สิ่งแวดล้อม : ‘ท่วม-แล้ง’ วงจรซ้ำซาก / ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน / [email protected]

 

‘ท่วม-แล้ง’ วงจรซ้ำซาก

 

ปีนี้เพิ่งจะมีพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” พัดผ่านประเทศไทยแค่ลูกเดียว แต่เกิดน้ำท่วมฉับพลันถึง 30 จังหวัด หลายๆ พื้นที่น้ำทะลัก บ้านเรือนจมมิดหลังคา แต่เมื่อตัดภาพกลับไปกลางปีที่แล้ว พื้นที่หลายแห่งทั้งภาคเหนือ อีสาน ประสบวิกฤตภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วงนานเป็นเดือน พืชไร่ ต้นข้าวแห้งตายซาก

ประเทศไทยต้องเจอกับ “น้ำท่วม-แล้งจัด” วนเวียนกันอย่างนี้ ปีแล้วปีเล่า ยังไม่เคยมีรัฐบาลชุดไหนสามารถจัดการตัดวงจรนี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง เมื่อเกิดภัยแล้ง พื้นที่รองรับน้ำไม่ว่าจะเป็นอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนต้องแห้งขอด ปีถัดมาพื้นที่นั้นๆ ควรจัดเก็บน้ำได้มากเพียงพอ ไม่น่าจะเกิดปัญหาน้ำท่วม

หรือว่าการบริหารจัดการน้ำของประเทศนี้มีอะไรผิดพลาดและแก้ปัญหาไม่ถูกจุด

 

ไล่เรียงลำดับเหตุการณ์ในรอบ 3 ทศวรรษ เป็นช่วงที่ประเทศไทยเจริญก้าวหน้า เศรษฐกิจค่อนข้างเติบโตมากกว่าช่วงใดๆ ในอดีตก่อนหน้า มีการพัฒนาทั้งการศึกษา ความรู้เรื่องของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี แต่ตลอด 3 ทศวรรษ กลับพบว่าปรากฏการณ์ “แล้ง-ท่วม” เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ปี 2526 มีพายุดีเปรสชั่นถล่มประเทศไทย 2 ลูก เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ อีสานและภาคตะวันออก น้ำไหลบ่าเอ่อท่วมบ้านเรือนกว่า 5,000 หลัง

น้ำเหนือไหลหลากลงมาท่วมจังหวัดนครสวรรค์จนจมมิดแล้วทะลักลงสู่พื้นที่ตอนล่างเป็นช่วงน้ำทะเลหนุน กรุงเทพมหานครกลายเป็นเมืองใต้บาดาล

ยังจำได้ว่า บ้านพักซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับมหาวิทยาลัยรามคำแหง ระดับน้ำสูงมากเกือบถึงหน้าอก รถยนต์วิ่งผ่านไม่ได้ ต้องใช้เรือแทน โรงเรียน มหาวิทยาลัยปิดการเรียนการสอน ต้องเลื่อนสอบออกไป

 

มาปี 2537 พายุฤดูร้อนถล่มกรุงเทพมหานคร ฝนตกหนักเป็นประวัติการณ์จนมีคนเรียกว่า “ฝนพันปี” น้ำท่วมฉับพลัน การจราจรกลายเป็นอัมพาต

ถัดมาอีกปีเกิดน้ำท่วมใหญ่ในภาคเหนือ อีสานและภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพมหานคร หลังจากมีพายุหลายลูกพัดถล่ม เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมาก ประเมินว่าไม่น้อยกว่า 6,000 ล้านบาท ถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ระดับน้ำท่วมสูงถึง 2.27 เมตร พื้นที่อยู่ใกล้กับแม่น้ำเจ้าพระยา เกิดน้ำท่วมขังหลายวันติดต่อกัน

จากนั้นเว้นวรรคมาพักใหญ่ๆ เกือบ 10 ปี กลับเกิดน้ำท่วมหนักอีกครั้งในปี 2549 คราวนี้ท่วม 47 จังหวัด เฉพาะภาคกลางตั้งแต่ชัยนาทลงมาถึงปทุมธานี รัฐบาลแก้ป้ญหาด้วยการผันน้ำเข้าพื้นที่เกษตรครอบคลุมพื้นที่กว่า 1.38 ล้านไร่ แต่อั้นเอาไว้ไม่อยู่ต้องปล่อยน้ำไหลลงมาท่วมกรุงเทพมหานครนานกว่าสัปดาห์

อีก 5 ปีต่อมาคือปี 2554 เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่สุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 70 ปี มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า สาเหตุที่แท้จริงของมหาอุทกภัยครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นเพราะพายุพัดถล่มต่อเนื่อง 5 ลูก แต่เป็นเพราะการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดต่างหาก

ในปีนั้น มีปรากฏการณ์ “ลานิญา” เกิดพายุและมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติ ปรากฏว่าช่วงต้นๆ ของฤดูมรสุม มีการจัดเก็บน้ำจนเต็มเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ เมื่อพายุพัดเข้ามาถี่ขึ้น ฝนตกหนักขึ้น น้ำในเขื่อนล้นทะลักถ้าไม่ระบายน้ำออกมาเขื่อนกักเก็บน้ำพังแน่ นั่นจึงเป็นสาเหตุให้เกิดมวลน้ำมหาศาลไหลลงสู่พื้นที่ใต้เขื่อนตั้งชัยนาทลงมาถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินผลความเสียหายทางเศรษฐกิจเฉพาะในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม บริเวณพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี มีมูลค่าราว 240,000 ล้านบาท และพื้นที่นอกนิคมอุตสาหกรรม เช่น ไร่นาอีก 240,000 ล้านบาท

นอกจากนั้น ยังมีผลกระทบอื่นๆ ตามมา เช่น ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยที่ไม่มีความชัดเจนและไร้ประสิทธิภาพ

 

เวลาผ่านมา 10 ปี สถานการณ์น้ำท่วมของประเทศไทยย้อนกลับมาสู่จุดเดิม หลังจากพายุเตี้ยนหมู่ซัดถล่มพื้นที่ภาคเหนือ อีสานและภาคกลาง ผู้คนเริ่มหวาดผวา จะเกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 หรือไม่

แม้ฝ่ายภาครัฐพยายามออกข่าวยืนยันว่า สถานการณ์น้ำปีนี้ต่างกับกับปี 2554 ปริมาณน้ำในเขื่อนมีน้อยกว่า แต่บรรดาสื่อต่างๆ ก็ยังโหมกระพือความรู้สึกของผู้คนที่ไม่เชื่อน้ำยารัฐบาล

นักวิชาการบางคน เช่น ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำออกมาเตือนสติรัฐบาลให้รับมือกับสถานการณ์พายุที่จ่อคิวพัดเข้าไทยราวๆ 2-3 ลูกในช่วงกลางเดือนตุลาคมนี้

ดร.เสรีบอกว่า ลงพื้นที่ไปดูน้ำท่วมภาคกลางพบว่าสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปมาก เช่น ก่อสร้างคันกั้นน้ำ ยกระดับถนน ถมดินสิ่งก่อสร้างต่างๆ บีบแม่น้ำ ลำคลองหลายสาย การแย่งที่น้ำอยู่ แต่ละเลยประเมินความเสี่ยงและความรุนแรงของพฤติกรรมน้ำหลากในลุ่มน้ำ

เมื่อระดับน้ำถูกยกให้สูงขึ้นจึงมีแรงดันสูงขึ้น จะทำให้คันกั้นน้ำแตกเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “โดมิโน เอฟเฟ็กต์” นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชุมชน หรือชุมชนด้วยกันเอง

 

ในขณะที่นักวิชาการอีกกลุ่มกลับมองอีกมุมว่า ปี 2564 จะไม่เกิดน้ำท่วมหนักเหมือนปี 2554 แต่อาจเกิดภัยแล้งในฤดูแล้งด้วยซ้ำไป เพราะฝนตกในพื้นที่ท้ายเขื่อนหรือตกในเขตชุมชนเมือง

มีบางพื้นที่เกิดน้ำท่วมเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างเช่น เมืองพัทยา จ.ชลบุรี หรือนิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ รวมถึงกรุงเทพมหานคร เมื่อความชื้นเคลื่อนตัวจากฝั่งทะเลเข้ามาในเมืองที่มีอุณหภูมิสูงกว่าจะเกิดฝนตกหนักเป็นจุดๆ เป็นหย่อมๆ

จึงคาดการณ์ว่า ถึงจะมีพายุพัดเข้าไทยอีก มีฝนตกเติมน้ำในเขื่อนหลักๆ มากขึ้นอีก แต่ถึงกระนั้นปริมาณน้ำยังไม่พอกับความต้องการใช้น้ำในฤดูแล้งปีหน้า

อยากรู้ว่าถ้าปีหน้าฝนแล้ง น้ำในเขื่อนน้อย ผู้นำจะแนะนำชาวบ้านให้ทำอะไรอีกนอกจากสวดมนต์?