3 ป.ร้าวลามกองทัพ สายตู่-ป้อม เช็กขุมกำลังรบ ‘บิ๊กบี้’ ตท.22 พรึบ ‘บิ๊กต่อ’ น้องตู่ นำ ตท.23 เบียดจ่อคุม ทบ. ‘หนุ่ย-ต้น’ นำ ตท.24 ตท.27- 28 ขบ/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

 

3 ป.ร้าวลามกองทัพ สายตู่-ป้อม

เช็กขุมกำลังรบ ‘บิ๊กบี้’ ตท.22 พรึบ

‘บิ๊กต่อ’ น้องตู่ นำ ตท.23 เบียดจ่อคุม ทบ.

‘หนุ่ย-ต้น’ นำ ตท.24

ตท.27- 28 ขบ

 

ไม่ใช่แค่การเมืองที่ร้อน แต่กองทัพก็คุกรุ่นจากปัญหาของพี่น้อง 3 ป. “ป้อม-ป๊อก-ประยุทธ์” ในสนามการเมือง ที่กำลังร้าวหนัก ยังลามมาถึงกองทัพ

รอยร้าวถูกแซะลึกจากแผนปฏิบัติการแซะรอยร้าวพี่น้อง กดดันบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้ปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า พ้นเลขาธิการพรรค

แม้บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม จะคุยเคลียร์กับ พล.อ.ประวิตรมาหลายครั้งจนบรรยากาศดีขึ้น และส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์เคลียร์ใจกับ ร.อ.ธรรมนัส ที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ และมีทิศทางที่ดีขึ้น ร.อ.ธรรมนัสดูอ่อนลงก็ตาม

แต่ความขัดแย้งภายใน พปชร. และกระแสต่อต้าน ร.อ.ธรรมนัสที่หนักขึ้น โดยเฉพาะเมื่อ ส.ส.มือขวาผู้กองอ้างผลโพล พปชร. ไปกดดัน ส.ส.เชิงข่มขู่ว่าจะไม่ได้ลงสมัครในเลือกตั้งครั้งหน้า ที่ล้วนแล้วแต่เป็นสายตรงของกลุ่มสามมิตร และนายสันติ พร้อมพัฒน์ ที่รู้กันดีว่า ขัดแย้งกับ ร.อ.ธรรมนัส ที่ถูกตั้งฉายาว่า ขาใหญ่ในพรรค ไปแล้ว

แถมไปมีปัญหากับ ส.ส.กทม. สายตรงของกลุ่ม กปปส.เดิม เรื่องจึงถึงหู พล.อ.ประยุทธ์ และเรียก รมต.ที่เป็นแกนนำพรรค พปชร. มาพบบนตึกไทยคู่ฟ้า จึงมีนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส โควต้า กปปส.ร่วมวงด้วย

และร้อนถึงขั้นที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องยอมเปิดบ้านพักตัวเองใน ร.1 รอ. ถกปัญหากันต่อ เพราะปกตินายกฯ จะไม่เปิดบ้านรับแขก โดยเฉพาะนักการเมือง

แต่ครั้งนี้จำเป็น และคิดว่า จากนี้ต้องทำงานการเมืองเองเต็มตัวแล้ว จะไปใช้บ้านป่ารอยต่อฯ ของ พล.อ.ประวิตรก็ไม่ได้ เพราะ ร.อ.ธรรมนัสเข้ามาทุกวัน

 

ที่สุดเมื่อข้อมูล ข้อกล่าวหาพรั่งพรู เข้าหู พล.อ.ประยุทธ์ ก็ต้องเคลียร์กับ พล.อ.ประวิตร

แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะเคยเคลียร์ใจกับ ร.อ.ธรรมนัส คุยกัน 2 ช.ม.เต็มครั้งนั้นแล้ว แต่ท่าทีต่อมาของ ร.อ.ธรรมนัสทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ไว้ใจ

โดยเฉพาะในการให้สัมภาษณ์ที่โคราช ไม่ยอมพูดว่าสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ แถมติงลูกพรรค พปชร.อย่าพูดส่งเดช เพราะต้องให้กรรมการบริหารพรรคพิจารณา และต้องฟังจากปาก พล.อ.ประวิตรเท่านั้น

แถมยังมีคนฟ้องนายกฯ เรื่องพฤติกรรมและคำพูดของ ร.อ.ธรรมนัส ที่สะท้อนการเป็นปฏิปักษ์กับนายกฯ โดยที่นายกฯ ก็เชื่อตามนั้นไปแล้ว จึงนำมาซึ่งการกดดัน พล.อ.ประวิตรให้ตัดสินใจปรับโครงสร้างพรรค

จน พล.อ.ประวิตรยืนยันว่า คนที่เป็น ส.ส.จะได้สิทธิ์ในการลงเลือกตั้งก่อน ส่วนการทำโพลสำรวจเรตติ้ง ส.ส.พปชร.นั้น เป็นแค่แนวคิด ยังไม่ได้สั่งให้ทำ เพราะยังไม่ใกล้เลือกตั้ง

จุดนี้ทำให้เข้าใจกันว่า พล.อ.ประวิตรไม่เอา ร.อ.ธรรมนัสแล้ว เพราะการทำโพลนี้ ทุกพรรคก็ทำกันแล้วในช่วงนี้ และ พล.อ.ประวิตรต้องการใช้ผลโพลกระตุ้นให้ ส.ส. ลงพื้นที่สร้างผลงานกันตั้งแต่ตอนนี้

แต่ทว่า ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ ร.อ.ธรรมนัสถูกถล่มพร้อมนายไผ่ ลิกค์ รองเลขาฯ พรรค มือขวาที่ช่วยสร้างศัตรูเพิ่มให้ลูกพี่ขึ้นไปอีก

งานนี้เรียกได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์และทีมงาน เปิดหน้า เปิดปฏิบัติการปลด ร.อ.ธรรมนัสภาค 2 หลังนายกฯ ทูลเกล้าฯ แบบฟ้าผ่า ร.อ.ธรรมนัสพ้น รมช.เกษตรฯ เมื่อ 9 กันยายน 2564 ราวกับต้องการกดดันให้พี่ใหญ่ตัดสินใจว่าจะเลือกน้องตู่ หรือ ร.อ.ธรรมนัส เลยทีเดียว

หาก พล.อ.ประวิตรตัดสินใจเปลี่ยนเลขาธิการพรรค และให้ ร.อ.ธรรมนัสเป็นรองหัวหน้าพรรค ขอร้องให้ช่วยงานสู้ศึกเลือกตั้งต่อ แต่คาดกันว่า ร.อ.ธรรมนัส ที่ก็เป็นเลือดทหาร มีศักดิ์ศรี ก็คงไม่อยู่ แต่ลาออกไม่ได้ คงต้องไปทำหน้าที่ ส.ส.พะเยา ตามที่เคยตั้งใจ เพราะคิดจะลาออกหลายครั้งแล้ว แต่ พล.อ.ประวิตรขอร้องไว้

พล.อ.ประวิตรจึงถูกกดดันอย่างหนัก เพราะหากเลือก ร.อ.ธรรมนัส ก็ยิ่งถูกมองว่าขัดแย้งกับ พล.อ.ประยุทธ์ และเพิ่มรอยร้าวในพรรค เพราะถือว่าบรรดา รมต.ที่เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ ก็เป็นกำลังหลักของพรรคเช่นกัน

แต่ พล.อ.ประวิตรก็เกรงว่า ร.อ.ธรรมนัสจะแปรพักตร์ไปอยู่กับพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้าด้วยเช่นกัน

ดังนั้น ไม่ว่า พล.อ.ประวิตรตัดสินใจอย่างไร ก็มีแต่ปัญหารออยู่ หากสายสัมพันธ์พี่น้องดีเช่นแต่ก่อน พล.อ.ประวิตรก็คงให้ พล.อ.ประยุทธ์ยึดพรรคมาเป็นหัวหน้าพรรคเอง เลือกเลขาฯ พรรคเองไปแล้ว

แถมทั้งมีกระแสข่าวสะพัดว่า พล.อ.ประยุทธ์ต้องการจะมาคุมพรรคเอง นั่งหัวหน้าพรรคเอง แล้วแขวน พล.อ.ประวิตรให้นั่งประธานที่ปรึกษาพรรค แต่ยังไม่กล้าเอ่ยปาก แต่ใช้การกดดันแทน จากการที่นายกฯ มาดีลการเมืองเอง เพราะไม่ไว้ใจพี่ใหญ่และ ร.อ.ธรรมนัส

 

แต่ตอนนี้เพราะ พล.อ.ประวิตรไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว หลังจากที่โดนน้องรักลบเหลี่ยมมาหลายกรณี จึงยังไม่คิดถอดใจลาออก ยกพรรคให้น้องง่ายๆ เพราะเวลานี้ พล.อ.ประวิตรก็ฟูลทีม มีมือไม้ในการทำงานและไว้ใจได้ทั้งสิ้น ทั้งบิ๊กน้อย พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค และมี พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ อดีตปลัดกลาโหม ที่เพิ่งเกษียณมาอยู่เคียงข้าง พร้อมทีมบ้านป่ารอยต่อฯ

ที่สำคัญคือ มีการตอกย้ำข้อตกลงเดิม แต่มาย้ำกันใหม่ล่าสุดของ 2 ป. พี่ใหญ่และน้องเล็ก ที่ว่า เรื่องในรัฐบาล ใน ครม.ในการบริหารรัฐบาล เป็นหน้าที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยที่ พล.อ.ประวิตรจะไม่ยุ่ง จะปรับ ครม. จะเอาใครเข้าใครออก

เหมือนอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ปลด ร.อ.ธรรมนัส และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ออกจาก ครม. และริบอำนาจ พล.อ.ประวิตรที่จากเคยให้คุม 4 กรมในกระทรวงเกษตรฯ ให้นาย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กลับมาคุมเองตามเดิม ซึ่ง พล.อ.ประวิตรก็ยอม

แต่เรื่องการเมืองในพรรคพลังประชารัฐให้เป็นหน้าที่ของ พล.อ.ประวิตรตัดสินใจเพียงคนเดียว รวมทั้งการให้ ร.อ.ธรรมนัสและนางนฤมลช่วยงานพรรคต่อไป

ที่ดูเหมือนว่า พล.อ.ประยุทธ์จะทำตามนั้นไม่ได้ ตราบใดที่ทั้ง 2 คนนี้ยังอยู่ข้างกายพี่ใหญ่ และพลอยให้หวาดระแวงพี่ใหญ่ไปด้วย

ขณะที่การเมืองใน 3 ป.ร้อน ก็แผ่รังสีมาถึงกองทัพด้วย หลังจากที่บิ๊กแก้ว พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.ทหารสูงสุด นำ ผบ.เหล่าทัพ ยืนแผงประกาศลั่น หน้าที่ของทหารคือการปราบกบฏ และจลาจล

ที่ไม่ใช่แค่ถูกตีความว่า ส่งสัญญาณไปถึงกลุ่มผู้ชุมนุมบนท้องถนน และกลุ่มนักการเมืองที่อยู่เบื้องหลัง ที่เล็งเป้าไปที่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง และการล้มล้างสถาบันเท่านั้น

แต่ฝ่ายตรงข้ามยังตีความย้อนศรกลับมาที่กองทัพเองว่า เป็นการเตือนพวกคิดการใหญ่ในกองทัพหรือไม่ จากการวางขุมกำลังต่างๆ เพราะในอดีต คำว่ากบฏ จะหมายถึงทหารที่ก่อกบฏไม่สำเร็จ แต่ปัจจุบันมีการนำมาใช้เรียกพวกที่จะล้มล้างรัฐบาลด้วย

แม้ว่าเงื่อนไขในการรัฐประหารจะยังไม่มีเค้าลางเลยก็ตาม แต่ก็มีการปลุกกระแสให้หวาดระแวงกองทัพ จากระยะห่างของ พล.อ.ประยุทธ์กับ ผบ.เหล่าทัพ

และจากมโนทัศน์ที่ฝ่ายการเมืองคิดล่วงหน้าไปว่า หากพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ ได้จัดตั้งรัฐบาล และสายชินวัตรเป็นนายกฯ ก็อาจเกิดการรัฐประหารขึ้นอีก เพราะจะต้องมีการก่อม็อบ และวุ่นวายเหมือนยุคม็อบพันธมิตรฯ และ กปปส. ที่ตามมาด้วยการรัฐประหารทั้ง 2 ครั้ง

อีกทั้งจากการวางตัววางทายาทในกองทัพของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็สะท้อนถึงการเข้าคุมกองทัพเองมากขึ้น จากเดิมที่ให้นายทหารในสาย พล.อ.ประวิตร คุมตำแหน่งสำคัญมากกว่า ทั้งนี้ก็เพื่อกระชับอำนาจเอง ทั้งการเมืองและกองทัพ

 

หากสำรวจทำเนียบกำลังรบ และนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาและผู้บังคับหน่วยขึ้นตรงกองทัพบกแล้วจะพบว่า เพื่อนร่วมรุ่น ตท.22 ของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ที่ยังคงเป็น ผบ.ทบ.ต่อเป็นปีที่ 2 และปีที่ 3

โดยที่ปีนี้เป็นปีที่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ได้จัดโผใหญ่เอง จึงไม่แปลกที่เพื่อนร่วมรุ่น ตท.22 จปร.33 จะพรึบกองทัพบก

โดยใน 5 เสือ ทบ. ก็มีทั้งบิ๊กโต้ง พล.อ.อภินันท์ คำเพราะ เพื่อนรัก เป็นรอง ผบ.ทบ. และบิ๊กติ่ง พล.อ.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ เป็นเสธ.ทบ. และควบเลขาธิการ กอ.รมน. และ ผอ.ศบค.19 ทบ. และโฆษก ทบ.

ในส่วนรองเสธ.ทบ. ที่มี 5 คนนั้น มีบิ๊กยอด พล.ท.สุดยอด พรมแก้ว และบิ๊กจ๊อบ พล.ท.พิเศษ ศิริเกษม

แน่นอนว่า คนที่คุมงบประมาณ ก็ต้องเป็นรุ่นเดียวกับ ผบ.ทบ. ทั้งบิ๊กชั้น พล.ท.นพดล ชั้นประดับ ปลัดบัญชี ทบ. เจ้ากรมเบิ้ล พล.ท.ภูวนารถ ชมพูบุตร เป็นเจ้ากรมส่งกำลังบำรุง ทบ. เจ้ากรมแนบ พล.ต.อดุลย์ แนบสนิท เจ้ากรมการเงิน ทบ.

และเป็นเจ้ากรม 11 กรม ทั้งบิ๊กหมึก พล.ท.มานัสชัย ศรีประจันทร์ เป็นเจ้ากรมกำลังพล ทบ., บิ๊กเทอด พล.ท.เทอดศักดิ์ ดาขา เจ้ากรมข่าว ทบ., เจ้ากรมน้อย พล.ต.รชต วงษ์อารีย์ เจ้ากรมสารวัตรทหารบก, เจ้ากรมเหนี่ยว พล.ต.เฟื่องวิทย์ เลาหสุรโยธิน เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก, บิ๊กคุน พล.ต.สุธี กอรี ผอ.สตน.ทบ., เจ้ากรมเหน่ง พล.ท.วิสันติ สระศรีดา เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก, เจ้ากรมเล็ก พล.ท.วรพจน์ เร้าเสถียร เจ้ากรมทหารสื่อสาร, เจ้ากรมนก พล.ท.นพดล ศรีจันทร์สุข เจ้ากรมสรรพาวุธ ทบ., ผบ.แมน พล.ต.อรรถพล สอยเหลือง ผบ.ศอ.สพ.ทบ., เจ้ากรมแป๋ง พล.ต.พูลลาภ ยะตินันท์ เจ้ากรมขนส่งทหารบก, พล.ท.สุทิน เบ็ญจวิไลกุล เจ้ากรมการทหารช่าง และบิ๊กตี๋ พล.ท.รังษี กิติญาณทรัพย์ กอญ.ททบ.5. คุมวิทยุ ทบ. และทีวีช่อง 5 ททบ.

ส่วนหน่วยคุมกำลัง มีแม่ทัพเกรียง พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4, แม่ทัพครุฑ พล.ท.ธิรา แดหวา แม่ทัพน้อยที่ 4, ผบ.แมว พล.ต.กอบกิจ ชูประสิทธิ์ ผบ.พล.ปตอ., ผบ.อ๊อด พล.ต.จิราวัฒน์ จุฬากุล ผบ พล ร.7, ผบ.โก้ พล.ต.ปิยะชาติ ธูปทอง ผบ.บชร.1 และบิ๊กมอม พล.ต.วรุตม์ นนทวงษ์ เป็น ผบ.ศูนย์การบินทหารบก (ศบบ.)

ในส่วนของผู้บัญชาการมณฑลทหารบก (ผบ.มทบ.) ที่คุมจังหวัดต่างๆ ทั้งในภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคเหนือ ส่วนใหญ่ก็เป็นเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 22 ของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ เช่น ผบ.เก่ง พล.ต.ดิฐพงษ์ เจริญวงศ์ ผบ.มทบ.12, ผบ.เรือง พล.ต.เรืองศักดิ์ อรรคทิมากูล ผบ.มทบ.17, ผบ.แมว พล.ต.ยุวัต ขันธปรีชา ผบ.มทบ.21, ผบ.เบิ้ม พล.ต.สรชัช สุทธิสนธิ์ ผบ.มทบ.22, ผบ.อุ๊ พล.ต.คณธัช ชนะกาญจน์ ผบ.มทบ.23, ผบ.ตุ๋ม พล.ต.สุทธ์พิชญพงษ์ สุธิราวุธ ผบ.มทบ.24, เสธ.ปู๋ พล.ต.สาธิต เกิดโภค ผบ.มทบ.25, พล.ต.สมบูรณ์ ณ หนองคาย ผบ.มทบ.26, พล.ต. สุระ สินโสภา ผบ.มทบ.28

พล.ต. อดุลย์ ชมเย็น ผบ.มทบ.31, ผบ.แอ๊ด พล.ต.อโณทัย ชัยมงคล ผบ.มมบ.32, เสธ.ตุ๊กติ๊ก พล.ต.สมเจตตะณ์ ภักดีบรรณดิษฐ ผบ.มทบ.34, เสธ.ต่าย พล.ต.สัณธวัฒน์ วงศ์วัฒนะ ผบ.มทบ.35, เสธ.เห้ง พล.ต.สามารถ มโนรถมงคล ผบ.มทบ.36, ผบ.ป้อม พล.ต.ศุภฤกษ์ สถาพรผล ผบ.มทบ.37

 

ในขณะที่เตรียมทหาร 23 จปร.34 ก็ขยับขึ้นมาเตรียมรองรับบิ๊กต่อ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผช.ผบ.ทบ. ตัวเต็ง ผบ.ทบ.สายทหารเสือฯ คอแดง น้องรักบิ๊กตู่ ต่อจาก พล.อ.ณรงค์พันธ์ในตุลาคม 2566

แต่ พล.อ.เจริญชัยมีอายุราชการแค่ 2567 หากนั่ง ผบ.ทบ.ก็ได้แค่ปีเดียว จะดัน พล.อ.ณรงค์พันธ์ไปเป็น ผบ.ทหารสูงสุดก็ไม่ได้ เพราะ พล.อ.ณรงค์พันธ์เก้าอี้มั่นคง แถมทั้งบิ๊กแก้ว พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.ทหารสูงสุด ก็เกษียณ 2566 พร้อม พล.อ.ณรงค์พันธ์

ในระดับรองเสธ.ทบ. ตท.24 มีบิ๊กโซ่ พล.ท.ชนาวุธ บุตรกินรี และบิ๊กช้าง พล.ท.เอกรัตน์ ช้างแก้ว และมีบิ๊กเล็ก พล.ท.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ที่เป็นทหารคอแดงคนแรกที่มาเป็น ผบ.รร.จปร.

และมีเจ้ากรมดอน พล.ท.นิรันดร ศรีคชา เป็นเจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารบก เจ้ากรมเต๊ะ พล.ต.สรรค์พร ณ สงขลา เจ้ากรมดุริยางค์ทหารบก บิ๊กขาล พล.ต.สมบุญ เกตุอินทร์ ผอ.สวพ.ทบ.

ในส่วนคุมกำลัง พล.อ.เจริญชัยมีแม่ทัพโต พล.ท.สุขสรรค์ หนองบัวล่าง เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ที่เติบโตมาจากบูรพาพยัคฆ์ พล ร.2 รอ.ด้วยกัน แต่ พล.ท.สุขสรรค์มีอายุราชการถึง 2567 เท่า พล.อ.เจริญชัย จึงอาจจะไม่ถึง ผบ.ทบ.

แต่ตามไลน์แล้ว ในโยกย้ายปลายปี 2565 พล.ท.สุขสรรค์ก็ต้องขยับขึ้น 5 เสือ ทบ.ไปอยู่ บก.ทบ.กับ พล.อ.เจริญชัย และกลายเป็นแคนดิเดต ผบ.ทบ.ด้วยอีกคน แต่ก็คาดว่า พล.อ.เจริญชัยจะขยับขึ้นรอง ผบ.ทบ. ครองอาวุโส จ่อเป็น ผบ.ทบ.ต่อไว้ก่อนแล้ว

ขณะที่ ตท.24 พลาดเก้าอี้ ผบ.ทบ.ไป ทั้งบิ๊กยอง พล.อ.ภูมิพัฒน์ จันทร์สว่าง ผช.ผบ.ทบ. หมวกแดงรบพิเศษ จะไม่ถึงเก้าอี้ ผบ.ทบ. เพราะเกษียณพร้อม พล.อ.ณรงค์พันธ์

ส่วนบิ๊กอ๊อฟ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี หัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสธ.ประจำผู้บังคับบัญชา ก็ดูมีโอกาสน้อยที่จะเข้าชิงเก้าอี้ ผบ.ทบ. เพราะแม้โยกย้ายตุลาคม 2565 จะได้ขึ้น 5 เสือ ทบ.ก็ตาม แต่เมื่อไม่ผ่านตำแหน่งแม่ทัพภาค ตามธรรมเนียม ทบ. ก็ลำบาก เพราะหากมีไฟเขียวให้เป็น ผบ.ทบ. ก็จะต้องได้เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ในโผที่ผ่านมาไปแล้ว

จึงมีแนวโน้มที่จะถูกส่งออกไป บก.ทัพไทย ไปชิงเก้าอี้ ผบ.ทหารสูงสุดต่อจากบิ๊กแก้ว พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ที่จะเกษียณกันยายน 2566

หรือหากจะไปสำนักปลัดกลาโหม เพื่อเปิดทางให้ทหารคอแดงแทรกซึมเข้าไปสร้างความเป๊ะให้ทุกส่วนของกองทัพ ก็จะข้ามอาวุโส เพราะบิ๊กหนุ่ม พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ เพื่อน ตท.24 ก็นั่งรองปลัดกลาโหม ครองอัตราพลเอกพิเศษ จ่อเป็นปลัดกลาโหมยาว 3 ปี ตามแนวทาง พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกลาโหมคนก่อน ที่เป็นน้องรักบิ๊กป้อมเช่นกัน จนเกิดกระแสจะดันนายทหารสายบิ๊กตู่มาคั่นหน้า เป็นปลัดกลาโหมก่อนก็มี

แต่ ตท.24 ยังมีความหวังกับแม่ทัพหนุ่ย พล.ท.ธราพงษ์ มะละคำ บูรพาพยัคฆ์คอแดง ที่ขึ้นมาเป็นแม่ทัพน้อยที่ 1 เข้าไลน์จ่อขึ้นแม่ทัพภาคที่ 1และมีอายุราชการถึง 2569 สามารถต่อคิวจาก พล.อ.เจริญชัย ที่เกษียณ 2567 พอดี

ไม่แค่นั้น ยังมีความหวังกับบิ๊กต้น พล.ท.ณัฐวุฒิ นาคะนคร ผบ.หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (นสศ.) ที่ก็มีสิทธิ์ชิงเก้าอี้ ผบ.ทบ. แม้จะไม่ใช่ทหารคอแดง แต่ก็เป็นหมวกแดง รบพิเศษ ที่มีความเป๊ะ และสมาร์ต รวมทั้งคุมหน่วยรบพิเศษรักษาพระองค์ อย่างกรมรบพิเศษที่ 3 รักษาพระองค์ และมีอายุราชการถึง 2568

ที่ผ่านมา ทั้ง ผบ.หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน (นย.) ทร. และหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน (อย.) ทอ. ที่มีหน่วยรักษาพระองค์ จะเข้าฝึกหลักสูตรของ ทม.รอ. เพื่อเป็นทหารคอแดง ดังนั้น คาดว่า ผบ.นสศ.ก็อยู่ในลิสต์ที่จะต้องเข้าฝึก ที่จะมีขึ้นในปีหน้า หลังโควิดคลี่คลาย

นอกจากนั้น ใน ตท.24 ยังมีคนเก่งอย่างเจ้ากรมหยอย พล.ท.อุกฤษฎ์ บุญตานนท์ เจ้ากรมยุทธการทหารบก ที่เกษียณ 2570 แม้จะไม่ได้เป็น ผบ.ทบ. เพราะไม่ได้โตมาในสายกำลังรบ แต่ก็ถึงเสธ.ทบ.

ส่วนคุมกำลัง มีแม่ทัพมืด พล.ท.กิตติศักดิ์ บุญพระธรรมชัย แม่ทัพน้อยที่ 3 ที่จ่อเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 ผบ.โอ๊ต พล.ต.จิรวัฒน์ นาคะรัตน์ ผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า (ผบ.ศม.)

ระดับเจ้ากรม มีเจ้ากรมหนุ่ย พล.ต.กำธร บุญทอง เจ้ากรมสารบรรณทหารบก เจ้ากรมป๊อป พล.ต.ธัชพล เปี่ยมวุฒิ เจ้ากรมจเรทหารบก ผบ.จ้อย พล.ต.ภานุพงษ์ พุทธาศรี ผบ.บชร.2 พล.ต.ประสาน แสงศิริรักษ์ ผบ.พล.ร.4 และ ผบ.กองกำลังนเรศวร พล.ต.นฤทธิ์ ถาวรวงษ์ ผบ.พล.ม.1 และ ผบ.กกล.ผาเมือง

และมี พล.ต.จรัญรัตน์ พงษ์สุวรรณ เป็นผู้บัญชาการกองพลทหารช่าง พล.ต.ไวพจน์ พันธุ เจ้ากรมยุทธโยธาทหารบก ผบ.หมึก พล.ต.ธนเสฏฐ์ ใจอารีย์ เป็น ผบ.ศคย.ทบ.

 

ขณะที่ ตท.25 ใน ทบ.ไม่ค่อยได้เติบโตเท่าใดนัก ที่ได้ขึ้นเป็น ผบ.หน่วย ก็มีบิ๊กชาย พล.ท.วสุ เจียมสุข เป็น ผบ.หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (ผบ.นรด)

ขณะที่นายทหาร เตรียมทหาร 26-27-28 กำลังเบียดกันใน ทบ.

แต่รุ่นที่ฮอตที่สุด และถูกจับตามองมากที่สุด คือ ตท.28 ที่เป็นรุ่นสายตรงพระราม 5 ที่กำลังสยายขุมกำลังในทุกเหล่าทัพ โดยเฉพาะใน ทบ. ที่คราวนี้ส่งกองหน้าบุกขึ้นมาเป็น ผบ.หน่วยคุมตำแหน่งสำคัญ นำทีมโดย ผบ.ไก่ พล.ต.วรยส เหลืองสุวรรณ ขยับจากรอง ขึ้นเป็นผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (ผบ.พล.1 รอ.) กำลังหลักของทหารคอแดง ใน ฉก.ทม.รอ.904 เป็นตำแหน่งที่ต้องได้ไฟเขียวเท่านั้น แถมมีอายุราชการถึง 2571

ที่ก่อนหน้านี้มีชื่อ พล.ต.ธวัชชัย ตท.27 สายตรงบิ๊กแดงมาเบียดชิง ผบ.พล.1 รอ.ด้วย แต่ที่สุดก็ต้องลดแรงกดดัน ด้วยการไปเป็น ผบ.พล.ร.11 หน่วยที่บิ๊กแดงก่อตั้งขึ้นมา หลังปรับโครงสร้างใหม่ กลายเป็นกำลังรบหลัก

ที่ต้องจับตาในสายทหารม้า คือ ผบ.มด พล.ต.อาจิณ ปัทมจิตร ผบ.พล.ม.2 รอ.คนใหม่ ที่ก็มีอายุราชการถึง 2571 และ ผบ.ซัน พล.ต.วณัฐ ลักษณสิริ ผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรองทางทหาร (ผบ.ขกท.) ที่คุมข่าวกรอง งานราชการลับ ที่ถือเป็นสายบุ๋นในรุ่น ตท.28 แถมเกษียณ 2573

และที่เป็นดาวรุ่ง ที่ ตท.28 หมายมั่นปั้นให้เข้าไลน์ เตรียมส่งชิงเก้าอี้ใหญ่ในอนาคต คือ ผบ.กอล์ฟ พล.ต.สราวุธ ไชยสิทธิ์ ผบ.มทบ.11 ที่คราวนี้ยอมลดแรงกดดัน ระหว่าง ตท.27 และ ตท.28 ด้วยการให้ พล.ต.ธวัชชัยเป็น ผบ.พล.ร.11 ไปก่อน เพราะเส้นทางเหล็กสู่แม่ทัพภาคที่ 1 นั้น จะต้องเป็นผู้บัญชาการกองพลมาก่อน โดยมีอายุราชการถึง 2573

 

ส่อเค้าให้เห็นว่า การเบียดแข่งชิงเก้าอี้แม่ทัพนายกอง จนถึง ผบ.ทบ.ของนายทหารแต่ละรุ่นใน ทบ.นั้น เข้มเข้น ด้วยเหตุที่รุ่นใกล้กัน มีอายุราชการไล่เลี่ยกัน จึงเป็นปัญหาอมตะอันยาวนานในกองทัพมาหลายยุคสมัย

อยู่ที่ รมว.กลาโหมและนายกรัฐมนตรีในแต่ละยุคจะเจรจา บริหารจัดการร่วมกับ ผบ.ทบ.ได้ราบรื่นหรือไม่ เพราะจะมีส่วนสร้างรอยร้าว ความขัดแย้งในกองทัพ

ที่นอกจากระหว่างทหารคอแดง กับทหารคอเขียวธรรมดาแล้ว รอยร้าวในทางการเมืองของพี่น้อง 3 ป.ก็ส่งผลให้กองทัพกระเพื่อมไม่น้อย ในหมู่ทหารเสือราชินี สาย พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อนุพงษ์ กับสายบูรพาพยัคฆ์ของ พล.อ.ประวิตร จนเกิดเป็นทหารสายตึกไทยคู่ฟ้า สายจันทร์โอชา กับสายบ้านป่ารอยต่อฯ สายวงษ์สุวรรณ ขึ้น

เพราะเริ่มมีกระแสสะพัดว่า นายทหารสายบิ๊กตู่จะมีโอกาสเติบโตมากกว่าสายบิ๊กป้อม เพราะ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ และ รมว.กลาโหม และมีการวัดพลังกันในพรรคพลังประชารัฐ และในสนามการเมือง เพื่อสร้างฐานอำนาจในกองทัพให้มั่นคงนั่นเอง