วิกฤตซ้อนวิกฤต ราคาน้ำมันพุ่งทั่วโลก รัฐกัดฟันควักเงินตรึงดีเซล 30 บาท/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

วิกฤตซ้อนวิกฤต

ราคาน้ำมันพุ่งทั่วโลก

รัฐกัดฟันควักเงินตรึงดีเซล 30 บาท

 

ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ล่าสุด (26 ตุลาคม 2564) ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสอยู่ที่ 83.76 เหรียญ/บาร์เรล น้ำมันดิบเบรนต์ 85.99 เหรียญ/บาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบ 84.52 เหรียญ/บาร์เรล

บริษัทไทยออยล์ได้วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมันอันเนื่องมาจากตลาดน้ำมันตึงตัวจากความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับเกิดวิกฤตพลังงานขาดแคลน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีน ราคาก๊าซธรรมชาติและถ่านหินปรับตัวสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จนทำให้ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติหันไปใช้น้ำมันทดแทนก๊าซ

ด้าน Goldman Saohs ได้ออกมาคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนต์จะปรับตัวสูงขึ้นในระดับ 90 เหรียญ/บาร์เรลในช่วงปลายปี 2564 จากความต้องการใช้น้ำมันดิบที่คาดว่าจะแตะระดับก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ที่ประมาณ 100 ล้านบาร์เรล/วันในเร็วๆ นี้ หลังราคาก๊าซธรรมชาติที่สูง ส่งผลให้มีความต้องการใช้น้ำมันทดแทนก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านบาร์เรล/วันด้วย

สถานการณ์ราคาน้ำมันดังกล่าวทำให้ผู้วิเคราะห์ด้านราคาน้ำมันเชื่อว่า นับจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2564 ราคาน้ำมันดิบจะไม่มีโอกาสที่จะ “ต่ำกว่า” 80 เหรียญ/บาร์เรลแน่

ส่งผลให้เกิดความกังวลทั้งในหมู่ผู้ประกอบการผลิตสินค้าและภาคการขนส่งจะต้องเผชิญกับการปรับขึ้นของราคาน้ำมันขายปลีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาน้ำมันดีเซล

ซึ่งหากจะคำนวณโดยไม่มีการ “อุดหนุน” จากรัฐบาลขณะนี้ น้ำมันดีเซลก็จะมีราคาทะลุเกินกว่า 30 บาท/ลิตรไปแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังมีเป้าหมายสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ พยายามดำเนินนโยบายผ่อนคลายหลังการระบาดของโควิด-19 ลดต่ำลงจนนำไปสู่การเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน พร้อมกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี

ส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจที่จะ “ตรึง” ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศ ซึ่งเป็นหัวใจของภาคการผลิตและภาคการขนส่ง ไว้ที่ไม่เกินลิตรละ 30 บาท ด้วยการอาศัยกลไกการบริหารจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เปิดทางให้รัฐบาลดำเนินการได้ด้วยเหตุผล 3 ประการคือ

1) การเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกปรับตัวสูงขึ้น “เกินกว่า” ระดับราคาที่เหมาะสม หรือ “มากกว่า” 30 บาท/ลิตร

2) การบริหารจัดการราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศด้วยการใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องเป็นมาตรการระยะสั้นเท่านั้น

และ 3) การอุดหนุนราคาขายปลีกน้ำมันจะต้องคำนึงถึงภาวะความผันผวนของราคาต้นทุนที่แท้จริง แนวโน้มตลาดโลก และหลีกเลี่ยงการ “ชดเชย” เพื่อช่วยเหลือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และไม่ควรมีการอุดหนุนราคาน้ำมันชื้อเพลิงข้ามกลุ่ม (cross subsidies)

ส่งผลให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้กำหนดมาตรการบรรเทาผลกระทบของราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่ปรับตัวสูงขึ้นด้วยการปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของดีเซลหมุนเร็ว B7 จาก 1 บาท/ลิตร เป็น 0.01 บาท/ลิตร ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคมเป็นต้นไป, การปรับลด “ส่วนผสม” ขั้นต่ำของไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซล B7 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดาเป็นร้อยละ 6 โดยปริมาตร และปรับลด “ค่าการตลาด” ของน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ของผู้ค้าน้ำมันลงจากลิตรละ 1.80 บาท เป็นลิตรละ 1.40 บาท

นอกจากนี้ กบง.ยังกำหนด “ส่วนต่าง” ราคาขายปลีกระหว่างน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B7 กับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดาอยู่ที่ 0.15 บาท/ลิตร และกำหนด “ส่วนต่าง” ราคาขายปลีกระหว่างน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B7 กับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 อยู่ที่ 0.25 บาท/ลิตร โดยอาศัยการบริหารจัดการของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เข้ามาอุดหนุนราคาพลังงานภายในประเทศ ทั้งการขายปลีกน้ำมันและก๊าซหุงต้ม (LPG)

ในขณะที่ผู้ค้าน้ำมันก็ต้องร่วมรับภาระด้วยการถูกคุม “ค่าการตลาด” น้ำมันดีเซลให้เหลือลิตรละไม่เกิน 1.40 บาท

 

แต่ดูเหมือนการ “ตรึงราคา” ขายปลีกน้ำมันดีเซลภายในประเทศไว้ไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาทนั้น “ยังไม่เพียงพอที่จะลดผลกระทบของภาคการขนส่งและภาคการผลิต” ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของราคาสินค้าได้

โดยสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ได้ออกมาเคลื่อนไหวในกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ด้วยการแสดงพลังนำรถบรรทุกสิบล้อออกมาวิ่งรอบๆ กรุงเทพฯ ถึง 6 เส้นทางเพื่อสร้างแรงกดดันให้รัฐบาล “ปรับลด” ราคาน้ำมันดีเซลลงมาอีก

โดยยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลลดราคาน้ำมันดีเซลลงมาเหลือลิตรละ 25 บาท, ยกเว้นการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ และกองทุนอนุรักษ์พลังงาน รวมไปถึงข้อเสนอสำคัญให้รัฐบาลลดภาษีสรรพสามิตลง 5 บาท/ลิตรทันทีเป็นเวลา 1 ปี

โดยข้อเรียกร้องของสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย หากรัฐบาลยอมปฏิบัติตามก็จะสามารถลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลภายในประเทศให้ “ต่ำกว่า” ลิตรละ 30 บาทได้ทันที

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอในการลดภาษีสรรพสามิต ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลจัดเก็บอยู่ที่ประมาณลิตรละ 5 บาท (B7 5.99 บาท-ดีเซลหมุนเร็ว 5.99 บาท-B20 5.1530 บาท) นั้น รัฐบาลยัง “แบ่งรับแบ่งสู้” จากข้อเท็จจริงที่ว่า 1 ในรายได้หลักของรัฐบาลมาจากภาษีสรรพสามิตน้ำมัน (ระหว่างเดือนตุลาคม 2563-กุมภาพันธ์ 2564 จัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันคิดเป็นเงิน 92,754 ล้านบาท) ประกอบกับ “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” ที่ใช้ “อุดหนุน” เพื่อตรึงราคาน้ำมันดีเซลในประเทศกำลังตกอยู่ในภาวะกองทุนติดลบ หรือ “ถังแตก”

ด้านนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า แม้รัฐบาลจะยังคงตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกินลิตรละ 30 บาทต่อไป แต่ต้องยอมรับว่า ก่อนหน้านี้ในช่วงของการระบาดโควิด-19 กองทุนน้ำมันฯ ได้เข้าไปช่วย “พยุงราคา” ก๊าซหุงต้มที่ราคา 318 บาท/ถัง 15 ก.ก.ในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ประมาณ 20 เหรียญ/บาร์เรล แต่ตอนนี้ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นไปถึง 80-83 เหรียญ/บาร์เรลแล้ว ทำให้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไหลออกเหลือเพียง 9,207 ล้านบาท (เดือนตุลาคม 2564) ประกอบกับถึงสิ้นเดือนนี้กองทุนน้ำมันฯ จะต้องใช้เงินไปพยุงราคา LPG อีกประมาณ 2,000 ล้านบาท ทำให้เงินกองทุนเหลืออยู่ไม่เกิน 6,600 ล้านบาท ดังนั้น กองทุนน้ำมันฯ จะมีเงินมาอุดหนุนเพื่อใช้ตรึงราคาน้ำมันดีเซลลิตรละไม่เกิน 30 บาทอย่างช้าที่สุดก็ไม่เกินสิ้นปี 2564 นี้เท่านั้น

ทางเดียวที่เป็นไปได้นอกเหนือไปจากการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลก็คือ การเปิดโอกาสให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง “กู้เงิน” เข้ามาใช้ตรึงราคาดีเซลต่อในวงเงินกู้ประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยกองทุนน้ำมันฯ พยุงฐานะทางการเงินไปจนถึงเดือนมีนาคม 2565

แต่เงินจะหมดกองทุน จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันดิบโลกจะต้องไม่เกิน 87.5 เหรียญ/บาร์เรลด้วย

 

นั่นสะท้อนให้เห็นภาวะความเป็นจริงที่ว่า รัฐบาลจะไม่สามารถ “อุดหนุน” ราคาน้ำมันดีเซลเป็นระยะเวลายาวนานได้ตลอดไป

ถ้าเลือกแนวทางการปรับลดภาษีสรรพสามิตลิตรละ 5 บาท รัฐบาลก็จะ “ขาดรายได้” ในการจัดหางบประมาณมาบริหารประเทศในอนาคตอันใกล้

แต่ถ้าเลือกที่จะกู้เงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงก็เสี่ยงต่อการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะที่ค่อนข้าง “ตึงตัว” เต็มทีแล้ว

ดังนั้น การพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันดิบจึงกลายเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตที่เป็นผลมาจากการระบาดของโควิด-19 ที่จะเข้ามาซ้ำเติมประชาชน-ผู้ประกอบการต่อไปจนถึงต้นปี 2565 เป็นอย่างน้อย