สิ่งแวดล้อม : ‘ประยุทธ์’ กับ ‘โลกร้อน’ / ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน / [email protected]

 

‘ประยุทธ์’ กับ ‘โลกร้อน’

 

การเดินทางไปประชุมว่าด้วยการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ในครั้งนี้ดูเหมือนเป็นอีกความพยายามบอกกับโลกว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนไม่น้อยหน้ากว่าประเทศอื่นๆ

ความพยายามของ พล.อ.ประยุทธ์แสดงออกผ่านมิติต่างๆ อย่างเช่น ปราศรัยในงานสัมมนาออนไลน์ของสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมาว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ นับวันเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเป็นความเสี่ยงอันดับต้นๆ ของโลก

พล.อ.ประยุทธ์ยอมรับประเทศไทยเผชิญกับความเสี่ยงสูงโดยเฉพาะกรุงเทพมหานครเป็น 1 เสี่ยงสูงกับปัญหาน้ำท่วม ปัญหาพื้นที่แนวชายฝั่งและการทรุดตัวของดิน

 

นายกฯ หยิบเอารายงานโกลบอล ไคลแมต ริสต์ของเวิร์ลด์ อีโคโนมิกส์ ฟอรั่ม เมื่อปี 2563 มาบอกให้รู้ว่าไทยเป็นประเทศอันดับ 9 ของโลกที่ได้รับผลกระทบระยะยาวจากภาวะโลกร้อน เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ

“ความไม่แน่นอนเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสังคมและชีวิตตามเป็นอยู่ของประชาชน ทำให้ประเทศมีต้นทุนในการบริหารจัดการหรือแก้ไขปัญหา จึงควรเตรียมการรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน อย่างเป็นระบบ และมีความยั่งยืน” พล.อ.ประยุทธ์บอกและยืนยันว่า

“ไทยให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสมดุล เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และหามาตรการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ทั้งการลดและควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ต้องใช้เทคโนโลยีค่อนข้างสูงเพื่อเปลี่ยนแนวทางการผลิตและพฤติกรรมการบริโภค”

นายกฯ ยังบอกอีกว่า ที่ผ่านมาประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมทำให้เกิดกระแสการต่อต้านในสินค้าบางประเภทแล้ว เช่น กรณีสหภาพยุโรป (อียู) พากันต่อต้านน้ำมันปาล์มที่ผลิตจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย เนื่องจากเห็นว่าการปลูกปาล์มทำให้เกิดการบุกรุกป่ามากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันอียูอยู่ระหว่างร่างระเบียบมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน หรือ CBAM (Carbon border Adjustment Mechanism) อาจจะกลายเป็นรูปแบบหนึ่งของมาตรการกีดกันทางการค้า และอาจจะต้องฟ้องร้อง ซึ่งคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะเริ่มบังคับใช้ปี 2566 ในการควบคุมสินค้า อาทิ ซีเมนต์ พลังงานไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็ก เหล็กกล้า และอะลูมิเนียม และมีแนวโน้มขยายไปยังสินค้าอื่นๆ ในอนาคต ขณะเดียวกันเริ่มมีกระแสในสหรัฐและแคนาดา ที่พิจารณาใช้มาตรการคล้ายคลึงกัน

อีกแนวทางสำคัญในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนได้ โดยเฉพาะสำหรับประเทศที่มีองค์ความรู้ และมีภูมิปัญญาท้องถิ่น อาทิ โครงการปลูกป่าชายเลน จะช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก และยังสามารถป้องกันการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งได้อีกด้วย

“ในเรื่องนี้ รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะปลูกต้นไม้ 100 ล้านต้นภายในปี 2565 ผมขอเชิญชวนภาคเอกชนมีส่วนร่วมโครงการนี้ รวมทั้งการริเริ่มโครงการอื่นๆ นอกจากนี้ รัฐบาลยังพยายามส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ปรับตัวตามทิศทาง และรากฐานใหม่ๆ ในเวทีระหว่างประเทศ”

 

พล.อ.ประยุทธ์ยังอธิบายถึงแผนงานของรัฐบาลในการช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมทำความเย็นลดละเลิกใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน ที่ทำลายชั้นบรรยากาศโลกและก๊าซเรือนกระจก

“ล่าสุดรัฐบาลมุ่งผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไห้ฟ้า และเปลี่ยนผ่านไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า ตั้งเป้าไว้ว่าจะผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมด รวมทั้งใช้รถยนต์ไฟฟ้า 15 ล้านคัน หรือ 1 ใน 3 ของยานยนต์ทั้งหมด ภายในปี 2578

“ผมยืนยันว่ารัฐบาลจะทำเรื่องเหล่านี้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ความช่วยเหลือภาคเอกชนในอุตสาหกรรมต่างๆ ปรับตัวและก้าวผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ตามทิศทางของไทยและของประชาคมโลกได้อย่างมั่นใจ”

อีกไม่กี่วันถัดมา พล.อ.ประยุทธ์เดินทางไปดูโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตไฟฟ้าในช่วงกลางวันและดึงพลังงานน้ำมาผลิตไฟฟ้าเสริมในช่วงกลางคืนได้ต่อเนื่องยาวนาน

โครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดแห่งนี้ กฟผ.คุยว่าใหญ่ที่สุดในโลก ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ราว 47,000 ตัน หรือเทียบเท่าปลูกป่า 37,600 ไร่

 

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ร่วมประชุมทางไกลอาเซียนซัมมิตกับผู้นำอาเซียน พล.อ.ประยุทธ์บอกที่ประชุมว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และภัยธรรมชาติอื่นๆ ที่มาจากภาวะโลกร้อน สะท้อนให้เห็นถึงจุดอ่อนของแนวทางการพัฒนาในปัจจุบันที่เน้นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ละเลยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ

พล.อ.ประยุทธ์ยังโชว์วิสัยทัศน์ว่าด้วย “วาระสีเขียวของอาเซียน” เน้นส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสีเขียว เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ใช้ทรัพยากรทั้งในดิน ในทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาค เน้นการเข้าถึงเทคโนโลยีให้เป็น “อาเซียนดิจิตอล” พัฒนาเมืองและชุมชนอย่างยั่งยืนประชาชนใช้ชีวิตอย่างมีสวัสดิภาพ มีคุณภาพ

รวมถึงสนับสนุนการลงทุนในธุรกิจการเงินสีเขียว

 

ก่อนถึงวันเดินทางไปกลาสโกว์ พล.อ.ประยุทธ์เปิดแผนการแก้ปัญหาโลกร้อนของประเทศไทยใน 3 ประเด็นหลัก

1. ไทยจะมุ่งมั่นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20-25 เทียบกับปี 2548 ในด้านพลังงานและขนส่ง อุตสาหกรรมและการจัดการขยะของเสีย

2. วางยุทธศาสตร์ระยะยาว ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ภายในครึ่งหลังของศตวรรษนี้

3. เพิ่มพื้นที่สีเขียว แบ่งเป็นพื้นที่ป่าเพื่อกักเก็บก๊าซเรือนกระจก เป็นป่าธรรมชาติร้อยละ 35 ป่าเศรษฐกิจร้อยละ 15 และอีกร้อยละ 5 เป็นพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง เขตชนบท

ผมเอาข้อมูลในช่วงตลอด 1 เดือนก่อนไปร่วมประชุม cop26 ของ พล.อ.ประยุทธ์มาเรียงร้อยอย่างนี้ เพื่อบอกว่านี่เป็นคำสัญญาประชาคมของผู้นำรัฐบาลที่ต้องทำให้ได้ ให้สำเร็จ ไม่ใช่เป็นแค่คำคุยโม้โอ้อวดโชว์โลก