เส้นทางสู่อำนาจ และบทจบ จอมพลถนอม…และ…พล.อ.ประยุทธ์/หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

เส้นทางสู่อำนาจ และบทจบ

จอมพลถนอม…และ…พล.อ.ประยุทธ์

 

เริ่มเส้นทางจากนายทหารคุมกำลัง

จอมพลถนอม กิตติขจร มาจากทหาร ได้ตำแหน่งสำคัญ คือ…

ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 เมื่อ 2491

ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 เมื่อ 2493

แม่ทัพ กองทัพภาคที่ 1 เมื่อ 2497

ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เมื่อ 2500

รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด 1 มกราคม 2502

การร่วมทำรัฐประหาร 2 ครั้งทำให้ได้เลื่อนยศอย่างรวดเร็ว ครั้งแรกคือการรัฐประหาร 2490 ซึ่งนำโดยจอมพลผิน ชุณหะวัณ และอีกครั้งภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ 2500

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ให้จอมพลถนอมดำรงตำแหน่งนายกฯ นอมินี เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2501 แต่บริหารประเทศแค่ 9 เดือนเศษก็ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเปิดทางให้จอมพลสฤษดิ์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

แต่เมื่อสฤษดิ์เสียชีวิต จอมพลถนอมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง

 

การมีอำนาจทางการเมือง

วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ.2506 พล.อ.ถนอมมีอำนาจแท้จริงเพราะได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการทหารสูงสุด สืบต่อจากจอมพลสฤษดิ์

และในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2507 จอมพลถนอมสร้างระบอบถนอม-ประภาส โดยปล่อยตำแหน่ง ผบ.ทบ.ให้กับ พล.อ.ประภาส จารุเสถียร โดยเหลือตำแหน่ง ผบ.สส.เพียงตำแหน่งเดียว จึงสามารถอยู่กันได้อย่างเป็นปึกแผ่นถึงปี 2516

แต่ถึงอย่างไรก็ต้องมีเลือกตั้ง จึงต้องตั้งพรรคการเมืองรักษาอำนาจ

การประกาศใช้รัฐธรรมนูญการ 2511 ทำให้มีการเลือกตั้ง 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2512

จอมพลถนอม กิตติขจร จึงตั้ง “พรรคสหประชาไทย” ผลจากการเลือกตั้ง ส.ส. มีดังนี้ สหประชาไทย 76 คน ประชาธิปัตย์ 57 คน และไม่สังกัดพรรค 71 คน นอกนั้นเป็นพรรคเล็ก รวมทั้งสิ้น 219 คน

แม้พรรคสหประชาไทยได้รับเลือกเข้ามามากที่สุดถึง 76 คน แต่จะต้องมีสมาชิกเกิน 109 เสียงขึ้นไปจึงจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ จึงต้องดึง ส.ส.อิสระไม่สังกัดพรรคมาร่วม

ได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3

 

เส้นทางสู่อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์

พ.ศ.2533 – ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์

พ.ศ.2541 – ผู้บังคับการกรม 21

พ.ศ.2546 – ผู้บัญชากองพลที่ 2

พ.ศ.2549 – แม่ทัพภาคที่ 1 (มทภ.1)

การรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 เมื่อเกิดรัฐประหาร พล.ต.ประยุทธ์เป็นผู้รับคำสั่งตรงจาก พล.ท.อนุพงษ์ เผ่าจินดา แม่ทัพภาคที่ 1 หลังรัฐประหารก็ได้เป็น “พลโท” และรับตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1

วันที่ 1 ตุลาคม 2551 เป็นเสธ.ทบ. และ 1 ตุลาคม 2552 ได้เป็นรอง ผบ.ทบ.

หลังการล้อมปราบประชาชน พ.ศ.2553 เขาได้เป็น ผบ.ทบ.ต่อจาก พล.อ.อนุพงษ์ที่เกษียณอายุราชการ

2554 นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชนะเลือกตั้ง ควบ รมว.กลาโหม จึงเป็นผู้บังคับบัญชา พล.อ.ประยุทธ์โดยตรง

2556 มีผู้วางแผนล้มรัฐบาลโดยการก่อม็อบ กปปส.ถึงต้นปี 2557 แต่ไม่สำเร็จ ต้องใช้ตุลาการภิวัฒน์ ปลดนายกฯ แต่ก็ยังเปลี่ยนรัฐบาลไม่ได้ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ก่อรัฐประหารในนาม คสช.เมื่อ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 จากนั้นยุบสภาที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

21 สิงหาคม 2557 สนช.ก็ลงมติให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก

และมาสืบทอดอำนาจเป็นนายกฯ อีกครั้งโดยการเลือกตั้ง 2562 ที่มี ส.ว. 250 คนที่ตั้งขึ้นมาช่วยโหวตให้เป็นนายกฯ มีพรรคพลังประชารัฐหนุน และองค์กรอิสระดูแลจนเรียบร้อย

 

การรักษาอำนาจ

เนื่องจากจอมพลถนอมมีช่วงการใช้อำนาจแบบเผด็จการที่ยาวนานกว่าจึงเน้นการใช้อำนาจทางทหารเป็นหลักการปราบปรามประชาชน ก็เป็นการปราบปรามที่เสริมกับแนวนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ ซึ่งจะเน้นในเขตชนบท

แต่การรักษาอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ก็ได้เรียนรู้มาจากการต่อสู้หลังรัฐประหาร 2549 และได้มองเห็นบทเรียนการใช้อำนาจตุลาการภิวัฒน์ และการใช้กำลังปราบประชาชนปี 2553 ซึ่งในขณะนั้นเองเขาก็อยู่ด้วย

ดังนั้น เขาจึงใช้แนวทางกฎหมาย ผสมกับอำนาจเป็นหลักเนื่องจากมีความมั่นใจว่าตนเองพึ่งพาอำนาจตุลาการได้ และได้เห็นประโยชน์ของการใช้อำนาจตุลาการและองค์กรอิสระมาตั้งแต่หลัง 2549 แล้ว

ดังนั้น ก็ไม่จำเป็นจะต้องใช้อำนาจทางทหารให้เสียภาพพจน์ แค่ใช้กฎหมายดำเนินคดีพวกที่ต่อต้านรัฐบาล เขาคาดว่าจะสามารถสยบกำลังของฝ่ายต่อต้านให้เคลื่อนไหวในขอบเขตจำกัด

 

ความไม่พอใจของประชาชน

รัฐบาลของจอมพลถนอมปกครองและบริหารจากปี 2507 รวมเวลาเกือบ 10 ปี ถ้าเทียบกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์มีอำนาจหลังรัฐประหาร 2557 บวกกับหลังเลือกตั้งกำลังจะครบ 8 ปี แม้ใช้เวลาน้อยกว่าจอมพลถนอม แต่ความไม่พอใจที่มีต่อการบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์มีมากกว่า

ถ้าถามว่าทำไมความไม่พอใจในยุคนี้จึงมีมากกว่า…

1. พฤติกรรมของผู้นำรัฐบาล และ ส.ส. ประชาชนมีข้อเปรียบเทียบ ความสามารถของนายกรัฐมนตรีปัจจุบันกับในอดีตหลายคน ย้อนหลังไป ก็ยังไม่เห็นว่านายกรัฐมนตรีปัจจุบันนั้นจะเทียบได้ แต่ผู้นำรัฐบาลวันนี้ไม่ใช้วิธีสงบเสงี่ยมแบบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ หรือจอมพลถนอม แต่มีการออกข่าวให้สัมภาษณ์แบบมั่นใจในตัวเอง ในขณะที่ผลงานจริงๆ ไม่มีอะไรออกมาน่าประทับใจ ความผิดพลาดก็เยอะแยะ การทุจริตคอร์รัปชั่นในงานบริหารต่างๆ ของหลายๆ กระทรวง การซื้อขาย ส.ส. ความขัดแย้งของพรรคต่างๆ

2. ปรากฏการณ์ในกระบวนการยุติธรรม ที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ยุติธรรม โดยเฉพาะการกระทำต่อผู้เห็นต่างและคัดค้าน ในขณะที่ในยุคของจอมพลถนอมกระบวนการยุติธรรมยังไม่เข้ามามีส่วนในการเมืองมาก

3. การไร้ความสามารถทางเศรษฐกิจ ในรอบ 10 ปีนี้ที่เคยมีเงินกลับจนลง SME ล้ม คนจนกำลังจะตาย นี่เป็นเรื่องสำคัญของชาวบ้าน

4. ระบบการสื่อสารสมัยใหม่ ที่สามารถนำคำพูดคำสัญญาของรัฐบาล นโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองมาเปรียบเทียบ ทั้งยังเปรียบเทียบกับรัฐบาลในอดีตต่างๆ ได้อีกด้วย นอกจากนั้น ยังสามารถนำข้อมูลที่เคยเกิดขึ้นในอดีตที่เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศ ผลดีผลเสียและการวิเคราะห์ต่างๆ ผ่านสื่อออนไลน์ซึ่งมีความรวดเร็วมาก จึงทำให้เห็นข้อบกพร่องของการปฏิบัติงานตามนโยบายของรัฐ

ยิ่งถ้ามีการทุจริตก็ยิ่งทำให้เกิดความเสื่อมเสีย

 

บทจบ…เวลานี้ยังเลือกได้

จอมพลถนอมหลุดจากอำนาจ แม้เริ่มจากเรื่องรัฐธรรมนูญ แต่ตามจริงแล้วมันไม่ได้เป็นแค่เรื่องรัฐธรรมนูญอย่างเดียว ที่เป็นความไม่พอใจอื่นๆ ผสมอยู่จำนวนมาก แต่ที่สำคัญยังมีการแตกแยกและแก่งแย่งอำนาจในโครงสร้างส่วนบนที่ร่วมกันปกครองประชาชน

ดังนั้น เมื่อเริ่มมีการประท้วงจากนักศึกษาในสมัยปี 2516 เหตุการณ์จึงลุกลามและขยายต่อรวดเร็วมากแบบม้วนเดียวจบ จอมพลถนอมตั้งตัวไม่ทันและคิดไม่ถึง

วันนี้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ซึ่งรับรู้ถึงความไม่พอใจต่างๆ ของประชาชน แต่ก็ดื้อด้านที่จะอยู่ต่อและปกครองต่อไป เพราะคิดว่าการลงจากหลังเสือครั้งนี้อาจได้รับอันตรายสาหัส เพราะจะมีการฟ้องร้องตามหลัง จึงจำเป็นต้องอยู่ต่อให้นานที่สุด หรือวางทายาทไว้เพื่อหาทางประนีประนอมและผ่อนสถานการณ์

บทจบของจอมพลถนอมก็คือ เมื่อทดลองเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย เขารับการปกครองแบบนั้นไม่ได้และได้ตัดสินใจรัฐประหารอีกครั้ง กลับมาปกครองด้วยอำนาจเผด็จการนำไปสู่เหตุการณ์เดินขบวนขับไล่ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ทำให้ต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ

ในยุค พล.อ.ประยุทธ์ แม้มีปัญหาทางการเมือง วันนี้เขาก็ยังไม่ใช้วิธีรัฐประหารเพื่อรักษาอำนาจตัวเอง เพราะถ้าทำไปอาจจะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการต่อต้านโค่นล้มขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

ประเมินว่าเกมการเมืองที่เดินกันต่อไปก็คือการเร่งให้เปลี่ยนรัฐธรรมนูญเป็นฉบับประชาธิปไตยที่ร่างโดย ส.ส.ร.ที่ประชาชนเลือกมา ถ้ารัฐบาลและ ส.ว.ชุดนี้ไม่ยอม การปะทะกันทางการเมืองจะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อบวกกับวิกฤตเศรษฐกิจที่ประชาชนกำลังยากจนและเป็นหนี้เป็นสิน ต่อให้วิกฤต covid ลดลง ก็ไม่สามารถลดความขัดแย้งอันนี้ลงได้

ถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย แม้ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ก็เป็นเพียงซื้อเวลา ปัญหาไม่จบ แต่ถ้ารัฐบาลประยุทธ์และ ส.ว.ยอมถอยก็จบ ถ้าไม่ถอย บทจบก็จะเกิดแบบ 14 ตุลาคม 2516