สำรวจการฉีดวัคซีนโควิด เทียบกับต่างชาติ-ไทยยังต่ำ ‘เสี่ยง’ แต่ต้องลอง เดิมพันฟื้น ศก.-ท่องเที่ยว/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

สำรวจการฉีดวัคซีนโควิด

เทียบกับต่างชาติ-ไทยยังต่ำ

‘เสี่ยง’ แต่ต้องลอง

เดิมพันฟื้น ศก.-ท่องเที่ยว

 

มิได้เกินความคาดหมายแต่ประการใด สำหรับการประกาศแถลงการณ์ “เปิดประเทศ” ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย อีกครั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อช่วงค่ำวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา

โดยมีเป้าหมายเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ โดยไม่ต้องกักตัว ซึ่งจะเริ่มตัดริบบิ้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้เป็นต้นไป

นี่เป็นการชิงประกาศก่อนที่จะถึงวันครบกำหนด 120 วัน หรือวันที่ 15 ตุลาคม ที่เคยประกาศไว้เมื่อวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา จากก่อนหน้านี้ที่ไทม์ไลน์ดังกล่าวถูกขยับเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 1 พฤศจิกายน แต่ยังไม่มีประกาศแจ้งออกมาอย่างชัดเจน

 

ความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญครั้งนี้ถือเป็นการตอกย้ำความตั้งใจของ พล.อ.ประยุทธ์ในการเปิดประเทศที่เคยประกาศผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจฯ มาแล้วคำรบหนึ่ง

หากยังจำกันได้ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ได้ประกาศตั้งเป้าจะเปิดประเทศภายใน 120 วัน พร้อมกับการประกาศโรดแม็ปในการเตรียมจัดหาวัคซีน เพื่อจะนำมาปูพรมฉีด

แถลงการณ์ในครั้งนั้น บางช่วงบางตอน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวย้ำว่า “การเปิดประเทศและรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทยอีกครั้ง คือหนทางสำคัญหนทางหนึ่ง ที่จะช่วยบรรเทาความทุกข์ยากเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ไม่สามารถทำมาหากินกันได้มาเป็นระยะเวลานาน”

“การตัดสินใจของผมวันนี้ มาพร้อมกับความเสี่ยง เพราะเมื่อเราเปิดประเทศ ไม่ว่าเราจะเตรียมการป้องกันขนาดไหนก็ตาม ก็ยังมีความเป็นไปได้ว่า อาจจะทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นบ้าง แต่เมื่อเราประเมินสถานการณ์ และคิดถึงความอยู่รอดในการทำมาหากินของพี่น้องประชาชน ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วครับที่เราจะต้องยอมรับความเสี่ยงร่วมกันบ้าง หากความเสี่ยงนั้น เราได้ประเมินอย่างรอบคอบแล้วว่า อยู่ในระดับที่พอจะรับได้ เราต้องจัดลำดับความสำคัญภายในสำหรับประเทศไทยของเรา เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้”

และเป็นที่มาของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ โครงการนำร่อง ที่วันนี้ผ่านมา 3 เดือนแล้ว และเป็นช่วงเวลาที่ได้ “ลองผิดลองถูก” เพื่อจะได้นำไปปรับแก้ให้ดีขึ้นในวันข้างหน้า

 

สําหรับแถลงการณ์เปิดประเทศครั้งล่าสุดนี้ นอกจากเป็นความตั้งใจดังกล่าวแล้ว อีกด้านหนึ่งยังมีแรงกดดันมาจากปัจจัยเศรษฐกิจที่รุมเร้าเข้ามาจากรอบทิศที่ทำให้เศรษฐกิจประเทศตกที่นั่งลำบากและอยู่ในช่วง “ขาลง” เครื่องยนต์เศรษฐกิจทุกตัวกำลังอ่อนแรงใกล้จะดับ ประชาชนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า

แน่นอนว่า การประกาศเปิดประเทศดังกล่าว ด้านหนึ่งได้สร้างความหวังและทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจหลายๆ ราย “โล่งอก” มากขึ้นบ้าง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยว โรงแรมที่พัก ร้านอาหาร

แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องยอมรับว่ามีคนจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่ “ไม่เห็นด้วย” เนื่องจากยังไม่วางใจในสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เป็นอยู่ในวันนี้กับตัวเลขจำนวนผู้ป่วยที่ยังยืนอยู่ที่หลักหมื่น (คน) ต่อวัน ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตก็ยังสูงเฉียดหลักร้อยต่อวัน และในแต่ละวันก็จะมีคลัสเตอร์ใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ

ที่สำคัญตัวเลขผู้ป่วยในแต่ละวันที่เกิดขึ้นยังไม่นับรวมตัวเลขผู้ป่วยที่เข้าข่ายการติดเชื้อจากการตรวจด้วยชุดเอทีเคที่แต่ละวันมีตัวเลขหลักพัน บางวันเป็นหลักหมื่นเข้าไปด้วย

แต่ที่น่าตกใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ ถึงวันนี้จำนวนประชากรทั้งประเทศ 72.03 ล้านคน มีผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม เพียง 32.5% เท่านั้น (ยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์-10 ตุลาคม)

หากเทียบกับหลายๆ ประเทศที่ได้ทยอยประกาศเปิดประเทศไปก่อนหน้านี้ ตัวเลขการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ก็ยังห่างไกลประเทศอื่นๆ มาก โดยเฉพาะสิงคโปร์ ที่มีอัตราการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วมากถึง 81% ขณะที่แคนาดา 72% อังกฤษ 68% ฝรั่งเศส 66%

เช่นเดียวกับออสเตรเลีย ที่เตรียมจะเปิดประเทศในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ ก็ตั้งเป้าจะฉีดวัคซีนเข็ม 2 ให้ได้ 55% ภายในกลางเดือนตุลาคมนี้ จากตอนนี้ที่ทำได้มากกว่า 50%

ตัวเลขการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มดังกล่าว ยังห่างไกลกับการจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้

 

ยิ่งเมื่อพิจารณาลงไปในรายละเอียดการฉีดวัคซีนในจังหวัดหรือพื้นที่นำร่องเมืองท่องเที่ยวตามแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ จากระบบฐานข้อมูล MOPH Immunization Center กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะพบว่า ตัวเลขสัดส่วนการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ที่มีสัดส่วนสูงมีอยู่เพียง 2-3 จังหวัดเท่านั้น

เริ่มจากภูเก็ต มีประชากร 547,584 คน มีผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มหนึ่ง คิดเป็นสัดส่วน 79.8% ส่วนเข็ม 2 มีสัดส่วน 75.7%

ขณะที่กรุงเทพฯ ประชากร 7.69 ล้านคน ฉีดเข็ม 1 ไปแล้ว 102.4% ส่วนเข็ม 2 มีสัดส่วน 61.0% และชลบุรี ประชากร 2.05 ล้านคน ฉีดเข็ม 1 คิดเป็นสัดส่วน 71.2% ส่วนเข็ม 2 ตัวเลขอยู่ที่ 49.6%

ส่วนจังหวัดอื่นๆ สัดส่วนการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ยังมีตัวเลขที่ไม่มากนัก ไม่ว่าจะเป็นสุราษฎร์ธานี ประชากร 1.14 ล้านคน ฉีดเข็ม 1 จำนวน 42.8% ส่วนเข็ม 2 ตัวเลขอยู่ที่ 33.9% สำหรับกระบี่ ประชากร 503,537 คน ฉีดเข็ม 1 ไปแล้ว 40.4% เข็ม 2 ฉีดไปแล้ว 30.8%, พังงา ประชากร 286,338 คน ฉีดเข็ม 1 ไปแล้ว 56.5% ขณะที่ เข็ม 2 ตัวเลขการฉีดอยู่ที่ 48.0%

เช่นเดียวกัน ประจวบคีรีขันธ์ ประชากร 578,093 คน ฉีดเข็ม 1 คิดเป็นสัดส่วน 48.7% ขณะที่ เข็ม 2 ฉีดไปแล้ว 37.5%, เพชรบุรี ประชากร 502,826 คน มีผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็ม 1 คิดเป็นสัดส่วน 53.4% ส่วนเข็ม 2 ตัวเลขอยู่ที่ 39.5% สำหรับ เชียงใหม่ ประชากร 1.73 คน มีผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็ม 1 คิดเป็น44.7% ส่วนเข็ม 2 มีตัวเลขอยู่ที่ 30.7% เป็นต้น

ขณะที่ตราด ประชากร 249,457 คน ฉีดวัคซีนเข็ม 1 มีสัดส่วน 44.7% การฉีดเข็ม 2 มีสัดส่วน 30.7% ขณะที่ระยอง ประชากร 966,931 คน ได้รับการฉีดวัคซีนเข็ม 1 สัดส่วน 51.0% ส่วนเข็ม 2 ตัวเลขอยู่ที่ 34.3%

ส่วนเลย ประชากร 640,282 คน ได้รับการฉีดเข็ม 1 แล้ว 36.8% ส่วนเข็ม 2 ตัวเลขอยู่ที่ 22.5% และบุรีรัมย์ ประชากร 1.59 ล้านคน มีประชาชนที่ได้รับเข็ม 1 สัดส่วน 48.8% เข็ม 2 สัดส่วน 34.8%

 

อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับการเปิดประเทศ 1 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ จากนี้ไป สธ.จึงต้องเร่งมาตรการต่างๆ ในการกำหนดประเทศที่เดินทางเข้ามาต้องมีความเสี่ยงต่ำ การกำหนดเรื่องหลักฐานการฉีดวัคซีน รวมถึงการเร่งปูพรมฉีดวัคซีนในพื้นที่เป้าหมายของการท่องเที่ยวในเปอร์เซ็นต์ที่สูงขึ้น

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ย้ำว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลงการณ์เปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายนนั้น ถือเป็นนโยบาย ตนได้สั่งการไปยังปลัดกระทรวงสาธารณสุข และอธิบดีกรมควบคุมโรค ให้หามาตรการเพื่อให้นโยบายเกิดผลสัมฤทธิ์ให้ได้ สำหรับจังหวัดนำร่องท่องเที่ยว บางจังหวัดที่ยอดการฉีดวัควีนยังไม่ครอบคลุม 50% ก็จะมีการจัดส่งมากขึ้น และเร่งฉีด

ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการเปิดประเทศมาพอสมควร เช่น ที่ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ โดยจากการติดตามนักท่องเที่ยวที่เข้ามานั้นมีการติดเชื้อน้อยมาก ที่เห็นว่าในพื้นที่มีการติดเชื้อนั้นเป็นการติดเชื้อในแรงงานที่ยังไม่ได้รับวัคซีน กรณีที่ท่านนายกฯ ระบุว่า 1 พฤศจิกายน จะเปิดมากขึ้นนั้นก็สอดคล้องกับหลายประเทศที่เริ่มประกาศ

ทั้งนี้ โดยพื้นฐาน คือ 1.เตรียมสถานที่ คือประเทศไทยให้พร้อม 2.เตรียมคนที่จะเข้ามาให้พร้อม คือมีการฉีดวัคซีนครบ มีการตรวจเชื้อก่อนเดินทาง และเมื่อเข้ามา และ 3.เตรียมคนในประเทศไทยให้พร้อม คือการฉีดวัคซีนมีความครอบคลุม คาดว่าสิ้นเดือนตุลาคมจะฉีดวัคซีนอย่างน้อยเข็มที่หนึ่ง 50% ส่วนเข็มสองก็ฉีดใกล้ๆ 40% เมื่อสิ้นเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม น่าจะเกินเป้าหมาย 100 ล้านโดส

เมื่อรอการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมก่อนไม่ได้ จึงต้องตัดสินใจเดินหน้า “เปิดประเทศ” ไปก่อน

แม้จะมีความเสี่ยง แต่ก็ต้องยอมรับ จากนั้นค่อยมาแก้ไขเยียวยากันอีกที