หนุ่มเมืองจันท์ : เพื่อนที่หายไป

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ

หนุ่มเมืองจันท์ / www.facebook.com/boycitychanFC

 

เพื่อนที่หายไป

 

ผมมีเพื่อนคนหนึ่งที่หายไปนานมาก

ไม่ได้เจอกันมาประมาณ 2 ปีแล้ว

คิดถึง

แต่ไม่ได้อยากเจอ

เขาชื่อ “เกาต์” ครับ

ผมรู้จักเพื่อนคนนี้มานานประมาณ 20 กว่าปี

จำได้ว่าวันแรกที่รู้จักเพื่อนเกาต์ คือตอนที่ผมไปเมืองจันท์แล้วเตะบอลกับหลานบนดาดฟ้าที่บ้าน

เลี้ยงบอลแล้วเจ็บที่หลังเท้า

มันเจ็บแปลกๆ แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

แม้จะเจ็บเท้า แต่ด้วยความอยากเล่นบอล ผมก็หลีกเลี่ยงการใช้หลังเท้าเตะบอล

แต่ใช้ฝ่าเท้าและส้นเท้าสัมผัสบอลแทน

เล่นกับเด็กๆ ยังไงก็สนุก

เล่นบอลเสร็จไปกินข้าวเย็นกันต่อ

ตอนนี้ล่ะครับ นรกมาเยือน

หลังเท้าเริ่มบวมแดง ลงน้ำหนักแทบไม่ได้

เพื่อนเกาต์มาทักทายครับ

เวลามีคนถามว่าเป็นเกาต์มันเจ็บแค่ไหน

ผมจะอธิบายสั้นๆ

“ระดับลมพัดยังเจ็บ”

โชคดีที่น้องสาวและน้องเขยเป็นเภสัชฯ พอวินิจฉัยว่าเป็นเกาต์ เขาก็จัดยาให้ทันที

ประมาณ 3-4 วันก็ดีขึ้น

จากวันนั้นเป็นต้นมา เพื่อนผมคนนี้ก็มาหาตลอด

ตอนแรกๆ จะห่างหน่อย

ประมาณปีละครั้ง

หรือบางช่วงห่างกันเกินปี

ช่วงแรกผมใช้วิธี “รักษา” ดีกว่า “ป้องกัน”

คือ กินทุกอย่างเหมือนเดิม

พอเกาต์ขึ้น ก็กินยา

จนช่วงหนึ่งเริ่มไม่ไหว เพราะเพื่อนคิดถึงบ่อยเหลือเกิน

แป๊บๆ ก็มาหาอีกแล้ว

ตัดสินใจไปหาหมอให้ช่วยดัดนิสัยเพื่อน

สอนให้รู้จักคำว่า “เกรงใจ”

คิดถึงเพื่อนก็ให้มาสักปีละครั้งก็พอ

และอย่าอยู่นาน

 

ผมโชคดีเจอคุณหมออนวรรถ ซื่อสุวรรณ ที่โรงพยาบาลวิภาวดี

คุณหมอเป็นคนที่ทัศนคติดีมาก

เพราะก่อนหน้านี้ผมหาข้อมูลเรื่องโรคเกาต์แล้ว

เขาให้หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีพิวรีนสูง ที่จะก่อให้เกิดกรดยูริก

มีอะไรบ้างหรือครับ

เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ เครื่องในสัตว์ กุ้ง ปู กะปิ ฯลฯ

เห็นรายชื่ออาหารที่ห้ามกินแล้ว

กินเจยังไม่ได้เลยครับ

เพราะเขาห้ามกินยอดผัก

แต่คุณหมออนวรรถบอกว่าเขาไม่เห็นด้วยกับวิธีการแบบนี้

เขามีวิธีคิดเหมือนการรักษาโควิด-19 ในวันนี้

คือ แทนที่ล็อกดาวน์ปิดประเทศแล้วเศรษฐกิจพัง

เขาเลือกวิธีให้เราใช้ชีวิตอยู่กับโควิดให้ได้

เหมือนกับ “เกาต์”

อย่าถึงขั้นห้ามกินทุกอย่าง

ขอแค่ให้รู้ว่าอาหารประเภทไหนมีพิวรีนสูง

แล้วพยายามหลีกเลี่ยงอย่ากินเยอะเกินไป

หมออนวรรถอธิบายดีมากว่าการเป็นเกาต์ไม่ใช่เพราะเรากินอาหารที่มีพิวรีนสูง

แต่เป็นเพราะเครื่องมือกรองยูริกของเราไม่ดี

คนที่กินอาหารพิวรีนสูงเยอะกว่าเราบางคนก็ไม่เป็น

เพราะเครื่องกรองเขาดี

วิธีการรักษาของหมอ คือ ให้กินยาลดกรดยูริก

คุมให้อยู่

แล้วมาตรวจเป็นระยะๆ

ผมกินยาอยู่พักหนึ่ง

ตัวเลขยูริกเริ่มลดลง

และเมื่อเพื่อนเกาต์ไม่มาเยือนเป็นปี

ผมก็ได้ใจ

หายไปจากโรงพยาบาล

 

ผมกลับมาใช้วิธี “รักษา” แทน “ป้องกัน” แบบเดิม

เพราะเพื่อนยังคงคิดถึงอยู่เรื่อยๆ

แต่นิสัยดีขึ้น

นานๆ มาที

จนพักหลังเมื่อประมาณ 3 ปีก่อน เพื่อนเริ่มนิสัยไม่ดี

มาหาบ่อย

และอยู่ด้วยโค-ตะ-ระ นาน

บางทีเกือบ 10 วัน

ที่สำคัญ อาการเริ่มหนักขึ้นจนแทบเดินไม่ไหว

ไม่ใช่แค่ลมพัดยังเจ็บ

ลมหายใจโดนยังเจ็บเลยครับ

บางครั้งทนไม่ไหวต้องให้หมอฉีดยาระงับอาการอักเสบ

ผมตัดสินใจซมซานไปหาหมออนวรรถอีกครั้ง

คราวนี้ตั้งใจจะรักษาอย่างจริงจัง

คุณหมออธิบายกระบวนการรักษาว่าขอให้กินยาที่ให้อย่างสม่ำเสมอ

ตามหลักปริมาณกรดยูริกต้องไม่เกิน 7

แต่คุณหมอจะคุมให้ได้ไม่เกิน 6 เพื่อความปลอดภัย

เผื่อบางทีไปกินอะไรขึ้นมา แล้วปริมาณยูริกกระเพื่อมขึ้นมา

มันจะได้ไม่ถึง 7

ครั้งนี้ผมเอาจริงมาก

กินยาอย่างสม่ำเสมอ มาเจาะเลือดตรวจยูริกเป็นประจำ

ตัวเลขค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ จาก 9.3 จนมาเหลือ 4.6

ขยับขึ้น-ลงบ้างแต่ไม่เกิน 6

ตอนนี้เพื่อนเกาต์หายหน้าไป 2 ปีแล้วครับ

หมอบอกว่าถ้าคุมอยู่แบบนี้สักพัก ตะกอนยูริกที่สะสมจะค่อยๆ ลดลง

แล้วก็สอนซ้ำว่าอาหารทุกอย่างกินได้นะ

แต่ต้องมี “สติ”

จำง่ายๆ ว่า “เนื้อสีแดง” มีพิวรีนมากกว่า “สีขาว”

เนื้อวัว เนื้อหมู มีมากกว่าไก่

และไก่มากกว่าปลา

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เบียร์มากที่สุด

รองลงมาคือเหล้า

และต่ำสุดคือไวน์

ยอดผัก มีมากกว่าผัก

อยากกินอะไรกิน แต่ต้องมี “สติ”

อยากกินเนื้อวัว…กิน

แต่กินให้พอหายอยาก

อย่าถึงขั้นสวาปาม

หรือวันไหนกินอาหารที่มีพิวรีนสูงเยอะ

พรุ่งนี้ก็กินผักและผลไม้เยอะหน่อย

ผมทำแบบนี้มาตลอด

จนวันก่อนเกิดไอเดียหนึ่งขึ้นมา

ผมนึกถึงวิธีการเปลี่ยนสีรถให้ถูกโฉลกโดยไม่ต้องซื้อรถใหม่

อยากให้รถสีแดงเป็นสีขาวก็เขียนท้ายรถว่า “รถคันนี้สีขาว”

ถ้าเราเลียนแบบบ้าง

เวลาจะกินเนื้อวัว

เราก็เขียนที่จานว่า “เนื้อชิ้นนี้คือปลา”

หรือพอจะดื่มเบียร์

ก็เขียนที่กระป๋อง

“กระป๋องนี้คือไวน์”

กะว่าจะปรึกษาคุณหมอว่าทำแบบนี้

เพื่อนเกาต์เขาจะรู้ไหมครับ