีวิตจนเราอาจจะมองไม่เห็นมันอีกต่อไปก็ได้