ตำนานหนังสือราชกิจจานุเบกษา/บทความพิเศษ พุทธิ์นันทะ ผลชัยอรุณ

บทความพิเศษ

พุทธิ์นันทะ ผลชัยอรุณ

 

ตำนานหนังสือราชกิจจานุเบกษา

 

ผู้เขียนเป็นครูสอนวิชาภาษาไทยอยู่ที่โรงเรียนนพคุณประชาสรรค์ อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช

เมื่อเดือนกันยายน 2564 ผู้เขียนสอน “หลักและการใช้ภาษาไทย” หน่วยการเรียนรู้ที่ 7 เรื่อง “คำสมาส คำสนธิ”

ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างคำว่า “ราชกิจจานุเบกษา” ด้วย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ถามว่า “ราชกิจจานุเบกษาคำนี้ได้ยินบ่อยมากหมายถึงอะไรและแปลว่าอะไร”

ผู้เขียนบอกนักเรียนว่า ครูขอเวลาศึกษาหาความรู้เรื่อง “ราชกิจจานุเบกษา” สักหนึ่งวันแล้วครูจะมาตอบคำถามของนักเรียน

 

ผู้เขียนตอบคำถามของนักเรียนว่า ราชกิจจานุเบกษาตรงกับภาษาอังกฤษว่า Royal Thai Government Gazette เป็นหนังสือสำคัญของทางราชการข้อเท็จจริงที่ตีพิมพ์ในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเป็นข้อเท็จจริงเชิงประวัติศาสตร์ที่นักวิชาการต่างๆ มักนำไปใช้อ้างอิงอยู่เสมอ

คำว่า “ราชกิจจานุเบกษา” แปลว่า หนังสือเป็นที่เพ่งดูราชกิจ เป็นหนังสือที่จัดพิมพ์ขึ้นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

ฉบับแรกออกเมื่อวันจันทร์ เดือนห้า ขึ้นค่ำ 1 ปีมะเมีย จุลศักราช 1219 (ตรงกับวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2401)

เนื้อหาทำนองหมายประกาศข่าวสารทางราชการของแผ่นดินเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่บรรดาข้าราชการและประชาชนทั้งปวง ดังพระราชปรารภให้ตั้งการตีพิมพ์ราชกิจจานุเบกษา (ดูย่อหน้าที่ 3 http://www.mratchakitcha.soc.go.th/history2.html)

มีใจความว่า

“อนึ่ง ถ้าเหตุแลการในราชการแผ่นดินประการใดๆ เกิดขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินแลเสนาบดีพร้อมกันบังคับไปอย่างไร บางทีก็จะเล่าความนั้นใส่มาในราชกิจจานุเบกษานี้บ้าง เพื่อจะได้รู้ทั่วกัน มิให้เล่าลือผิดๆ ไปต่างๆ ขาดๆ เกินๆ เป็นเหตุให้เสียราชการและเสียพระเกียรติยศแผ่นดินได้”

หนังสือราชกิจจานุเบกษานี้พิมพ์แจกจ่ายไปตามกระทรวงทบวงการต่างๆ เป็นครั้งเป็นคราวไม่ได้กำหนดวันออก คือ ไม่ระบุว่าจะออกรายวัน รายสัปดาห์ รายปักษ์หรือรายเดือนและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เองเป็นพื้น

แม้ว่าหนังสือดังกล่าวจะเป็นที่สนใจของผู้อ่านจำนวนมาก

แต่ด้วยมีพระราชกรณียกิจด้านอื่นๆ ที่สำคัญอยู่มากมาย พระองค์จึงไม่มีเวลาพอจะทรงพระราชนิพนธ์หนังสือราชกิจจานุเบกษาอย่างต่อเนื่อง เป็นเหตุให้หนังสือนี้แจกอยู่ไม่ถึงปีก็เลิกไป

 

ต่อมาเมื่อปีจอ พ.ศ.2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแรกทรงว่าราชการแผ่นดินเอง จึงโปรดเกล้าฯ ให้ออกหนังสือราชกิจจานุเบกษาโดยอนุโลมตามแบบที่เคยมีในสมัยรัชกาลที่ 4 แต่หนังสือราชกิจจานุเบกษาที่โปรดเกล้าฯ ให้ออกใหม่ในรัชกาลที่ 5 เป็นทำนองหนังสือบอกข่าวราชการ มีทั้งข่าวในพระราชสำนักและประกาศพระราชบัญญัติต่างๆ กำหนดพิมพ์ออกทุกวันอาทิตย์ พนักงานรับผิดชอบจัดทำหนังสือราชกิจจานุเบกษา คือ

1. พระยาศรีสุนทรโวหาร (ฟัก สาลักษณ)

2 .พระสารสาสนพลขันธ์ (สมบุญ)

3. พระสารประเสริฐ (น้อย อาจารยางกูร)

และกรมหมื่นอักษรสาสนโสภณ (ผู้กำกับกรมพระอาลักษณ์และกรมอักษรพิมพการ) เป็นพนักงานพิมพ์หนังสือราชกิจจานุเบกษาออกจำหน่าย

ตีพิมพ์ที่โรงพิมพ์หลวงหรือโรงอักษรพิมพการนั่นเอง ซึ่งเป็นโรงพิมพ์ที่รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในพระบรมมหาราชวัง (อยู่ใกล้ที่สร้างพระที่นั่งภานุมาศจำรูญบัดนี้)

 

หนังสือราชกิจกานุเบกษาในสมัยรัชกาลที่ 5 กำหนดออกสัปดาห์ละครั้งและให้จำหน่ายแก่ผู้ต้องการอีกด้วย หนังสือฉบับนี้นับเป็นสิ่งพิมพ์แรกของไทย โดยคนไทยที่มีอายุยาวนานสุด ปัจจุบันสำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบจัดพิมพ์และเผยแพร่

ลักษณะของเรื่องที่จะนำลงประกาศหรือลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาได้จะต้องมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ (ดู http://www.mratchakitcha.soc.go.th/alert.html)

1. เรื่องที่กฎหมายเฉพาะบัญญัติให้ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา

2. ข้อมูลข่าวสารของราชการที่ต้องส่งไปลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540

3. เรื่องที่กฎหมายมิได้บัญญัติให้ต้องประกาศหรือส่งพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา แต่เป็นเรื่องสำคัญที่สมควรเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ

ดังนั้น เมื่อจะศึกษาตำนานสิ่งพิมพ์ของไทยถ้าไม่ศึกษาตำนานหนังสือราชกิจจานุเบกษาด้วย ความรู้ที่ได้ก็จะไม่สมบูรณ์อย่างแน่นอน