สิ่งแวดล้อม : เทคโนโลยีช่วย ‘ป้อง’ เมือง? / ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
ภาพประกอบจาก www.sfchronicle.com

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน / [email protected]

 

เทคโนโลยีช่วย ‘ป้อง’ เมือง?

 

จับตาดูกันว่าหลังวันที่ 1 พฤศจิกายน

ประเทศไทยเปิดบ้านรับชาวต่างชาติเต็มรูปแบบแล้วสถานการณ์เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไร

ตัวเลขคนติดเชื้อเพิ่มมากน้อยแค่ไหน เศรษฐกิจกระเตื้องจริงหรือไม่ ในท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ทั่วโลกยังปั่นป่วนไม่เลิก จำนวนคนติดเชื้อแต่ละวันพุ่งสูง

ยอดรวมๆ เกือบ 250 ล้านคน เสียชีวิตไปแล้วเฉียด 5 ล้านคน

 

องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จะยืดเยื้อถึงปีหน้า แม้จะฉีดวัคซีนไปแล้วราว 7 พันล้านโดส แต่ประเทศยากจนหลายประเทศยังไม่ได้วัคซีนอย่างเพียงพอ

ในบ้านเราตั้งแต่รัฐบาลสั่งวัคซีนล็อตแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ จนถึงบัดนี้เวลาผ่านไป 9 เดือน ประชากรไทย 66 ล้านคน เพิ่งฉีดเข็มแรกมีแค่ 39 ล้านคน เข็ม 2 ไม่ถึง 50% แถมยังเป็นเชื้อตาย ซิโนแวคหรือซิโนฟาร์ม และแอสตร้าเซนเนก้าเป็นส่วนใหญ่

และไม่รู้ว่าเมื่อฉีดครบ 2 โดสให้คนไทยครบทั้งประเทศแล้ว จะเจอไวรัสกลายพันธุ์ เพิ่มระดับความรุนแรงจนต้องหาวัคซีนรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าที่มีอยู่หรือเปล่า?

 

ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมวันนี้ หลายพื้นที่มีอาการหนักหนาสาหัส น้ำท่วมขังนานหลายสัปดาห์ บ้านเรือนเรือกสวนไร่นาจมอยู่ใต้น้ำ บางแห่งเจอฝนถล่ม น้ำป่าไหลทะลักท่วมฉับพลัน ข้าวของเก็บไม่ทันเสียหายยับเยิน

ส่วนสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจไทยนั้นหนักหน่วง ร้านรวง โรงงานปิดกันไม่เว้นวัน ผู้คนตกงานระนาว เป็นโรคซึมเศร้ากันมากขึ้น โจรจี้ปล้นฉกชิงวิ่งราวมีให้เห็นผ่านสื่อถี่ยิบ

มองภาพรวมประเทศไทยยามนี้ นึกไม่ออกจริงๆ ว่าอนาคตจะรุ่งโรจน์เรืองรองเมื่อไหร่ ยิ่งได้รู้ได้เห็นนักการเมืองที่เข้ามาบริหารประเทศทำงานอย่างไร้วิชั่น ไร้ทิศทาง จับจ้องแต่แย่งชิงอำนาจ กอบโกยผลประโยชน์ คอร์รัปชั่นกันมโหฬาร ยิ่งรู้สึกหดหู่

ไปดูข่าวบ้านอื่นเมืองอื่นคลายเครียดกันดีกว่า

 

“เจน เวคฟิลด์” ผู้สื่อข่าวสายเทคโนโลยี แห่งสำนักข่าวบีบีซี ประเทศอังกฤษ เขียนบทความเรื่อง เทคโนโลยีจะช่วยแก้ปัญหาพิบัติภัยอันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศได้อย่างไร ได้น่าสนใจ ขออนุญาตเรียบเรียงถ่ายทอดต่อ

“เจน” เกริ่นว่า บ้านเมืองกำลังเผชิญกับการคุกคามไร้จุดสิ้นสุด จากน้ำท่วมฉับพลันไปถึงปัญหามลพิษ ประชากรที่หนาแน่นอยู่กันอย่างแออัดไปจนถึงการมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรค

“เพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤต หลายๆ เมืองลงทุนด้านเทคโนโลยี ตามทฤษฎีที่ว่า ถ้าเห็นขนาดของปัญหาก็รู้ว่าจะต้องแก้กันอย่างไร”

บางเมืองติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ตรวจวัดระดับน้ำในแม่น้ำ ตรวจสอบมลพิษปนเปื้อนในน้ำ อากาศ เพิ่มมากขึ้นพอๆ กับการติดเสาไฟจราจรหรือเสาไฟฟ้า

ทั้งๆ ที่มีการลงทุนติดตั้งเทคโนโลยีทันสมัยมากขึ้น แต่ปรากฏว่าปีนี้ยังมีภัยพิบัติเกิดขึ้นทั่วโลก

ผู้สื่อข่าวบีบีซียกตัวอย่างมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา หลังพายุเฮอร์ริเคนไอดาพัดผ่าน เกิดฝนตกหนัก ปริมาณน้ำฝนประเมินว่าราวๆ 3 แสนลูกบาศก์เมตร น้ำทะลักท่วมฉับพลันกลางเมือง สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินกลายเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ มีผู้คนเสียชีวิตด้วย

เช่นเดียวกับเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันกลางกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หลังเกิดฝนตกหนัก ปริมาณน้ำฝนวัดได้ถึง 2 นิ้วในช่วงเวลาเพียงชั่วโมงครึ่ง สถานีรถไฟใต้ดินหลายแห่งเจอน้ำทะลักใส่ต้องปิดบริการ ระงับการเดินรถชั่วคราว

เหตุดังกล่าวนำไปสู่คำถามที่ว่า ระบบป้องกันภัยพิบัติและเทคโนโลยีอันทันสมัยที่ติดตั้งในกรุงลอนดอนหรือมหานครนิวยอร์กมีประสิทธิภาพจริงหรือ

 

หันไปดูระบบการป้องกันน้ำท่วมที่เมืองเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน ประเทศจีน ซึ่งใช้แพลตฟอร์มของบริษัท แอโรสเปซ เจิ้งโจว สมาร์ต ซิสเต็ม เทคโนโลยี บริษัทคุยว่าเป็นระบบตรวจสอบและป้องกันน้ำท่วมที่ใช้เซ็นเซอร์ทันสมัยมาก วัดระดับน้ำและวิเคราะห์ป้องกันได้ทันท่วงที หรือเป็นเรียลไทม์ เพราะดึงข้อมูลจากสภาพภูมิอากาศ และข้อมูลด้านน้ำมาประมวลผล

ครั้นเกิดพายุพัดถล่ม ฝนตกหนัก น้ำทะลักท่วมเมืองเจิ้งโจวในฉับพลัน กระแสน้ำไหลแรงจัดกระชากร่างผู้คน มวลน้ำทะลักใส่สถานีรถไฟใต้ดิน ผู้โดยสารติดแหง็ก

เกิดคำถามตามมาว่า ระบบของบริษัทดังกล่าวมีประสิทธิภาพแต่เจ้าหน้าที่ที่รับข้อมูลไร้ประสิทธิภาพ ไม่สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ เช่น การแจ้งเตือนภัยประชาชนให้ป้องกันภัยล่วงหน้าได้

หรือเป็นเพราะระบบใช้เงินงบประมาณเกือบๆ 3 แสนล้านบาทล้มเหลว ไม่สามารถประมวลวิเคราะห์ข้อมูลได้จริงอย่างที่คุยไว้

หรือเป็นเพราะสภาพภูมิอากาศแปรปรวนอย่างสุดขั้ว เกินกว่าระบบป้องกันไฮเทคของเมืองเจิ้งโจวจะรับมือไหว?

ทั้งหมดนี้เป็นบทเรียนให้ภาครัฐ ภาคเอกชนต้องกลับมาพิจารณากันใหม่ว่า ความผิดพลาดในการป้องกันน้ำท่วมอยู่ตรงไหนกันแน่

คนหรือระบบ หรือทั้งคนทั้งระบบ หรือผิดพลาดมาตั้งแต่การวางผังเมือง ระบบจัดการรับน้ำและระบายน้ำ

 

“เจน” หันไปพูดถึงการใช้เทคโนโลยีในการป้องกันไฟป่าของรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

รัฐแคลิฟอร์เนียเกิดไฟป่าถี่มาก ตั้งแต่ต้นปีไฟป่าเผาผลาญบ้านเรือนและพื้นที่ป่าราวๆ 5 แสนไร่ ต้องใช้เจ้าหน้าที่กู้ภัยไม่น้อยกว่า 15,000 คนในการดับไฟ

รัฐแคลิฟอร์เนียวางระบบที่เรียกว่า “แคลไฟร์” (CalFire) ใช้ข้อมูลจากหน่วยงานด้านภูมิศาสตร์ของกองทัพสหรัฐที่มีประสิทธิภาพสูงสามารถนำข้อมูลมาประมวลผลหาจุดเกิดไฟป่า แนวไฟลุกลาม แนวป้องกันภัยและตรวจสอบหาตำแหน่งของเจ้าหน้าที่กู้ภัย

แผนที่ของแคลไฟร์จะแจ้งผลล่าสุดจุดเกิดไฟป่า แนวไฟและตำแหน่งของหน่วยกู้ภัยในทุกๆ 15 นาที ด้วยระบบ 3 มิติ

หลังจากใช้ระบบนี้ ปรากฏว่า รัฐแคลิฟอร์เนียรับมือกับไฟป่าได้ผลดีมาก สามารถดับไฟป่าได้กว่า 10 ครั้ง และยังช่วยนักปีนเขา นักท่องเที่ยวที่ไปตั้งแคมป์ในป่าสงวนแห่งชาติ “เซียร่า” ออกจากพื้นที่อันตรายได้กว่า 100 คน

กรณี CalFire สะท้อนให้เห็นว่า เทคโนโลยีก็มีส่วนสำคัญในการบรรเทาภัยพิบัติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ (ถ้าใช้ให้เป็นและไม่โกงกิน)