แมลงวันในไร่ส้ม/ข่าวร้อน “ข้าว-การเมือง” ยิ่งลักษณ์แถลงปิดคดี บวก “ข้าวดี-อาหารสัตว์”

แมลงวันในไร่ส้ม

ข่าวร้อน “ข้าว-การเมือง”

ยิ่งลักษณ์แถลงปิดคดี บวก “ข้าวดี-อาหารสัตว์”

การแถลงด้วยวาจา ปิดคดีจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และจำเลยสำคัญของคดี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผ่านไปอย่างเรียบร้อย

คำแถลงใช้เวลา 1 ชั่วโมงเศษ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยืนยันว่า นโยบายนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน โดยชี้แจงใน 6 ประเด็น ได้แก่

1. ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม และไม่ชอบด้วยกฎหมาย

2. นโยบายจำนำข้าว เป็นประโยชน์และเป็นไปตามกฎหมาย

3. ไม่ได้เพิกเฉยละเลย และไม่มีอำนาจระงับยับยั้งโครงการตามอำเภอใจ

4. การไม่ระงับเพราะโครงการมีประโยชน์ ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายตามฟ้อง

5. ไม่ได้ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ดังข้อกล่าวหาตามมาตรา 157 ป.อาญา และ 123 / 1 พ.ร.บ.ปปช.

และ 6. ไม่ได้ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตระบายข้าว

คดีจำนำข้าว มีกำหนดตัดสินในวันที่ 25 สิงหาคม ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่สังคมและประชาชนจับตาว่าจะมีผลต่อการเมืองอย่างไร

ขณะเดียวกัน มีข่าวอดีต 2 ส.ส.เพื่อไทย ออกมาแฉว่า เกิดความไม่โปร่งใสในการระบายข้าว โดยนำข้าวคุณภาพดีมาขายเป็นข้าวราคาถูก สำหรับใช้เลี้ยงสัตว์

ตามมาด้วยการที่โกดังข้าว ออกมาแฉว่า มีการนำเอาข้าวคุณภาพดีมาขายเป็นอาหารสัตว์จริงๆ

สร้างความไม่พอใจแก่กองเชียร์ และผู้สนับสนุนรัฐบาล

การเปิดโปงดังกล่าว มาจากคำแถลงของ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ กับ นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี

สำหรับนายยุทธพงศ์ ถือเป็นผู้คร่ำหวอดในแวดวงการค้าข้าว เพราะเป็นลูกชาย “กำนันตง” หรือ นายศุภกร จรัสเสถียร เจ้าของโรงสีข้าวแหลมทอง จ.มหาสารคาม

นายยุทธพงศ์ระบุว่า การระบายข้าวล็อตสุดท้ายคือข้าวเข้าอุตสาหกรรมที่มิใช่คนบริโภค หรืออาหารสัตว์ 2.14 ล้านตัน มีปัญหา

มีผู้เสนอซื้อยกโกดังในราคา 11.25 บาทต่อกิโลกรัม รัฐไม่ยอมขาย แต่ขายให้บริษัทอาหารสัตว์ ทั้งที่เป็นข้าวหอมมะลิ ในราคา 6.10 บาทต่อกิโลกรัม

ขาดทุนไปกิโลกรัมละ 5.15 บาท เฉพาะโกดังนี้ก็ขาดทุนไป 72.30 ล้านบาทแล้ว นอกจากนี้ ยังมีอีก 18 โกดังที่พบปัญหาแบบเดียวกัน

ฝากถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. 2 ข้อ

1. พล.อ.ประยุทธ์เคยทราบเรื่องนี้หรือไม่ เพราะ นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ อ้างว่าโดยความเห็นชอบของประธานกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) เป็นคนสั่งให้ดำเนินการขายในราคาต่ำ

2. ทำไมรัฐบาลไม่เอาข้าวสารเหล่านี้ไปช่วยคนยากจน หรือไปขายให้คนยากจนในราคาถูก แทนที่จะไปขายให้โรงงานอาหารสัตว์ในราคาถูกๆ

ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้โดยเร่งด่วนที่สุด และยังมีข้อสังเกตว่ามีข่าวลือว่ามีเงินทอนเป็น 10,000 ล้านบาท

พรรคเพื่อไทยจะยื่นเรื่องดังกล่าวให้ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ตรวจสอบ

ส่วน นายสมคิด เชื้อคง ระบุว่า ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ประธานอนุกรรมการตรวจสอบข้าวคงเหลือของรัฐพูดว่าข้าวเสียข้าวเน่ามาตั้งแต่ยึดอำนาจ

เป็นการโยนความผิดให้พรรคเพื่อไทยหรือไม่

ถามว่า ม.ล.ปนัดดาใช้มาตรฐานใดตรวจสอบว่าข้าวใดเป็นข้าวที่ได้มาตรฐาน หรือข้าวใดเป็นข้าวเน่า

หรือนี่เป็นสิ่งที่ท่านระบุว่าเกิดความเสียหายกว่าแสนล้านบาท และให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ต้องรับผิดชอบส่วนหนึ่ง

หลังจากแถลงข่าว ต่อมาวันที่ 20 กรกฎาคม นายยุทธพงศ์ พร้อมด้วยนายสมคิด นำสื่อมวลชนลงพื้นที่เข้าตรวจสอบ บริษัท กาญจนาอาหารสัตว์ กำจัด เลขที่ 91 ถนนปากท่อ-ห้วยยางโทน หมู่ที่ 2 ตำบลดอนทราย อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี เพื่อพิสูจน์ความจริง

เนื่องจากบริษัทดังกล่าวประมูลซื้อข้าวหอมมะลิจากโกดังแห่งหนึ่งใน จ.อุบลราชธานี 14,035 ตัน แต่มีกำลังการผลิตสูงสุดวันละ 11 ตัน

ซึ่งนายยุทธพงศ์ระบุว่า ต่อให้โรงงานนี้ผลิตข้าว 7 วันต่อสัปดาห์ จะต้องใช้เวลาในการผลิตอาหารสัตว์มากถึง 2,552 วัน หรือคิดเป็นเวลา 7 ปี ถ้าใช้เวลาผลิตมากเพียงนี้ ข้าวคงขึ้นรา เน่าเสียไปหมดแล้ว

เมื่อมาถึงปรากฏว่าไม่สามารถเข้าไปภายในได้ ตรวจสอบบริเวณด้านข้าง นายยุทธพงศ์ได้ชี้ให้ทางสื่อมวลชนได้ดูว่าภายในพื้นที่ไม่พบกองข้าวแต่อย่างไร

ทั้งที่ข้อมูลระบุว่าบริษัทแห่งนี้รับซื้อมาเกือบ 40,000 ตันหรือ 4 แสนกระสอบ พบเพียงรถที่บรรทุกหมูเข้ามาเท่านั้น

นายยุทธพงศ์ยังระบุอีกว่า โรงงานขายอาหารสัตว์ดังกล่าว ยังประมูลซื้อข้าวสารในสต๊อกของรัฐอีก 3 แห่ง คือ 1.โกดังแห่งหนึ่งใน จ.ชัยนาท จำนวน 9,937 ตัน 2.โกดังแห่งหนึ่งใน จ.นครสวรรค์ 5,914 ตัน 3.โกดังอีกแห่งใน จ.ชัยนาท จำนวน 9,036 ตัน รวมกับโกดังใน จ.อุบลราชธานี จะมีปริมาณข้าวรวมกว่า 38,924 ตัน

จะต้องใช้เวลาผลิตมากถึง 20 ปี ถึงจะนำข้าวมาผลิตอาหารสัตว์ได้ทั้งหมด ซึ่งจะเป็นไปได้อย่างไร

พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่ามีการนำข้าวที่ประมูลเป็นอาหารสัตว์ ไปเวียนเทียนขายเป็นข้าวสำหรับคนหรือไม่

ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายยุทธพงศ์ ได้เดินทางมายื่นหนังสือถามผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีว่า ได้ตรวจสอบข้าวภายในบริษัทแห่งนี้และรายงานนายกรัฐมนตรีปริมาณต่อวันเท่าไหร่อย่างไร

ที่น่าสนใจ คือคอมเมนต์จาก พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม

โฆษกไก่อู กล่าวว่า น่าสังเกตว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าวเกิดขึ้นใกล้วันที่ศาลจะตัดสินคดีจำนำข้าว

อาจตีความได้ว่าหวังให้เกิดผลทางคดีหรือเรียกร้องความเห็นใจจากสังคม

ที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวและกระทรวงพาณิชย์ได้ชี้แจงหลักการระบายข้าวแล้วหลายครั้ง

แต่มีความพยายามของคนบางกลุ่มอ้างว่ามีการระบายข้าวดีปะปนไปด้วย ทำให้ราคาข้าวตก โดยกลุ่มคนที่กล่าวอ้างเหล่านี้ล้วนมีส่วนต้องรับผิดชอบต่อการชดใช้ค่าเสียหายของข้าวในโกดังด้วยแทบทั้งสิ้น

ตามมาด้วยการตอบโต้จากนายยุทธพงศ์ ว่า การตรวจสอบคุณภาพข้าว เป็นความเดือดร้อนของประชาชน และเป็นเรื่องที่รัฐบาลนี้กำลังถูกตั้งข้อสงสัยในเรื่องความโปร่งใสในการระบายข้าว

แทนที่รัฐบาลจะเข้าไปตรวจสอบข้อสงสัยต่างๆ และตรวจสอบคุณภาพข้าวว่าเป็นจริงตามที่มีข้อสงสัยหรือไม่ โฆษกรัฐบาลกลับพยายามจะโยงว่าเป็นเรื่องการเมือง

ทั้งนี้ ในเรื่องอื่นๆ พล.อ.ประยุทธ์ จะใช้มาตรา 44 ดำเนินการทันที แต่กรณีนี้กลับนิ่งเฉย ไม่มีแม้แต่รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องออกมาตรวจสอบ

ขอย้อนถาม พล.ท.สรรเสริญ ว่าเจ้าของโกดังที่เดือดร้อนเกี่ยวกับการเมืองอย่างไร

และถ้ามีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องจริง ขอท้าให้ พล.ท.สรรเสริญแฉออกมา อย่ามากล่าวหาลอยๆ เหมือนเอาดีใส่ตัว เอาชั่วให้คนอื่น

กรณีจำนำข้าวและชะตากรรมของอดีตนายกฯ ทำให้ข่าวสถานการณ์เดือนสิงหาคมดุเดือดแหลมคม

และเป็นห้วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของการเมืองไทยอีกครั้ง