คำถาม ที่ไม่ต้องให้ใครมาตอบ : กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร [ธุรกิจพอดีคำ]

ณ ห้องประชุมแผนกลยุทธ์ของบริษัทพลาสติก ยักษ์ใหญ่เจ้าตลาด

“โลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ธุรกิจไหนที่เราควรจะมุ่งไปดี”

ซีอีโอ ผู้นั่งอยู่หัวโต๊ะ เปิดการประชุม

คำถามยากแบบนี้ บวกกับห้องประชุมที่ดู “โคตร” จะทางการ ทำให้ “เสียงแอร์ดัง” อย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน

จนมีสมาชิกทีม “นวัตกรรม” คนหนึ่งจากแถวหลังยกมือขึ้น

“เราลองทำพวกยาดูดีมั้ยครับ ผมคิดว่าวัตถุดิบของเรา ถ้าลองศึกษาเพิ่มเติม อาจจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าที่เราใช้เป็นพลาสติกในปัจจุบัน”

ผู้บริหารระดับสูงท่านหนึ่ง ที่เมื่อกี้นั่งเงียบสนิท ไม่มี “ความคิด” มาเสนอ

คราวนี้กลับ “ตื่นตัว” ยกมือออกความเห็นทันที

“เธอเป็นเภสัชกรหรือ?”

สมาชิกทีมนวัตกรรมผู้นั้นถึงกับผงะ และรู้ถึง “ชะตากรรม” ของตัวเองทันที

“พี่ว่า เธอควรจะทำการศึกษาให้ดีเสียก่อนจะนำเสนออะไรที่ดูเป็นไปไม่ได้แบบนี้นะ”

ผู้บริหารระดับสูงอีกท่านนั่งติดๆ กันกับท่านแรกกล่าวเสริม

“จริงครับ น้องเขายังไม่มีประสบการณ์ อย่าไปถือสาเลยครับ ผมคิดว่า เราจ้างที่ปรึกษาเจ้าเดิมมาอัพเดตสถานการณ์ตลาด เทรนด์โลก และให้เขาแนะนำเราดีมั้ยครับ”

สมมุติว่า บริษัทคุณทำธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ซึ่งเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว

คุณรู้ว่า ธุรกิจของคุณนั้นต้องปรับตัวให้ทันกับกระแสโลก

และถ้าคุณสามารถถามคำถาม “กูรู” คนไหนก็ได้ในโลกนี้ ว่าคุณควรจะก้าวไปทางไหนต่อ

คุณจะถามใครครับ

เชื่อว่า ชื่อของผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จหลายคนคงจะอยู่ในความคิดของคุณ

สตีฟ จ็อบส์ เจ้าพ่อมือถือ iPhone

แลร์รี่ เพจ ผู้ร่วมก่อตั้ง Google

มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ค ผู้ติดต่อเชื่อมโยงผู้คนทั่วโลกผ่าน Facebook

Facebook Founder and CEO Mark Zuckerberg speaks on stage during the annual Facebook F8 developers conference in San Jose, California, U.S., April 18, 2017. REUTERS/Stephen Lam

และ บิล เกตส์ มหาเศรษฐี ผู้ก่อตั้ง Microsoft

“กูรู” ระดับโลกทั้งนั้น พูดอะไรมา เราก็คงจะต้อง “เชื่อ”

จริงแท้แน่หรือ

บิล เกตส์ เคยให้สัมภาษณ์เมื่อหลายสิบปีที่แล้วว่า

“No one will need more than 637kb of memory for personal computer”

(ไม่มีใครหรอกที่จะต้องการมากกว่า 637kb ของหน่วยความจำในเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล)

ทุกวันนี้เราคงจะทราบกันดีว่า

วันนี้ หน่วยความจำมากกว่า 637kb เป็นร้อยเป็นพันเท่า ก็ยังไม่พอความต้องการของมนุษย์ในยุคนี้

บิล เกตส์ “กูรู” แห่งยุคสมัย คิดผิดถนัด

Microsoft co-founder Bill Gates poses after receiving the Commander of the Legion of Honour title at the Elysee Palace in Paris on April 21, 2017.
French President Francois Hollande awarded Bill and Melinda Gates the Commander of the Legion of Honour title for their philanthropic activities, notably the Microsoft foundation efforts to improve public health and encourage development in poor countries. / AFP PHOTO / POOL / Kamil Zihnioglu

เมื่อปี 1994

ชายหนุ่มนักการเงินจาก “วอลล์สตรีต” คนหนึ่ง

เพิ่งจะลาออกจากบริษัทการเงิน ทิ้งเงินเดือนหลายแสนบาท เพื่อมาทำธุรกิจ “การขายของในอินเตอร์เน็ต”

ชายผู้นั้นมีนามว่า “เจฟฟ์ เบซอส (Jeff Bezos)”

เขาตั้งชื่อเว็บไซต์ของเขาว่า “อเมซอน (Amazon.com)”

ลองนึกย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว

หากมีคนมาถามเราว่า

“คุณยินดีจะซื้อของจากหน้าเว็บไซต์หรือไม่”

ใครหลายคนก็คงจะ “ตอบด้วยคำถาม” ประมาณว่า

“แล้วจะมั่นใจอย่างไรว่าจะไม่โดนโกง”

“จะจ่ายเงินอย่างไร”

“แล้วของมันจะส่งมาถึงบ้านเราใช้เวลานานแค่ไหน”

คำถามมากมายที่ประดังเข้ามา พอจะสรุปได้ว่า

“ฉันคงไม่กล้าใช้หรอก ของพวกนี้”

และแน่นอน “กูรู” ทั้งหลายในโลกยุคนั้นก็ยังคง “ตั้งคำถาม” ที่ดูฉลาดเหล่านี้กับ “ธุรกิจการซื้อขายของทางอินเตอร์เน็ต”

จนผู้ประกอบการคิดการใหญ่หลายคนที่หลงเชื่อคำพูด ถอดใจเอาง่ายๆ

หากแต่ว่า “เจฟฟ์ เบซอส” ผู้นี้ มี “วิธีการ” ที่แตกต่างออกไป

เขาเกิดคำถามเช่นเดียวกัน

“คนเราจะกล้าซื้อของออนไลน์จริงหรือ”

แทนที่เขาจะถาม “กูรู”

เขากลับลงมือสร้าง “เว็บไซต์” ง่ายๆ ขึ้นมาทันที

เริ่มต้นที่การ “ขายหนังสือ”

เขายังไม่ได้มีการเคาะตัวเลขทางการเงินแต่อย่างใด

หรือแม้แต่คุยกับ “สำนักพิมพ์” เจ้าของหนังสือชื่อดัง

สิ่งที่เขาอยากรู้มีเพียงอย่างเดียว

“คนเรากล้าซื้อหนังสือผ่านเว็บไซต์หรือไม่”

หากมีใครสั่งซื้อหนังสือเข้ามาทางเว็บไซต์

เจฟฟ์ เบซอส จะรีบวิ่งออกไปซื้อหนังสือจากร้านหนังสือใกล้ๆ แพ็กใส่ซองจดหมาย แล้วจัดส่งออกไปตามที่ที่ลูกค้าต้องการ แค่นั้นเอง

เป็นการ “ทดสอบ” เบื้องต้น ว่าลูกค้า “ยินดี” จะซื้อของออนไลน์อยู่เหมือนกัน

สวนทางกับ “คำทำนาย” ของกูรูทั้งหลาย โดยสิ้นเชิง

เมื่อเกิด “คำถาม” กับสมมุติฐานใหม่ๆ

เจฟฟ์ เบซอส เลือกที่จะ “ทดลอง” ให้เห็นด้วยตาตัวเอง อย่างรวดเร็ว ไม่ใช้เงินมากมาย

มากกว่าที่จะเสียเงิน เสียเวลา ไปถาม “กูรู”

ที่ส่วนมากแล้วใช้ประสบการณ์ใน “อดีต” มาตัดสิน “อนาคต”

ปัจจุบัน “อเมซอน” คือร้านขายของออนไลน์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอเมริกา

ขายไม้จิ้มฟัน ยันเรือรบ

ส่งถึงที่ภายในไม่กี่วัน ราคามิตรภาพ

คำถามยากๆ ที่เจฟฟ์พยายามหา “คำตอบ” ด้วยตัวเองในวันแรก

มีรางวัลเป็นบริษัทของตัวเอง มูลค่าหลายแสนล้านบาท

ย้อนกลับมาที่ห้องประชุมบริษัทยักษ์ใหญ่

“ดีเลย เราเรียกที่ปรึกษาเจ้านี้เข้ามาคุยให้เราฟัง เพื่อความรอบคอบดีกว่า”

ผู้บริหารระดับสูงอีกท่านหนึ่งกล่าวเสริม พร้อมยิ้มกว้าง ราวกับปัญหาหนักอกได้ถูกแก้ไขคลี่คลายไปแล้ว

ทันใดนั้น ซีอีโอ เหมือนจะนึกอะไรออกอย่างหนึ่ง

แล้วพูดออกไปกลางวง

“ปีที่แล้ว เขามาพูดไปแล้วนี่”

คุยไปเรื่อยๆ ประชุมกันไปเรื่อยๆ ปีแล้วปีเล่า

จะลงมือทำเมื่อไร ค่อยเรียกใช้ผมนะครับ หัวหน้า