อัฟกานิสถาน : การกลับมาของฏอลิบาน (11) Biden คาดคำนวณผิด?/มุมมุสลิม จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

 

อัฟกานิสถาน

: การกลับมาของฏอลิบาน (11)

 

Biden คาดคำนวณผิด?

เมื่อฏอลิบานเข้าสู่กรุงคาบูลในวันที่ 15 สิงหาคม 2021 รัฐบาลของกอนีย์ก็ล้มลงโดยที่ลูกปืนของฝ่ายรัฐบาลยังไม่ได้ยิงออกไปแม้แต่นัดเดียว

Biden เผชิญกับการถูกวิพากษ์อย่างแหลมคมจากผู้คนในพรรครีพับลิกันและแม้แต่จากพรรคเดโมแครตของเขาเอง

ผู้นำยุโรปตื่นตกใจต่อความโกลาหลในกรุงคาบูลจากภาพที่เห็นชาวอัฟกันต่างกรูกันไปยังเครื่องบิน โดยชาวอัฟกันสองคนเสียชีวิตหลังจากตกลงมาจากล้อเครื่องบินที่กำลังบินขึ้นฟ้า

ในคำกล่าวของ Biden เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม เขายืนยันอย่างหนักแน่นและปกป้องตัวเอง เมื่อเขาโต้แย้งว่าสหรัฐไม่ได้ไปที่อัฟกานิสถานเพื่อ “สร้างชาติ” ซึ่งตรงข้ามกับที่ Bush กล่าวไว้แต่ต้นว่าการเข้าไปมีบทบาทในด้านความมั่นคงในอัฟกานิสถานเป็นไปตามแผนมาร์แชล (Marshall Plan)

คำถามหลักก็คือ Biden ได้รับการเตือนหรือไม่ในเรื่องความโกลาหลที่จะเกิดขึ้นหลังจากการประกาศให้ทหารสหรัฐทั้งหมดออกจากประเทศภายในวันที่ 31 สิงหาคม ทั้งนี้ เป็นประเพณีที่ประธานาธิบดีจะแถลงสั้นๆ ถึงผลที่ตามมาจากข้อพิจารณาที่นำเอามาใช้

ต้นเดือนมีนาคม Blinken รัฐมนตรีต่างประเทศเขียนถึงประธานาธิบดีกอนีย์และอับดุลลอฮ์ อับดุลลอฮ์ เพื่อสนับสนุนให้พวกเขามีข้อตกลงในเรื่องการแบ่งอำนาจกับฏอลิบาน

Blinken มีความห่วงใยว่าสถานการณ์ความมั่นคงจะเลวร้ายลงและฏอลิบานจะได้ครองพื้นที่มากขึ้น ทั้งนี้ เขารู้สึกผิดหวังมากเมื่อเขาพบว่าทหารอัฟกันไม่ขัดขืนฏอลิบานแม้แต่น้อย

อาจกล่าวได้ว่า Biden ได้รับการเตือนแล้วถึงความโกลาหลที่จะเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากความพ่ายแพ้ของรัฐบาลอัฟกานิสถานและการอพยพของผู้คน รวมทั้งการถอนทหารของชาติต่างๆ ที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐ แต่เขาก็เลือกที่จะเดินหน้าถอนกองกำลังของสหรัฐออกจากอัฟกานิสถานให้จบสิ้น

อาจกล่าวได้ว่ามีอยู่บ้างที่จุดมุ่งหมายของสหรัฐได้รับการตอบสนอง อย่างเช่น การทำลายล้างที่พำนักอาศัยของอัล-กออิดะฮ์ที่ได้รับการคุ้มครองจากฏอลิบาน

จุดหมายอื่นๆ บางจุดหมายก็ประสบความสำเร็จเช่นกัน อย่างเช่น การสังหารอุซามะฮ์ บิน ลาดิน ในเมืองอับบอตตาบัด (Abbottabad) ของปากีสถานลงได้ในปี 2011

อย่างไรก็ตาม สหรัฐต้องตกอยู่ในกระแสวังน้ำวนในเวลาต่อมา เนื่องจากภารกิจของสหรัฐต้องตกอยู่ระหว่างการเผชิญกับการก่อการร้าย (counter-terrorism) และการเผชิญกับผู้ก่อความไม่สงบ (counter-insurgency)

แม้จะผ่านประธานาธิบดีมาแล้วสี่คน นโยบายของสหรัฐที่มีต่ออัฟกานิสถานก็ยังคงอยู่ในวังน้ำวนแบบเดิม

การคงอยู่ของทหารในอัฟกานิสถานถูกตั้งคำถามจากฝ่ายการเมืองมาเป็นทศวรรษ และสหรัฐก็พยายามหาทางออกอย่างมีเกียรติ

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของสหรัฐทำให้เงินจำนวนล้านล้านเหรียญสหรัฐไหลท่วมอัฟกานิสถานเพื่อให้เป็นไปตามโครงการที่สร้างขึ้นมาใหม่ โดยเงินจำนวนนี้ส่วนหนึ่งได้ตกไปอยู่ในหมู่ผู้แสวงหาประโยชน์ในรูปของผู้รับเหมาความมั่นคงของเอกชน ฝ่ายบริหารและกลุ่มก้อนต่างๆ ของ NGO

 

ผลกระทบที่มาจากแรงเหวี่ยงจากจีน

การขึ้นมาของจีนถือเป็นการคุกคามทางภูมิยุทธศาสตร์สำหรับสหรัฐ ในปี 2021 สหรัฐเริ่มหันสายตาออกจากการมุ่งความสนใจไปที่การก่อการร้ายโลก (global war on terror) เริ่มต้นจากอัฟกานิสถาน แล้วอ้อมไปทางอิรัก ลิเบีย ซีเรีย ด้วยเหตุผลที่ผสมผสานกัน

เวลานี้สหรัฐถือว่าจีนเป็นคู่แข่งหลักทางยุทธศาสตร์ ในขณะที่สหรัฐกำลังพยายามแสดงพลังของตนอยู่ในดินแดนทางตะวันออกของเอเชีย และทะเลจีนใต้โดยความพยายามของสหรัฐเดิมพันอยู่กับพื้นที่เหล่านี้

สหรัฐไม่อาจทนรับภาระต่อเนื่องจากการนำทหารเข้ามาในอัฟกานิสถานซึ่งได้ผลน้อยได้ สหรัฐต้องการลดอิทธิพลจีนให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในอินโด-แปซิฟิกเพื่อรักษาผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของสหรัฐเอาไว้

จีนได้เชิญผู้นำฏอลิบาน มุลลอฮ์ อับดุลกอนีย์ บาราดัร มาเยือนตั้งแต่ช่วงต้นๆ ด้วยความพยายามที่จะให้เกิดความมั่นใจว่าดินแดนอัฟกานิสถานจะไม่ถูกใช้เพื่อเป็นเจ้าภาพให้กับผู้แยกดินแดนอุยกูร์

จีนให้การยอมรับพัฒนาการล่าสุดของอัฟกานิสถาน โดยโฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีนแสดงความมุ่งมั่นที่จะยังคงพัฒนาความเป็นมิตรและความร่วมมือในความสัมพันธ์กับอัฟกานิสถาน

การเข้าไปเกี่ยวข้องกับฏอลิบานอาจทำให้จีนต้องจ่ายเงินปันผลบ้าง แต่ในเวลาเดียวกันจีนก็ไม่อาจเพิกเฉยความจริงที่ว่าการที่สหรัฐออกมาจากอัฟกานิสถาน สหรัฐย่อมมีข้อเลือกและทรัพยากรที่จะต่อกรกับจีนได้ในพื้นที่อื่นๆ

อาจจะไม่เป็นที่แปลกใจแต่อย่างใด หากรัฐบาลฏอลิบานของอัฟกานิสถานจะเป็นมิตรกับจีนและปากีสถาน

รัฐบาลใหม่ของอัฟกานิสถานดูเหมือนจะพูดคุยเพื่อเปิดการลงทุนทางเศรษฐกิจที่มาจากจีนไปเรียบร้อยแล้ว

ในระดับภูมิรัฐศาสตร์โครงการ 1 แถบ 1 เส้นทางจะได้รับการส่งเสริมจากอัฟกานิสถานทำให้จีนสามารถเชื่อมโยงกับภูมิภาคที่คร่อมอยู่ระหว่างปากีสถานไปจนถึงอิหร่านได้

ในปี 1996 ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ให้การยอมรับรัฐบาลภายใต้การมีผู้นำตามแนวทางอิสลาม (Islamic Emirate) ของอัฟกานิสถานโดยทันที

เวลานี้ก็เช่นกัน ปากีสถานได้แสดงความกระตือรือร้นในการให้การต้อนรับการเปลี่ยนแปลงในกรุงคาบูล

นายกรัฐมนตรีอิมรอน ข่าน (Imran Khan) ให้ความเห็นว่าชาวอัฟกันได้ปลดปล่อยตัวเองออกจาก “รอยต่อของความเป็นทาส” (shackles of slavery) ที่อาจจะรบกวนสหรัฐได้

ถึงเวลานี้ผู้นำฏอลิบานมีความพยายามที่จะแสดงภาพพจน์ที่เป็นกลางของตัวเองเพื่อให้ผู้ดูของโลกได้เห็นต่างไปจากความทรงจำที่มีต่อกฎเกณฑ์ที่เคยเข้มงวดในทศวรรษ 1990

ด้วยการประกาศว่าจะไม่มีการเอาคืน ฏอลิบานได้ส่งสัญญาณที่มีผลนี้ให้เห็น

อย่างไรก็ตาม โลกต้องการมากกว่าแค่คำพูดและต่างก็รอดูความเคลื่อนไหวของอัฟกานิสถานต่อไป

 

ฏอลิบานไม่อาจออกห่างจากชุมชนของโลกโดยผ่านนโยบายที่ถอยหลังเข้าคลองแบบเดิมได้อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับที่ที่ปลอดภัยของผู้ก่อการร้าย สิทธิสตรีและชนกลุ่มน้อย

การเข้าครองประเทศโดยกำลังเป็นเรื่องหนึ่ง แต่การปกครองให้มีประสิทธิภาพก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ถึงเวลานี้พวกเขาจะต้องแสดงสมรรถนะของการปกครอง และแสดงความเป็นสายกลางให้เห็น ถ้าพวกเขาแสดงความเป็นกลางให้เห็นได้พวกเขาก็จะได้รับการยอมรับเข้าสู่ประชาคมโลกและยังคงรักษาความชาญฉลาดในปัจจุบันเอาไว้ได้

ด้วยการรักษาเครือข่ายที่กว้างขวาง ทั้งด้านพลังงาน สาธารณูปโภค โรงพยาบาล และการพัฒนาโครงการชุมชนจำนวนมาก การได้รับความมั่นคงและการให้ความสะดวกด้านสุขอนามัยจะเป็นการท้าทายที่สำคัญของรัฐบาลรักษาการของฏอลิบาน

สิ่งที่ปรากฏให้เห็นก็คือการเปลี่ยนแปลงในอัฟกานิสถานนั้นมีนัยทางด้านความมั่นคงให้เห็นสำหรับอินเดียและพื้นที่อื่นๆ

ทูตรัสเซียในอัฟกานิสถานยกย่องฏอลิบานหลังการเข้าครองกรุงคาบูล โดยบอกว่าทำให้กรุงคาบูลมีความปลอดภัยมากกว่ารัฐบาลของอับดุลกอนีย์