ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | โลกหมุนเร็ว |
เผยแพร่ |
ได้เล่นหิมะที่อินเดีย
ดินแดนที่กว้างใหญ่ไพศาลของอินเดียทำให้ประเทศนี้มีภูมิอากาศและภูมิประเทศหลายรูปแบบ แล้วก็ทำให้นักเดินทางต้องตระเตรียมเสื้อผ้าแบบโกลาหลนิดหน่อยก่อนเดินทาง
คือต้องรับมือกับความร้อนเหงื่อตกที่เดลีและชัยปูร์
แล้วผจญกับความหนาวเหน็บท่ามกลางหิมะขาวโพลนที่แคชเมียร์
นักเดินทางที่จะไปแคชเมียร์จะต้องนั่งเครื่องบินจากเดลีไปลงศรีนาคาซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐจามู-แคชเมียร์ เข้าพักโรงแรมสุดแสนโรแมนติกท่ามกลางหุบเขาที่นั่น แล้วเดินทางจากที่พักอีก 80 กิโลเมตรไปยัง Sonamarg ที่อยู่ระหว่างหุบเขาน้ำแข็ง ภูมิประเทศเป็นป่า ธารน้ำ และหุบเขาโอบล้อมทิวทัศน์น่าหลงใหลแบบลืมไม่ลง
แล้ววันรุ่งขึ้นก็เดินทางไปทางตอนใต้ระยะทาง 50 กว่ากิโลเมตร ไปยังเมือง Gulmarg ซึ่งเป็นที่ตากอากาศสำคัญทั้งในฤดูร้อนและเล่นสกีในฤดูหนาวของกษัตริย์ในสมัยโบราณ รวมทั้งสมัยอาณานิคมอังกฤษ
นอกจากธรรมชาติที่สวยงามสุดบรรยายของแคชเมียร์ที่มีผู้ขนานนามว่า “สวิตเซอร์แลนด์ แดนภารตะ” ด้วยว่าแคชเมียร์คือดินแดนในฝันที่งดงามกลางหุบเขาหิมาลัยแล้ว
ความเป็นมาของแคชเมียร์ยังน่าสนใจ
แคชเมียร์เคยเป็นดินแดนที่เป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา ต่อมาได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม เคยอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิดุรรานีในอัฟกานิสถาน จักรวรรดิโมกุลในอินเดีย และเคยอยู่ภายใต้การปกครองของชาวสิกข์ ภายหลังขับไล่ชาวสิกข์ออกไปได้
ในยุคที่อังกฤษเข้ามา กษัตริย์ของแคชเมียร์ช่วยอังกฤษรบกับชาวสิกข์และได้เป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษ เมื่ออังกฤษให้เอกราชแก่อินเดียและมีการแบ่งเป็นอินเดียและปากีสถาน รัฐแคชเมียร์กลายเป็นกรณีพิพาทของทั้งสองประเทศจวบจนปัจจุบัน
ส่วนหนึ่งของแคชเมียร์อยู่ภายใต้การปกครองของอินเดีย อีกส่วนอยู่ภายใต้การปกครองของปากีสถาน
ส่วนที่เราเดินทางไปอยู่ภายใต้การปกครองของอินเดีย และนับเป็นรัฐที่อยู่เหนือสุดของอินเดีย ติดชายแดนปากีสถาน
จะเรียกว่าอินเดียหยิบชิ้นปลามันไว้ก็คงได้เพราะเป็นภูมิประเทศส่วนที่ดีที่สุดในแง่ความสวยงามและการสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยว
ในช่วงที่เราเดินทางไปยังภูเขาน้ำแข็งยังเห็นรถถังและทหารประจำการอยู่ในเมืองบนถนนเป็นจุดๆ เผื่อเกิดการปะทะกันแบบฉุกเฉินกับปากีสถาน เนื่องจากถึงแม้สงครามสงบแล้วก็จริง แต่ก็ยังคุกรุ่นอยู่จะปะทุขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้
ธรรมชาติล้วนๆ ที่ Sonamarg ไม่มีผู้คน ภูเขาโอบล้อมป่าวอลนัท และลำธารใส เป็นเส้นทางที่ชวนให้เดินเที่ยวไปเรื่อยๆ ชมทิวทัศน์สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ถ้าถามว่าการเดินทางไปที่นี่จะมีจุดหมายอยู่ตรงไหน ต้องตอบว่าตลอดเส้นทางนั้นคือจุดหมาย
และถ้าจะให้เล่าถึงความสวยงามก็ต้องบอกว่าสุดคำบรรยาย มีแต่ภาพเท่านั้นที่บอกเล่าได้ถึงความสวยงาม
คงหาได้ยากยิ่งที่เราจะพบลำธาร ป่า และภูเขาอยูในที่เดียวกันโดยที่เราสามารถเดินทางไปได้ถึง
หากใครถามผู้เขียนคิดว่าจะเปรียบที่นี่กับอะไร
ก็คงจะตอบตามจินตนาการว่ามันคือป่าหิมพานต์หรือแดนสุขาวดีในเรื่องกามนิตวาสิฏฐีนั่นเอง
การได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ งดงาม บริสุทธิ์เช่นนี้ชำระจิตใจของเราให้ชื่นบานอย่างประหลาด น้ำใสสะอาด อากาศบริสุทธิ์สดชื่น ต้นไม้ใหญ่ยืนต้นไม่รู้กี่ร้อยปี ถูกนำมาบรรจงวางประกอบกันด้วยฝีมือของเทพเจ้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่มีนามว่า “ธรรมชาติ”
และธรรมชาติก็ยังประทานหุบเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะที่ยิ่งใหญ่น่าตื่นตาตื่นใจมาให้กับแคชเมียร์อีกด้วย
เราใช้เวลาเกือบทั้งวันเดินทางไปสู่ชายแดนประเทศปากีสถาน ค่อยๆ ไต่ระดับความสูงสู่ทุ่งดอกไม้ที่ระดับ 2,700 เมตร แล้วไต่ต่อไปยังระดับ 3,700 เมตรสู่ลานสกีบนยอดเขา Gulmarg การได้เจอหิมะที่นี่ก็ถือเป็นไฮไลต์ในทริปแคชเมียร์ของเรา สำหรับหลายคนมันเป็นครั้งแรกที่ได้ขึ้นมาถึงระดับความสูงเสียดฟ้าและได้สัมผัสกับหิมะเต็มลาน รวมทั้งที่กำลังโปรยปรายเบาหวิวมาสัมผัสตัวให้ได้เล่นกันราวกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง
ในบรรยากาศแบบนี้เราก็ได้ปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกทั้งมวล แล้วร่าเริงไปกับอากาศที่เย็นสบาย สบายทั้งกาย สบายทั้งใจ
ตลอดเส้นทางที่เราท่องเที่ยวไป นอกจากทิวทัศน์ที่แปลกใหม่ตื่นตาตื่นใจ เรายังเก็บภาพผู้คนไว้ตลอดเส้นทาง ผู้คนที่แคชเมียร์ผ่านโศกนาฏกรรมของการต่อสู้เพื่อครอบครองดินแดนแห่งนี้มายาวนาน
เรามองเห็นความเหนื่อยล้าในแววตาของผู้คน
ขณะเดียวกัน เขาก็มีความสุภาพและเป็นมิตร
ธรรมชาติสวยงามที่รายรอบอยู่คงทำหน้าที่ปลอบประโลมใจให้เขารู้สึกว่าชีวิตนี้ไม่ได้เลวร้ายไปทั้งหมด
ตรงกันข้ามทิวทัศน์ที่งดงามก็ได้ให้ความสงบในใจ รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาเป็นศิลปินผู้ถ่ายทอดศิลปะลงบนงานฝีมือที่มีความเป็นอมตะและเรารู้จักกันทั่วโลก
คือพรมทอมือแคชเมียร์ และผ้าขนสัตว์แคชเมียร์ ที่เราซื้อติดมือกลับมาเป็นของที่ระลึกแห่งความทรงจำที่มีคุณค่าจากการเดินทางครั้งนี้