การล้อมปราบและสังหาร 6 ตุลา 2519 เปรียบเทียบ เม.ย-พ.ค.2553 (จบ) เอาใบบัวปิดซากช้าง/หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

การล้อมปราบและสังหาร

6 ตุลา 2519 เปรียบเทียบ เม.ย-พ.ค.2553 (จบ)

เอาใบบัวปิดซากช้าง

 

การปราบและสังหารประชาชนปี 6 ตุลาคม 2519 ล้างผิดปิดเกมโดยนิรโทษกรรม ผ่านสภา 3 วาระรวดในวันเดียว

เดือนตุลาคม 2520 รัฐบาลอำมาตย์ถูกรัฐประหารอีกครั้งโดยกลุ่มทหาร คราวนี้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ขึ้นเป็นนายกฯ เอง คดี 6 ตุลาเข้าสู่ศาลทหาร ตั้งแต่มกราคม 2521

พอสืบพยานมากไปได้ 7-8 ปากก็เป็นเรื่อง แทนที่ฝ่ายนักศึกษาจะเพลี่ยงพล้ำ กลับกลายเป็นความจริงถูกเปิดเผยมากขึ้น ใครมาจากหน่วยไหน? ใช้อาวุธอะไร? มาล้อมฆ่านักศึกษา

หลายคนคิดว่า ถ้าได้สืบพยานต่อ ความจริงจะต้องถูกเปิดเผยออกมาแน่ ฝ่ายที่วางแผนอยู่เบื้องหลังจึงรีบตัดตอน…

15 กันยายน 2521 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีก็ได้นำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม คดี 6 ตุลาคม 2519 เข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในค่ำวันที่ 15 กันยายน หลังจากที่ประชุมผ่าน 3 วาระ พล.อ.เกรียงศักดิ์ก็บินไปยังพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ทูลเกล้าฯ ให้ทรงลงพระปรมาภิไธย

16 กันยายน 2521 ผู้ต้องหาที่ได้รับนิรโทษกรรมก็ได้รับการปล่อยตัวให้เป็นอิสระ แต่ที่อยู่ในป่าก็ยังรบกันต่อไป จนมีการใช้นโยบาย 66/2523 มีผลให้การสู้รบยุติลงในปี 2524 และพวกที่อยู่ป่าก็คืนเมืองเกือบหมดในปี 2525

ปัญหาที่เกิดจากการรัฐประหารในปี 2519 ก็ใช้เวลาในการแก้ปัญหาประมาณ 7 ปี มีคนเสียชีวิตในระหว่างการสู้รบหลายพันคน

แต่ซากช้างก็ยังส่งกลิ่นประจานบาปมาตลอด 45 ปี

 

เอาอำนาจปืนและกฎหมาย ปิดซากช้าง

การล้อมปราบและสังหารปี 2553 ไม่ใช้กฎหมายนิรโทษกรรมทั้งประชาชนผู้ถูกยิงและเจ้าหน้าที่ แต่ไม่ให้ฟ้องคนทำผิด

ในขณะที่ประชาชนที่มาชุมนุมเมษายน-พฤษภาคม ถูกฟ้องหลายคดีหลายข้อหา แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมจนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากกลับไม่ถูกฟ้องในข้อหาใดๆ เลย โดยใช้ข้ออ้างทางกฎหมาย และพยายามโยนความผิดไปให้เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย ให้เป็นความผิดเฉพาะตน

ใครอยากฟ้องให้ไปหาผู้กระทำความผิดและฟ้องเอาเอง คดีความและการฟ้องร้องเอาผิดผู้สั่งการไม่ได้

 

จะฟ้องหรือไม่ อยู่ที่ใครมีอำนาจ

1.เดือนตุลาคม 2556 สมัยรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อัยการสูงสุดได้สั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าโดยเจตนา

2. หลังการรัฐประหารพฤษภาคม 2557 ยุค คสช. มีการพิพากษายกฟ้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ด้วยเหตุผลว่าทั้งสองออกคำสั่งขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี ฉะนั้น ศาลอาญาจึงไม่มีอำนาจพิจารณา ถือเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง

ต้องให้ ป.ป.ช.เป็นผู้ชี้มูลความผิดและยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฉะนั้น ศาลอาญาจึงไม่มีอำนาจพิจารณา

3. ทางด้าน ป.ป.ช.ก็มีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป ด้วยเหตุผลว่าข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานยังรับฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการดำเนินการเรื่องดังกล่าว

ทั้งนี้ ป.ป.ช.เห็นว่า หากภายหลังสามารถพิสูจน์ได้ว่าเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติใช้อาวุธโดยไม่สุจริต เกินสมควรแก่เหตุ ก็ถือเป็นความรับผิดเฉพาะตัวเท่านั้น ซึ่งต้องส่งเรื่องให้ดำเนินการกับเจ้าหน้าที่เป็นรายบุคคลไปยังดีเอสไอเพื่อสอบสวนการกระทำผิดต่อไป

4. คสช.ยังได้ออกคำสั่งที่ 68/2558 เปลี่ยนแปลงพนักงานสอบสวนและแนวทางการสอบสวนสำหรับสำนวนคดีผู้เสียชีวิตกรณีปี 2553 ที่เหลือทั้งหมด

5. 17 กุมภาพันธ์ 2559 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าเหตุที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำไปในฐานะส่วนตัว แต่เป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองกระทำไปในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนั้นศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย

สรุปว่า ไม่มีใครในระดับสั่งการต้องรับผิดชอบต่อการสังหารกลางเมือง ถ้าจะเอาผิดต้องไปเอาผิดกับผู้ปฏิบัติการเป็นรายบุคคล

วันนี้มีอำนาจ… แม้ฆ่าช้างตายไปหลายตัว ก็ไม่ต้องเอาใบบัวมาปิดบัง

 

วิเคราะห์ เปรียบเทียบ

ฐานะของนักต่อสู้ หลังเหตุการณ์

14 ตุลาคม 2516 เป็นวีรชน

แม้มีคนใช้อาวุธยิงสู้กับทหารตำรวจมากกว่าเมษายน-พฤษภาคม 2553 หลายเท่า

จนยึดกองบัญชาการตำรวจนครบาลได้ แต่ไม่แต่งเป็นคนชุดดำ ตามข่าวว่าบางคนเป็นทหารพราน

มีการเผากองสลากและเผาตึก กตป.ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516

เผากองบัญชาการตำรวจนครบาลในวันที่ 15 ตุลาคม 2516

เมื่อการเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนจบลง มีแต่วีรชน ไม่มีผู้ก่อการร้าย ไม่มีใครด่าว่าเผาบ้านเผาเมือง มีวีรชนที่เสียชีวิต ได้มีพิธีพระราชทานเพลิงศพอย่างยิ่งใหญ่ที่เมรุท้องสนามหลวง

หลังรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 นักศึกษาเป็นผู้ก่อการร้าย

นักศึกษา คือผู้ร่วมมือกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์เวียดนาม

หลังล้อมปราบในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 คนเสื้อแดงถูกตั้งข้อหาที่ร้ายแรงที่สุดเท่าที่คิดได้คือผู้ก่อการร้าย เผาบ้านเผาเมือง ตาสี ป้ามี คุณสมศักดิ์ คุณผุสดี ฯลฯ ที่มาชุมนุมจึงกลายเป็นผู้ก่อการร้ายกันโดยถ้วนหน้า

ผลทางการเมือง และเศรษฐกิจ หลังรัฐประหาร 2519 และ 2520 มีต่อเนื่องถึง 10 ปี แต่หลังรัฐประหาร 2549 และ 2557 กลับส่งผลทางการเมืองต่อเนื่องที่นานกว่ามาก และสร้างความเสียหายร้ายแรงกว่า

 

สิทธิป้องกันตนเองของผู้ชุมนุมมีแค่ไหน?

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นักศึกษาชุมนุมอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ปิดประตูอย่างมิดชิด มีหน่วย รปภ.ป้องกัน มีอาวุธปืนสั้นติดตัว เพราะฝ่ายที่จะบุกก็มีอาวุธเช่นกัน

มีคำถามว่า ต่อไปถ้ามีสถานการณ์แบบนี้จะทำอย่างไร? จะต้องยืนมือเปล่า ให้อีกฝ่ายบุกเข้ามาฆ่าหรือ? เขายิงมาเราหลบ มีความผิดหรือไม่?

ถ้าเอาหนังสติ๊กยิงสู้ ผิดหรือไม่?

ถ้าเอาปืนที่บ้านมายิงสู้ ผิดหรือไม่?

การชุมนุมในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ของคนเสื้อแดงก็เช่นกัน เพียงแต่การล้อมปราบกินเวลามากกว่าเป็นเดือน คนเจ็บคนตายมากกว่า ติดคุกมากกว่า นานกว่า

 

การปราบยุคปัจจุบัน

1.มีปฏิบัติการ IO ของเจ้าหน้าที่รัฐ และของฝ่ายหนุนรัฐ ยังใช้ทั้งวิทยุ ทีวี และผ่านออนไลน์ แต่วันนี้ฝ่ายขวาเชียร์จีน ด่าอเมริกา ตรงข้ามกับยุคยานเกราะ 2519

2. การปราบด้วยกำลังทำมาเป็นปีแล้วและแรงขึ้น แต่การต่อสู้ของเด็กยุคนี้ ก็ยิ่งแรงเช่นกัน ทะลุทุกอย่างที่ขวางหน้า แม้การปราบจะใช้กระสุนยาง แก๊สน้ำตา รถฉีดน้ำ

3. การปราบและปรามโดยใช้กฎหมาย ตั้งข้อหาให้มากที่สุด ทั้งเบาและหนัก คือมาตรา 112 และ 116 ฟ้องทุกคนที่ต่อต้านรัฐ ถ้ามีช่องทาง

การต่อสู้ยุค 6 ตุลาคม 2519 เหมือนจบไปแล้ว การต่อสู้ของปี 2553 ก็เหมือนจบไปแล้ว แต่ทำไมจึงเกิดนักสู้รุ่นใหม่ที่ไม่กลัวอำนาจรัฐเผด็จการขึ้นมาอีกรุ่นและต่อรุ่นกันมาติดๆ แถมแรงกว่า

คงไม่ใช่วิญญาณนักสู้มาเกิดใหม่ แต่เป็นเพราะการกดขี่ เอาเปรียบ และความอยุติธรรมในประเทศเราที่มีมาอย่างต่อเนื่อง และช่วงนี้หนักข้อขึ้นทุกวัน พลังต้านจึงต้องเกิดขึ้นตามกฎธรรมชาติ

…ในสถานการณ์ที่แย่ลงทุกด้าน ผู้คนหวังว่าพลังต้านนี้จะไม่ถูกทำลายลงในช่วงสั้นๆ

แบบปี 2519 และจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองให้ดีขึ้นในระยะยาว