เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง : ได้อะไรจากงาน Defining 4.0

คุณๆ ที่เล่นเฟซบุ๊กกันอยู่ทุกวันนี้ ถ้ารู้ว่ามันมีความหมายและใช้เป็นเครื่องมือบ่งบอกความเป็นตัวคุณได้อย่างชะงัด แถมยังขายของอย่างเป็นล่ำเป็นสันได้ ก็คงจะมีหลายคนต่างคนต่างลุกขึ้นมาตั้งหลักใหม่ เอาจริงเอาจังกับการวางแผนสื่อสารทางโซเชียลมีเดียกันมากขึ้น

อย่านึกว่าเฟซบุ๊กมีไว้เพื่อคุยกับเพื่อน ตามหาเพื่อนเท่านั้น ไม่งั้นเด็กสมองใสอย่าง มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก คงไม่ลุกขึ้นมาสร้างเฟซบุ๊กให้เป็นแพลตฟอร์มการสื่อสารที่มีคนในเมืองไทยใช้กันถึง 38 ล้านคนเวลานี้

เวลาเป็นของมีค่า คนบางคนใช้เวลากับสมาร์ตโฟนกันวันละถึง 7 ชั่วโมง และโซเชียลมีเดียไม่ต่ำกว่าสองสามชั่วโมง คุณรู้ตัวไหมว่าในขณะที่คุณกำลังคุยกับเพื่อนด้วยเรื่องจิปาถะนั้นคุณกำลังสร้างเครือข่าย และจากเครือข่ายนี้คุณสามารถสร้างรายได้ในเวลาต่อมา โดยการสร้างตัวตนที่ชัดเจนเพื่อเป็นบันไดก้าวไป

บางคนอาจรู้ แต่บางคนไม่รู้จน Philip Kotler กูรูการตลาดมาบอก

ในงานสัมมนา “Defining 4.0 สร้างความสำเร็จ ในยุคที่คนกลายเป็นแบรนด์ และแบรนด์กลายเป็นคน” ผู้ที่มาถ่ายทอดเป็นลูกศิษย์เอกของ Kotler คือ คุณปิยะชาติ อิศรภักดี

ให้จับตาคุณอาร์ม ปิยะชาติ คนนี้ไว้ให้ดี นอกจากจะเป็นลูกศิษย์ Kotler คุณอาร์ม ปิยะชาติ ยังเป็นลูกศิษย์ของ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ คุณอาร์มถ่ายทอดได้อย่างมีชีวิตชีวาชวนติดตาม

 

ผู้เขียนยุคุณอาร์มว่านอกจาก talk เรื่องการตลาดแล้ว น่าจะจัดอบรม public speaking ด้วย

งานนี้เป็นการจัดร่วมกันระหว่างสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ บริษัท แบรนดิ คอร์ปอเรชั่น จำกัด โดยมีผู้สนับสนุนคือนิตยสารในเครือ แบรนด์เอจ เครืออมรินทร์ และสถาบัน Kotler

ทั้งหมดนี้เป็นเครือข่ายโยงใยกัน มีส่วนได้เสียร่วมกัน และมีเป้าหมายร่วมกันคือสร้างความรู้ให้ผู้ประกอบการไทย ติดอาวุธไปแข่งขันในตลาดระดับภูมิภาคและตลาดโลก

เป็นการจับมือกันที่มีผลงานออกมาอย่างสวยงามและให้ประโยชน์กับผู้ฟังมาก

ภาพใหญ่ที่ได้จากงานนี้คือภาพพรมแดนใหม่ที่ไม่ได้มีเส้นแบ่งเขตประเทศ แต่เป็นพื้นที่ใหม่ในโลกดิจิตอล คือนอกจากคนคนหนึ่งจะเป็นประชาชนของประเทศไทย เขายังเป็นประชากรของโลกดิจิตอล (Digital Native) ที่เชื่อมโยงกันด้วยอินเตอร์เน็ต

และในประชากรทั้งหมดนี้ยังซอยย่อยออกเป็นเครือข่ายเล็กๆ เช่น เครือข่ายเพื่อนโรงเรียนเก่าในเฟซบุ๊ก

คงไม่แปลกใจเมื่อเห็นหนุ่มสาวยุคใหม่ของอังกฤษแทบจะตีอกชกหัวเมื่อบรรดาผู้ใหญ่โหวตให้อังกฤษออกจากอียู เพราะนั่นเป็นการตัดตัวเองออกจากโลกใบใหญ่ แสดงถึงการถอยหลังเข้าคลอง

Kotler ชี้ให้เห็นว่าคนมีการสื่อสารกันในแบบ Hybrid คือทำกิจกรรมทั้งบนโลกออนไลน์ และโลกจริง เช่น ยังไปเดินช็อปปิ้งตามห้าง และสั่งสินค้าทางอินเตอร์เน็ต หรือไปธนาคารเพื่อทำธุรกรรมและโอนเงินออนไลน์

ในยุคต่อไปคนน่าจะทำกิจกรรมออนไลน์มากขึ้น ซึ่งหมายถึงการก้าวข้ามไปสู่ยุค 4.0

 

คําว่า 4.0 หมายถึงอะไร คือการแบ่งยุคของกิจกรรมต่างๆ ที่พัฒนาจาก 1.0 2.0 3.0 มาจนถึงยุคดิจิตอล 4.0 โดยสมบูรณ์

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ หนึ่งในทีม think tank ของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ พูดเน้นถึงเรื่อง competitiveness เขาบอกว่าประเทศไทยมีทรัพยากรคือ “ธรรมชาติ” และ “วัฒนธรรม” เราต้องเอาสิ่งที่มีมาสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน เหลาให้คมชัดและต่อยอดด้วยปัญญา

คุณจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ให้ข้อคิดว่าผู้ประกอบการไทยควรทำงานหนัก ทำเร็ว เธอบอกว่าคนส่วนใหญ่ทำไม่ค่อยจบ

การสัมมนาครั้งนี้มีข้อน่าชื่นชมคือการบริหารจัดการเวลาและเนื้อหาที่ดี ผู้พูดใช้เวลาไม่มาก พูดตรง กระชับ ตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม

ช่วงที่น่าสนใจที่สุดคือช่วงการนำเสนอของคุณปิยะชาติถึงความคิดในหนังสือ Branding 4.0 สร้างความสำเร็จในยุคที่คนกลายเป็นแบรนด์ และแบรนด์กลายเป็นคน

เขาบอกว่าระหว่างที่คุณสร้างข้อความในเฟซบุ๊ก คุณก็กำลังสร้างแบรนด์ให้ตัวเอง นี่เองที่ผู้เขียนจั่วหัวไว้ในตอนต้นว่า ถ้าคุณรู้ว่าเฟซบุ๊กจะทำให้คุณขายของได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ คุณจะกลับมาตั้งหลักใหม่และเอาจริงเอาจังกับการสื่อสารบนเฟซบุ๊กให้มากขึ้น

การสื่อสารในโซเชียลมีเดียคือการที่คนสร้าง Self Actualization ว่าฉันคือใคร ฉันมีความต้องการอะไร เป็นความต้องการเฉพาะบุคคลที่ไม่มีใครเลียนแบบได้

เฟซบุ๊กคือแพลตฟอร์มที่ทำให้เกิดธุรกิจ ธุรกิจที่เกิดจาก passion และ relationship ของคนเฉพาะกลุ่ม

คนยุคใหม่ไม่ต้องการเป็นลูกจ้าง แต่ต้องการมีธุรกิจของตัวเอง และโซเชียลเน็ตเวิร์กทำให้สามารถทำธุรกิจได้โดยไม่ต้องมีหน้าร้าน

นี่คือโอกาสของ Digital Entrepreneur

ในยุค 4.0 ผู้บริโภคคุยกันเอง ไม่ใช่ผู้ผลิตคุยกับผู้บริโภค

ลองมาติดตามดูว่าคุณปิยะชาติสรุปใจความสำคัญของเรื่องการสร้างแบรนด์ในยุคที่แบรนด์กลายเป็นคนอย่างไรบ้าง

เขาบอกว่า…

การเดินทางของแบรนด์บนออนไลน์เป็นสิ่งที่ “ต้องทำ” การสื่อสารด้วยการสร้าง life values มากกว่า business values เชื่อมโยง values ก่อนเพื่อเป็นการสร้างดีมานด์ แล้วจึงขายของซึ่งเป็นซัพพลาย

พยายามอย่าขาย แต่จง “ร่วมมือกัน” สร้าง “ตัวตนที่มีชีวิตชีวา” ไม่ใช่แค่สร้าง “ผลกำไร” บริหารจัดการ ความสัมพันธ์ของผู้บริโภค ไม่ใช่เพียงบริหารลูกค้า สร้างนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการสร้างตัวตนที่มีชีวิตชีวา

การนำเสนอของผู้บริหารหลายท่านจากหลายธุรกิจล้วนน่าสนใจ คุณสุภาวดี ตันติยานนท์ จากมัลเลน โลว์ กรุ๊ป บริษัทโฆษณาชั้นนำ พูดถึงการเดินทางผ่านยุคต่างๆ ของการสื่อสารกับผู้บริโภคด้วยโฆษณา ประชาสัมพันธ์ว่า ในยุค 2.0 เป็นยุค technology breakthrough information ลงเงินไปก็เห็นผล ต่อมายุค 3.0 เป็นยุคปัจจุบัน ลงเงินไปปุ๊บ ถ้าคอนเทนต์ดี สามารถ reach คนได้เป็นล้านในเวลา 24 ชั่วโมง พาให้เกิด consumer demand มากขึ้นเพราะ consumer คุยกันเอง

คุณชาคริต ดิเรกวัฒนชัย จากเทสโก้ โลตัส บอกว่าตัวเลขคนจับจ่ายใช้สอยออนไลน์กำลังเพิ่มขึ้น 100% ทุกปี

คุณปกรณ์ พรรธนะแพทย์ จากเคแบงก์ บอกว่า 20% ของลูกค้าแบงก์ทำธุรกรรมออนไลน์ และโมบายแบงกิ้งโต 100% ต่อไปแบงก์จะต้องสื่อสารกับลูกค้ากว้างขึ้น ลึกขึ้น เช่น ทำให้ลูกค้ามีข้อมูลส่วนตัวร้านค้าไหนรับบัตรเคแบงก์บ้าง

คุณบุรณิน รัตนสมบัติ จาก ปตท. บอกว่า ยุค 1.0 เป็นยุควางเครือข่ายสถานีบริการน้ำมัน ยุค 2.0 แข่งกันที่โปรโมชั่นกับออกเทน ยุค 3.0 เป็นยุค oil และ non oil ส่วนยุค 4.0 จะเป็นยุค customer focus จากการที่คนเข้าปั๊มวันละ 2 ล้านคน

 

สําหรับคนที่พลาดการสัมมนาครั้งนี้ก็สามารถติดตามหนังสือ Branding 4.0 คำนิยมโดย Philip Kotler และเขียนโดย ปิยะชาติ อิศรภักดี ได้นะคะ ด้านหลังของปกในมีประวัติที่น่าสนใจของ คุณอาร์ม ปิยะชาติ ว่าเขาเรียนมาทางสายวิศวกรรมศาสตร์ในระดับปริญญาตรี และโทสาขายานอวกาศยาน มีผลงานวิจัยในระดับนานาชาติในระดับ NASA แล้วจึงหันมาสนใจเรื่องแบรนด์

หลังปกหนังสือเช่นกัน มีคำนิยมของบุคคลหลายวงการ ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า “Branding 4.0 ได้ฉายภาพที่สำคัญ การพลิกกลับของวิธีการเรียนรู้จากสิ่งที่ต้องรู้ตามกรอบเดิม ไปสู่ความรู้และปัญญาที่สอดคล้องกับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำไมผู้คนจำนวนมากหลั่งไหลเข้าสู่ธุรกิจดิจิตอล แต่มีเพียงไม่กี่คนที่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง กุญแจไขความลับอยู่ในหนังสือเล่มนี้แล้วครับ”

ส่วน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย บอกว่า “ในหนังสือ Branding 4.0 คุณปิยะชาติได้กล่าวถึงอนาคตที่จะมาเร็วกว่าที่เราคิด เมื่อประชากรในโลกกลายเป็น Digital Native ทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อค้นหาศักยภาพสูงสุดของตนเอง เรื่องนี้ทำให้ผมมีคำถามเกิดขึ้นมากมายขณะที่อ่าน และทำให้คิดอะไรต่ออะไรอีกมาก”

แล้วคุณล่ะคะ ถามตัวเองหรือยังจะทำอะไร หรือก้าวต่ออย่างไรในเมื่อโลก 4.0 กำลังจะมาถึง