เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง : อยู่ร้อยปีไม่ใช่เรื่องยาก แต่อยู่อย่างไร

แม้คนส่วนใหญ่จะส่ายหัวบอกไม่เอาหรอก แต่ใครจะรู้ได้ ยิ่งคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นใจ คนรุ่นนี้มีสิทธิ์อยู่ร้อยปีได้ไม่ยาก

คุณฟ้า พูลวรลักษณ์ เขียนไว้ในคอลัมน์ของเธอเมื่อสองสัปดาห์ก่อนว่า เมื่อพูดถึงเรื่องของสังขาร เธอให้ความสำคัญกับพื้นฐาน 4 เรื่อง คือ เรื่องกิน เรื่องนอน เรื่องการขับถ่าย และการออกกำลังกาย ผู้เขียนก็คิดทำนองนี้ แต่ขอเพิ่มเรื่องการมีเงินไว้ใช้จ่ายอีกเรื่องหนึ่ง

จะมาก จะน้อย ก็แล้วแต่ความเคยชินของแต่ละคน

แม้จะส่ายหัวและบอกว่า ไม่ขออยู่นาน แต่มนุษย์เราก็มีสัญชาตญาณรักชีวิตกันถ้วนทั่ว บางคนก็บอกว่าอยากอยู่ ทั้งที่ไม่รู้ว่าอยู่เพื่ออะไร บางคนอยากอยู่เพื่อหาความสุขให้ตัวเอง บางคนอยากอยู่เพื่อคนอื่น บางคนก็เพื่อแก้ไขตนเอง ศึกษาธรรมะเพื่อการหลุดพ้น และทำความดี

บางคนที่คิดว่าชีวิตคือการงาน การทำประโยชน์ ก็หาอะไรทำเรื่อยไป

บางคนเตรียมสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับตัวเองหลังเกษียณ เห็นเรื่องของหลายคนแล้วก็น่าคิดว่าสังคมได้เปลี่ยนผู้สูงอายุจากการพึ่งพาลูกหลานมาเป็นพึ่งตัวเอง และเทรนด์นี้จะสูงขึ้นๆ

บางคนมุ่งไปที่วาระสุดท้ายของชีวิต บางคนมุ่งมีชีวิตก่อนระยะสุดท้ายให้ดีที่สุด ชีวิตหลังเกษียณกลับสร้างสรรค์สวยงามอย่างไม่น่าเชื่อ อยู่ที่พลังชีวิตว่าเต็มเปี่ยมหรือกะพร่องกะแพร่งอย่างไร

90 ยังสดใส 100 ปียังแรงดีก็มีอยู่ เช่น คุณทวดอเมริกันคนนี้ที่ฟลอริดา ชื่อ จาค เฟรสโก ที่เลือกสร้างอาณาจักรของตัวเองบนเนื้อที่ 21 เอเคอร์ ที่ชื่อ Venus Project Research Center

จาค หรือ แจค เฟรสโก คนนี้อันที่จริงไม่ใช่คุณทวดธรรมดา แต่มีชื่อเสียงติดอันดับด้วยการมีคนยอมรับนับถือหรือจากนิยามที่เขาตั้งให้ตัวเองก็แล้วแต่ ว่าเป็น Futurist ภาษาไทยแปลว่า “นักทำนายอนาคต” ก็คงได้

เดี๋ยวนี้มีนักทำนายอนาคตหลายคนมาก เมื่อไม่นานมานี้ไปสัมมนาเรื่องการสื่อสารดิจิตอลที่สิงคโปร์ ก็มี Futurist มาเป็นตัวชูโรง พวกเขาไม่ได้พูดเพ้อเจ้อ แต่เขาจะค้นคว้าข้อมูล แล้ววิเคราะห์เรียบเรียงออกมาเป็นภาพในอนาคตให้เราเห็น

ไม่เหมือนนักโหราศาสตร์ที่มีศาสตร์ของตัวเองอีกแบบหนึ่ง แต่จะว่าไปก็เป็นเรื่องของสถิติทั้งคู่ อาศัยใครตีความดี แม่นมากกว่าไม่แม่น ก็มีคนเชื่อถือ

คุณทวดจาค เป็นนักออกแบบอุตสาหกรรมที่ศึกษาด้วยตนเอง เขาเป็นตัวอย่างของคนที่เรียกว่า drop out หรือออกจากโรงเรียนกลางคัน เพราะไม่เชื่อเรื่องการศึกษาในรูปแบบ

นอกจากเป็นนักทำนายอนาคต นักออกแบบอุตสาหกรรมแล้ว เขาก็ยังเป็นศิลปิน นักวิทยาศาสตร์ด้านพฤติกรรมมนุษย์ เคยทำงานออกแบบ และเป็นนักประดิษฐ์หลายสาขา

มีคนรู้จักเขาจากโครงการที่เป็น innovation หลายโครงการ ได้รับการยอมรับและเสียงสดุดีมากมาย

บางคนเปรียบว่าเขาคือ Da Vinci ในยุคใหม่ และเป็นคนฝังใจถึงโลกในอุดมคติของมนุษย์ (Utopia)


เขาเกิดในย่านบรุกลิน นิวยอร์ก แหล่งคนอพยพและคนดำ

เรากำลังจะไปเยี่ยมนักคิดคนสำคัญคนหนึ่งในทศวรรษ

เราจะต้องขับรถผ่านเข้าไปตามถนนทราย สองข้างมีต้นไม้เมืองร้อนตามแบบฉบับฟลอริดาซึ่งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ในที่สุดก็จะพบอาคารรูปโดมสีขาวติดพื้นที่คุณทวดอาศัยอยู่

อาณาจักรของคุณทวดยังไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต ทั้งๆ ที่คุณทวดมีความเชื่อมั่นในเทคโนโลยีเป็นอย่างยิ่ง

สังขารของคุณปู่ร่วงโรยไปตามธรรมชาติ โดยเฉพาะเรื่องการได้ยิน ถึงกระนั้นคุณปู่ก็มีเพื่อนคู่ชีวิตอายุ 67 ชื่อรอกซานน์ ที่อยู่ด้วยกันมานาน เธอเป็นทั้งแฟนสาวและผู้ร่วมงาน ที่คอยช่วยคุณทวดเวลาจะสื่อสาร

เพราะชื่อเสียงของโครงการทำให้มีคนไปเยี่ยมชมโครงการไม่ได้ขาด บางคนมาไกลจากออสเตรเลียเลยทีเดียว

ในวันฉลองวันเกิด 100 ปีของคุณทวดที่จัดที่ศาลาว่าการ Ford Myers มีแฟนคลับมาร่วมฉลองด้วยถึง 600 คน

คุณทวดบอกว่าอาณาจักร Venus Project นี้ไม่ได้มีไว้สำหรับคุณทวดคนเดียว แต่มันเป็นโครงการทดลองของการพึ่งพาตนเอง ที่เตรียมไว้สำหรับอนาคต ที่การอยู่อาศัยไม่ต้องใช้เงิน แต่มีเทคโนโลยีเป็นตัวช่วย

คุณทวดไม่ชอบนักการเมือง คุณทวดบอกว่านักการเมืองไม่ต้องมายุ่ง แต่คุณทวดจะมีคอมพิวเตอร์ส่วนกลางที่ช่วยจัดหาเครื่องใช้ไม้สอยให้สมาชิก

Research_centre_of_The_Venus_Project (1) คุณทวดครุ่นคิดเกี่ยวกับโครงการนี้มานานแล้ว จะว่าตลอดชีวิตก็ว่าได้ คุณทวดมีเหตุผลว่าบรรดาเทคโนโลยีนั้นทำหน้าที่ของมันอย่างซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา ไม่มีกิเลส โลภ โกรธ หลง เหมือนมนุษย์ มนุษย์นั้นมีแนวโน้มจะคอร์รัปชั่น ถ้าหากว่ามนุษย์มาช่วยกันทำ “วิศวกรรมทางสังคม” โดยการสร้างสภาวะแวดล้อมของความเป็นอยู่ที่ดี ก็จะทำให้มนุษย์มีสำนึกรับผิดชอบในการอยู่ร่วมกัน

ในอาคารรูปโดมทั้งสองหลังที่อยู่ในโครงการ คุณทวดจัดแสดงภาพร่างและแบบจำลองเป็นร้อยๆ ชิ้น มีตั้งแต่เครื่องบินรูปทรงเหมือนแผ่นเสียง และเครื่องขุดอุโมงค์ที่ช่วยกรองน้ำทะเลที่ล้นขึ้นมาเพื่อลำเลียงไปยังทะเลทราย ในโดมอีกสองหลังเป็นโครงการของนักศึกษาอาสาสมัครที่ช่วยกันเผยแพร่โครงการของเฟรสโกไปทั่วโลก

โครงการของคุณทวดเป็นเสมือนแรงบันดาลใจให้ผู้คนนึกถึงการอยู่อาศัยในอนาคตที่มีเทคโนโลยีเป็นตัวจักรสำคัญ

ขณะนี้ในโครงการมีอาคารตัวอย่างที่สามารถผลิตแบบ mass production ทั้งคุณทวดและคู่ชีวิตใช้เงินส่วนตัวที่มาจากการทำงานหลายอย่าง เช่น รับทำแบบจำลองอาคารให้บริษัทสถาปนิกและบริษัทขายเครื่องมือแพทย์มาสร้างตามกำลังเงิน

 

ทั้งสองคนก็ล้มลุกคลุกคลานมาเป็นเวลาหลายปี เวลานี้มีคนมาขอชมโครงการสม่ำเสมอทุกวันเสาร์

โดยจ่ายค่าเข้าชม 200 เหรียญต่อครอบครัว ได้รับหนังสือและวีดิทัศน์ติดไม้ติดมือไป ความฝันของคุณทวดปรากฏโฉมในปัจจุบันในรูปแบบที่เรียกกันว่า Smart Cities ที่มีบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ เช่น กูเกิล กำลังค้นคว้ากันอยู่

คุณทวดเองเชื่อว่ามนุษย์มีเทคโนโลยีพร้อมแล้วสำหรับเมืองอัจฉริยะที่ว่านี้ เหลือแต่การลงมือทำเท่านั้นเอง เวลาแห่งการปฏิวัติการอยู่อาศัยนั้นจะมาถึงเมื่อมนุษย์เผชิญกับภาวะอึดอัดกับชีวิตในยุคปัจจุบันจนทนไม่ไหวอีกต่อไป

ผู้เขียนเองได้ไปชมงานเกี่ยวกับการสื่อสารที่ประเทศสิงคโปร์เมื่อเร็วๆ นี้ก็พบว่ามีการพูดถึงเรื่อง Smart Cities กันมาก และก็จริงที่ว่าเทคโนโลยีได้ก้าวไปไกลแล้ว บริษัทใหญ่ๆ อย่างกูเกิล อินเทล อูเบอร์ อีริคสัน ก็เอาจริงเอาจังกับการพัฒนาเมืองไปสู่ Smart Cities

บางประเทศที่ก้าวไปไกลและประชาชนไม่มากอย่างสิงคโปร์กำลังจะก้าวไปสู่ Smart Nation ด้วยซ้ำ

ขอให้ความฝันของคุณทวดเป็นจริง