หลังเลนส์ในดงลึก/”กา”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

“กา”

ต้นฤดูฝน ปี พ.ศ.2560

ผมใช้เวลาตั้งแต่ต้นฤดูแล้ง ปี พ.ศ.2559 จนถึงต้นฤดูฝน ปีถัดมา ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก จึงพบกับ “เป้าหมาย”

ถ้ารวมเวลาทั้งหมดที่ผมใช้ในป่าแห่งนี้ คงพูดได้ว่า เป็นเวลากว่า 4 ปี สำหรับภาพสมเสร็จ หนึ่งในสัตว์ป่าสงวน ที่เราไม่ค่อยรู้จักพวกมันมากนัก

บนด่าน เราพบร่องรอยสมเสร็จบ่อย รวมทั้งจุดที่มันขี้ประจำตามโคนต้นไม้

ในงานวางกล้องดักถ่ายเพื่อสำรวจประชากรเสือโคร่ง ของทีมจากสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ดูเหมือนก็จะได้ภาพสมเสร็จมากพอๆ กับภาพเสือ

พบเจอรอย แต่การตามรอยสัตว์ชนิดนี้ ที่เดินไปเรื่อยๆ ว่าตามจริงจะบอกว่า ไปเรื่อยๆ อาจไม่ถูกซะทีเดียว การเดินของมันมีแหล่งอาหารเป็นตัวกำหนด ไม่ได้เดินตรวจอาณาเขตแบบเสือ ซึ่งเราพอจะรู้ว่า เมื่อใดจะย้อนกลับที่เดิม

คิดตามรอยสมเสร็จ น่าจะเป็นความยุ่งยากไม่น้อย

เราพบเจอมันอย่างกะทันหันบ้าง สมเสร็จที่ผมพบในป่าห้วยขาแข้งนั่นก็เดินมาตามลำห้วย ขณะผมนั่งเขียนหนังสืออยู่ในแคมป์

เฝ้ารออยู่ในแหล่งอาหารที่คาดว่ามันจะมาเป็นหนทางที่ดี

ในป่าห้วยขาแข้ง ผมพบว่า หลังจากพบกันครั้งแรกแล้ว อีกครั้งที่พบ มีระยะเวลาห่างกัน 23 วัน

ผมใช้ข้อมูลนี้เพื่อรอในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

สิ่งหนึ่งซึ่งผมรู้มาตลอดคือ ไม่ว่าจะพยายามแค่ไหน สำหรับสัตว์ป่า ผมก็เป็นได้เพียง “คนแปลกหน้า”

พวกมัน “ตื่นหนี” ทันทีที่เห็น หรือแม้เพียงได้กลิ่น

โดยเฉพาะหากรออยู่บริเวณแหล่งอาหาร ไม่ว่าจะใช้ซุ้มบังไพรชนิดมิดชิดเพียงใด หรืออยู่สูง เพราะกลิ่นกายเราจะลอยขึ้นสูง ช่วยให้สัตว์ไม่ได้กลิ่น

ถ้าไม่ได้อยู่ใต้ลม สัตว์ป่าจะรู้ตัวเสมอ

เลือกทำเลตั้งซุ้มบังไพรให้อยู่ใต้ลม สำคัญแต่กระแสลมในป่าพัดไป-มา เอาแน่ไม่ได้

สัตว์ป่าเสียโอกาสไม่ได้กินน้ำ รวมทั้งแร่ธาตุในโป่ง เพราะความระแวง ไม่กล้าออกมาที่โล่ง

นี้คือสิ่งที่ผมบอกตัวเอง เพื่อเพิ่มความระมัดระวัง

ยิ่งทำงานมานาน ยิ่งมีโอกาสมาก

ก็ยิ่งรบกวนสัตว์ป่ามาก

ผมเลือกการไม่ออกไปที่ซุ้มบังไพรตั้งแต่เช้ามืด เหมือนครั้งที่ทำงานใหม่ๆ ทั้งๆ ที่รู้ว่าโอกาสพบสัตว์มีมาก และสภาพแสงเช้าจะสวยงาม

เหตุผลคือ ตั้งแต่เช้ามืดจนถึงเวลาบ่าย ถ้ามีสัตว์ป่าเข้ามา พวกมันจะไม่ต้องระแวง และได้กิน

ตั้งแต่เช้าถึงบ่าย ในแคมป์ ซึ่งอยู่ใต้ต้นตาเสือเล็ก ที่กำลังสุก

ที่นี่จึงค่อนข้างวุ่นวาย นกแก็ก นกกก รวมทั้งชะนี เข้ามาอย่างไม่สนใจว่าข้างล่างเป็นแคมป์เรา

เสียงเมล็ดตาเสือ ร่วงหล่นลงบนฟลายชีต ดังเปาะแปะ

นกลุมพู ส่งเสียง แต่ตัวที่เข้ามาส่งเสียงตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่าง คือ กา หรืออีกา 3-4 ตัว พวกมันมาเกาะดูลาดเลา กลิ่นเสบียงของเรา คงเชิญชวน

วันหนึ่ง ยิ่งบุญ ลืมเก็บถุงกุนเชียงไว้ในถุงผ้าอีกชั้น ตอนค่ำเรากลับมาพบว่า ถุงถุนเชียงถูกเจาะ และหายไปหลายท่อน

อีกามักเกาะอยู่บนกิ่งไม้แห้งๆ ถัดจากต้นตาเสือไปราว 10 เมตร ส่งเสียง นานๆ ก็ทำท่าโฉบลงมา

หลังอาหารเที่ยง ผมเตรียมตัว บางวันถ้าอีกาเงียบและหายไป ผมรู้ว่าในโป่งน่าจะมีตัวอะไรเข้ามา มีกวางตัวผู้ ซึ่งยังไม่ผลัดเขา และตัวเมียอีก 5-6 ตัว เจ้าประจำ

แต่ส่วนใหญ่จะเป็นกระทิง

ดูเหมือนว่า อีกากับกระทิง จะพึ่งพากันได้อย่างดี อีกาขึ้นเกาะหลังกระทิง จิกกินเห็บ แมลง กระทิงก็สบายตัวขึ้น และอีกายังช่วยเตือนเวลาสัตว์ผู้ล่ามาใกล้ๆ ด้วย

อีกาหายไป ผมรู้ว่าถึงเวลาไปทำงานแล้ว

ผมเดินช้าๆ และหยุดเมื่อใกล้ถึงซุ้มบังไพร ตรวจสอบกระแสลม

โชคเข้าข้าง ลมพัดมาจากทางทิศตะวันออก กว่าสัปดาห์แล้ว และยังไม่เปลี่ยนแปลง

กระทิง 3 ตัวอยู่ในโป่ง กินน้ำอย่างสบายใจ อีกาจิกแมลงอยู่บนหลัง

ผมมองอีกาและกระทิง ภาพการอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพา ปรากฏชัดเจน

อีกากลุ่มนี้ยังมีโอกาสได้ใช้ชีวิตไปตามวิถีอย่างที่ควร

ต่างจากอีกา ญาติพี่น้องของพวกมัน ที่อยู่ในเมือง

อีกาอยู่ในจำพวกนก ซึ่งมีหน้าที่กำจัดของเน่าเสีย

สัตว์ที่ทำหน้าที่นี้ คล้ายจะมีกรรมไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นตัวเหี้ย หรือแร้ง

แร้ง คือ “พี่ใหญ่” ของอาชีพนี้

แร้ง เคยทำหน้าที่กำจัดซากเน่าของเสียต่างๆ ให้ชุมชนมาช้านาน บัดนี้ แร้งสาบสูญไปจากเมืองไทย แม้แต่ในป่าห้วยขาแข้ง ที่แร้งฝูงสุดท้ายเคยอยู่ ก็หลบไม่พ้นกับชะตากรรม อันทำให้ต้องสูญพันธุ์

พวกมันจากไปเพราะยาพิษ ที่คนล่าสัตว์ต้องการซากเสือ พวกเขายิงกวาง แล้วเอายาฆ่าแมลงชนิดร้ายแรงชโลมซากไว้ วางทิ้งล่อให้เสือมากิน

แต่ผู้โชคร้ายคือ แร้ง

“ผมเข้าไปที่พุน้ำร้อน พอดีเห็นแร้งที่กินซากกวางเดินโซเซ และล้มลงตายทั้งฝูงเลยครับ” ลุงอ้อด เจ้าหน้าที่ในสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เคยเล่าให้ฟัง ภาพแร้งทุรนทุรายเพราะยาพิษ น่าเวทนา

การกำจัดซากเน่าคือหน้าที่ เหมือนๆ กับแร้งในเมืองซึ่งสาบสูญเพราะพิษยาฆ่าแมลงที่เราใช้ฆ่าศัตรูพืช

อาชีพนี้รองจากพี่ใหญ่คือ กา หรืออีกา นี่เอง

อีกาเป็นนกธรรมดาๆ ตัวหนึ่ง มีอยู่ทั่วไปในประเทศไทย ตัวผู้และตัวเมีย ลักษณะคล้ายกัน

ปากหนา ยาว จุดเด่นคือ ตลอดตัวมีสีดำ

มักบินไปเป็นคู่ ส่งเสียง “กา! กา!”

อีกา มีญาติอยู่ตัวหนึ่ง ชื่อว่า “อีแก” หน้าตาคล้ายกัน เพียงแต่ปากสั้นกว่า ลำตัวไม่ดำตลอด มีสีเทาแถวท้ายทอย ตอนส่งเสียงจะเป็น “แก…แก”

อีแก สาบสูญไปจากประเทศไทยแล้วเช่นกัน

ร่วม 10 ปีที่แล้ว ผมเห็นอีแกบินไป-มาอยู่ในกรุงร่างกุ้ง ประเทศพม่าเต็มไปหมด ถึงวันนี้ก็น่าจะมีอยู่เช่นนั้น

ช่วงที่ผมดูนกอย่างเอาจริง รู้ดีว่า อีกาเป็นนกขยันมาก กินอิ่มแล้วอีกาก็เก็บอาหารซ่อนไว้กินอีก นอกจากหน้าที่ประจำ อีกาได้ชื่อว่าเป็นผู้ควบคุมปริมาณนก ในเมืองด้วย

มันจะย่องเข้าไปกินไข่นกต่างๆ เมื่อพ่อแม่นกพวกนั้นเผลอ

แต่ธรรมชาติได้จัดสรรไว้แล้ว ไม่ให้อีกามีจำนวนมากไป โดยให้นกกาเหว่าแอบเข้ามาเขี่ยไข่อีกาในรังออกทิ้ง และนกกาเหว่าไข่ไว้แทน

อีกาจึงต้องเลี้ยงลูกนกกาเหว่า

เป็นเรื่องที่มีการจัดสรรไว้อย่างลงตัว

ความวุ่นวายบนต้นตาเสือเล็ก ทำให้ผมเบาใจว่า ไม่ได้ทำให้ชีวิตรอบๆ ระแวงมากนัก

ทุกเช้ามืด มีอีกามาปลุกอย่างตรงเวลา

มันคงไม่ได้ตั้งใจจะบอกผมหรอกว่า ถึงเวลาไปทำงาน กระทิงมาแล้ว

ผมเรียนรู้จากมัน

เรียนรู้จาก “กา” ว่า เราอยู่ร่วมกันได้

แม้ว่าจะต่างสายพันธุ์