ดิโอลด์แมน แอนด์ เดอะ ‘อิ๊ง’/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

ดิโอลด์แมน

แอนด์

เดอะ ‘อิ๊ง’

อย่างที่ทราบกัน แคมเปญ “พรุ่งนี้เพื่อไทย เพื่อชีวิตใหม่ของประชาชน” ของเพื่อไทย

มียุทธศาสตร์สำคัญ คือการนำเสนอคนรุ่นใหม่ เข้าสู่พรรค เข้าสู่การเมือง

โดยเฉพาะชัดเจนจากการตั้ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรืออุ๊งอิ๊ง บุตรสาวคนเล็กของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมของพรรคเพื่อไทย

ซึ่งอุ้งอิ๊งประกาศชัดเจนว่า ต้องการร่วมพัฒนากับคนรุ่นใหม่ให้มีความหวัง ทำความฝันของเขาให้เป็นจริงขึ้น

ขณะเดียวกัน ทำหน้าที่เชื่อมต่อรุ่นสู่รุ่น พร้อมสร้างความเข้าใจกันมากขึ้นระหว่างทุกรุ่น ด้วยเพราะพรรคที่เป็นตัวแทนประชาชนต้องเป็นตัวแทนทุกรุ่นทุกวัย

ขณะเดียวกัน ในส่วนกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ได้ตั้งคนรุ่นใหม่เข้ามายกชุด

นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรค

ส่วนดิโอลด์ หรือเหล่าผู้อาวุโส แห่งยุคเบบี้บูม ส่วนใหญ่เฟดตัวเองเข้าไปอยู่แถวหลัง

ในฐานะคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย

มีนายชัยเกษม นิติสิริ เป็นประธานคณะกรรมการ

 

ดูจากโครงสร้างใหม่นี้ ดูเหมือนมีการแยกคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าออกเป็นสัดเป็นส่วนชัดเจน

ซึ่งในตอนแรกดูเหมือนว่า พรรคเพื่อไทยจะใช้คนรุ่นใหม่เดินลุยนำหน้า

แน่นอน คนกำลังจับตาบทบาทของ น.ส.แพทองธาร ว่าจะโดดเด่นเพียงใด

จะก้าวไปถึง 1 ใน 3 แคนดิเดต ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยเลยหรือไม่

หรือเป็นเพียง “ข้อเชื่อมกลาง” ระหว่างพรรคไปสู่คนรุ่นใหม่ ในฐานะที่ปรึกษาเท่านั้น

ซึ่งการที่ทิ้งเวลายาว ต่างจากเมื่อครั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เข้าสู่สนามการเมืองเพียง 49 วัน

อันเท่ากับว่าเปิดโอกาสและเวลาให้กับ น.ส.แพทองธาร ที่จะพิสูจน์ตนเองว่าจะก้าวขึ้นไปสู่แถวหน้า หรือจะยืนอยู่ในฐานะที่ปรึกษาเท่านั้น

รวมทั้งหากมีแรงเสียดทานเยอะก็อาจกลับไปยืนแถวหลังแค่กองหนุนเท่านั้นก็ได้

แต่กระนั้น ต้องไม่ปฏิเสธว่า การก้าวเข้าสู่พรรคเพื่อไทยของ น.ส.แพทองธาร ได้สร้างความความคึกคักให้กับพรรคเพื่อไทยอย่างมาก

จนมีแนวโน้ม “คนรุ่นใหม่” จะเป็นคำตอบทิศทางใหม่ของพรรคๆ นี้

 

อย่างไรก็ตาม สังคมได้เห็นความพยายามของดิโอลด์ในพรรค ที่จะกลมกลืนกับคนรุ่นใหม่ทั้งในพรรคและข้างนอก

อย่างการที่นายชัยเกษม นิติสิริ ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย (พท.)

ได้ออกจดหมายเปิดผนึกว่า “พรรคเพื่อไทย” พร้อมนำข้อเสนอประมวลกฎหมายอาญามาตราและ 116 เข้าสู่วาระการประชุมของรัฐสภา

ถือเป็นการย้ำเจตนารมณ์ที่ได้กล่าวเอาไว้ในงาน “พรุ่งนี้เพื่อไทย” ที่ได้เรียกร้องให้ปล่อยนักโทษทางความคิด เพื่อฟื้นฟูหลักนิติรัฐและนิติธรรมของประเทศ

“พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคที่มีเสียงสมาชิกมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมนำข้อเสนอดังกล่าวเข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภา เพื่อตรวจสอบระบบการทำงานของบุคคลในกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ ศาล และราชทัณฑ์ ว่าได้ปฏิบัติหน้าที่หรือใช้ดุลพินิจไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือไม่ และตรวจสอบการสั่งการโดยรัฐบาล รวมถึงการแก้ไขกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เพื่อให้นักโทษทางความคิดได้รับการปล่อยตัว และไม่ให้เกิดนักโทษทางความคิดเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูความเชื่อมั่นในระบบยุติธรรมของประเทศไทย” นายชัยเกษมระบุ

 

จังหวะก้าวทางการเมือง ภายใต้คณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองนี้ ถูกมองว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่มุ่งเชื่อมต่อเข้ากับคนรุ่นใหม่

จากเดิมที่พรรคเพื่อไทยไม่เคยมีจุดยืนอย่างชัดเจนเช่นนี้

ต่างจากพรรคก้าวไกล ที่แจ่มชัดในเรื่องนี้มานาน และได้ใจคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการให้มีการแก้ไขในประเด็นนี้อย่างมาก

ซึ่งตรงนี้ทำให้พรรคเพื่อไทยที่หวังจะกระแสในกลุ่มคนรุ่นใหม่ตามยุทธศาสตร์ใหญ่ ก้าวเข้าไปแชร์ในเรื่องนี้

แม้ด้านหนึ่งดูเหมือนจะเป็นการแย่งฐานเสียงกันเองระหว่าง เพื่อไทยและก้าวไกล

แต่อีกด้าน เมื่อท่าทีของพรรคเพื่อไทยประสานเข้ากับท่าทีของพรรคก้าวไกล มาตรา 112 มาตรา 116 ก็กลายเป็น “ประเด็นอันแหลมคม” และมีน้ำหนักในการเคลื่อนไหวมากขึ้น

อย่างที่นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล บอกว่าการที่พรรคการเมืองหลายๆ พรรคมาร่วมแก้ไขมาตรา 112 ถือเป็นเรื่องที่ดี ถือว่าเห็นความสำคัญกับปัญหานี้

“อย่าไปมองว่าเป็นการแย่งฐานคะแนนเสียง แต่ให้มองเป็นเรื่องที่ดีที่พรรคการเมืองและสังคมมาพูดเรื่องนี้มากขึ้น ถือเป็นความสำเร็จในการทำงานความคิดทางสังคม” นายชัยธวัชระบุ

 

การที่พรรคเพื่อไทยเข้าไปขานรับต่อกรณีของมาตรา 112 และมาตรา 116 อย่างแจ่มชัดเช่นนี้

แน่นอนสร้างผลสะเทือนทางการเมืองอย่างสูง

ด้วยเหมือนเข้าไปกำหนดทิศทางของข่าวและการเคลื่อนไหวในทางการเมืองกับกลุ่มคนรุ่นคนรุ่นใหม่ในทุกด้าน

กล่าวคือ ในเชิงนวัตกรรม หรือในเชิงสร้างสรรค์ ภาพของอุ๊งอิ๊ง น.ส.แพรทองธาร ก็เป็นตัวแทนเข้าไปต่อเชื่อม

ในประเด็นเชิงการต่อสู้ทางความคิด อย่างเรื่องมาตรา 112 และมาตรา 116 ก็ให้เหล่าผู้อาวุโสอย่างนายชัยเกษม ที่มีประสบการณ์ทางการเมืองเป็นด่านหน้าเข้าไปผลักดัน

ถือเป็นการผสมผสานของคนแต่ละรุ่นในพรรคอย่างน่าสนใจ

และต้องติดตามว่าจะฉุดคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยให้กระเตื้องขึ้นหรือไม่

ที่จากเดิม พรรคเพื่อไทยถูกมองว่า สู้ไม่เต็มหมัด เพลย์เซฟมากเกินไป จึงไม่ถูกใจ “เจน” ใหม่

ปล่อยให้พรรคก้าวไกลสร้างคะแนนนิยม ในคนหนุ่ม-สาวได้มากกว่า

การเปลี่ยนท่าทีของพรรคเพื่อไทยคราวนี้ จึงถือว่าพลิกโฉมทิศทางของพรรคไปอย่างมากทีเดียว

 

แต่กระนั้น การปรับทิศทางเช่นนี้ ก็ใช่จะราบรื่น

ทั้งในส่วนคนของพรรคเพื่อไทยเองที่ใช่จะตกผลึกเหมือนกันไปทั้งหมด

แม้แต่ผู้มีอิทธิพลนอกพรรคอย่างนายทักษิณ ชินวัตร ก็ดูเหมือนจะยังจูนคลื่นไม่ตรงกับสิ่งที่นายชัยเกษมเสนอ

โดยดูได้จากสิ่งที่นายทักษิณโพสต์ผ่านเฟชบุ๊ก

ที่ระบุว่า

“ผมขอแนะนำว่าก่อนจะมาบอกว่าจะแก้มาตรา 112 หรือไม่ ขอให้ไปเริ่มย้อนคิดว่า เมื่อตัวกฎหมายไม่เคยมีปัญหา แต่คนที่เป็นปัญหาคือคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมและคนที่นำประเด็นนี้มาสร้างความแตกแยกในสังคมต่างหาก ถ้ามีการจัดระเบียบให้ถูกต้องและมีการพูดคุยกับผู้เห็นต่างบ้าง ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และนำไปสู่การรักษากฎหมายที่เป็นธรรม และก็จะไม่มีใครเดือดร้อน แต่วันนี้ขอย้ำอีกครั้งว่า ประเทศขาดการบริหารการจัดการ เลือกที่จะใช้ Law and order เท่านั้น ขอให้ทั้ง 2 ฝ่ายหยุดดราม่า หายใจยาวๆ มาเริ่มต้นใหม่ตามที่ผมแนะนำเบื้องต้น เพื่อความรัก เพื่อการถวายความจงรักภักดีที่ถูกต้อง ถูกทาง ไม่ให้เจ้านายต้องถูกครหาโดยที่ไม่รู้”

ซึ่งดูแย้งกับข้อเสนอนายชัยเกษมที่มองว่า กฎหมายมีปัญหา จึงต้องแก้

ขณะที่คนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งก็ดูไม่พอใจจุดยืนของนายทักษิณ ที่กลับไปรอมชอมเหมือนเดิม

กลายเป็นดราม่าในโลกโซเชียลอย่างร้อนแรง

น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ใหม่หมาด ต้องออกตัวว่าประเด็นที่พรรคเพื่อไทยแถลงการณ์ไปในนามประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทยนั้น เจตนารมณ์จริงๆ กับที่นำเสนอเผยแพร่ในสื่อค่อนข้างไม่ตรงกัน

เจตนารมณ์ของเพื่อไทยที่แถลงไปมี 2 เรื่อง คือ

1. พรรคต้องการปกป้องคุ้มครองผู้ที่ถูกบังคับใช้กฎหมาย ถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ถูกจับกุมเป็นนักโทษทางความคิด เพียงเพราะเห็นต่างเท่านั้น เป็นการนำกฎหมายมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง

2. พรรคเห็นสภาพปัญหา ซึ่งจะเป็นวิกฤตทางการเมือง เพราะมีความเห็นต่างกันมากในเรื่องนี้ มีผู้เรียกร้อง มีผู้สนับสนุน มีผู้ต่อต้าน ในฐานะพรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติปล่อยไว้ ไม่ดึงสภาพปัญหาเหล่านั้นมาแก้ไขในรัฐสภาตามวิถีประชาธิปไตย สิ่งเลวร้ายที่จะเกิดขึ้นคือการแก้ไขนอกสภา จึงไม่อยากให้เกิดปัญหานั้น จึงต้องรีบอาสารับเรื่องทุกเรื่องที่เป็นปัญหาเข้าสู่สภา เพื่อแก้ไขถามวิถีประชาธิปไตย

“เราไม่ได้มุ่งหมายว่าจะแก้อย่างไร หน้าที่เราคือรับเรื่องเข้ามาก่อนหากเป็นปัญหา ส่วนจะแก้อย่างไรเป็นหน้าที่ของรัฐสภา”

ซึ่งพยายามออกเป็นกลางๆ เพื่อมิให้ถูกมองว่ามีประเด็นโต้แย้งกัน

 

สะท้อนว่าการเปลี่ยนจุดยืนไปสู่คนรุ่นใหม่อย่างเต็มตัวของพรรคเพื่อไทยไม่ง่าย

และใช่จะก่อให้เกิดผลบวก อย่างที่คาดหวังเท่านั้น

เพราะแม้แต่ในฝ่ายเดียวกันยังมากด้วยความเห็นต่าง

ขณะเดียวกันเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และมากด้วยแรงเสียดทาน

จึงไม่น่าประหลาดใจ ที่ทันทีพรรคเพื่อไทยประกาศจะร่วมผลักดันเรื่องนี้ พรรคการเมืองที่มีแนวทางอนุรักษนิยม จะประกาศไม่เห็นด้วยทันที

ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ พรรคกล้า และคาดหมายว่ายังมีอีกหลายพรรค ในปีกอนุรักษ์ รวมถึงวุฒิสมาชิก ที่ไม่เห็นด้วยกับท่าทีของพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล อย่างชัดเจน

อันจะกลายเป็นแรงเสียดทานสำคัญต่อท่าทีของทั้งสองพรรค

กระทั่งน่าจะกลายเป็น ‘ประเด็น’ ต่อสู้ทางการเมือง อันแหลมคมเมื่อเข้าสู่ ‘การเลือกตั้ง’

ซึ่งพรรคก้าวไกลนั้นก็ชัดเจน คือแน่วแน่ในจุดยืนของตนเองอย่างเด็ดเดี่ยว

ส่วนพรรคเพื่อไทยที่กำลังหลอมรวมกระแสคน “เก่า” และ “ใหม่” นั้น ดูจะยังไม่ลงตัวนัก และยังต้องปรับตัวอีกไม่น้อย

ซึ่งต้องติดตามว่าพรรคเพื่อไทยจะสามารถชูกระแส ดิโอลด์แมน แอนด์ เดอะอิ๊ง ขับเคลื่อนให้กลมกล่อมได้อย่างไร!?!